posttoday

กระทรวงคมนาคม เส้นเลือดใหญ่ด้านขนส่งของไทย

06 เมษายน 2554

1 เม.ย. จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชื่อกระทรวงคมนาคม หลังจากกิจการด้านการขนส่งและคมนาคมในรูปแบบสมัยใหม่ได้ก่อตัวและวิวัฒนาการเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5

1 เม.ย. จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชื่อกระทรวงคมนาคม หลังจากกิจการด้านการขนส่งและคมนาคมในรูปแบบสมัยใหม่ได้ก่อตัวและวิวัฒนาการเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5

โดย...สมาน สุดโต

วันที่ 1 เม.ย. 2554 กระทรวงคมนาคม มีอายุย่างเข้าปีที่ 100 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อกระทรวง จากกระทรวงโยธาธิการ เป็นกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2454) และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเสนาบดี

1 เม.ย. จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชื่อกระทรวงคมนาคม หลังจากกิจการด้านการขนส่งและคมนาคมในรูปแบบสมัยใหม่ได้ก่อตัวและวิวัฒนาการเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่ทรงปฏิรูประบบราชการจากระบบจตุสดมภ์ ประกอบด้วยเวียง วัง คลัง นา มาเป็นกรมต่างๆ 12 กรม ในจำนวนนั้น กรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นกรมที่ 11 มีหน้าที่กำกับดูแล ตรวจตราการสร้างทำถนน ขุดคลอง และการช่างทั่วไป รวมทั้งการไปรษณีย์โทรเลข และการรถไฟ ถือเป็นจุดก่อกำเนิดองค์กรที่ดำเนินการด้านคมนาคม

ก่อตัวจากกรมโยธาธิการสมัย ร.5

 

กระทรวงคมนาคม เส้นเลือดใหญ่ด้านขนส่งของไทย ภาพกระทรวงคมนาคมในอดีต

การสถาปนากรมโยธาธิการเป็นกรมขึ้นก็เพราะมีพระราชดำริ (ในรัชกาลที่ 5) ว่าการช่างได้แยกย้ายกันอยู่ในกรมต่างๆ ไม่รวมอยู่เป็นหมวดหมู่ด้วยกัน จึงมีประกาศพระบรมราชโองการตั้ง กรมโยธาธิการ ขึ้นเมื่อ ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2432) ครั้นในปี ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมงานการโยธาต่างๆ ที่กระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ มาตั้งเป็นกระทรวงโยธาธิการขึ้น และได้รวมกรมโทรเลขไปรษณีย์เข้าในกระทรวงโยธาธิการ ด้วย

กระทรวงโยธาธิการ แบ่งส่วนราชการเป็นกรม ได้แก่ กรมโยธา กรมรถไฟ กรมไปรษณีย์ กรมโทรเลข และกรมช่างทาง

จากนั้นมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เริ่มจากแบ่งส่วนราชการในกระทรวงโยธาธิการใหม่ โดยโอนกรมคลองจากกระทรวงเกษตราธิการมาขึ้นอยู่กับกระทรวงโยธาธิการ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกรมทาง มีหน้าที่สร้างทางบกและทางน้ำ

ส่วนการขุดคลองหรือซ่อมแซมทางน้ำ อันเป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูกให้คงอยู่ในหน้าที่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการให้แยกกรมโยธาออกจากกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงนี้จึงมีกรมในสังกัดคือ กรมรถไฟ กรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมทาง

เป็นกระทรวงคมนาคมสมัย ร.6

งานในด้านคมนาคมที่มีในชื่อต่างๆ พัฒนามาตามลำดับจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงจากกระทรวงโยธาธิการ เป็นกระทรวงคมนาคม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2454) พร้อมกับมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเสนาบดี

รวมกับพาณิชย์ในสมัย ร.7

แม้ว่าจะมีชื่อเป็นกระทรวงคมนาคมอย่างสง่าผ่าเผยตลอดรัชกาลที่ 6 เรื่อยมาถึง พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง กระทรวงคมนาคมต้องไปรวมกับกระทรวงพาณิชย์ เพราะทางราชการเห็นว่าการค้าในประเทศสยามเจริญขึ้นโดยลำดับ งานในกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์ลงรูปคล้ายกันยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ถ้ารวมทั้งสองกระทรวงเข้าด้วยกันก็จะเป็นการประหยัด ฉะนั้นจึงประกาศพระบรมราชโองการให้โอน 2 กระทรวงเข้าด้วยกันมีชื่อว่า กระทรวง คมนาคมและพาณิชยการ และในเวลาไล่เลี่ยกันเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เพื่อความเหมาะสม โดยมีพลเอกพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นเสนาบดี

หลัง พ.ศ. 2475

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะกรรมการราษฎร ประกาศพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2475 ผลัดเปลี่ยนเสนาบดี เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างๆ และรวมกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม มีความว่า “ให้เสนาบดีกระทรวงเกษตรกับกระทรวงพาณิชย์เวนคืนตำแหน่งให้รวมกระทรวงเกษตรกับกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกันที่เรียกว่ากระทรวงเกษตรพาณิชยการ ยกกรมทะเบียนที่ดิน กรมป่าไม้ กรมราชโลหกิจ ซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงเกษตราธิการเวลานี้ไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ให้มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ เป็นเสนาบดี”

กระทรวงคมนาคม เส้นเลือดใหญ่ด้านขนส่งของไทย ต้นหูกวางหน้ากระทรวงคมนาคมที่มาของฉายากระทรวงต้นหูกวาง

นับแต่นั้นกระทรวงต่างๆ ในสยามเหลือ7 กระทรวงเท่านั้น ชื่อกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมหายไป ส่วนกิจการหรืองานเกี่ยวกับคมนาคมไปรวมอยู่ในกระทรวงเศรษฐการ คือ การรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข และการเจ้าท่า ต่อมาใน พ.ศ. 2477 ได้ก่อตั้งทบวงพาณิชย์และคมนาคมให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงเศรษฐการ แต่ประกาศยุบทบวงที่ว่าในปีเดียวกัน แล้วตั้งเป็นกรมขึ้นแทน เช่น กรมเจ้าท่า กรมไปรษณีย์ เป็นต้นทั้งหมดให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงเศรษฐการ เหมือนเดิม

สมัยรัชกาลที่ 8 เป็นกระทรวงคมนาคม (อีกครั้ง)

ใน พ.ศ. 2484 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 8 การคมนาคมก็ได้ถูกปรับปรุงให้กลับมาเป็นกระทรวงคมนาคมตามเดิม ตามพระราชบัญญัติกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484 ลงวันที่ 19 ส.ค. 2484 โดยมีนายพันตรีหลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ หลวงคหกรรมบดี (ชม จารุรัตน์) เป็นปลัดกระทรวง มีส่วนราชการ ดังนี้

1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี

2) สำนักงานปลัดกระทรวง

3) กรมการขนส่ง (กองการบินพาณิชย์เดิม สังกัดกระทรวงเศรษฐการ)

4) กรมเจ้าท่า (โอนจากกระทรวงเศรษฐการ)

5) กรมไปรษณีย์โทรเลข (โอนจากกระทรวงเศรษฐการ)

6) กรมทาง (เดิมเป็นกองทางสังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย)

7) กรมรถไฟ (โอนจากกระทรวงเศรษฐการ)

สมัยรัชกาลปัจจุบัน

เมื่อเป็นกระทรวงคมนาคมใน พ.ศ. 2484 (รัชกาลที่ 8) พันตรีหลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรก (ท่านควงดำรงตำแหน่งนี้อีก 3 สมัย เพราะการเมืองไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนแปลงตลอด นอกจากท่านควง ยังมีรัฐมนตรีที่สลับสับเปลี่ยนมานั่งที่กระทรวงนี้อีก 13 คน ในระยะเวลา 16 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2484-16 ก.ย. 2500 (16 ก.ย. 2500 เป็นวันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติโค่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) รัฐมนตรีบางคนนั่ง 3 สมัย บางคน 2 สมัย แต่ส่วนมากนั่งสมัยเดียว จากรัฐบาลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาโดยมีคณะรัฐมนตรี 22 คณะ)

ในรัชกาลปัจจุบันก่อนปฏิรูประบบราชการ 2545 กระทรวงคมนาคม ที่กลายเป็นกระทรวงเกรดเอ กำกับ บริหารจัดการกิจการด้านการขนส่ง การสื่อสาร และคมนาคมทุกระบบ รวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา โดยมีกรมต่างๆ ในสังกัด 9 กรม รัฐวิสาหกิจในสังกัด 14 แห่ง เมื่อปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545 กรมต่างๆ ยังขึ้นกับกระทรวง 8 กรม เว้นแต่กรมอุตุนิยมวิทยาที่ย้ายไปขึ้นกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ส่วนรัฐวิสาหกิจยังอยู่ครบตามจำนวน แม้ว่าบางรัฐวิสาหกิจย้ายไปขึ้นกับกระทรวงอื่น แต่ก็มีรัฐวิสาหกิจอื่นมาทดแทน

กระทรวงต้นหูกวาง

กระทรวงคมนาคมเคยตั้งและย้ายจากที่ต่างๆ มาหลายที่หลายแห่งตามยุคสมัย จนกระทั่งมาปักหลักที่ถนนราชดำเนิน เมื่อมีการก่อสร้างอาคารแห่งนี้ใน พ.ศ. 2495 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2497 โดยมีพระรามทรงรถ เป็นตราประจำกระทรวง

กระทรวงคมนาคม เส้นเลือดใหญ่ด้านขนส่งของไทย พล.อ.พงษ์ ปุณณกันต์ รมว.คมนาคม ที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องนานที่สุด

ที่บริเวณหน้ากระทรวงติดกับถนนราชดำเนิน ปลูกต้นหูกวางหลายต้นเพื่อความร่มรื่น ต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ และฉายาของกระทรวงที่นักข่าวตั้งให้ว่ากระทรวงต้นหูกวาง มนัส คอวนิช อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม และอดีตอธิบดีกรมทางหลวง ให้ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า นักข่าวให้ฉายากระทรวงว่ากระทรวงต้นหูกวาง ในสมัยที่ พล.อ.พงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ท่านนายพลผู้นี้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมหลายสมัยติดต่อกัน หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติโค่นล้ม รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม วันที่ 16 ก.ย. 2500 เมื่อ|ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรก โดยมีนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.พงษ์ ปุณณกันต์ ขณะที่ครองยศพลตรี รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยแรก

พล.อ.พงษ์ รมว.คมนาคม นานที่สุด

หนังสือรายชื่อคณะรัฐมนตรีรวบรวมโดย มนูญ บริสุทธิ์ ระบุว่า พ.ศ. 2501 เมื่อ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ต.พงษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.คมนาคม จนกระทั่ง พ.ศ. 2516 ครองยศ พล.อ. ก็ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงกลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ยืนยาวนานที่สุดในประเทศไทย

โครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ เช่น สนามบินหนองงูเห่า (สุวรรณภูมิ) ก็เกิดในสมัยท่านนายพลผู้นี้

เพราะความที่เป็นรัฐมนตรีนานที่สุด จึงคุ้นเคยกับนักข่าวสมัยนั้นมากประกอบกับความเป็นสุภาพบุรุษ กระทรวงท่านจึงได้รับฉายาว่ากระทรวงต้นหูกวางจากนักข่าว และยังเป็นฉายาที่พูดถึงตราบเท่าทุกวันนี้

ถึงแม้ว่ากระทรวงคมนาคมจะมีบทบาทเป็นเส้นเลือดใหญ่ในระบบขนส่งของประเทศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ถูกสลับสับเปลี่ยนชื่อบ่อยครั้งและบางครั้งชื่อหายไปเลย แต่บทบาทหลักไม่เคยเปลี่ยนและหายไป จึงยืนยงให้ฉลองขึ้นปีที่ 100 ใน พ.ศ. 2554 นี้อย่างยิ่งใหญ่และสง่างาม