posttoday

4 นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

16 ตุลาคม 2566

อะไรคืออนาคตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เรือสำราญที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับอากาศยานที่ได้มาจากสาหร่ายขนาดจิ๋ว รีสอร์ทที่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำทางทะเล ไปจนถึงการเปลี่ยนให้นักท่องเที่ยวกลายเป็นอาสาสมัครดูแลพื้นที่ธรรมชาติ

4 นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

 

ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้น ไม่มีอุตสาหกรรมไหนในโลกเวลานี้ที่จะไม่มีเป้าหมายสู่ความยั่งยืนในระยะยาว และเมื่อพูดถึงวิธีการอย่างยั่งยืนในการสัญจรเดินทางทั่วโลก เราก็พบว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเกือบทุกภาคส่วน รวมถึงเรือสำราญ รีสอร์ทหรู สายการบิน และเมืองจุดหมายปลายทางยอดนิยมต่างหันมาใช้โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก

 

แต่ไม่ใช่แค่คาร์บอนเอาท์พุทที่ปล่อยออกมาเท่านั้นที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังลงทุนในผู้คนและโลก รวมถึงการทำงานเพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ และสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างด้วย

 

เรามาทำความรู้จักและเข้าใจนวัตกรรมด้านการเดินทางอย่างยั่งยืน 4 ประการที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมได้ และคาดว่าจะเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้นในปีต่อๆ ไป

 

Misool Resort ในหมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซียได้สร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในบริเวณน่านน้ำรอบๆ รีสอร์ท เครดิตภาพ: ชอว์น ไฮน์ริชส์/มิซูล รีสอร์ท

ธุรกิจรีสอร์ทกำลังปกป้องระบบนิเวศมหาสมุทรที่เปราะบาง

รีสอร์ทหรูทั่วโลกที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติกำลังเร่งมือกับภารกิจปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลของสัตว์น้ำหรือบ้านในมหาสมุทร รีสอร์ทริมทะเลที่ต้องรับผิดชอบมากเป็นพิเศษได้ร่วมมือกับประชากรในท้องถิ่นเพื่อสร้างเขตอนุรักษ์ทางทะเลใกล้กับที่พักให้ทุกคนและนักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกันแบบ win-win หนึ่งในโครงการอนุรักษ์มหาสมุทรที่ดีที่สุดที่ดำเนินการโดยรีสอร์ท อยู่ที่ Misool Resort  ในหมู่เกาะราชาอัมพัต (Raja Ampat) ประเทศอินโดนีเซียกับแนวคิด barefoot luxury หรือ ความหรูหราในเชิงของคุณค่าที่มาแบบพอดิบพอดี ผู้ก่อตั้งรีสอร์ทสุดคูลนี้ได้สร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในบริเวณน่านน้ำรอบๆ โรงแรม ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 300,000 เอเคอร์ และได้ฟื้นฟูแนวปะการังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในประเทศแทนซาเนีย Manta Resort บนเกาะ Pemba ก็ได้สร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของตนเอง ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการฟื้นตัวของสัตว์น้ำท่ามกลางแนวปะการัง

แนวคิดเช่นนี้ไม่เพียงเติมพลังให้กับประสบการณ์การดำน้ำลึกและการดำน้ำตื้นที่หาคู่แข่งได้ยากเท่านั้น แต่ยังให้ผลลัพธ์สุดคุ้มแบบ Spillover Effect หรือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง หากแต่อยู่ในโครงข่ายที่ยังคงเชื่อมโยงกันอยู่   อย่างเช่น ในทางเศรษฐศาสตร์  งานนี้ส่งผลไปถึงประชากรปลาที่มีสุขภาพดีขึ้นและยังทะลักล้นออกนอกพื้นที่คุ้มครอง กลายเป็นผลประโยชน์ต่อชาวประมงท้องถิ่น 

ส่วนที่ประเทศเบลีซ ชาติเล็กๆ บนฝั่งตะวันออกของอเมริกากลาง ริมทะเลแคริบเบียน ก็มีพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดคือเขตสงวนทางทะเล Turneff Atoll ซึ่งก็เป็นผลงานจากการทำงานหนักของ Turneff FlatsResort และการอุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์ของชุมชนท้องถิ่น

ยิ่งมีรีสอร์ทที่ช่วยปกป้องน่านน้ำรอบตัวมากเท่าไร อุตสาหกรรมก็ยิ่งเข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดโดยกลุ่มผู้สนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น 

สมาคมครูสอนดำน้ำมืออาชีพ (The Professional Association of Diving Instructors) ได้ท้าทายภาคส่วนต่างๆของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่การดำน้ำลึก เพื่อช่วยอนุรักษพื้นที่ต่างๆ ในมหาสมุทร 10,000 แห่งภายในปี 2568 ในขณะที่สหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายที่จะแบ่งพื้นที่ราว  30% ของพื้นที่มหาสมุทรโลกให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลภายในปี 2573


4 นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว


เชื้อเพลิงอากาศยานกำลังจะปลอดคาร์บอน (carbon negative) 100%

สายการบินระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งกำลังเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเครื่องบินและทำให้การบินมีความยั่งยืนมากขึ้นไม่ว่าจะด้วย SAF (Sustainable Aviation Fuel) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้Turkish Airlines ก้าวหน้าอย่างมากด้วยเชื้อเพลิงเครื่องบิน carbon negative แบบใหม่ เพราะสายการบินกำลังพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพแบบสังเคราะห์ที่ได้มาจากสาหร่ายขนาดจิ๋ว หรือ microalgae ที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชเช่น การใช้น้ำ และการช่วงชิงพื้นที่การเกษตร เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการทั้งหมดมีปริมาณคาร์บอนสุทธิเป็นลบ โรงงานที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจะใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน(carbon capture technology) ซึ่งจะแยกคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศและเก็บไว้ใต้ดินอย่างถาวร

ตามมาด้วยโครงการริเริ่ม Net Zero Flight NZ0 ของ Air New Zealand และเป้าหมายของ United Airlines ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 100% ภายในปี 2593 ที่กำลังกลายเป็นหัวข้อข่าวไม่เว่นแต่ละวันสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น ฝูงบินที่ใช้ไฟฟ้า (electrifying fleets) และยังลงทุนในเชื้อเพลิงชีวภาพและการดักจับคาร์บอน

ในส่วนของเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน โปรแกรมอย่าง Tomorrow's Air ช่วยให้นักเดินทางที่คำนึงถึงสภาพอากาศสนับสนุนโครงการริเริ่มในการดักจับคาร์บอนได้โดยตรงผ่านการซื้อตั๋วโดยสาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซจากการเดินทาง กลุ่มนี้เป็นพันธมิตรกับองค์กรต่างๆ เช่น ClimeWorks ซึ่งมีโครงการจัดเก็บคาร์บอนที่จับกลับมาใหม่อย่างถาวร (permanently stores recaptured carbon) ในชั้นหินบะซอลต์ของไอซ์แลนด์


MS Roald Amundsen จาก Hurtigruten Expeditions เป็นเรือสำราญที่ใช้แบตเตอรี่แบบไฮบริดลำแรกในโลก เครดิตภาพ: Espen Mills/Hurtigruten

 

สายการเดินเรือสำราญกำลังสร้างมาตรฐานใหม่ให้การเดินทาง

Hurtigruten Group ในนอร์เวย์มีพันธกิจสำคัญกับบทบาทผู้นำระดับโลกด้านการล่องเรือที่ยั่งยืน และเพื่อกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมใหม่สำหรับการเดินทางที่สุภาพอ่อนโยนต่อสิ่งแวดล้อม

Hurtigruten Expeditions กลุ่มผลิตภัณฑ์แนวผจญภัยของแบรนด์ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายๆ ด้าน ในปี 2019 บริษัทได้เปิดตัวเรือสำราญที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฮบริดลำแรกของโลก นั่นคือ MS Roald Amundsen ด้วยความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าของเรือผสานกับการออกแบบตัวเรือที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 20% ซึ่งช่วยเซฟคาร์บอนได้ถึง 3,000 เมตริกตันต่อปี

ในปี 2023 ธุรกิจเรือสำราญยักษ์ใหญ่เจ้านี้ได้ทำการอัพเกรดสีเขียวมูลค่า 100 ล้านยูโร ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในประวัติศาสตร์ของฟลีท Hurtigruten กำลังแปลงเปลี่ยนเรืออีก 3 ลำให้เป็นเรือสำรวจที่ใช้แบตเตอรี่ไฮบริด ได้แก่ MS Richard With, MS Kong Harald และ MS Nordlys ทั้งหมดจะได้รับการติดตั้งเครื่องยนต์และชุดแบตเตอรี่ใหม่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 25% นอกจากนี้ บนเรือ Coastal Express ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการสำรวจฟยอร์ดของนอร์เวย์ Hurtigruten ก็กำลังเพิ่มระบบเพื่อลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ลงอีก 80%

 

นักท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่มุ่งมั่นจะปกป้องสถานที่ท่องเที่ยวเสียเอง

รายชื่อจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่กำลังมองวิธีการสุดคูลของตนเองในการตอบรับความพยายามด้านความยั่งยืนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา เมืองเบรกเคนริดจ์ โครงการ B Like Breck ซึ่งได้รับรางวัลของรัฐโคโลราโด ในการส่งเสริมโครงการริเริ่มด้านการท่องเที่ยวที่มีผลกระทบต่ำและยั่งยืน ดึงดูดทั้งชุมชนและผู้มาเยือนให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความรู้สึกดีๆ ต่อทั้งนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัย 

ส่วนบรรดา Pledge programs หรือ โปรแกรมแบบให้คำมั่นสัญญาทั้งหลายและการให้ความรู้แก่ผู้มาเยือนก็กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน Kanu Pledge ธุรกิจใหม่ในฮาวายเปิดตัวเมื่อต้นเดือนเมษายน 2023 ขอให้นักท่องเที่ยวให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องหมู่เกาะต่างๆ ในระหว่างการเดินทาง จากนั้นจึงท้าทายให้พวกเขาทำตามคำสัญญานั้นด้วยการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในท้องถิ่น ส่วนหมู่เกาะซานฮวนนอกชายฝั่งของรัฐวอชิงตันขอให้นักท่องเที่ยวให้คำมั่นว่าจะสำรวจเกาะเหล่านี้อย่างรับผิดชอบโดยการกระทำเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความหมาย เช่น การไม่ให้อาหารสัตว์ป่าและการอนุรักษ์น้ำเมื่อเป็นไปได้ Sedona Carespledge แห่งเมืองเซดอนา แอริโซนา เป็นที่รู้จักกันในชื่อเรดร็อคคันทรี่ตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขาหินสีแดงที่สวยงาม (ภูเขาและหุบเขา Sedona เป็นหนึ่งในจุดหมายที่สวยงามที่สุดของแอริโซนา) มีกิจกรรมช่วยให้นักท่องเที่ยวมีบทบาทอย่างจริงจังในการปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่หินแดงโดยให้พวกเขาตกลงที่จะระวังเรื่องฟืนไฟ ไม่แกะสลักหิน และสัญญาว่าจะเคารพความเงียบสงบตามธรรมชาติของพื้นที่ที่พวกเขาสำรวจ