posttoday

มรดกโลกศรีเทพ ... เมืองพระกฤษณะที่อยู่ในบันทึกพระถังซำจั๋ง?

20 กันยายน 2566

เมืองโบราณศรีเทพ กระตุกทฤษฎีที่เชื่อว่า ‘ทวารวดี’ คือนครปฐม อย่างที่เราเคยรู้กันมา ... กับเรื่องราวของเขาศักดิ์สิทธิ ‘ถมอรัตน์’ ที่ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการมรดกโลกว่า โดดเด่นเป็นแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนได้รับการประกาศมรดกโลกทั้งภูเขา!

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน มีการนำเสนอข้อสมมติฐานที่สั่นสะเทือนวงการโบราณคดี  หลายคนอาจจะเคยเรียนกันมาหลายยุคหลายสมัยว่าศูนย์กลางของเมืองทวารวดี นั้นน่าจะอยู่บริเวณภาคกลางหรือจังหวัดนครปฐม ... แต่ก็มีนักวิชาการที่นำเสนอทฤษฎีที่แตกต่างออกไปโดยระบุว่า

 

ทวารวดีที่แท้ หรือศูนย์กลางของทวารวดีอาจเป็นที่ ‘ศรีเทพ’

 

1

‘โตโลโปตี’

 

ปรากฏในบันทึกของพระถังซำจั๋งราว พุทธศตวรรษที่ 12 เมื่อครั้งเดินทางมายังชมพูทวีป เล่าถึงแผ่นดินแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมือง ชิลิฉาตาหลอ  เกียม้อลังเกีย และ อิซางป๋อหลอ หลังจากนั้นนายแซมมวล บีล ได้แปลงคำว่า ‘โตโลโปตี’ ว่า ‘ทวารวดี’

 

และเมื่อมีการถอดภาษาใหม่ จึงได้ความว่า เมืองทวารวดีตั้งอยู่ระหว่าง เมืองศรีเกษตร (ชิลิฉาตาหลอ) ในประเทศเมียนมา ถัดจาก เกียม้อลังเกีย (ซึ่งมีการสร้างสมมติฐานว่าน่าจะเป็นที่นครปฐม ) และ อีสานปุระ (อิซางป๋อหลอ) ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน

 

ระหว่างเกียม้อลังเกียกับโตโลโปตี นั้นเป็นเรื่องราวที่นักวิชาการเรียกร้องให้เปิดเผยและลงลึกอย่างที่สุด มีหลายทฤษฎีที่ขัดแย้งกับการประกาศของภาครัฐในช่วงเวลาดังกล่าว

 

บันทึกของพระถังซำจั๋งขณะเดินทางมายังชมพูทวีป

 

เรารู้กันมาแล้วว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จมาที่ศรีเทพ ( อ่านเพิ่มเติม : ย้อนอดีตการค้นพบเมืองศรีเทพ .. ความหวังของยุคดำมืดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ) ณ ขณะนั้นท่านเชื่อว่า ทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม แม้ต่อมานักวิชาการยุคหลังจะไม่คิดตามนั้น  และบางท่านมีการเอ่ยด้วยซ้ำว่า บางครั้งหลักฐานทางโบราณคดีก็ถูกตีความเพื่อความเป็นรัฐชาติจากชนชั้นนำไปเสียเฉย

 

แม้จะขัดแย้งกับหลักฐานที่ปรากฏ และถึงขั้นว่าชื่อ เกียม้อลังเกีย หายไปจากประวัติศาสตร์อยู่พักหนึ่ง อันนำไปสู่ข้อสรุปว่าทวารวดีอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั่นคือ นครปฐม

 

ต่อมานักวิชาการบางท่านไม่ลดละ ให้ความเห็นว่า เกียม้อลังเกีย มีอีกชื่อว่า เล่งเกียฉู่ ซึ่งสามารถแปลได้ว่า หลักแหล่งของลูกหลานมังกร หมายถึงชุมชนชาวจีนบริเวณแม่น้ำท่าจีน ขึ้นไปยังลำน้ำเมืองโบราณนครปฐม .. เพราะฉะนั้น ทวารวดี จึงควรเป็นเมืองที่ถัดมานั่นคืออยู่ในลุ่มแม่น้ำลพบุรี - ป่าสัก! นั่นเอง

…..

 

2

เมื่อนักวิชาการหันมาที่ลุ่มแม่น้ำลพบุรี - ป่าสัก ก็มีหลายแนวคิดนำเสนอ แนวคิดหนึ่งบอกว่าน่าจะอยู่ที่เมืองละโว้ ลพบุรี แต่มีทฤษฎีหนึ่งซึ่งปรากฎขึ้น นั่นคือ ศูนย์กลางของทวารวดี อาจจะเป็นที่ ‘ศรีเทพ’

 

เขาคลังนอก ซึ่งเคยเป็นสถูปขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในยุคสมัยนั้นที่ยังหลงเหลือ

 

ในปี พ.ศ.2552 ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกกัมพูชาเสนอทฤษฎีนี้ขึ้นมา โดยเหตุผลที่ว่า ทวารวดี มาจาก ทวารกา อันเป็นเมืองของพระกฤษณะ  ซึ่งเป็นร่างอวตารที่ 8 ของพระวิษณุ และที่ศรีเทพนี้ก็มีเทวรูปพระกฤษณะและพระวิษณุ ต่อมาอาจารย์ พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เสนอความเห็นที่สนับสนุนทฤษฎีนี้เช่นกันว่า ศูนย์กลางของกรุงทวารวดีนั้นไม่ใช่เมืองนครปฐมอย่างที่ทุกคนเข้าใจกันในทุกวันนี้!

 

เพราะที่ ‘ศรีเทพ’ เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวที่พบเทวรูปพระกฤษณะ ผู้สถาปนากรุงทวารกา หรือทวารวดี!

 

เทวรูปพระกฤษณะในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

 

ประกอบกับศรีเทพตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสักซึ่งปลายเส้นน้ำนี้คือพระนครศรีอยุธยา จึงเป็นไปได้ว่านี่จะเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวสยาม และศรีเทพก็มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง

 

ความคลาดเคลื่อนเดียวที่เกิดขึ้นคือ ในเมืองศรีเทพพบศิลปวัตถุที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา แต่เป็นศาสนาพราหมณ์ และห่างไกลจากโบราณสถานสมัยทวารวดีอื่นๆ ที่ตั้งอยู่รอบอ่าวไทย

 

ปรางค์ศรีเทพ อยู่บริเวณด้านในคันน้ำคูดินของเมืองโบราณศรีเทพ

….

 

ทวารวดี ทำไมจึงสำคัญ? ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ได้รู้ทำให้ประชาชนได้รู้รากฐานของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ศิลปกรรม รวมไปถึงพุทธศาสนาด้วยว่าเป็นเมืองที่รับอิทธิพลจากอินเดียกลุ่มแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ชื่อต่อท้ายของอยุธยา “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา” อาจเป็นการนำชื่อบ้านเมืองเดิมต่อและเติมกันมา แสดงให้เห็นถึงที่มาของเมืองก็เป็นได้

 

นอกจากนี้ นักวิชาการยังเสนอว่า อย่ามองทวารวดีเป็นอาณาจักร แต่ให้มองเป็นยุคสมัย เพราะการปกครองของทวารวดีเป็นการรวมกลุ่มหลวมๆ ของนครรัฐ แล้วแต่ว่ากษัตริย์องค์ไหนที่ไหนมีพระบารมีมากกว่าก็จะมีศูนย์กลางอยู่ที่นั่น และกว้างขวางครอบคลุมไปทั่วทั้งไทยและกัมพูชา

 

3

ความยูนีค หรือเอกลักษณ์ของเมืองศรีเทพ ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น

 

เมื่อวานในการประกาศของ ICOMOS หรือ สมาคมวิชาชีพซึ่งดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองสถานที่อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั่วโลก และเสนอคำแนะนำต่อยูเนสโกในเรื่องแหล่งมรดกโลก เพื่อที่จะขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ ได้กล่าวถึงประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับ ‘เขาถมอรัตน์’

 

เขาถมอรัตน์ซึ่งขึ้นมาโดดเดี่ยวท่ามกลางที่ราบ

 

เขาถมอรัตน์ ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งภูเขา!

 

ไม่ใช่แค่การประกาศแค่พื้นที่ถ้ำซึ่งพบกับภาพแกะสลักเท่านั้น แต่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ดูแลเข้มข้นทั้งภูเขา!

 

แล้วเขาถมอรัตน์ สำคัญอย่างไร? ในประวัติศาสตร์โลก?

….

 

เขาถมอรัตน์ อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองโบราณศรีเทพ

 

ความน่าประหลาดใจของการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองโบราณศรีเทพนั้น พบว่าโบราณสถานในเมืองบางแห่งเช่น ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง เขาคลังนอกระยะที่สอง หันหน้าไปยังทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขาถมอรัตน์ อันขึ้นโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มแห่งนี้!

 

เพราะพวกเขาเชื่อว่าภูเขาแห่งนี้คือภูเขาศักดิ์สิทธิ

 

‘ถมอ’ แปลว่า หิน ‘รัตน' แปลว่าแก้ว ความหมายของภูเขาถมอรัตน์ จึงหมายถึง เขาแก้ว อันเป็นจุดแลนด์มาร์คของคนโบราณที่ต้องการมาเยือนศรีเทพ

 

ความพิเศษของที่นี่คือ บนภูเขามีภาพแกะสลักพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ สถูปและธรรมจักร รวมทั้งหมด 11 ภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน โดยการแกะสลักเป็นศิลปะแบบเขมรสมัยก่อนนครวัด และศิลปะแบบทวารวดี!

 

ภาพแกะสลักที่ปรากฎอยู่บนเขาถมอรัตน์

 

ในการประกาศรับรองเมื่อวาน ตัวแทน ICOMOS ได้มีถ้อยแถลงระบุว่า พื้นที่ภูเขาซึ่งเป็นสถานที่พบเห็นโบราณวัตถุของพุทธศาสนาแบบมหายานแกะสลักอยู่นั้น พบเห็นได้แห่งเดียวในประเทศไทยและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้!

 

อย่างไรก็ตามการที่ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง ก็หันไปทางภูเขาลูกนี้ด้วยแม้จะคนละศาสนา ก็สันนิษฐานว่า ที่นี่เปรียบเหมือนเขาศักดิ์สิทธิ ซึ่งโดยคติความเชื่อนั้นก็มักจะเชื่อว่าเป็นที่ประทับของเทพเจ้าอยู่แล้ว จึงได้ปรากฎการสร้างพระปรางค์ที่หันหน้าไปยังภูเขาถมอรัตน์เช่นกัน

 

และเทือกเขาแห่งนี้ยังสร้างปริศนาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง ด้วยว่าชื่อ ‘ถมอรัตน์’ นั้นไปคล้องกับชื่อมงคลนามของเจ้าเมืองวิเชียรบุรี (สมัยอยุธยา) ซึ่งเรียกสืบมาจนถึงปัจจุบัน .. ก็ให้สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพราะความยากคือเมืองศรีเทพถูกทิ้งร้างไปในพุทธศตวรรษที่ 18  ก่อนอาณาจักรอยุธยาถือกำเนิดราว 200 ปี!

 

 

การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมให้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นอกจากจะเป็นผลดีในเชิงของการอนุรักษณ์และพัฒนาพื้นที่ทางมรดกวัฒนธรรมแล้ว (โบราณวัตถุบนเขาถมอรัตน์เคยถูกขโมยไปและปัจจุบันยังอยู่ในต่างประเทศบางชิ้น)  ส่วนหนึ่งยังเป็นการเรียกให้คนนอกเหนือไปจากวงการวิชาการและโบราณคดี หันมาให้ความสนใจกับที่ตรงนี้

 

ส่วนหนึ่งของภาพแกะสลักบนเขาถมอรัตน์ที่หายไปจากการโจรกรรม

 

เพราะหากนักโบราณคดี และนักวิชาการสามารถไขปริศนาและทำความเข้าใจกับ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะความเกี่ยวโยงกับเมืองทวารวดี บางทีนี่อาจจะเป็นการค้นพบ ‘ประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินไทย’ ครั้งสำคัญ ที่เราต้องจับตามอง.