posttoday

หมอกฤตไท .. ในวันที่ ‘สู้ดิวะ’ มีความหมายมากกว่าแค่ตัวเองและเรื่องมะเร็ง

06 ธันวาคม 2566

คุณหมอพูดคุยกับสาธารณชนมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ผ่านทางเพจและหนังสือ 'สู้ดิวะ' หลังจากพบว่าป่วยเป็น ‘โรคมะเร็งปอด’ ระยะสุดท้าย ซึ่งลุกลามสู่สมอง แม้ว่าจะไม่เคยสูบบุหรี่ หรือมีพฤติกรรมใดที่เป็นตัวก่อโรค ยกเว้นการอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีค่าฝุ่นPM2.5 สูง!

หมอกฤตไท เจ้าของเพจ ‘สู้ดิวะ’ จากไปอย่างไม่มีวันกลับเมื่อวานนี้

 

คุณหมออยู่ในความสนใจของสาธารณชนมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี จากการเปิดเพจหลังจากพบว่าตนเองป่วยเป็น ‘โรคมะเร็งปอด’ ในระยะสุดท้าย ซึ่งลุกลามสู่สมอง แม้ว่าจะไม่เคยสูบบุหรี่ หรือมีพฤติกรรมใดที่เป็นตัวก่อโรค ยกเว้นการอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีค่าฝุ่น pm2.5 สูง!

 

ระยะของโรคนั้นคุณหมอรู้ตั้งแต่ต้นดังที่เขียนไว้ในหนังสือว่า ‘ผมไม่ได้แก่ตายแน่’

และเป็นคุณหมอเองที่เขียนโพสต์ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุว่าตนเองอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินกลางเดือนธันวาคม

 

3 ต.ค.65     คุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล พบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย พร้อมกับตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นตัวเองที่ป่วยเนื่องจากไม่เคยสูบบุหรี่และออกกำลังกาย ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ในช่วงเวลาไม่นานจึงเกิดการตั้งคำถามว่าส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะปัญหาฝุ่น

 

‘ ผมก็ไม่ได้บอกว่า ฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมเป็นมะเร็งหรอกครับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผล’

 

คุณหมอเคยคิดว่าตนเองแข็งแรงน่าจะพอชดเชยได้ ‘คนอื่นก็สูดกัน ไม่เป็นไรหรอกน่า’

 

‘แล้วผมก็เป็นมะเร็งปอดครับ’

 

.

.

ก่อนหน้าการตรวจพบของคุณหมอเพียงแค่ 9 เดือน ได้มีการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดยื่นต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565  เพื่อให้คนไทยมี ‘สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด’  อันควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศ และในปีเดียวกันนั้นเองที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เริ่มชัดเจนและตระหนักได้ว่าเครื่องมือทางกฎหมายของรัฐอาจจะยังไม่เพียงพอจริง และต้องมีกฎหมายสะอาดขึ้นเป็นการเฉพาะ

.

.

จนกระทั่งเกิดการเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  6 เดือนหลังจากที่หมอกฤตไทพบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

 

27 ก.ย. 66     มีข่าวความเคลื่อนไหวจากรัฐบาล เมื่อนายกมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอ พ.ร.บ.อากาศสะอาดในเวอร์ชั่นของภาครัฐต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีร่างพ.ร.บ. จากทางพรรคเพื่อไทยเสนอต่อรัฐสภาโดยเนื้อหานั้นครอบคลุมตั้งแต่กลไกลการแก้ไขปัญหาเรื่องอากาศสะอาด หมอกควันข้ามแดน รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีและบทลงโทษผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ และจะนำไปพูดในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก

 

1 อาทิตย์ก่อนการจากไปของหมอกฤตไท ครม.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด และเร่งรัดเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อการพิจารณาของครม. เพื่อผลักดันเป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุด ..  อย่างไรก็ตามแม้จะเร่งรัดเพียงใด เนื้อหาที่ต้องจัดการตามร่างพ.ร.บ. นั้นมีการดำเนินการและขั้นตอนที่ต้องจัดการอยู่อีกมาก ในขณะที่คนไทยกำลังมีปัญหาหมอควันที่ต้องเผชิญในอีก 3 เดือนข้างหน้า ฤดูกาลของหมอกควันและฝุ่น PM 2.5

 

5 ธ.ค. 66  หมอกฤตไทจากไปด้วยอายุเพียง 28 ปี  ..

คุณหมออาจไม่ใช่คนแรกที่เป็นมะเร็งปอดเสียชีวิต ไม่ใช่คนแรกที่ป่วยด้วยโรค PM2.5

แต่คุณหมอคือประจักษ์พยานสำคัญของความรุนแรงจากการไม่มี  ‘อากาศสะอาด’ หายใจ

 

เรื่องราวของการผลักดันอากาศสะอาดนั้น กว่ารัฐบาลไทยจะตระหนักถึงการจัดการที่ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าที่มีอยู่ ใช้เวลากว่า 5 ปี

 

ส่วนหมอกฤตไท ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง เขาต่อสู้กับมะเร็งด้วยการออกมาเล่าเรื่องของตนผ่านเพจ ‘สู้ดิวะ’ และตามมาด้วยหนังสือ ‘สู้ดิวะ’

 

หากใครที่ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ อาจจะตีความจากชื่อหนังสือ ว่าเป็นการต่อสู้กับมะเร็ง แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยการค้นพบความหมายของการมีชีวิตอยู่ .. เป็นหนังสือที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีในการให้ความหวังกับผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ จากคนที่รู้ว่าตัวเอง ‘ไม่ได้แก่ตายแน่’ อย่างอบอุ่นและจริงใจ

 

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามสามัญที่ว่า ‘เราเกิดมาเพื่ออะไร?’ คุณหมอเล่าว่า คนเราเกิดมาเพื่อทำให้คนอื่นมีความสุข และถ้าหนังสือของเขาทำให้คนอื่นมีความสุขได้บ้าง ก็รู้สึกว่า ‘ชีวิตผมมีค่า’

 

หนังสือเล่มนี้บอกให้ ‘ใช้ชีวิตกับวันนี้อย่างมีความสุข’ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ‘วันนี้เป็นสิ่งเดียวที่เรามี’ คุณหมอตั้งคำถามว่าไม่แน่ใจว่า สำเร็จแล้วจึงสุข หรือสุขแล้วจึงสำเร็จ แต่คุณหมอมองว่าการเจ็บป่วยทำให้เข้าใจว่า หากอยากจะมีความสุขไม่ต้องรอให้สำเร็จ แต่สามารถมีได้ตั้งแต่วันนี้ เพราะหลายคนโชคดีกว่าเขามากที่

 

‘ชีวิตยังมอบวันนี้ให้’

 

หรือการบอกว่า ‘เราเป็นคนธรรมดา’  คุณหมอบอกว่า สังคมทุกวันนี้กดดันให้เราเป็นคนพิเศษ  บางทีเราก็หลอกตัวเองว่าเราพิเศษ ด้วยการมีสตอรี่และบาดแผลในชีวิต จนทำให้เผลอลืมว่าเราพิเศษเหนือคนอื่น แต่สำหรับผู้ที่รู้ว่าตัวเองมีเวลาเหลือน้อยเต็มที จะพบว่า เราเกิดมาแล้วจากไป ทุกคนมีเวลาจำกัดเหมือนกันและเท่าเทียมกันหมด

 

‘สุดท้ายเราก็จะตาย และวันที่เราตาย โลกจะยังคงเหมือนเดิม’

.

.

‘สู้ดิวะ’

แม้จะเป็นข้อความที่เต็มเปี่ยมด้วยความอบอุ่นและความหวัง แต่ในอีกมุมหนึ่ง

เราคงต้องตั้งคำถามต่อไปยังผู้ที่มีอำนาจว่า  ในฐานะประชาชนคนธรรมดา คุณหมอทำให้เห็นว่า เราทำได้แค่รับผล กลับมามองตัวเอง และให้กำลังใจผู้อื่น ให้อยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความหวัง

 

แต่แค่ความหวังเท่านั้นหรือที่ทำได้? ต้องมีประชาชนอีกกี่คนที่ให้ความหวังกันและกัน ตามลำพัง ด้วยกันเอง?

 

ในฐานะผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนและทำให้สังคมดีขึ้นได้ ผู้ที่ได้สิทธิจากเราเข้าไปบริหารบ้านเมือง

จะสามารถทำอะไรที่ ‘ทำให้คนอื่นมีความสุข’ ได้รวดเร็ว รอบด้าน มากกว่านี้หรือไม่?

 

สำหรับประชาชนชาวไทย

‘สู้ดิวะ’

 

สำหรับคุณหมอกฤตไท

ขอขอบคุณจากใจ.

และหวังว่าในวันนี้ที่คุณหมอไม่อยู่ เมืองไทยจะมีสิทธิในอากาศบริสุทธิ์ และไม่เหมือนเดิมอย่างที่เป็นมา