posttoday

ปรองดอง...ล้มไม่เป็นท่า!!

27 มีนาคม 2555

สถานการณ์การเมืองเวลานี้ คงไม่มีใครคิดว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

สถานการณ์การเมืองเวลานี้ คงไม่มีใครคิดว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปรองดอง) และผู้ปฏิวัติล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มากับมือเมื่อ 6 ปีก่อน จะหาญกล้าขอให้ที่ประชุมรัฐสภาวันนี้มีมติเสียงข้างมาก เพื่อเปิดช่องให้สภาสามารถพิจารณาลงมติในรายงาน กมธ.ปรองดองได้

กล่าวคือ เวลานี้สภาอยู่ในระหว่างสมัยประชุมนิติบัญญัติ ซึ่งไม่สามารถพิจารณาญัตติได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เขียนเปิดช่องเอาไว้ว่า หากในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติจะพิจารณาเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายได้ เช่น การเสนอญัตติ ต้องใช้เสียงเกินกึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ตามมาตรา 127 เท่านั้น

อธิบายได้ว่า กมธ.ปรองดองต้องการให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากในรายงานของ กมธ.ว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางไหน แต่ติดตรงเป็นสมัยประชุมนิติบัญญัติ ทำให้ไม่สามารถเสนอเป็นญัตติเข้ามาให้ที่ประชุมสภาพิจารณาได้ จึงต้องให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีเสียงข้างมากก่อนเพื่อเปิดทางให้สภาลงมติได้นั่นเอง

การประชุมรัฐสภาในวันนี้ จึงร้อนขึ้นมาทันที!

เหตุที่อุณหภูมิการเมืองระอุขึ้นไม่ได้มาจากใครอื่น นอกไปจาก พล.อ.สนธิเองและ กมธ.ปรองดองฝ่ายพรรคเพื่อไทย หากไม่ใช้เสียงข้างมากเพื่อสร้างความปรองดองที่ตัวเองต้องการเพื่อผลักดันแนวทางการนิรโทษกรรมทุกคดี

เสียงข้างมากดังกล่าว จึงเป็นคำถามตามมาว่ากำลังสร้างบรรทัดฐานให้เกิดการยอมรับให้มีการนิรโทษกรรมคดีอาญาการเมืองและล้มคดีทุจริตหรือไม่

เป็นเพราะสถาบันพระปกเกล้าในฐานะผู้วิจัยที่ได้รับมอบหมายจาก กมธ.ปรองดอง ได้ย้ำนักย้ำหนาว่า “การปรองดองจะเกิดได้ต้องมีกระบวนการสานเสวนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนและไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมากของ กมธ.” ประกอบกับก่อนหน้านี้ พล.อ.สนธิ ได้พยายามแสดงความประนีประนอมและประคับประคองการทำงานของ กมธ.มาตลอด เพื่อไม่ให้เกิดภาพเสียงข้างมากลากไป สุดท้ายเป็นเพียงการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า เพราะคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ให้มาตรวจสอบการทุจริตรัฐบาลทักษิณ ที่เจ้าตัวเป็นผู้ปฏิวัติ จนเมื่อ คตส.ได้สอบสวน รวบรวมข้อมูลส่งฟ้อง ขณะที่เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้รับรองกระบวนการของ คตส. อย่างถูกต้องมีกฎหมายรองรับ จนตัดสินคดีความที่ คตส.ส่งฟ้องไปแล้วบางส่วน ไม่ว่าคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ คดีร่ำรวยผิดปกติ คดีหวยบนดิน แต่สุดท้าย พล.อ.สนธิ กลับสนับสนุนให้ล้มล้าง คตส.

แม้ว่าภายหลัง กมธ.ปรองดองในส่วนของพรรคเพื่อไทยและ พล.อ.สนธิ จะยอมถอยจากกระแสต้าน ด้วยการตัดถ้อยคำเสียงข้างมากของ กมธ. ในการเลือกแนวทางนิรโทษกรรมและล้มคดีทุจริตออกจากรายงานการพิจารณาของ กมธ. และให้แนบรายงานการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าฉบับเต็มเข้าไปแทน แต่สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

ปรองดอง...ล้มไม่เป็นท่า!!

 

ไม่ต่างอะไรกับแก้วปรองดองที่มันร้าว คงยากจะประสานให้กลับมาเป็นเนื้อเดียวอีกได้

เหนืออื่นใดความไม่ไว้วางใจระหว่างกันกำลังขยายวงกว้างเท่าๆ กับความชอบธรรมของ กมธ.ปรองดองที่กำลังร่อยหรอลงไปทุกขณะ

สัญญาณที่ออกมาผ่านการเสนอวาระการประชุมรัฐสภาวันนี้ เป็นการประทับตราแล้วว่าพรรคเพื่อไทยร่วมกับ พล.อ.สนธิ เตรียมใช้เสียงข้างมากลากประเทศให้เกิดความปรองดองอย่างเป็นขบวนการ

เริ่มต้นขั้นแรกด้วยการหาทางปลดอุปสรรคผ่านที่ประชุมรัฐสภาเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างสมัยประชุม ต่อด้วยการโยนให้สภาที่เต็มไปด้วยเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยลงมติสร้างความชอบธรรมขึ้นมา ว่าจะหยิบจับแนวทางปรองดองส่วนไหนดี

ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวบรัดบนคำถามว่า “ทำไมต้องเร่งเสนอรายงาน กมธ.ปรองดองต่อสภา ทั้งที่สภาเพิ่งมีมติต่ออายุการทำงานของ กมธ.ไปอีก 30 วัน” หนำซ้ำยังมีท่าทีออกมาจาก “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาอีก ในทำนองพร้อมให้สภาพิจารณาลงมติรายงาน กมธ.ปรองดองได้อย่างช้าสุดในวันที่ 4 เม.ย. ก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 เม.ย.

ตอกย้ำให้เห็นชัดเจน พรรคเพื่อไทยต้องการปิดจ๊อบนี้ให้ได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ประจวบเหมาะกับความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เวลานั้นมีคิวโคจรรอบไทยบริเวณประเทศเพื่อนบ้านพอดี

มองเกมการปูถนนสายปรองดองของพรรคเพื่อไทยนับจากนี้ไป จะทำทุกทางเพื่อให้มีมติเสียงข้างมากของสภาต้องยืนตามความเห็นส่วนใหญ่ของ กมธ.ปรองดองก่อนหน้านี้ ที่ได้เห็นชอบเอาไว้ ได้แก่ 1.ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง และ 2.เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

เมื่อกระบวนการดำเนินสิ้นสุดด้วยการลงมติของสภาแล้ว บันไดขั้นต่อไปคือการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้การอ้างความชอบธรรมในเสียงข้างมากของสภา ถึงจะมีขวากหนามระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนตลอด 3 วาระ ทั้งสภาและวุฒิสภา แต่คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากนัก

กระบวนการเหล่านี้ดูเหมือนง่ายในทางทฤษฎี แต่ยากมากในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆมากมาย โดยเฉพาะการประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหากจะผลักดันการนิรโทษกรรม

แน่นอนว่าการออกกฎหมายรัฐบาลอาจไม่มีปัญหา เพราะมีเสียงข้างมากพอจะเนรมิตอะไรก็ได้ แต่ความชอบธรรมทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องเผชิญ เพราะหากใช้เสียงข้างมากเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองก็จะถูกต่อต้านได้

วิกฤตศรัทธากำลังก่อตัวเป็นระยะๆ โพลสะท้อนว่า ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องก่อนมากกว่ามาวุ่นอยู่กับปัญหาขัดแย้งทางการเมือง

เมื่อรัฐบาลกำลังทำเรื่องเพื่อตัวเองก่อนมองถึงผลประโยชน์ของประชาชน จะส่งผลให้กระบวนการสร้างความปรองดองไม่ได้รับการสนับสนุนและเกิดยาก แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยยังมั่นใจในเสียงข้างมาก ความขัดแย้งจึงไม่จบง่ายๆ เพราะผู้มีอำนาจรัฐไม่แสดงความจริงใจที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม