posttoday

ปัญหาใหญ่ ทำไมคนรุ่นใหม่ ถึงไม่ชอบเรียนแบบเดิมๆ?

30 กันยายน 2566

หนึ่งในปัญหาของการศึกษาวันนี้ คือวิธีการเรียนที่ ‘คนรุ่นใหม่’ ส่ายหน้า เพราะไม่ชอบและไม่เข้าใจ บางคนหนีไปเรียนกับ Google และ AI เสียเลย และนี่คือที่มาที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สร้างนวัตกรรมการสื่อสารแบบใหม่ ที่จะช่วยการศึกษาของคนไทยให้ไปไกลจากกรอบเดิมๆ

การศึกษาจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มจากว่าเราเข้าใจสิ่งที่เรียนหรือไม่ .. บางคนชอบเรียนรู้จากการอ่านตำรา  บางคนไม่มีทางเข้าใจยกเว้นว่าต้องลงมือทำถึงจะสามารถจดจำได้ขึ้นใจ .. สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของบุคลากรทางการศึกษาที่จะต้องหาวิธีการสอน หรือสื่อการสอนที่ทำให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องที่อาจารย์ต้องการสื่อสาร

 

แต่ปัจจุบันเราพบว่า การสื่อสารเกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

 

ในแวดวงของการสื่อสารเรามักจะมองว่า สาเหตุที่ทำให้การเสพสื่อของคนเปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ร่วมด้วย และจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการใหม่ๆ ทางการสื่อสารเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อขจัดช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างวิธีการสอนแบบเดิมๆ กับเด็กรุ่นใหม่ที่มีวิธีการรับสื่อที่เปลี่ยนไป  .. โดย อาจารย์วรรษยุต คงจันทร์ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ด้านสื่อสารองค์กรและกิจกรรมพิเศษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จะมาเล่าให้ฟังอย่างเห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้นกับการเรียนของคนรุ่นใหม่ แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไปกันดี?

 

อาจารย์วรรษยุต คงจันทร์ กับการทดสอบการเรียนการสอบในรูปแบบใหม่

 

จุดเริ่มต้นจากปัญหา .. เมื่อคนรุ่นใหม่ ไม่เชื่อในสิ่งที่ครูสอน?

 

‘ เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเพราะสื่อพัฒนาเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะมาจากการใช้สื่อออนไลน์บ่อยๆ เช่น คลิปสั้น ที่มีปัจจัยเรื่องความสนุก และการเลือกเสพสื่อเองได้มากขึ้น’ อาจารย์วรรษยุตเริ่มต้นอธิบายถึงภาพรวมของพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

 

‘ เราพบว่าจากงานวิจัย มีเหตุผลของการเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อที่ไม่ใช่แค่จากเทคโนโลยีอย่างเดียว เทคโนโลยีเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรับรู้ว่าตนเองมีอำนาจที่เลือกสารมากขึ้น คนก็จะคิดว่าทำไมต้องดูอันนี้ ทั้งที่ทำอย่างอื่นได้ .. ยุคนี้การเสพสื่อแบบนั่งรอว่าจะเสนออะไรให้ดู มันหมดไปแล้ว’ และนั่นคือเหตุผลที่งานอย่างโฆษณา ละครในทีวี มีการรับสารที่ลดลงและกระจัดกระจายไม่ได้กระจุกตัวแค่แพลตฟอร์มเดียวอีกต่อไป

 

‘ เวลาที่พวกเขาเลือกว่าจะดูอะไร เมื่อเลือกได้ก็จะทำให้มีอารมณ์ร่วมกันสิ่งนั้น ถ้าอะไรที่เขาไม่ได้เลือก ก็ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วม หรือไม่ก็ไม่เชื่อไปเลย เราไปบังคับเขาว่าอันนี้ดีต้องเรียน คนรุ่นใหม่ไม่เอาแบบนี้แล้ว .. การสื่อสารด้วยวิธีการเดิมๆ จึงใช้ไม่ได้ผลเพราะคนไม่เปิดรับ และเชื่อยาก’

 

ด้วยพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘เลือกได้’ การศึกษาที่ใช้วิธีการสื่อสารแบบเดิม คือ การอ่าน เรียนในตำรา มีการสอบเพื่อประเมินประสิทธิภาพการเรียนรู้นั้น จึงไม่เป็นที่สนใจของเด็ก

 

ทุกวันนี้จำนวนเด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยลดลง คนเข้ามาสมัครน้อยลง และไปหาวิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างเช่นการไปหาคอร์สสั้นๆ ที่จะสามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ดีกว่า ซึ่งคอร์สสั้นๆ เหล่านี้ก็เป็นวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ ที่คนสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน’

 

สร้างนวัตกรรมการสื่อสารต้นแบบ

 

เมื่อเห็นภาพรวมของการสื่อสารทั้งประเทศที่เป็นไปในเทรนด์ดังกล่าว และอาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคตได้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้คิดค้นและมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

 

‘ นวัตกรรมคือสิ่งใหม่ อาจไม่ใช่เทคโนโลยีหรือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แต่ต้องเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างเพื่อแก้ปัญหา หรือสร้างเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ซึ่งนิเทศเรามีองค์ความรู้ด้านการสื่อสาร เราจึงพยายามเอาความรู้ต่างๆ งานวิจัยมาหลอมรวมกันและตั้งเป็นบริษัท เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้พึ่งพาสื่อเดิม’ อาจารย์วรรษยุต คงจันทร์ กล่าว

 

สิ่งสำคัญของการสร้างนวัตกรรมทางการสื่อสารต้นแบบ ต้องเริ่มจาก การทำให้คนรุ่นใหม่ หรือผู้ฟังเปิดใจยอมรับก่อน

 

‘ การวิจัยบอกว่าเราต้องทำให้เกิดการยอมรับและทำให้เกิดความพร้อมที่จะทำ โดยต้องมาจากใจของเขาเอง เขาต้องอยากเข้ามามีส่วนร่วมเอง จะจับมานั่งในห้องแล้วสอนๆ ฟังนะ ไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คนอยากมีส่วนร่วมนั้นมีไม่กี่อย่าง’

 

ปัจจัยที่คนอยากมีส่วนร่วมนั้นประกอบด้วย การที่จะต้องมี Positive Vibe คือมีความหรรษา สนุก นอกจากนี้ยังต้องสบายใจ และง่ายต้องการเสพสื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่จะทำให้คนที่ฟังอยากเปิดใจและเข้ามามีส่วนร่วมได้ง่ายมากขึ้น

 

ภาพการมีส่วนร่วมเมื่อใช้บอร์ดเกมเป็นตัวกลางในการสอน

 

บอร์ดเกมแนวใหม่ อนาคตการศึกษาที่อาจจบได้ด้วยการเล่นเกม!

 

จากแนวความคิดข้างต้น อาจารย์วรรษยุต จึงได้ริเริ่มโครงการนวัตกรรมบอร์ดเกมต้นแบบเพื่อการสื่อสาร โดยเลือกใช้เรื่องที่ต้องเรียนคือ ประเด็นทางสังคมและประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายยาก เป็นนามธรรม แถมยังเรียนแล้วง่วงในบางที!

 

‘ ต้องยอมรับว่าเกมเพื่อการศึกษาที่เป็นลักษณะบอร์ดเกมมีอยู่เยอะมาก แต่ปัญหาของมันคือ มันดูรู้เลยว่านี่คือเกมเพื่อการศึกษา  เห็นเลยว่านี่คือการเรียน มันทำให้คนลดความสบายใจ ลดความสนุกในสื่อลงไป ดังนั้นแล้ว ถ้าเป็นบอร์ดเกมที่จะเป็นนวัตกรรมอีกขั้นหนึ่งจะต้องเป็นบอร์ดเกมที่ไม่รู้เลยว่านี่คือบอร์ดเกมที่จะเอามาใช้ในการศึกษา และนี่คือโจทย์สำคัญของคณะนิเทศ ที่พยายามจะสร้างขึ้นมา’

 

อาจารย์วรรษยุตได้สร้างบอร์ดเกมที่ชื่อว่า ‘ซานต้ากับซาตาน’ โดยมีเนื้อเรื่องคือ ซานต้ากับซานตาแข่งกัน ซานต้าพยายามจัดงานคริสตมาสแต่ซานตาพยายามจะมาทำลาย คนเล่นต้องแบ่งเป็นสองทีมเพื่อคานอำนาจกัน จากพลังคนและเทคนิคต่างๆ เพื่อสื่อสารในประเด็นว่า ประเด็นทางสังคมและประชามติคืออะไร พลังของประเด็นสังคม และปัจเจกบุคคลมีพลังให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางความคิดอย่างไร

‘ เวลาเราให้เล่น เขาไม่รู้เลยว่ากำลังสอนเรื่องประเด็นทางสังคมและประชามติ แต่เมื่อเล่นจบ เขาเกิดการเรียนรู้ว่า ถ้าเกิดอยากจะชักชวนใคร เราควรรวมกลุ่มและดึงคนที่ลังเลเข้ามาก่อน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการประชาสัมพันธ์ที่ต้องดึงคนตรงกลางที่ลังเลมาก่อน นี่คือการสื่อสารแบบที่ไม่ต้องสื่อสาร แต่เขาสามารถตีความเอาเอง’

 

ซานต้ากับซาตาน

 

อาจารย์วรรษยุตบอกอีกว่า เมื่อเอาเกมเข้ามา ทำให้เห็นว่านิสิตมีความเข้าใจ มีความอยากรู้ อยากเรียนมากขึ้น และได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น .. และแม้ว่าวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อสรุปจะแตกต่างกัน แต่ทุกคนจะได้ข้อสรุปท้ายที่คล้ายคลึงกัน

 

‘ การเรียนแบบนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีกว่า เพราะความรู้ความเข้าใจจากการจำข้อสอบ อาจจะมาจากการจำเพียงอย่างเดียว แต่ยากเวลานำไปปรับใช้  ส่วนกระบวนการที่ให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง และหาวิธีการเองเพื่อไปสู่เป้าหมาย แม้จะแค่เพียงในเกม จะทำให้คนที่เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีขึ้น เพราะบอร์ดเกมก็เหมือนการจำลองสถานการณ์จริงขึ้นมาให้ได้แก้ไข ’

 

ปัจจุบัน บอร์ดเกมต้นแบบเพื่อการสื่อสารประเด็นทางสังคมและประชามติ จำนวน 4 เกม ได้แก่ Dealing, Holy Warlord, Santa Satan และ The Dream Chaser ได้ผ่านการทดสอบนวัตกรรมในกลุ่มเจเนอเรชั่น Z จำนวน 139 คน ซึ่งได้รับผลประเมินความพึงพอใจใน 8 หัวข้อ อยู่ในระดับดีมากทั้งหมด โดยในขั้นตอนต่อไป ทางคณะฯ จะดำเนินการพัฒนาบอร์ดเกมต้นแบบ 1 เกมส์ ต่อยอดในระดับผลิตภัณฑ์ และวางแผนในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เกมต้นแบบ (Game prototype) ครั้งแรกภายในปลายปี 2566 นี้  

นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนกับคอมมูนิตี้บอร์ดเกมในเมืองไทยอย่างเต็มที่ ผ่านการร่วมมือกับสมาคมบอร์ดเกม ชุมชนคนรักบอร์ดเกม ผู้พัฒนาบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ร้านค้าและชุมชนธุรกิจบอร์ดเกมสตูดิโอกว่า 40 แห่งในประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร โดยในปลายปี 2566 นี้ ทางคณะฯ ได้เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักในนิทรรศการตลาดนัดบอร์ดเกมอินดี้ 2023 (TIBM2023) ที่จะรวมเอาผลิตภัณฑ์บอร์ดเกมเชิงพาณิชย์ของสตูดิโอกว่า 40 แห่ง มาเปิดตัวให้ทดลองและเลือกซื้อได้ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 ธันวาคม 2566 นี้ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

 

เกมอื่นๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากคณะนิเทศศาสตร์

 

สำหรับอนาคตอาจารย์วรรษยุตพยายามที่จะให้การเรียนรู้ด้วยสื่อใหม่แบบนี้ขยายกว้างขึ้น อาทิ การนำบอร์ดเกมดังกล่าวเข้าไปอยู่ในร้านบอร์ดเกม หรือการทำหลักสูตรระยะสั้นที่สามารถเรียนจบคอร์สต่างๆ ผ่านการเล่นเกม นอกจากนี้ในคณะนิเทศศาสตร์เอง ก็ยังสนใจการสื่อสารในรูปแบบอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ อาทิ การพยายามใช้แนวทางคอนเสิร์ตมาเป็นส่วนหนึ่งในวิธีการสอน

 

เล่นเกมจนจบหลักสูตรอาจจะเกิดขึ้นได้ ... ไม่เคยมี Certificate ที่ให้คุณจบหลักสูตรการศึกษาจากการเล่นเกม ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน อาจจะเป็นคอร์สรูปแบบใหม่ที่อยากทำและจะพัฒนาต่อไป เราคิดว่าคนน่าจะสนใจ แค่เล่นเกมแต่ได้ Certificate ก็ได้’  อาจารย์วรรษยุตกล่าวทิ้งท้าย

 

นวัตกรรมจากงานวิจัย ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง

 

ทั้งนี้ งานวิจัยจะไม่เกิดผลเลยหากไม่ได้ถูกนำไปใช้ในสังคมได้จริง  ด้วยเหตุนี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะของสถาบันการศึกษาและการวิจัยด้านการสื่อสารชั้นนำของประเทศไทย จึงเล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งวิสาหกิจของคณะในนาม บริษัท ซียู นิเทด เอ็กซ์เทนชั่น จำกัด เพื่อเป็นหน่วยงานภาตใต้การกำกับดูแลของคณะ ในการดำเนินกิจการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการสื่อสารของคณะนิเทศศาสตร์ ที่มีความสอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมของมวลชนในปัจจุบัน เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสินค้า บริการ และกิจกรรมที่มีความเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ

 

เพราะไม่ใช่แค่การพัฒนาเครื่องมือ แต่องค์กรและนโยบายต้องมีความคล่องตัวที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน การแก้ไขปัญหาจึงจะรวดเร็วขึ้น

 

โดยที่การสื่อสารผ่านบอร์ดเกมในประเด็นสังคมและประชามติ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว ซึ่งนวัตกรรมการสื่อสารต้นแบบและผลิตภัณฑ์ต้นแบบนี้ จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของคณะนิเทศศาสตร์ ในการแสดงถึงความเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมการสื่อสารของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นการสรรสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงสังคมไทยไปสู่สังคมในระดับนานาชาติต่อไป.

 

ขอขอบคุณ

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย