posttoday

เป็นไปได้จริงหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในงาน ‘สุขภาพจิต’ ที่แรก!

12 กันยายน 2566

ทุกวันนี้ประเทศไทยมีจิตแพทย์ในอัตรา 1.28 คนต่อผู้ป่วยด้านจิตเวช 1 แสนคน และมีนักจิตวิทยา 1.57 คนต่อผู้ป่วย 1 แสนคน และบางจังหวัดไม่มีจิตแพทย์เลย ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยด้านนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วอะไรที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้?

แน่นอนว่าหากย้อนกลับไปเพียงแค่ 4 ปีก่อนการเกิดโควิด 19 ที่เร่งวิถีชีวิตของผู้คนให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างฉับพลัน การนำเทคโนโลยีมาช่วยทางด้านการแพทย์บางอย่าง เช่น  การรักษาทางไกล หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์สกรีนผู้ป่วยก่อนการเข้ารับการรักษาเป็นสิ่งที่ได้รับการตั้งคำถามเป็นอย่างมากถึงประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ

 

นั่นคือหนึ่งในอุปสรรคของทีมพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจิต ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ที่มีความตั้งใจจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับงานสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

เมื่อแชทบอท ‘จับใจ’ สิ่งที่พิมพ์

 

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี หัวหน้าทีมวิจัยและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมทีมวิจัยได้เล่าย้อนถึงเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีทางสุขภาพจิตซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีก่อนไว้ว่า “เราเริ่มต้นจาก ตัวแรกคือ จับใจแชทบอท ที่ใช้สำหรับการสกรีนนิ่งโรคซึมเศร้า ในสมัยนั้นเป็นแชทบอทตัวแรกที่นำ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามาช่วยประเมินภาวะซึมเศร้า  ซึ่งได้รับการตอบรับดี มีคนสนใจและทำการประเมินค่อนข้างเยอะ เราเห็นผลลัพธ์ และฟีดแบ็คทางโซเชียลมีเดีย หรือคนที่มาโรงพยาบาลจากจับใจแชทบอทมากขึ้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ต่อยอดต่อไป”

 

ดร.กลกรณ์ (ซ้ายมือ) และทีมงาน

 

สำหรับใครที่สงสัยการทำงานของแชทบอทนั้น แชทบอทจะทำงานในเชิงของการสนับสนุนนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ โดยเฉพาะการสกรีนผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา โดยสามารถเข้าใช้งานและพิมพ์ตอบตามคำถามที่ขึ้นหน้าจอ

“ ปกติอย่างการทำงานของ Google หรือ ChatGPT จะไม่รู้ความหมายในสิ่งที่เราพิมพ์ แต่ทุกวันนี้ด้วยวิทยาการด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สามารถทำให้เราแปลความหมายของสิ่งที่พิมพ์ได้”

 

การให้ปัญญาประดิษฐ์แปลความหมายนั้นคือการสอนให้รู้ถึงบริบทของคำพูด

 

“เราต้องยอมรับว่า ไม่มี AI ตัวไหนที่ให้ผลลัพธ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์”

ดร.กลกรณ์ ยอมรับเมื่อเราถามถึงความกังวลของใครหลายคนที่ยังคงมีภาพจำของเทคโนโลยีว่า ไม่มีอารมณ์หรือความรู้สึกร่วม แล้วจะนำมาใช้ในงานจิตวิทยาได้อย่างไร

ทุกวันนี้ทีมของเราไม่ได้พัฒนา AI ในด้านทักษะความฉลาดแต่เรามุ่งพัฒนา AI ให้รอบรู้ด้านอารมณ์ด้วย เพื่อประเมินว่าอารมณ์ของคนที่พิมพ์เป็นอย่างไร  เช่น ถ้าถามว่าข้าวมันไก่ร้านไหนอร่อย สำหรับ AI ที่มีทักษะความฉลาดจะพยายามไปหาข้อมูลมาว่า ตัวไหนรีวิวเยอะ และมาตอบว่าร้านไหนอร่อย แต่ถ้าเรามุ่งพัฒนา AI ที่มีความทักษะด้านอารมณ์ด้วย ก็จะสามารถประเมินว่าอารมณ์ของคนที่พิมพ์เป็นอย่างไร เช่น บอกว่าไม่อยากกลับบ้านเลย คนที่ฟังอาจจะฟังเป็นลบคือ พูดเพราะมีปัญหาที่บ้าน แต่กับอีกคนอาจจะมองว่าจริงๆ แล้วแค่อยากเล่นอยู่ หรืออยากปาร์ตี้ต่อ จะเห็นได้ว่าแค่ประโยคเดียว การตีความนั้นจะต้องตีจากบริบทแวดล้อมด้วย ข้อหนึ่งของแชทบอทคือมองไม่เห็นสภาพแวดล้อมของคนพูด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการพัฒนาว่าการพิมพ์ลักษณะเช่นนี้มีความหมายว่าอะไร ด้วยอารมณ์แบบไหน”

 

กำหนดหน้าที่ของเทคโนโลยีอย่างชัดเจน

 

เพราะฉะนั้นทีมจึงต้องวางตำแหน่งของเครื่องมือนี้ให้ถูกต้องตั้งแต่แรกว่าไม่ได้ทำหน้าที่แทนนักจิตวิทยา อย่างที่ทุกคนเข้าใจ

เราไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินแทนนักจิตวิทยาหรือแพทย์ เราไม่ได้สร้างมาเพื่อสิ่งนั้น แต่เราสร้างและเอา AI มาช่วยสนับสนุนในเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น หากผู้ป่วยมีปัญหาด้านอารมณ์ ก็อาจจะเอาแชทบอทมาช่วยทำการบำบัดบางอย่างได้ก่อน”

 

เมื่อมองจากสถิติ ซึ่งนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ต้องรับมือกับเคสผู้ป่วยที่แทบจะล้นโรงพยาบาล รวมไปถึงกับบางเคสที่อาจมีความรู้สึก ‘อาย’ ต่อการเข้ารับการรักษาเพราะยังมีความเชื่อว่าอาการป่วยทางจิตเป็นเรื่องน่าอาย ซึ่งเป็นช่องที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนและถมช่องว่างให้เต็มได้

“ นั่นคือประเด็นที่เราสร้างแชทบอทขึ้นในครั้งแรกเลย คือ คนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลอาการป่วยของตัวเองและไม่กล้าพูดต่อหน้าคุณหมอ ประเด็นสองคือความห่างไกลในการเข้าสู่การรักษาทางสาธารณสุขที่ใช้เวลาและใช้เงิน  นอกจากนี้ยังมีในกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เด็กจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งจริงๆ แล้วในส่วนตรงนี้ เราจะพบว่าเด็กที่มีปัญหาตรงนี้มีเยอะ ในขณะที่มีผู้ใหญ่หลายท่านที่ไม่เข้าใจปัญหาสุขภาพจิต เด็กจึงถูกละเลยไป”

 

อย่างไรก็ตามแชทบอทเพียงแค่ตัวเดียว ไม่สามารถครอบคลุมความต้องการใช้งานของทุกคนได้ จนทำให้ทางทีมต้องกลับมาคิดกลยุทธ์ขึ้นมาใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีสุขภาพจิต สามารถเข้าถึงการใช้งานได้ครอบคลุมมากขึ้น

 

“ จับใจแชทบอทผลตอลลัพธ์ค่อนข้างดี แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรมันน้อยนิด เราเข้าถึงแค่แสนคนสำหรับ มันเข้าไม่ถึงรากหญ้า วัตถุประสงค์ไม่ครอบคลุม ทำให้เทคโนโลยีสุขภาพจิตเข้าไม่ถึงคนทุกกลุ่มทั่วประเทศ”

 

แพลตฟอร์มกลางที่พัฒนาจาก Pain Point ที่เกิดขึ้น

 

สร้างแพลตฟอร์มกลาง ที่ใครก็สร้างแชทบอทได้เองได้ภายในเวลาแค่ 5 นาที

 

ความเจ๋งของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “แพลตฟอร์มกลางสร้างเครื่องมือบำบัดจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์” ตัวนี้ คือสถานที่ซึ่งตระเตรียมทุกอย่างให้แก่หน่วยงานที่ต้องการสร้างแชทบอทขึ้นภายในองค์กร โดยทำเองได้ง่ายใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ก็ได้แชทบอทเป็นของตัวเอง!

“ตัวแพลตฟอร์มเหมือนเครื่องมือที่สามารถเข้าไปสร้างการพูดคุย บทสนทนาต่างๆ และสามารถแสดงให้เห็นว่ามีใครเข้ามาใช้งาน สกรีนนิ่งผลเป็นยังไงบ้าง จะสามารถให้ข้อมูลเหล่านี้กับหน่วยงานที่นำไปใช้ได้  แต่ว่าจากการที่มีองค์กรต่างๆ นำไปใช้  ตัวแพลตฟอร์มกลับไม่ได้ถูกใช้งานแค่การสกรีนอย่างเดียว หลายหน่วยงานก็มีการนำไปปรับใช้ในด้านการให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต หรือการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน”

 

ปัจจุบัน “แพลตฟอร์มกลางสร้างเครื่องมือบำบัดจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์” มีการใช้งานมากกว่า 30 องค์กร ซึ่งไม่ได้เฉพาะแค่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิตอย่างโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ เช่น กองทัพเรือ กรมราชทัณฑ์ รวมไปถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัย  ส่วนในภาคเอกชนยังคงต้องรอหลังจากการขอใบอนุญาตก่อน จึงจะสามารถขยายไปทางฝั่งคลินิกทางจิตวิทยาต่อไป

 

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางสร้างเครื่องมือบำบัดจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์” ได้คว้ารางวัลเหรียญทองงานนักประดิษฐ์นานาชาติ เจนีวา ในปีนี้มาครอง

“ เท่าที่พูดคุย มีหลายชาติสนใจไม่ว่า บราซิล หรือสเปน เพราะเราไม่ได้พัฒนาแค่เฉพาะภาษาไทย .. เพราะฉะนั้นเขาจึงสนใจว่า ถ้าเอาไปจะช่วยพัฒนาอะไรได้บ้าง หรือแม้แต่ในตัวประเทศญี่ปุ่นที่คุยมา เขาก็อยากได้แชทบอทที่เข้าไปดูแลปัญหาสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัยต่างๆ เหมือนกัน”

 

ต่อยอดเทคโนโลยีสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษา

 

นอกจากการพัฒนาแชทบอท  แพลตฟอร์มการสร้างแชทบอทแล้ว ทีมพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจิต ยังพยายามขยายไปยังช่องทางเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้งในด้านการสร้างตัวอวตาร์ และการสร้างมัลติเวิร์ส ในต่อๆ ไป ซึ่งการขยายช่องทางด้วยเทคโนโลยีต่างๆ นี้เพื่อครอบคลุมการเข้าถึงของผู้คนที่มีความต้องการแตกต่างกัน

“การพัฒนาอวตาร์ด้วยหลายเหตุผล เหตุผลหนึ่งคือบางครั้งสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล ค่อนข้างแออัดและแน่น การที่เขาจะมาหานักจิตวิทยาเลยและทำกระบวนการต่างๆ ก่อนการรักษาเลยค่อนข้างใช้เวลาเยอะ การสร้าง avatar จึงเป็นการย่นระยะเวลาของนักจิตวิทยา บางครั้งเข้ามาก็อารมณ์ลบมากๆ ก็จะถูกใช้ในการปรับอารมณ์ ...  เราใช้ AI มีกล้อง มีไมค์ สามารถตรวจจับสีหน้า อารมณ์ผ่านใบหน้าและอารมณ์ ตรวจจับอารมณ์จากน้ำเสียงท่าทาง ตรวจจับการเคลื่อนไหวของลูกตาด้วย

“ ส่วนเมตาเวิร์ส เราก็ทำขึ้นใหม่ คือเจอนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยาในเมตาเวิร์ส  เพราะเราคำนึงด้าน Privacy (ความเป็นส่วนตัว ) เพราะการเข้าโรงพยาบาล คนไม่กล้าพูด แชทบอทจะมีความเป็นส่วนตัวร้อยเปอร์เซนต์ แต่ว่าความถูกต้องเทียบไม่ได้กับการเจอตัว  แต่เมตาเวิร์สความเป็นส่วนตัวร้อยเปอร์เซ้นต์ แต่ก็ไม่เห็นการเคลื่อนไหวเชิงร่างกายเท่าไหร่”

 

บทบาท ‘ เทคโนโลยีสุขภาพจิต’ ในอนาคต

 

ในส่วนของบทบาทของเทคโนโลยีสุขภาพจิตจะเยอะขึ้นแน่นอน เราจะเห็นว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น และในอนาคต เราไม่รู้หรอกว่ามีช่องทางเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ หรือไม่ เพื่อให้คนเข้าสู่สระบบสาธารณสุขมากขึ้นอีกมั้ย แต่คิดว่าคนมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอยู่แล้ว”

 

แม้ประเทศไทยจะอยู่ในจุดเริ่มต้นของการใช้เทคโนโลยีสุขภาพจิต แต่เมื่อเห็นความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้น ก็น่าติดตามว่า เทคโนโลยี จะสามารถยกระดับการดูแลสุขภาพจิตไปในทิศทางใดได้บ้าง

 

หน้าตาของ Psyjai Chatbot

 

สำหรับใครที่สนใจอยากทดลองใช้สามารถเข้าไปใช้งาน Psyjai Chat Bot ซึ่งเป็นแชทบอทที่ให้ข้อมูลสุขภาพจิต ได้ที่

https://psyjai.com/