posttoday

ปีทอง 10 ประเทศ จุดหมายเที่ยววัยเกษียณ

12 มกราคม 2562

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม เผย 10 ประเทศ ยอดนิยมของผู้สูงวัย หลังเกษียณเน้นสิทธิประโยชน์ ค่าครองชีพต่ำ อากาศดี

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 หากดูจากจำนวนประชากรของไทยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.6 ล้านคน เป็นชาย 33 ล้านคน หญิง 34.6 ล้านคน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.3 ล้านคน หรือ 16.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ในปี 2564 ไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนสูง 20% และในปี 2574 ไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 28% สอดคล้องกับหลายประเทศ ทั่วโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์ของสังคมผู้สูงอายุ

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF)เผยแพร่ดัชนีการเกษียณอายุโลกประจำปี 2019 โดยนิตยสาร International Living จัดทำรายการ 10 ประเทศแรกของผู้สูงวัยต้องการหนีจากทุกสิ่ง และวางแผนการท่องเที่ยวหลังการเกษียณอายุ โดยสำรวจจากปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตในแต่ละสถานที่ รวมถึงสภาพภูมิอากาศ วิถีชีวิตใน ท้องถิ่น ค่าครองชีพ การดูแลสุขภาพ การขอวีซ่าและการอยู่อาศัย

เริ่มจากอันดับ 10 ประเทศสเปน ด้วยชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนของสเปนดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคน ให้ออกมาค้นหาธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ หาดทราย และชีวิตที่ผ่อนคลาย พร้อมกับชุมชนชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จัก รวมถึงระบบการดูแลสุขภาพที่ดีเยี่ยม มาตรฐานการครองชีพที่สูงและค่าครองชีพต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปอื่นๆ

อันดับ 9 ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ไทยติดอันดับ 10 ประเทศแรกที่ ผู้เกษียณอายุมีความต้องการเดินทางมาพักผ่อน จากภูมิประเทศที่มีอากาศ ร้อนชื้น แสงแดดจ้า มาพร้อมชายหาด ทะเลจำนวนมาก และเป็นเมืองที่คึกคัก รวมถึงมีหมู่บ้านบนพื้นที่สูง เช่น จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ความมั่งคั่งของวัฒนธรรมและอาหาร รวมถึงการเข้าถึงสถานที่อื่นๆ ในเอเชียได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังมีชุมชนชาวต่างชาติที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง เกิดขึ้นหลายแห่งในสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่อื่นๆ ประกอบกับค่าครองชีพที่ค่อนข้างต่ำมาก

ตามมาด้วยอันดับ 8 ประเทศเปรู ที่ขยับขึ้นมา 2 อันดับแทนที่ประเทศนิการากัว ด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง มีค่าครองชีพที่ต่ำ แม้นักท่องเที่ยวจะต้องสัมผัสกับภาษาสเปนเนื่องจากภาษาอังกฤษ ไม่ได้พูดอย่างแพร่หลายก็ตาม

อันดับ 7 ประเทศโปรตุเกส ที่รักษาตำแหน่งนี้ไว้ ด้วยประเทศที่มีสภาพอากาศที่อบอุ่น ผู้คนที่เป็นมิตร ภาษาอังกฤษที่พูดกันอย่างแพร่หลายในเขตเมืองและในพื้นที่ชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นที่นิยมของผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ และด้วยการอาศัยอยู่ที่มีราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปอื่นๆ

อันดับ 6 ประเทศโคลอมเบีย เป็นประเทศที่มีผู้เกษียณจำนวนมากตั้งรกรากอยู่ในเขตชายฝั่งทะเลร้อนและเขตร้อนและพื้นที่ภูเขาเขียวชอุ่ม ด้วยข้อกำหนดวีซ่าที่ง่าย ทำให้การตั้งถิ่นฐานที่นี่เป็นทางเลือกที่ง่าย

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างมาเลเซีย ครองใจอันดับ 5 ของผู้เกษียณอายุ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นตลอดทั้งปี ดึงดูดผู้คนที่มองหาที่พักอบอุ่นด้วยค่าครองชีพต่ำ อาหารที่หลากหลายและสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ทุกที่ ยกเว้นเขตที่ห่างไกลที่สุด ตามด้วย อันดับ 4 ประเทศเอกวาดอร์

สำหรับอันดับ 3 ประเทศเม็กซิโก แม้จะลดลง 2 อันดับจากปีก่อน แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้เกษียณจากสหรัฐอเมริกาและประเทศ อื่นๆ ของโลก ซึ่งเม็กซิโกมีจุดเด่นการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่ดีเยี่ยมและมีค่าครองชีพที่ต่ำ

อันดับ 2 ประเทศคอสตาริกา ลงจากอันดับ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา โดยคอสตาริกามีคะแนนเต็มในประเภทไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพ มีชื่อเสียงด้านกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงการดำน้ำและเดินป่า อีกทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาถูก ทำให้ประเทศปลายทางนี้ยังคงครองอันดับสูงใน สถานที่ยอดนิยมของผู้ที่เกษียณอายุ

สุดท้าย อันดับ 1 ประเทศปานามา เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกของปี 2562 โดยขยับขึ้นจากอันดับที่ 3 ในปีก่อน ด้วยสภาพอากาศที่อบอุ่นและการต้อนรับที่อบอุ่นจากชาวเมืองและชาวต่างชาติควบคู่ไปกับภาระภาษีที่ต่ำและค่าครองชีพที่ต่ำทำให้ที่นี่กลายเป็นสวรรค์สำหรับผู้เกษียณอายุ นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่ให้สิทธิผู้เกษียณอายุมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ส่วนลดและค่ารักษาพยาบาล

นอกจากนี้ ข้อมูลที่น่าไว้ใจจากภาควิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยผ่านงานวิจัยในหัวข้อ อาวุโส โซไซตี้ 4.0 แก่ แต่วัย หัวใจยังเก๋า พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ชอบท่องเที่ยวแบบกลุ่มถึง 73% โดยจะเดินทางไปท่องเที่ยวกับครอบครัว และเพื่อนฝูง และส่วนใหญ่มักจะไปกับเพื่อน เนื่องจากสามารถนัดหมายได้ง่าย มีเวลาว่าง สามารถทำอะไรเต็มที่กว่าครอบครัว

รองลงมา คือ ชอบไปเที่ยวคนเดียว 21% เนื่องจากความชอบอิสระ สามารถตัดสินใจเองได้เลยว่าอยากไปไหน และ 6% ที่ไปกับทัวร์ ซึ่งการเดินทางส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2-3 ครั้ง/ปี

นับว่า เทรนด์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ท้าทายภาคธุรกิจของไทยและทั่วโลกต้องปรับตัวรับความท้าทายกับโอกาสที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวและบริการไทยคงต้องเร่งตื่นตัวรับความต้องการครั้งนี้โดยไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป