posttoday

บางกอกแอร์รอรัฐเคาะสนามบินพังงา

09 มิถุนายน 2561

บางกอกแอร์เวย์สยันรอทางการอนุมัติสร้างสนามบินพังงา แม้ AOT เพิ่งเคาะก่อสร้าง เล็งเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่แน่นอนในธุรกิจการบินต่อ

บางกอกแอร์เวย์สยันรอทางการอนุมัติสร้างสนามบินพังงา แม้ AOT เพิ่งเคาะก่อสร้าง เล็งเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่แน่นอนในธุรกิจการบินต่อ

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ (BA) ผู้ประกอบการสาย การบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า บริษัทรอทางการอนุมัติสร้างสนามบินพังงาโซนการท่องเที่ยวแถบทะเลพังงาต่อ แม้บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะอนุมัติสร้างสนามบินที่พังงาแล้ว แต่หาก AOT ยังไม่มีกำหนดก่อสร้างบริษัทยังรออนุมัติต่อไป เมื่อ AOT ลงทุนก่อสร้างจึงจะเลิกแผนงานดังกล่าว เพราะจะทับเส้นทางการบิน

นอกจากนั้น บริษัทยังมีนโยบายกระจายการลงทุนที่ทำให้มีรายได้แน่นอนมากขึ้นจากธุรกิจการบินที่เกี่ยวเนื่อง โดยล่าสุดใช้กระแสเงินสดบริษัท 2,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) 9.47% จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง ทำให้มีธุรกิจสายการบิน สนามบิน ครัวการบิน การบริการภาคพื้นดิน บริหารคลังสินค้า และบริการเติมน้ำมัน

"บริษัทยังเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่อง และงบดำเนินงานจะยังไม่รวมงบการลงทุนและปรับปรุงการดำเนินงานในแต่ละปี โดยปีนี้งบลงทุนปกติอยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท" นายอนวัช กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่ารายได้และอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (โหลดแฟกเตอร์) ไตรมาส 2 น่าจะลดลงจากไตรมาสแรกปีนี้ที่อยู่ที่ 76% เนื่องจากอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลการท่องเที่ยว โดยโหลดแฟกเตอร์อยู่ที่กว่า 60%

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า ผลประกอบการไตรมาส 2 ของ BA น่าจะอ่อนลงในไตรมาส 2 หลังจากที่ดีขึ้นในไตรมาสแรก โดยกำไรปกติของ BA ในไตรมาสแรกอยู่ที่ 822 ล้านบาท จากขาดทุนปกติ 834 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2560

ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาสแรกปี 2561 อยู่ที่ 710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสแรกได้รับผลดีจากฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งนี้ผู้โดยสารในทุกเส้นทางบินของ BA เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาสแรก ขณะที่รายได้ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ราคาตั๋วเฉลี่ยลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ คาดว่าไตรมาส 2 จะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ดังนั้นจึงเชื่อว่าแนวโน้ม ธุรกิจจะอ่อนตัวลงจากไตรมาสแรก รวมถึงราคาน้ำมันแพงขึ้นและการแข่งขันในเส้นทางบินในประเทศจะเข้มข้นขึ้น

สำหรับในปี 2561 บริษัทมีแผนจะจับความต้องการใหม่ และแสวงหาเส้นทางใหม่ รวมถึงเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน