posttoday

โฆษณาเริ่มคึก

09 มีนาคม 2560

งบโฆษณาเริ่มสะพัดหลังภาคธุรกิจขยับเปิดสินค้าใหม่ เผยเดือน ก.พ.เห็นสัญญาณบวก คาดสินค้าหน้าร้อนช่วยผลักดันใช้เงินโฆษณามากยิ่งขึ้น

โดย...จะเรียม สำรวจ         

หลังจากสินค้าอั้นการออกสินค้าใหม่และชะลอใช้งบโฆษณาตั้งแต่ปลายปี 2559 ถึงเดือน ก.พ.นี้ เริ่มมีสัญญาณบวก และคาดว่าเม็ดเงินโฆษณาจะคึกคักขึ้นช่วงซัมเมอร์หรือหน้าร้อนนี้

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ หรือเอ็มไอ เปิดเผยว่า ภาพรวมโฆษณาเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เริ่มดีขึ้น เห็นได้จากสินค้าต่างๆ เริ่มเปิดตัวสินค้าใหม่ มากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาช่วงเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นมา อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปกติที่เดือน ก.พ.จะอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ คาดว่าช่วงหน้าร้อนปีนี้เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.-พ.ค.น่าจะมีการใช้เม็ดเงินโฆษณาไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ช่วงเวลาดังกล่าวจะใช้เม็ดเงินโฆษณา 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปีนี้หน้าร้อนมาเร็วเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.

สำหรับสินค้าที่ออกมาใช้เม็ดเงินโฆษณามากที่สุดช่วงหน้าร้อนนี้ คือ กลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม เช่น น้ำดื่ม ชาเขียว และน้ำอัดลม เห็นได้จาก การเปิดตัวแคมเปญการตลาด ส่วนแบรนด์สินค้าทใช้เงินโฆษณามาก ที่สุด คือ ช้าง โค้ก เป๊ปซี่และสิงห์ ทั้ง 4 แบรนด์ปีนี้คาดใช้เงินโฆษณาสินค้าช่วงหน้าร้อน 1,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลง ของพฤติกรรมผู้บริโภคและจำนวน สื่อที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันแมส มีเดีย หรือสื่อหลักที่เคยซื้อกันสมัยก่อนกำลังจะหมดไป จากการเปลี่ยนหน้าที่เป็นเซ็กเมนต์มีเดียมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมแต่ละกลุ่มย่อย หรือแฟร็กเมนต์ ออเดียนซ์มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสื่อมีความหลากหลาย ที่เห็นได้ชัด คือ ช่องของทีวีดิจิทัล จากเดิมมี 6 ช่อง แต่ปัจจุบันมีมากถึง 24 ช่อง

การเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้ เอเยนซีและนักการตลาดทำงานได้ยากขึ้น เนื่องจากการวางแผนสื่อ ไปยังกลุ่มเป้าหมายต้องครอบคลุมและมีประสิทธิภาพขึ้น ดังนั้นนักการตลาดต้องวางกลยุทธ์การสื่อสารให้ดี เลือกใช้สื่อผสมให้เหมาะกับกลุ่ม เป้าหมาย รวมทั้งต้องเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึก เพื่อให้เข้าถึงความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง

"ปัจจุบันการวางแผนสื่อใช้ผลของเรตติ้งที่วัดได้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้อีกแล้ว"

ตัวอย่าง คือ การซื้อสื่อช่อง ทีวีดิจิทัลเริ่มมีเซ็กเมนต์ตามกลุ่ม เป้าหมายของแต่ละช่อง เช่น ช่อง 3 เน้นเจาะกลุ่มคนหัวเมืองและคนกรุงเทพฯ อายุ 35-50 ปี ขณะที่ช่อง 7 เน้นกลุ่มเป้าหมายเขตนอกเมือง ช่องเวิร์คพอยท์ เน้นเจาะกลุ่มคน รุ่นใหม่ และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูซีรี่ส์

ที่สำคัญ คือ เนื้อหาหรือคอนเทนต์ ต้องสอดคล้องกับสื่อที่เลือก เพื่อให้น่าสนใจ และดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย