posttoday

"วิษณุ"ถกปลัดกระทรวงจี้เร่งทำกม.คาดเสร็จทัน240วัน

05 เมษายน 2560

“วิษณุ” ระบุ ประชุมปลัดกระทรวง เตือนเร่งทำกฎหมายเพราะมีโทษหนัก มั่นใจ 240 วัน เพียงพอทำกฎหมายสำคัญ ก่อนเสนอสนช. แจงรับฟังความเห็นไม่ต้องเอิกเกริกก็ได้

“วิษณุ” ระบุ ประชุมปลัดกระทรวง เตือนเร่งทำกฎหมายเพราะมีโทษหนัก มั่นใจ 240 วัน เพียงพอทำกฎหมายสำคัญ ก่อนเสนอสนช.  แจงรับฟังความเห็นไม่ต้องเอิกเกริกก็ได้

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกประชุมปลัดทุกกระทรวงเพื่อเตรียมตัวรับรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เป็นการติดตามผลการประชุมที่มีก่อนหน้านี้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะสรุปผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานว่าทำอะไรไปบ้าง มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ในฐานะเป็นเจ้าของเรื่อง จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะชี้แจงขั้นตอนว่าแต่ละหน่วยงานต้องทำอะไรบ้างในช่วงเวลา 3 เดือน 6เดือน 8 เดือนหรือ 12 เดือน นับจากนี้ กฎหมายบางฉบับถ้าทำไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดอาจไม่มีผล แต่บางฉบับที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญต้องทำภายใน 240 วัน อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของประชาชนหรือชุมชน กฎหมายวินัยการคลัง และกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านทุจริต ถ้าทำไม่ทันจะมีผลอะไรบ้าง เพราะมีการระบุไว้ชัดเจนว่า หากเจ้าของเรื่องไม่รีบทำเสนอ สนช. ตามกำหนด ให้หัวหน้าหน่วยงานราชการนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง ส่วนจะต้องออกเป็นกฎหมายใหม่หรือไม่นั้น ต้องสอบถามจากหน่วยงานเจ้าของเรื่อง ทราบว่ากฎหมายวินัยการเงินการคลัง จะออกมาเป็นพ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพราะถือเป็นการเซ็ตซีโร่ เราไม่เคยมีกฎหมายนี้มาก่อนต้องรีบดำเนินการให้ทัน ตนเป็นคนพูดถึงร่างกฎหมาย 3 ฉบับดังกล่าว ในครม.เพื่อเป็นการเตือนให้รู้ เพราะเกรงว่าจะลืมกัน เป็นการโชว์ผลงาน ไม่มีอะไรน่าสงสัย ที่เตือนเพราะเห็นว่ามีบทลงโทษหัวหน้าหน่วยงาน และความจริงผมก็ชอบกฎหมายที่เขียนไว้แบบนี้ โทษหนักถึงหลุดจากตำแหน่ง งานจะได้ไม่อืด 

เมื่อถามว่าระยะเวลา 240 วัน หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องจะทำเสร็จทันหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เสร็จทันแน่นอน เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่ บางเรื่องไปแก้ไขบทบัญญัติบางมาตราในกฎหมายบางฉบับเท่านั้น หน่วยงานเจ้าของเรื่องมีแนวคิดไว้แล้ว เมื่อถามว่าการออกกฎหมายที่มีเงื่อนเวลากำหนดไว้ จะต้องทำตามมาตรา 77ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดต้องรับฟังความเห็น อาจเสร็จไม่ทันตามกรอบเวลา นายวิษณุ ตอบว่า ต้องทำตามมาตรา 77 และเชื่อว่าทันตามกรอบเวลา และการรับฟังความเห็นไม่จำเป็นต้องเอิกเกริกหรือไปทำประชามติ หน่วยงานนั้นสามารถเอาขึ้นเว็บไซต์ เพื่อเปิดรับฟังความเห็นได้ ถือเป็นความเห็นของประชาชนแล้ว เมื่อถามอีกว่า จำเป็นต้องแก้ไขตามที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ไม่ต้องรับฟังกับเชื่อฟังมันต่างกัน รับฟังคือการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น เราก็เอามาดูว่าจะเชื่อหรือไม่ โดยที่การรับฟังนี้เราจะเอาไปใช้ทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตามเวลา 240วัน ที่หน่วยงานต้องเสนอเข้าสนช. ไม่เกี่ยวกับการใช้เวลาพิจารณาของสนช. และเชื่อว่าไม่น่าจะมีการรวบรัดในการออกกฎหมาย ตามที่อาจมีข้อกังวล