ย้อนอดีตการค้นพบเมืองศรีเทพ .. ความหวังของยุคดำมืดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
เส้นทางสู่มรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ : พาย้อนอดีตการค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ เมืองยุคทวารวดีที่ยังคงความสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย สภาพความเป็นอยู่ของคนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์บนพื้นที่แห่งนี้ จวบจนการล่มสลายของเมืองซึ่งเป็น'ยุคมืด'ของประวัติศาสตร์ไทย
1
ย้อนไปราว 1,700 ปีก่อน ชุมชนเล็กๆ ซุกซ่อนอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ใกล้กับชุมชนนั้นคือภูเขาลูกหนึ่งผุดขึ้นทางทิศตะวันตก ...
ในเวลาต่อมา ชุมชนแห่งนี้รุ่งเรืองขึ้นจากการเป็นทางผ่านของผู้คนที่สัญจรค้าขายระหว่างภาคอีสานไปยังภาคกลาง ... ด้วยเหตุผลกลใดยังไม่ปรากฎชุมชนแห่งนี้เติบโตจนเป็นเมืองขนาดใหญ่ เกิดผู้นำที่เข้มแข็งและตั้งตนเป็น ‘กษัตริย์’
ในช่วงเวลานั้นพวกเขาต้อนรับนักเดินทางจากต่างแดน อารยธรรมอินเดีย เข้ามามีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญ พวกเขาคือเมืองกลุ่มแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับเอาวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาผสมผสานค่านิยมดั้งเดิม เกิดเป็นอารยธรรมยุค ‘ทวารวดี’ อันเป็นต้นตอของยุคประวัติศาสตร์ชาติไทย
……
‘ศรีเทพ’ ชื่อนี้ไม่เคยเป็นที่รู้จัก หรืออาจจะรู้จักแต่ไม่มีใครสนใจ จวบจนกระทั่งปี พ.ศ.2447
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เดินทางมาตรวจราชการที่มณฑลเพชรบูรณ์ ในขณะนั้น ท่านไถ่ถามชาวบ้านและผู้คนรายทาง หลังจากเจอเอกสารโบราณชิ้นสำคัญอันปรากฎชื่อเมือง ‘ศรีเทพ’
ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่า ‘ศรีเทพ’ จะสำคัญเสมอเป็น ‘มรดกโลก’ ในปัจจุบัน
ในเอกสารโบราณชิ้นนั้นบอกเล่าถึงเมืองศรีเทพที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก ใกล้ๆ กับเมืองไชยบาดาลและเมืองวิเชียรบุรี สอบถามชาวบ้านหลายต่อหลายคนก็บอกว่าไม่มีเมืองชื่อนี้ สอบถามพระบางรูปก็บอกว่าถ้าถามถึง ‘เมืองเก่า’ ก็รู้จักแต่เมืองอภัยสาลี สอบถามอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดวิเชียรบุรีท่านบอกมีเมืองหนึ่งเคยชื่อ ศรีเทพ หรือท่าโรงนี่แหละ และชี้จุดเมืองเก่า ตามประสาชาวบ้านที่ก็พอจะทราบว่าเป็นเมืองเก่า แต่ไม่รู้ว่าเก่าขนาดไหน และไม่รู้ได้ถึงความสำคัญ!
ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพพบกับเมืองศรีเทพ สำหรับการเดินทางไปถึงบริเวณเมืองเก่า หากจะให้จินตนาการก็คงจะขรุขระไม่น้อย ..
ถ้าในช่วงเวลานั้นสามารถมีภาพถ่ายทางอากาศได้ ก็คงจะเห็นแค่ขอบเมือง เพราะข้างในเป็นป่าที่รกเรื้อไปด้วยต้นไม้และซากปรักหักพัง! บางส่วนมีโบราณวัตถุวางกระจัดกระจายตามพื้น ทั้งหลักศิลาจารึกและพระพุทธรูปเก่าๆ บ้างก็เรียกที่นี่ว่า ‘ป่าแดง’ ซึ่งก็คงจะพอจินตนาการได้ว่ามันจะเป็น ป่า และ ดินสีแดงๆ อย่างไร
หลังจากการเยือนในครั้งนั้น ป่าแดงแห่งนี้ก็ยังคงอยู่ตรงนั้น ไม่มีใครเข้าไปแตะต้องเป็นจริงเป็นจังมาเป็นเวลานาน!
2
หากคนในสมัยนั้นได้รู้ถึงความสำคัญ ก็คงจะตื่นตาตื่นใจไม่แพ้คนรุ่นปัจจุบัน
‘ทวารวดี’ เป็นปริศนาที่ไม่ใช่แค่การหาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศไทยเท่านั้น แต่ ‘ทวารวดี’ คือยุคต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์ชาติไทย ..
ถ้าไม่มี ‘ทวารวดี’ ก็อาจไม่มีเรา หรืออาจมีเราในรูปแบบที่ต่างออกไป
ทวารวดีสำคัญเพราะ ก่อนหน้ายุคนี้เราไม่มีศาสนาที่เด่นชัด คนในยุคสมัยก่อนนับถือผีอยู่ทั่วไป จนกระทั่งการเข้ามาของอิทธิพลจากทางอินเดีย ทำให้พุทธศาสนาเข้ามายังประเทศไทย ไม่ใช่แต่เพียงพุทธศาสนา แต่ยังได้นำมาซึ่งการผลิตตัวอักษร หรือแม้กระทั่งงานศิลปกรรม
‘ศรีเทพ’ ในยุคนั้นเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด
พวกเขาสร้างคูน้ำคันดินรอบเมืองได้ขนาดใหญ่ จินตนาการได้ว่าผู้คนมากน้อยสัญจรและอยู่อาศัยภายในเมืองแห่งนี้ พวกเขาร่ำรวยจนกระทั่งมีจอบเสียบ ซึ่งตีจากเหล็กกล้าใช้งานได้เอง พวกเขาบริโภคสัตว์เป็นอาหาร ตั้งแต่ หมู ไก่ กวาง เต่า เพราะยังคงเห็นเศษกระดูกเหลือจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงมีการใช้ลูกปัดชนิดต่างๆ และความรุ่งเรืองนั้นสะท้อนผ่านการสร้างศิลปกรรมสกุลช่างศรีเทพเป็นของตัวเอง กล่าวคือ การสร้างพระพุทธรูปแต่เดิมจะมีการค้ำยัน แต่ที่นี่สามารถสร้างประติมากรรมได้แบบลอยตัว และมีความอ่อนช้อยงดงามในแบบฉบับของตัวเองเกิดขึ้น!
ผู้คนในเมืองศรีเทพต่างก็เคารพสักการะ ‘เขาคลังนอก’ พุทธสถานในรูปแบบสถูปขนาดใหญ่ ที่สามารถเดินขึ้นไปด้านบนได้ รายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็กซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับมณฑลจักรวาล ของพุทธศาสนาแบบมหายาน และได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้
ยุคต่อมา ... ตามประวัติศาสตร์ปรากฎหลักฐานในจารึกโบราณ ระบุถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 สั่งทหารที่เป็นเชื้อพระวงศ์ตีเมืองละโว้ และขึ้นปกครองชาวรามัญ หลายคนจึงตีความว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมสลายลง เหตุการณ์นี้สั่นคลอนถึงเมืองศรีเทพเช่นกัน พวกเขารับเอาอิทธิพลของเขมรเข้ามาในบ้านเมือง .. ผู้คนบางส่วนหันมานับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายตามผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตามคนในเมืองแห่งนี้เปิดกว้างในการนับถือศาสนาที่หลากหลาย ทั้งพราหมณ์และพุทธ ผสมผสาน และอยู่ด้วยกันได้มาเนิ่นนาน!
ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง คือหลักฐานสำคัญ ทั้งสองแห่งเป็นสถานที่ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำพิธีทางศาสนาและให้ชาวบ้านได้เข้ามาบูชา อีกทั้งภายในบ้านเรือนบางครอบครัว ก็ยังมีการใช้ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้แบบเขมรอีกด้วย
เมืองโบราณศรีเทพเจริญรุ่งเรืองอยู่ราว 700 ปี จึงค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไปเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ในห้วงเวลาเดียวกับการล่มสลายของอาณาจักรเขมร พร้อมกับการเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองใหม่ขึ้นทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สุโขทัย และในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พระนครศรีอยุธยา ... เมืองเสื่อมลง แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใดชาวบ้านกลับทิ้งร้างจากบ้านเมืองไปจนไม่เหลือผู้คน!
(อ่านเพิ่มเติม เส้นทางสู่มรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ : ปริศนาเมืองถูกทิ้งร้างเพราะ?)
อย่างไรก็ตาม 'ปริศนาการทิ้งร้างของเมือง' ยังเป็นเรื่องที่นักวิชาการศึกษาต่อ เพราะไม่ใช่แค่ที่เมืองโบราณศรีเทพเท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ในช่วงหลังเขมรจนถึงยุคก่อนกรุงสุโขทัย เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่อาจเรียกได้ว่าเป็น 'ยุคดำมืด' เพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนจนถึงปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาเหล่านั้นบ้าง! ลองคิดว่าหากนักวิชาการสามารถไขปริศนาได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับที่เมืองศรีเทพนี้ได้ ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคดำมืด ที่หายไปเลยจากไทม์ไลน์การรับรู้ของคนไทยก็เป็นได้!
.....
หลายร้อยปีผ่านมา บริเวณนั้นแทบจะไม่มีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก! ทำให้โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ซ่อนตัวไว้ใต้ป่ารกยังคงทอดตัวนิ่งสงบ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เดินทางมาที่เพชรบูรณ์ แต่เมื่อท่านจากไปสถานที่แห่งนี้ก็นอนสงบเฉกเช่นเดิม
ในปี 2478 ประเทศไทยประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองศรีเทพแห่งนี้ แต่ยังไม่ได้ทำแผนที่หรือกำหนดขอบเขต เพียงขึ้นแค่ชื่อเมือง ต่อมาปี พ.ศ.2506 ก็มีการสำรวจทำแผนที่และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน ออกไปยังพื้นที่นอกเมืองรวมทั้งเขาคลังนอก แต่ยังไม่มีการบูรณะซ่อมแซม อีก 15 ปีถัดมา จึงเริ่มเข้ามาขุดค้นที่ปรางค์ศรีเทพบางส่วน และในปี 2527 มีโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปลี่ยนให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ที่เริ่มมีการบริหารจัดการ ขุดแต่งเนินดิน ให้เห็นโบราณสถาน และเผยให้เห็นความน่าอัศจรรย์ใจของเมืองโบราณแห่งนี้ที่ยังคงสมบูรณ์แม้เวลาจะผ่านมานานกว่าพันปี
ครานั้นเป็นที่น่าแปลกใจของกรมศิลปากรเมื่อเห็นว่า ภายในพื้นที่บริเวณเขตเมืองโบราณนั้นไม่มีชาวบ้านคนไหนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองโบราณเลย แต่กลับสร้างบ้านและตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกเขตเมืองโบราณเท่านั้น
ชาวบ้านเชื่อว่า 'หากใครเข้าไปอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณแห่งนี้ ก็จะเกิดอาเพศกับตนเองและครอบครัว'
นอกจากนี้ยังมีการทำพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
สิ่งนี้ทำให้ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เก็บซ่อนตัวเอง และกลายเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญซึ่งมีสภาพสมบูรณ์เป็นอย่างมาก
การค้นพบดังกล่าวไม่ใช่แค่ร่องรอยประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในยุคทวารวดี แต่สามารถขุดค้นเจอร่องรอยตั้งแต่เริ่มแรกของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนในยุคทวารวดีนั้น ที่นี่นับเป็นแหล่งโบราณคดีในยุคทวารวดีในประเทศไทยที่พบว่ามีความครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด และยังเป็นของแท้ดั้งเดิม หมายถึงโบราณสถานแห่งนี้ ตั้งแต่พันปีก่อนเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะที่อื่นเวลาผ่านมานานขนาดนี้ก็มีการสร้างคูคลองใหม่ทับไปบ้าง ต่างจากบริเวณนี้ที่ถูกทิ้งร้างและไร้คนแตะต้องอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลานาน
ด้วยความสำคัญของเมืองศรีเทพในด้านประวัติศาสตร์ และความสมบูรณ์ของแหล่งโบราณคดีดังกล่าว ในปี 2562 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยื่นขอต่อองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ... และในวันที่ 19 กันยายน 2566 เมืองโบราณศรีเทพ ก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็น 'มรดกโลก' นำมาซึ่งความภาคภูมิใจยังประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากปริศนาในยุคดำมืดแล้ว ความเป็นทวารวดีของเมืองศรีเทพ ยังคงทิ้งเป็นทั้งปริศนาและความหวังให้ได้ไขกันว่านี่จะใช่ศูนย์กลางเมืองทวารวดีที่เหล่านักวิชาการตามหากันหรือไม่ ถ้าใช่ก็อาจจะเปลี่ยนทฤษฎีเดิมไปตลอดกาล หรือจะเป็นเมืองที่พระถังซัมจั๋งเคยพูดถึงหรือเปล่า รวมไปถึงทำไมภูเขาลูกหนึ่งจึงมีความสำคัญถึงขั้นถูกประกาศอยู่ในเขตมรดกโลกในครั้งนี้เช่นกัน? ยังมีเรื่องราวน่าสนใจที่เกิดขึ้นกับเมืองโบราณแห่งนี้อีกมากในตอนหน้ากับ เส้นทางสู่มรดกโลกศรีเทพ : เมืองของพระกฤษณะ และบันทึกของพระถังซัมจั๋ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
คุณธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ