posttoday

ไทยเบฟฯจ่อใช้โซลูชั่น ตลาดดอทคอมเร่งพัฒนาระบบโชห่วย นำร่องโออิชิลุยเพย์เมนต์

14 กรกฎาคม 2561

ตลาดดอทคอมเดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นและแพลตฟอร์มดิจิทัล บริษัทในเครือไทยเบฟฯ ลงทุนสตาร์ทอัพ เทลสกอร์ หวังสร้างอีโคซิสเต็มหนุนธุรกิจ

ตลาดดอทคอมเดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นและแพลตฟอร์มดิจิทัล บริษัทในเครือไทยเบฟฯ ลงทุนสตาร์ทอัพ เทลสกอร์ หวังสร้างอีโคซิสเต็มหนุนธุรกิจ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้บริหารบริษัท ตลาดดอทคอม เปิดเผยว่า จากการที่ บริษัท ทีสเปซ ดิจิตอล ในเครือทีซีซี กรุ๊ป เข้าไปถือหุ้นตลาดดอทคอม (TARAD.com) ขณะนี้ได้เตรียมโซลูชั่นหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลให้กับบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทในเครือไทยเบฟ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เสาหลักธุรกิจของทีซีซี โดยกำลังเดินหน้าพัฒนาระบบโชห่วยและระบบ บีทูบี เบื้องต้นเตรียมพัฒนาระบบเพย์เมนต์ หรือการชำระเงินและช่องทางเดลิเวอรี่ให้กับบริษัท โออิชิ

ทั้งนี้ นอกจากตลาดดอทคอมจะมีความแข็งแกร่งด้านบิ๊กดาต้าอยู่แล้ว ซึ่งได้เตรียมย้ายดาต้าเซ็นเตอร์มาอยู่รวมกัน จากปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าไปลงทุนส่วนตัวราว 17 บริษัท อาทิ อี-โลจิสติกส์และแวร์เฮาส์ ของบริษัท ชิปป๊อป และบริษัท สยาม เอาท์เลต อี-เพย์เมนต์ของบริษัท เพย์ โซลูชั่น ซึ่งมีระบบชำระเงินผ่านบัตรเครดิตออนไลน์และช่องทางออฟไลน์ หรือกระทั่งโซเชียลเพย์เมนต์ บริษัท ครีเดน ซึ่งมีระบบยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติไทย เป็นต้น

ขณะที่ล่าสุดได้เข้าไปถือหุ้นในนามส่วนตัว 15% ในบริษัท เทลสกอร์ สตาร์ทอัพด้านไมโครอินฟลูเอนเซอร์ เปิดบริการสร้างแคมเปญออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์แมนเนจเมนต์  โดยใช้ระบบบริการมาร์เก็ตติ้ง ออโตเมชั่น ทั้งสรุปค่าใช้จ่าย ประมาณผลลัพธ์ แบ่งเป็นการใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ 80% ซึ่งในเฟซบุ๊กต้องมียอดไลค์ตั้งแต่ 500- 1 หมื่นยอดไลค์ ส่วนอินสตาแกรมต้องมีคนติดตาม 100 ราย ขณะนี้มีไมโครอินฟลูเอนเซอร์ 1 หมื่น รายสิ้นปี เพิ่มเป็น 3 หมื่นราย

"การเข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่มีโอกาสทางธุรกิจ เช่น การลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพคนไทยหรือบริษัทด้านดิจิทัลต่างๆ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มให้กับตลาดดอทคอม ซึ่งวางไว้เป็นตัวกลางที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าไปยังมาร์เก็ตเพลสเจ้าอื่นทั้งในไทยและต่างประเทศได้ ซึ่งการเข้าไปลงทุนบริษัท เทลสกอร์ เพราะมองว่าไมโครอินฟลูเอนเซอร์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นักตลาดนำมาใช้สื่อสารในยุคดิจิทัล โดยใช้งบลงทุนที่เพิ่มขึ้น" นายภาวุธ กล่าว

สำหรับเม็ดเงินที่ใช้ในดิจิทัลมีเดียราว 1 หมื่นล้านบาท ในตลาดอุตสาหกรรมโฆษณามีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พบว่างบลงทุนอินฟลูเอนเซอร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 20-30% เพราะคนทั่วไป 86% มักไม่เชื่อสินค้าหรือแบรนด์พูด แต่ 92% เชื่อในสิ่งที่คนอื่นถึงแบรนด์ การให้ความสำคัญไมโครอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าเพราะมีผลต่อยอดขายมากกว่าการใช้เซเลบริตี้ เพราะช่วยสร้างการรับรู้เป็นหลักมากกว่า

น.ส.สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทลสกอร์ กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจที่หันมาใช้กลยุทธ์ไมโครอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มมือถือ สินค้าอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการเงิน โดยเตรียมใช้งบลงทุน 17 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจและยุทธศาสตร์ผลักดันแบรนด์ต่างๆ สำหรับเป้าหมายรายได้ปีแรก 80 ล้านบาท