posttoday

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

26 ตุลาคม 2566

อะไรคือ 10 คุณสมบัติที่เมืองยั่งยืนในโลกต้องมี ก่อนจะเป็น Smart City สีสัน ทัศนียภาพ เทคโนโลยี ศิลปะวัฒนธรรม และอากาศบริสุทธิ์ที่ต้องไปด้วยกันได้ หน้าตาในอนาคตของเมืองที่พร้อมจะรับมือและต่อสู้กับทุกหายนะภัยจาก Climate Change จะเป็นอย่างไร ไปดูกัน

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน
 

ดูรายชื่อเมืองเหล่านี้ตามลำดับกันก่อน 1.โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก / 2.อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ / 3.สตอกโฮล์มสวีเดน / 4.แวนคูเวอร์ แคนาดา / 5.ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา / 6.กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี / 7.สิงคโปร์ สิงคโปร์ / 8.ออสโล นอร์เวย์ / 9.เรคยาวิก ไอซ์แลนด์ / 10.เฮลซิงกิ ฟินแลนด์

 

ภาพในหัวเราเป็นแบบไหน มันน่าจะเป็นเมืองที่ควรจะมีคุณสมบัติ หรือองค์ประกอบอย่างไร ถึงจะได้ชื่อว่าเป็น "เมืองยั่งยืน" ติดอันดับท็อป 10 ของโลก

 

ลองจินตนาการถึงเมืองที่ใจกลางเมืองปราศจากหมอกควันและเต็มไปด้วยระบบนิเวศสีเขียวทุกซอกทุกมุมแทนที่รถยนต์แน่นเอี้ยด แทนที่ด้วยคนใช้จักรยานและคนเดินถนนมากกว่ารถยนต์ แม้ว่าทัศนียภาพที่ว่ามานี้อาจดูเหมือนเกิดขึ้นได้ยากแสนยากเหมือนเมืองในฝันเสียมากกว่า แต่ “เมืองยั่งยืน” ก็กำลังจะเกิดมากขึ้นในโลก แม้กรุงเทพฯของเราจะยังห่างไกล ท็อป 10 ของโลกแบบไม่เห็นฝุ่น

 

เราได้ไปรวบรวมคุณสมบัติยอดนิยมที่เมืองยั่งยืนควรมี ที่เราจะเราสามารถนำมาใช้ได้ ทั้งในฐานะที่ความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์หลักในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย


การเป็นเมืองที่ยั่งยืนหมายถึงอะไร?

"เมืองที่ยั่งยืน" เป็นเมืองที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจผ่านการวางผังเมืองและการจัดการเมือง โครงการริเริ่มที่ยั่งยืนหลายโครงการสำเร็จได้ด้วยการสร้างทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น การทำทางเดินเท้าและทางสำหรับจักรยาน กฎระเบียบและค่าปรับในเรื่องยิบย่อยต่างๆ ไปจนถึงการบริหารจัดการ/กำจัดขยะยังคงเป็นโครงการยอดนิยมที่ใช้ได้ผล

 

และแม้ว่าการหาวิธีช่วยเหลือโลกคือหัวใจสำคัญต่อความยั่งยืน แต่การลดต้นทุนและการสร้างวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาให้กับพลเมืองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่วางแผนไว้อย่างดี พื้นที่สาธารณะสีเขียว การกำจัดขยะอย่างชาญฉลาด และอื่นๆ อีกมากมาย เมืองต่างๆ ในโลกสามารถสร้าง Net Zero ฟุตพรินต์เพื่อโลกที่ยั่งยืนมากขึ้นได้ แม่จะดูยากแต่ก็น่าทำ

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

1. การขนส่งสาธารณะ

เมืองที่มุ่งเน้นจะสร้างความยั่งยืนต้องจัดการกับการคมนาคมแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เพราะยานยนต์ทั้งหลายมีส่วนรับผิดชอบต่อมลพิษคาร์บอนมอนอกไซด์มากที่สุดเกิดกว่า 50% ดังนั้นการขนส่งสาธารณะราคาประหยัดและเข้าถึงได้ง่ายจะช่วยกำจัดรถยนต์ออกจากถนนได้ง่ายที่สุด 

 

ตัวอย่างการขนส่งสาธารณะบางส่วนที่เมืองที่ยั่งยืนใช้กันก็มี รถรางไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชนสมัยใหม่ ทั้ง รถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟแม็กเลฟ (Maglev trains) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่งในการปรับปรุงการขนส่งสาธารณะและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนอนาคตของการคมนาคมรักษ์โลกที่กำลังเข้ามารับมือกับการขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยีใหม่ ก็มี ไฮเปอร์ลูป (hyperloop) และ ถนนอัจฉริยะ (Smart Roads) เป็นต้น

 

*รถไฟระบบพื้นผิวแม่เหล็ก (รถไฟฟ้าพลังแม่เหล็ก) หรือ แม็กเลฟ (Maglev trains)

เป็นระบบการขนส่งรูปแบบหนึ่งที่ใช้แรงยกตัวของแม่เหล็กไฟฟ้าให้ตัวยานพาหนะลอยขึ้นเหนือรางวิ่งแทนการใช้ล้อเพลาหรือลูกปืนลดความเสียดทาน เป็นหนึ่งในสุดยอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบัน ด้วยระบบการขับเคลื่อนพลังงานแม่เหล็ก เรียกว่า Maglev หรือ Magnetic Levitation คือการใช้สนามแม่เหล็กในการยกรถไฟให้ลอยอยู่บนราง รวมถึงนำสนามแม่เหล็กนั้นมาใช้เหนี่ยวนำเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้ารวมถึงการหยุดนิ่งอยู่บนราง ทำให้รถไฟสามารถลอยอยู่บนรางได้ตลอดเวลา

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

2. ย่านเก๋ๆ ที่สามารถเดินและปั่นจักรยานได้

วิธีที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วทั้งชุมชน ก็คือการให้ประชาชนหยุดการใช้รถยนต์ไปเลย แต่จะทำได้จริงแค่ไหนกัน แต่หากมองผ่านเทรนด์สุขภาวะดีๆ รอบตัวของสายสุขภาพ หรือ wellness (การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม) ที่กำลังมาแรง การเดินและขี่จักรยานเป็นทางเลือกที่ดีสุดๆของคนเมืองเก๋ๆ ในชั่วโมงนี้ แม้หลายเมืองที่เราอ่านรายชื่อไปข้างบนเขาจะทำกันมาหลายปีดีดักแล้วก็ตาม

 

ในระดับนโยบาย เมืองของเราก็สามารถทำได้โดยการอนุมัติโครงการที่ทำให้เกิดการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน การผ่านกฎหมายเพื่อปกป้องนักปั่นจักรยาน และการตัดสินใจในการวางผังเมืองอย่างชาญฉลาด ทั้งหมดนี้ทำให้นครโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กซึ่งมีจำนวนจักรยานมากกว่ารถยนต์เกินระดับห้าคันต่อรถยนต์หนึ่งคัน และผู้อยู่อาศัยในเมือง 42% ขี่จักรยานไปทำงาน! 

 

"วัฒนธรรมจักรยาน" เกิดขึ้นได้จากการบริหารเมือง มีทางด่วนสำหรับการปั่นจักรยานทั่วเมือง (ย้ำว่าทั่วเมือง) ด้วยเส้นทางและสะพานที่ออกแบบมาสำหรับนักปั่นจักรยานโดยเฉพาะ ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะกับการเดินและปั่นจักรยาน เช่น สะพานคนเดิน เครือข่ายเส้นทางจักรยาน เชื่อมต่อกริดในเมือง การสัญจรแบบไมโครที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน (Shared micromobility)

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

3. สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้าปล่อยก๊าซจากท่อไอเสียเป็นศูนย์เมื่อเทียบกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั่วไป ซึ่งส่งก๊าซพิษออกสู่ถนนในสหรัฐอเมริกาได้ถึง 4.6 เมตริกตันต่อปี สำหรับเมืองต่างๆ ในโลก ที่หวังจะลดคาร์บอนลงอย่างจริงจัง สถานีชาร์จรถยนต์สำหรับพลังงานไฟฟ้าหรือทางเลือกอื่นๆ จะต้องกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา สามัญสุดๆ  เมืองต่างๆ สามารถสร้างแรงจูงใจให้มีการก่อสร้างสถานีชาร์จได้ด้วยการรวมกลุ่มนักลงทุนจากภาคเอกชนกับหน่วยงานข้าราชการ นักวางผังเมืองร่วมกับนักพัฒนาเพื่อจัดทำแผนผังตำแหน่งของสถานีชาร์จที่เหมาะกับทั้งผู้ขับขี่และเจ้าของย่านที่อยู่อาศัยในชุมชน เพราะการติดตั้งสถานีชาร์จตามถนนแบบสุ่มๆ อาจส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินลดลงและความแออัดเพิ่มขึ้น

 

ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกประเภทหนึ่งที่ต้องมีสถานีเติมเชื้อเพลิงที่สร้างขึ้นใหม่คือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน เพราะรถยนต์เหล่านี้ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนและออกซิเจน สามารถวิ่งได้นานกว่ารถยนต์ไฟฟ้าถึงสองเท่าก่อนที่จะต้องเติมน้ำมัน (ไม่ใช่สถานีชาร์จ) ปัจจุบันมีสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพียง 376 แห่งทั่วโลกเท่านั้น

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

4. โซลาร์ฟาร์ม

การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับเมืองต่างๆ ที่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความยั่งยืน ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์สามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองได้และยังจ่ายพลังงานทดแทนให้กับประชาชนและสิ่งอำนวยความสะดวกของพื้นที่ต่างๆ ได้ด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ยังสร้างงานที่มีรายได้ดีและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ตัวอย่างจาก สหรัฐอเมริกาที่เพิ่มตำแหน่งงานใหม่ๆ ด้านพลังงานสะอาดได้ถึง 110,000 ตำแหน่งในปี 2561 ซึ่งมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเกือบ 3 ต่อ 1 ตำแหน่ง ฟาร์มโซลาร์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเมืองจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยที่ไม่สามารถใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่ของตนเองสามารถเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้อาคารเทศบาล หน่วยงานราชการต่างๆ เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนได้ เช่นที่เมืองฟาเยตต์วิลล์ รัฐอาร์คันซอกำลังทำโครงการเพื่อให้อาคารรัฐบาลท้องถิ่นใช้พลังงานสะอาด 100% ภายในปีพ.ศ.2573 (2030)

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

5. อาคารสีเขียว

30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกมาจากอาคาร ทางออกหนึ่งของปัญหานี้คือ อาคารสีเขียว หรือ Green Building ซึ่งจะช่วยลดการปล่อย CO2 ลง 32% ตึกสีเขียวที่ว่านี้ยังต้องการการบำรุงรักษาน้อยกว่าและมีค่าน้ำและค่าไฟฟ้าถูกกว่าตึกปกติทั่วไป สิทธิประโยชน์ด้านต้นทุนเหล่านี้ ที่มาพร้อมด้วยมาตรการจูงใจทางภาษีเพิ่มเติม ทำให้การก่อสร้างอาคารสีเขียวแพร่หลายมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้คำสั่งจากรัฐบาล

 

วิธีที่อาคารสีเขียวยอดนิยมจัดการกับพื้นที่ก็คือ ระบบทำความร้อนและความเย็นอัจฉริยะ วัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ การระบายอากาศและฉนวนที่ดีขึ้น แผงโซลาร์เซลล์แสง หลังคาเขียว (Green roofs) เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองเป็นสีเขียวอย่างแท้จริง อาคารเทศบาลทั้งหมดควรได้รับการรับรอง LEED หรือ LEED certified  โดย U.S. Green Building Council เป็นผู้มอบให้

 

**มาตรฐาน LEED Certification คือ หลักเกณฑ์ในการประเมิน “อาคารสีเขียว” จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยวัดระดับตั้งแต่การวางแผนตั้งเป้าหมาย การเลือกสถานที่ การบริหารจัดการน้ำ พลังงาน การลดการปล่อยก๊าซ CO2 และการเลือกใช้วัสดุ รวมถึงบรรยากาศโดยรวมในอาคาร

คำว่า LEED ย่อมาจาก Leadership in Energy & Environmental Design (ความเป็นผู้นำด้านการออกแบบที่อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม) เป็นระบบการรับรองอาคารที่ยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ซึ่งในทุก ๆ วันจะมีพื้นที่อาคารสีเขียวประมาณ 2.2 ล้านตารางฟุตที่ได้รับการรับรอง

โปรแกรมการรับรองของ LEED เป็นโปรแกรมชั้นนำระดับนานาชาติสำหรับการออกแบบและก่อสร้างอาคารอย่างยั่งยืน การได้รับการรับรองจาก LEED เปรียบเสมือนได้รับการรับรองว่ามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของทั้งเจ้าของอาคารและผู้ดำเนินการได้เป็นอย่างมาก

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

6. การผลิตอาหาร

สถาบันวิจัยโลกประมาณการว่า โลกจะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นถึง 50% ภายในปี 2593 ในขณะเดียวกันก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงสองในสาม โจทย์ยากๆ ข้อนี้ทำให้เมืองต่างๆ ต้องเลี้ยงดูผู้คนมากขึ้นและด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เกษตรกรรมในเมือง หรือ Urban farming เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เมืองต่างๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตอาหารได้ 

 

การร่วมมือกับองค์กรที่มีแนวคิดเดียวกันสามารถช่วยให้ความรู้แก่ผู้คนในเมืองเกี่ยวกับโภชนาการ และสนับสนุนให้ผู้คนเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

7. ทรัพยากรสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้

เมืองที่ยั่งยืนยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยบรรลุความยั่งยืนในชีวิตของตนเอง ด้วยการมอบโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรอาคารด้านสาธารณสุข (Public Health Buildings ) ศูนย์พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ เทคโนโลยีฮับ และอื่นๆ ล้วนเป็นตัวอย่างของศูนย์ทรัพยากรที่สามารถกระตุ้นการสาธารณสุขและเศรษฐกิจได้ ทรัพยากรเหล่านี้ยังรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและโปรแกรมด้านสันทนาการ ศิลปะวัฒนธรรมที่สมาชิกในชุมชนสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น พิพิธภัณฑ์และศูนย์วัฒนธรรม ที่สามารถปรับโฉมใจกลางเมืองและช่วยให้เมืองสร้างอัตลักษณ์ของเมืองได้ การจัดสรรเงินทุนสาธารณะให้กับสิ่งอำนวยความสะดวกและกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นวิธีที่ดีในการส่งเสริมความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกในระดับเมือง และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ภายในชุมชนให้ดีขึ้นด้วย

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

8. การอนุรักษ์น้ำ

การบริหารจัดการน้ำในเมืองอย่างมีคุณค่าเป็นคุณลักษณะของเมืองที่ยั่งยืนเช่นกัน ศูนย์กลางเมืองมากกว่า 90% ของโลกตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ชายฝั่งทะเล แม้จะทำให้เมืองเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น แต่ก็ทำให้น้ำไม่ขาดแคลนและยังเป็นการเปิดประตูสู่การใช้แหล่งน้ำอื่นๆได้อีก

 

แนวทางปฏิบัติด้านการอนุรักษ์น้ำที่เมืองต่างๆ สามารถนำมาใช้ได้ก็มี เช่น การเก็บกักน้ำฝน โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructure) และฮาร์ดแวร์ทั้งหลายที่ไม่ต้องใช้น้ำ  (Waterless hardware) 

 

โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวใช้วัฏจักรของน้ำตามธรรมชาติเพื่อสร้างแหล่งน้ำสะอาดแทนโรงบำบัดน้ำ ตัวอย่างเช่น การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและการปลูกต้นไม้ สามารถลดความจำเป็นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้น้ำท่วมโดยฝีมือมนุษย์ (manmade flood infrastructure) เช่น เขื่อนกั้นน้ำ (เจ้าปัญหาทั้งหลาย) ลงได้

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

9. พื้นที่สีเขียว (กินได้) สาธารณะ

พื้นที่สีเขียวในเมืองควรได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับเมืองที่ยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้คณานับในคราวเดียว เมืองต่างๆ ในโลกสามารถประสบความสำเร็จในการควบคุมมลพิษ การสาธารณสุข และความหลากหลายทางชีวภาพก็ด้วยการนำโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวมาใช้ ขณะเดียวกันก็ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินในพื้นที่ได้อีก จากสวนสาธารณะ ทางเดินและเส้นทางสีเขียว ต้นไม้ริมถนน และพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้รับการคุ้มครอง ล้วนเป็นตัวอย่างของพื้นที่สีเขียวสาธารณะ

 

ยิ่งกว่านั้นการสร้างสวนชุมชนและฟาร์มในเมืองยังสามารถแก้ปัญหาเรื่องอาหารได้อีก การสร้างพื้นที่ให้ชาวบ้านทำสวนฟรีหรืออาจคิดค่าเช่าในราคามิตรภาพ หรือการจัดสวนแบบกินได้ ทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองมีประโยชน์ใช้สอยเพิ่มอีกสองประการก็คือ ประดับประดาเมืองและกินได้จริง! ยิงปืนนัดเดียวได้นกกี่ตัว นับ!

 

 

10. การจัดการขยะ

แทนที่จะทิ้งขยะเพียงเพื่อไปฝังกลบ กระบวนการกำจัดขยะควรเป็นแบบวงกลม หมุนเวียนไปมา แม้ว่าเมืองต่างๆมากมายหลายแห่ง (ไม่ใช่ทั้งหมด) ได้นำโครงการรีไซเคิลมาใช้ แต่ศูนย์กลางเมืองที่จริงจังระดับเกรี้ยวกราดในเรื่องนี้ก็ได้รับผลประโยชน์มหาศาลในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เช่น ในซานฟรานซิสโก ข้อบังคับในการรีไซเคิลและการทำปุ๋ยหมักช่วยให้เมืองสามารถกำจัดขยะได้มากกว่า 77% และการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่เป็นทางออกที่คูลสำหรับของเสียที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ เช่น กระบวนการที่ได้จับเอาเถ้าลอยที่ถูกเผาในบริเวณฝังกลบและแปลงกลับมาเป็นพลังงาน

 

การใช้เทคโนโลยีเพื่อเลิกใช้กระดาษเป็นอีกวิธีที่ดีในการส่งเสริมความยั่งยืนในระดับเมือง หน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้หันมาใช้แบบฟอร์มและใบสมัครทางออนไลน์ ซึ่งทั้งรวดเร็วและสิ้นเปลืองน้อยกว่าการส่งไปรษณีย์หรือส่งเอกสารออกไป 

 

ที่สุดแล้วเมืองที่ยั่งยืนก็คือการลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ และไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายที่สูงส่งสำหรับนักวางผังเมืองและผู้ชื่นชอบสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นอันดับต้นๆ ในการต่อกรกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน น้ำประปาเป็นพิษ และอื่นๆ 

 

ทั้งหมดนี้สามารถบรรเทาลงได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน หรือแม้แต่การแพร่กระจายของโรคอย่างการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ก็สามารถจำกัด (หรือกำจัดให้สิ้นซาก) ได้ด้วยการ “วางผังเมืองที่ชาญฉลาดและยั่งยืน”

 

สุดท้ายแล้วเมืองที่ลดความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน การสูญเสียและแม้แต่การบาดเจ็บล้มตายน้อยลง ทำให้แนวทางปฏิบัติในเมืองที่ยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จในระยะยาว

 

ทราบแล้วเปลี่ยน!

 

ก่อนจะไปถึง “Smart city มารู้จัก “Sustainable city” กันก่อน

 

เครดิตภาพประกอบบทความ: AI, Pixabay, Freepik