posttoday

“ทวารวดี” ที่ “ศรีเทพ” แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของชาวไทยและชาวโลก

17 กันยายน 2566

วันนี้เรามีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของโลก ที่พร้อมให้ชาวไทยและชาวโลกได้มาสัมผัสความยิ่งใหญ่ นั่นคือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมมานานนับพันปี โดยเฉพาะวัฒนธรรม “สมัยทวา” หรือ “ทวารวดี”

 

ประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบก ที่มีศีรษะเป็นสิงห์ ที่เขาคลังใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

 

ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา เชื่อว่าคนไทยหลายท่าน ภูมิใจ และคงได้ไปสัมผัสความสวยงามเรียนรู้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก ไม่ว่าจะเป็นเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และ ณ วันนี้ เรามีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ที่พร้อมให้คนไทยและคนทั่วโลกได้มาสัมผัสความยิ่งใหญ่ นั่นคือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” จังหวัดเพชรบูณ์ ที่มีความเป็น เอกลักษณ์และโดดเด่นทางด้านงานศิลปะ สถาปัตยกรรมมานานนับพันปี โดยเฉพาะวัฒนธรรม “สมัยทวา” หรือ “ทวารวดี” นั่นเอง

 

โบราณสถานเขาคลังใน เมืองใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

 

“ทวา” คําเรียกสั้นๆ ของนักโบราณคดีไทยที่เรียกยุคประวัติศาสตร์เริ่มแรกของไทย ชื่อเต็ม คือ “ทวารวดี” มีอายุเมื่อ ราว 1,200 ปีที่แล้ว ศูนย์กลางนั้นนักโบราณคดีส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า น่าจะอยู่บริเวณด้านตะวันตกของลุ่มนํ้าเจ้าพระยา แถวเมืองอู่ทองและนครปฐม เนื่องด้วยพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจํานวนมากและขนาดของเมืองที่มีขนาดใหญ่ โดยเมืองเหล่านี้ทําหน้าที่เป็นเมืองท่าทางทะเลด้วย แต่นั่นมิได้หมายความว่าทวารวดีจะมีอยู่แค่สองเมืองหลักนี้เท่านั้น เรายังพบกลุ่ม เมืองวัฒนธรรมทวารวดีทั้งทางภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะ”กลุ่มเมืองทวา” ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี อาทิ ลพบุรี จันเสน และศรีเทพ 

 

ซึ่งครั้งนี้เราจะเน้นมาที่เมืองศรีเทพนะครับ เพราะในปีนี้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คนไทยหลายคนจึงให้ความสนใจกับเมืองนี้เป็นพิเศษมากขึ้น

 

“ศรีเทพ” เมืองนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าป่าสัก อันเป็นลุ่มน้ำที่พบแหล่งชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากมาย ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นอกจากนี้ ป่าสักยังถูกใช้เป็นเส้นทางในการติดต่อระหว่างพื้นที่ทางเหนือ อีสาน และภาคกลาง โดยมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวเชื่อมโยงคือ แร่ทองแดง อันเป็นแร่ตั้งต้นของการผลิตสําริด ในยุคสําริดลงมาถึงยุคเหล็ก เมื่อราว 1,800 ปีก่อน ดังพบหลักฐานจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ หลุมช้างและหลุมหมา บ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณมานานแล้ว

 

หลุมช้าง

 

หลุมหมา

 

หลังจากนั้น “ชุมชนศรีเทพ” ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย และเริ่มเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของไทยเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการสร้างเมืองเป็นรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของ ทวา คือ “คูน้ําคันดิน” มีสองเมือง คือ เมืองในและเมืองนอก ภายในเมืองในปรากฏโบราณสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี หลายแห่ง อาทิ

 

เขาคลังใน เป็นพุทธสถานในศาสนาพุทธหินยาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 และเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นพุทธศาสนามหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายแต่ยังคงหลงเหลือหลักฐานที่สมบูรณ์ คือ ฐานอาคารแบบทวารวดีที่เรา เรียกว่า “ฐานบัววลัย” และ “ฐานยกเก็จ” สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลรูปแบบการก่อสร้างจากศิลปะอินเดียใต้ มีประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบก มีทั้งศีรษะที่เป็นสิงห์ช้าง ลิง สื่อความหมายถึงผู้ปกป้องดูแลซึ่งแบกโบราณสถานไว้ อันนี้เป็นลักษณะเด่นของคนแคระแบกที่แตกต่างไปจากคนแคระแบกในวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง มีลายปูนปั้นเรียกว่า “ลายกกระหนกผักกูด” ซึ่งเป็นอิทธิพลของงานศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและสมัยหลังคุปตะ ลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีการขุดค้นพบ พระพุทธรูปซึ่งมีอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะอันเป็นยุคทองของศิลปะอินเดียและพบพระโพธิสัตว์อีกหลายองค์

 

ประติมากรรมคนแคระแบก เขาคลังใน

 

เขาคลังนอก เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองศรีเทพและเป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดในวัฒนธรรมทวารวดี ณ ขณะนี้ ตั้งอยู่เมืองนอกศรีเทพ จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2551 พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม 1 องค์ ตัวโบราณสถานมีขนาด 64*64 เมตร สูง 20 เมตร ฐานอาคารมีการประดับปราสาทหรืออาคารจำลองไว้ทุกมุมทุกด้าน

 

โบราณสถานเขาคลังนอก เมืองนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

 

อิทธิพลศิลปะอินเดียภาคใต้และศิลปะชวาภาคกลาง ด้านบนมีลานประทักษิณ และมีเจดีย์ประธานสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงโอคว่ำ อิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ทางขึ้นหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งมีเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ คือ "เขาถมอรัตน์" มีถ้ำซึ่งมีประติมากรรมพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และสถูป โดยวัฒนธรรมการดัดแปลงถ้ำเป็นพุทธสถานนั้น ทวารวดีก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 3-6 เช่น ถ้ำเอลโลล่า ถ้ำอชันตา ซึ่งเรียกว่า “เจติยสถานและวิหาร” เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมและเป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุ จากหลักฐานที่ปรากฏที่เขาคลังนอก สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14 เนื่องในศาสนาพุทธมหายาน

 

เขาถมอรัตน์

 

ต่อมาเมื่ออาณาจักรเมืองพระนครเจริญรุ่งเรือง ราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 ได้แผ่อิทธิพลมายังดินแดนลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี มีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลางดังที่เราพบโบราณสถานปรางค์แขกซึ่งเป็นปราสาทเขมรเก่าที่สุดของภาคกลางของไทย

และที่ศรีเทพเองก็พบตัวปราสาทเขมรเช่นเดียวกัน คือ “ปรางค์ศรีเทพ” สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะเขมรแบบบาปวนและมีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยบายน ตัวปราสาทสร้างอยู่บนฐานอาคารสมัยทวารวดี ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐศิลาแลง มีอาคารประกอบทั้งมณฑป บรรณาลัย โคปุระ สะพานนาค

 

ปรางค์สองพี่น้อง

 

ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์องค์พี่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยนครวัด สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระศิวะ ส่วนปรางค์องค์น้องมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามหายานในสมัยบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีทับหลังที่สวยงามติดอยู่คือ อุมามเหศวร ศิลปะแบบบาปวน

 

ปรางค์ศรีเทพ

จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า เมืองศรีเทพมีจุดเด่นคือความหลากหลายของการนับถือศาสนามีการนับถือทั้งพุทธศาสนาหินยาน มหายาน และพราหมณ์-ฮินดูมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 (วัฒนธรรมทวารวดี - วัฒนธรรมเขมร) มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนทั้งภายในและภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย เนื่องด้วยศรีเทพเมื่อ 1,200 ปีก่อนนั้นเป็นดินแดนที่ไม่ไกลจากทะเลสักเท่าไหร่ ได้รับอิทธิพลทางด้านงานศิลปะ สถาปัตยกรรมมาจากอินเดียและที่อื่นๆ ผสมผสานกับแนวความเชื่อ งานศิลปะของช่างท้องถิ่น จึงกลายมาเป็นความลงตัวและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีที่ศรีเทพที่ไม่เหมือนใคร

 

ถ้าใครสนใจมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และชื่นชมความงดงามของศรีเทพก็สามารถเดินทางมาได้ทั้งทางรถยนต์ หรือรถโดยสารประจำทาง เปิดมุมมองเมืองมรดกโลกแห่งใหม่ของไทยที่ทุกคนมาแล้ว ต้องประทับใจและได้ความรู้กลับบ้านอย่างแน่นอน

 

ผู้เขียน: วีรพงษ์ คำด้วง

นักเขียน / มัคคุเทศก์ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ / อาจารย์พิเศษทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์