posttoday

ปุจฉาจากเสวนาธรรมที่สถาบันพระปกเกล้า (ตอน ๖)

18 มีนาคม 2554

ปุจฉา : มีคำถามข้อที่ ๒ จากสาธุชนผู้ร่วมฟังการเสวนาธรรม เมื่อ ๙ ก.พ. ๒๕๕๔ ที่สถาบันพระปกเกล้า

ปุจฉา : มีคำถามข้อที่ ๒ จากสาธุชนผู้ร่วมฟังการเสวนาธรรม เมื่อ ๙ ก.พ. ๒๕๕๔ ที่สถาบันพระปกเกล้า

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : มีคำถามข้อที่ ๒ จากสาธุชนผู้ร่วมฟังการเสวนาธรรม เมื่อ ๙ ก.พ. ๒๕๕๔ ที่สถาบันพระปกเกล้า ในงานเฉลิมฉลองบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุพระอริยสาวก เนื่องในโอกาสเข้าสู่เทศกาล “การสักการบูชาในวันมาฆบูชา” ที่คณะศรัทธาสาธุชนและองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันจัดงานกับทางคณะผู้จัดงานที่ประเทศอินเดีย คำถามนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะเดินทางมาประเทศอินเดีย และได้ตอบคำถามนี้เมื่อสิ้นสุดการจัดงานที่อินเดีย ก่อนที่จะเดินทางกลับจากสาวัตถี ซึ่งได้มาบูชาธรรม ณ วัดเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี บัดนี้อยู่ในการดูแลของกองโบราณคดีของประเทศอินเดีย รัฐอุตตรประเทศ (รัฐยูพี) ซึ่งก็คงใช้เวลาประมาณ ๘๙ ชั่วโมง เพื่อเดินทางสู่แคว้นกาสี หรือเมืองพาราณสี เพื่อสักการบูชา ณ ธัมเมกสถูป สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

โดยมีหัวข้อปุจฉาที่จะตอบในระหว่างการเดินทางว่า “สังคมไทยเป็นโรคทางใจกันมาก ทำให้เกิดปัญหาสังคม อยากให้พระอาจารย์แนะนำหลักธรรมะ เพื่อการเยียวยาจิตใจให้คนมีใจที่ปกติ และจะได้ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปค่ะ”

วิสัชนา : ด้วยการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ดังกล่าว จึงทำให้จิตใจของบุคคลเหนี่ยวรั้งกับสิ่งที่ปรุงแต่งมากขึ้น และเข้าถึงชั้นความจริงปกติในธรรมชาติได้ยาก เพราะไปหลงกฎเกณฑ์ที่มนุษย์เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาปกปิดกฎความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ สุดท้ายจึงมีความทะยานอยากในวัตถุกามทั้งหลายสูงยิ่งกว่าปกติ จนเข้าขั้นจิตวิปริตผิดเพี้ยน จึงทำให้เกิดโมหจิตปิดบังอำนาจที่ทำให้เกิดปัญญาที่เรียกว่า ตัวรู้ เมื่อตัวรู้ถูกปิดบังมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น เราก็ขาดความระลึกรู้ชอบ ขาดสติ และขาดสัมปชัญญะ จนเสียสภาพความมีคุณค่าของสัตว์ประเสริฐไปอย่างน่าเสียดาย...

ดังนั้น ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จึงวัดคุณค่า คุณภาพของมนุษย์ที่สติสัมปชัญญะ โดยคนที่จิตไม่ปกติจะขาดสติ เสียสัมปชัญญะ และในทางตรงข้าม คนที่มีความเป็นปกติ ก็คือคนที่มีสติสัมปชัญญะ ฉะนั้น สติ สัมปชัญญะ จึงเป็นเครื่องวัดความเป็นปกติของมนุษย์ สติจึงเป็นธรรมะโอสถที่จะช่วยเยียวยาจิตใจให้คนเป็นปกติ... ฉะนั้น หากถามว่าโรคทางใจในสังคมปัจจุบันนี้ ธรรมะที่จะเยียวยาจิตใจให้ปกติได้นั้นคือธรรมข้อใด ก็ต้องสรุปคำตอบลงที่ สติ คือต้องกำหนดระลึกรู้ชอบ ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ ซึ่งต้องฝึก เช้า สาย บ่าย เย็น ตื่นนอน ก่อนหลับ ก็ต้องมีสติกำกับรู้อยู่ ดำรงตนอย่างมีสติ ก่อนหลับ ก็หลับอย่างมีสติ ไม่หลงใหล ไม่ทิ้งตัวจนขาดสติ... ให้ครองสติไว้ในทุกขณะ หรือทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเราฝึกอย่างนี้ได้ทั้งก่อนนอนและก่อนตื่น ถ้าทำได้อย่างนี้สืบเนื่อง เรียกว่า จะนอนก็มีสติ จะตื่นก็มีสติ จะดำรงชีวิตอยู่ก็มีสติ ประกอบกับการมีความเพียรชอบ มีการกระทำอันชอบ รู้ตัวทั่วพร้อม แยกแยะเห็นชัด บาปบุญคุณโทษ สิ่งใดควรคิด สิ่งใดไม่ควรคิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ...อุปมาดุจเรารู้จักรื้อค้นเอาขยะออกไปจากบ้าน ปัดกวาดเช็ดถูบ้านตลอดเวลา บ้านก็สะอาด จิตใจก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้สติกรองจิตอยู่ตลอดเวลา บนความเพียรอันชอบที่ต่อเนื่อง สติเหมือนกับทราย จิตเหมือนกับน้ำ ทรายยิ่งละเอียดเท่าไหร่ก็กรองน้ำได้สะอาดเท่านั้น

ธรรมะทั้งมวลจึงรวมประชุมกันที่ “สติ” ตัวเดียว คือถ้าจิตมีสติกำกับดูแลอย่างมีคุณภาพจนเป็นมหาสติ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น จนเกิดความรู้เท่ารู้ทัน ถ้ารู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งทั้งปวง ก็ทันกับการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะปรุงแต่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือโดยสภาพธรรม เราก็จะรู้เท่าทันต่ออารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นทางอายตนะ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่ามีอินทรีย์สังวรที่เข้มแข็ง หรือมีความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่รับรู้ทางอายตนะได้เป็นอย่างดี สามารถยับยั้งอกุศลใดๆ ไม่ให้เข้ามาข้องแวะกับจิตใจได้อย่างรู้เท่ารู้ทัน ซึ่งเมื่ออินทรีย์แก่กล้าก็ระวังสำรวมในการรับรู้ทั้งหลาย และเท่าทันกับการปรุงแต่ง ละความเกี่ยวเนื่อง จิตเราก็จะไม่วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน จิตจะรวมนิ่ง มั่นคง ไม่สื่อสารเข้าไปสืบเนื่องในวิถีการปรุงแต่ง จิตก็ปกติ อะไรเกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งเข้าไปปรุงแต่ง ไม่ยึดถึงกับอารมณ์นั้น พิจารณาแล้วละเสีย จะดีจะชั่วก็ละเสีย ตัวละ คือตัวปัญญา จิตที่ปกติ จะรู้จักละ ละทั้งดีทั้งชั่วได้ ก็จะเป็นวิปัสสนา เป็นปัญญา เกิดความรู้แจ้ง ไม่ยึดติดในอวิชชาและโทมนัส ความยินดี ยินร้าย ด้วยสติ สัมปชัญญะ