posttoday

ไม่ง่ายแต่คือเป้าหมาย นำกทม. เข้าสู่ WorldPride 2028

08 มิถุนายน 2566

เปิดบทสัมภาษณ์รองผู้ว่าฯ กทม. ศานนท์ หวังสร้างบุญ ถึงประเด็นการจัด WorldPride2028 ย้ำต้องไม่ลืมหัวใจของงาน Pride คือการสร้างความเท่าเทียมตั้งแต่ระดับนโยบาย

‘ ..โอบกอดความหลากหลายจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่โอบกอดวันเดียวแค่ในงาน Pride แต่ต้องโอบกอดตลอดเวลาและทุกวัน การจะโอบกอดทุกวันหัวใจคือกฎหมายและสิทธิที่จะเข้าถึงในบริการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม’ 

 

บางกอกไพรด์ 2023 สำเร็จเกินคาด

ถือว่างานบางกอกไพรด์ 2023 ประสบความสำเร็จ มีผู้เข้าร่วมมากกว่าปีที่แล้วเกินครึ่ง ปีที่แล้วคาดไว้ที่ 20,000 ปีนี้เกินกว่า 50,000 คน ซึ่งเหนือความคาดหมายที่ 50,000 คน

ต้องบอกว่าเป็นงานที่จัดกับภาคีเป็นหลัก ทางกทม.ไม่ได้เป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียว มีอีกสี่สิบกว่าองค์กรที่เป็นชุมชนเพศหลากหลายที่ตื่นตัวและทำเรื่องนี้มากว่าหลาย 10 ปี บางกลุ่มก็มีการผลักดันประเด็นทางกฎหมาย บางกลุ่มก็ผลักดันด้านสาธารสุขสุขภาพของกลุ่มเพศหลากหลาย เพราะฉะนั้นการที่มีคนที่เข้าใจประเด็นนี้จริงๆรวมตัวกัน และเป็นผู้จัดหลัก นี่แหละคือความสำเร็จ ไม่ใช่ภาครัฐเป็นผู้ริเริ่มหรือเป็นคนทำอย่างเดียว แต่ภาคประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจประเด็นนี้มากกว่าสามารถมาส่งเสียง เหมือนว่าเมืองนี้เป็นของเขาด้วย นี่แหละคือความสำเร็จที่แท้จริง

 

ผลตอบรับจากผู้จัดงาน WorldPride ที่มาร่วมสังเกตการณ์งานบางกอกไพรด์ ‘ชื่นชอบ’

เขาชอบมาก และผมว่ามันยิ่งใหญ่มาก ผมเคยไปงาน Pride parade ที่ต่างประเทศโดยบังเอิญ ผมเคยไปที่อัมสเตอร์ดัม ผมรู้สึกว่างานที่นั่นเป็นคล้ายๆ เฉพาะกลุ่ม แต่บ้านเรามีความทางการบางอย่าง เพราะเมืองเป็นเจ้าภาพร่วม ภาคเอกชนมาหลายเจ้ามากและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และอันที่สามคือ งานมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ซึ่งมีความหมายอยู่ในนั้นมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพรบ.สมรสเท่าเทียม การพูดถึงการสูญเสียที่ Stonewall ที่ทำให้คนเรียนรู้ว่าทำไมต้องมีงานพาเหรดและเรื่องของบริการสาธารณสุขที่กำลังจะขยายผล และทาง InterPride (ผู้จัดงาน WorldPride) ก็ค่อนข้างประทับใจกับการจัดที่ไม่ได้เน้นแค่ความบันเทิงแต่มันคือการแสดงเจตจำนงจริงๆ มีการพูดถึงเนื้อหาชัดเจน และภาครัฐลงมาเป็นเจ้าภาพร่วม ผมว่านี่คือหัวใจ

 

หัวใจของ WorldPride  คือการบอกกับนานาชาติมากกว่าว่ากทม. มีความพร้อมไม่ใช่แค่เพียงสังคมที่ตื่นตัว แต่ในแง่กฎหมายและเปิดรับเศรษฐกิจต่างๆ เราก็ไม่แพ้เมืองไหนในโลก

 

WorldPride ไม่ใช่แค่อีเว้นท์ แต่คือการผลักดันความเท่าเทียมที่ต้องเกิดขึ้นจริง

จริงๆ ผม ไม่ได้มองเหมือนคนอื่นที่เราอยากจะเป็น WorldPride เพื่อจะจัดอีเว้นท์ระดับโลกอย่างเดียว เพราะหัวใจของ WorldPride  คือการบอกกับนานาชาติมากกว่าว่ากทม. มีความพร้อมไม่ใช่แค่เพียงสังคมที่ตื่นตัว แต่ในแง่กฎหมายและเปิดรับเศรษฐกิจต่างๆ เราก็ไม่แพ้เมืองไหนในโลก นี่คือความหมายที่แท้จริงมากกว่า การเป็น WorldPride ไม่ใช่ว่าเราจัดงานได้ดี ที่เรานั่งคุยกับทางกลุ่ม InterPride ซึ่งเป็นผู้จัดงาน WorldPride ก็บอกเราว่าการจะเป็นเจ้าภาพได้มันต้องมีตัวเรื่องของสิทธิพื้นฐานความเท่าเทียมที่เรายังไม่ถึงอีกพอสมควร หรือเรื่องของ Immigration มันก็มีความยากง่ายของการเข้าประเทศของคนหลากหลายประเทศ อย่างบางประเทศมีความเป็นไปได้ที่จะจัดแต่ไม่มีไฟล์ทหรือการเข้าประเทศยาก ..  กรุงเทพมหานครอาจจะไม่มีประเด็นนี้เยอะ เพราะเรามีสนามบินที่เป็นนานาชาติ แต่ที่เราต้องไปให้ได้คือพวกความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งคงจะต้องรวมถึงพวก 'Universal Design' ไปด้วย ที่เป็นเรื่องของการเข้าถึงเรื่องของรถไฟฟ้า การขนส่งสาธารณะ หรือการเดินทางเท้า ทุกอย่างต้องมีการออกแบบเพื่อทุกคน หรือว่าเรื่องของสิทธิการเข้าถึงของเพศหลากหลายในเมือง ที่ไม่จำกัดเขาแค่กลุ่มเฉพาะ แต่ต้องมองว่าเป็นความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นมิติของการสมรสก็ดี บัตรประชาชน มิติการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ อันนี้เราต้องยกระดับให้เท่าเทียม   เพราะฉะนั้นการจัด WorldPride ในมุมผมไม่ใช่การจัดอีเว้นท์เพียงอย่างเดียว แต่ว่ากทม.ต้องร่วมกับภาครัฐอื่นๆ เพื่อผลักดันส่วนต่างๆ ไปด้วยครับ

 

กทม. มุ่งสร้าง Universal design ตามนโยบาย 216 ข้อของอาจารย์ชัชชาติ

ในส่วนที่เป็นเรื่องของการดึงดูดภาคเอกชนหรือผู้คน กทม.มีความพร้อมเพราะเป็นเมืองที่คนรู้จัก สะดวกสบายในการเข้าถึง อย่างที่ InterPride เรียกว่า Accessibility ที่คนจะเข้าถึงได้ ผมว่ากทม. ทำได้ดี อาจจะต้องเพิ่มในเรื่องของ Universal design ต่างๆ ที่ทาง WorldPride เขามีข้อเรียกร้องมาว่ากทม.จะต้องมีและคิดคำนึงเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งผมก็มองว่าอยู่ในนโยบาย 216 ข้อของอาจารย์ชัชชาติอยู่แล้ว ว่าทำยังไงให้การเข้าถึงเท่าเทียมมากขึ้นในทุกเรื่อง

ในมิติของพวก Documentation กทม.ก็พยายามจะทำนำร่อง อย่างวาเลนไทน์ที่ผ่านมาก็มีสำนักงานเขตอย่างน้อยๆ 3 สำนักงานเขตที่ให้ใบจดแจ้งที่คล้ายๆ ใบประกาศสมรส  โดยที่ ผอ.เขตเป็นผู้ริเริ่มและเซ็นต์ให้เอง แต่ด้วยความที่กทม. ไม่ได้เป็นเจ้าของกฎหมายนี้ เราจึงทำได้เพียงรับรองการเป็นคู่ แต่เราไม่สามารถให้เขาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของการสมรสได้ อันนี้เราก็นำร่องไปแล้ว 3 เขตมีคนมาจดหลายร้อยคน อันนี้ถ้าเรานำร่องไปแล้วและอยากผลักไปสู่การเป็นคู่ชีวิตได้ คู่สมรสได้ ก็จะทำให้เขาสามารถเข้าถึงสิทธิที่เหมือนคู่ชีวิตอื่นๆ สามารถมีได้มากขึ้น

ในแง่ของสุขภาพ ในแง่ที่เราให้บริการสาธารณะครับ ก็มีการเปิดโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ของเรามี 11 แห่ง มี 5 แห่งที่ให้บริการสำหรับเพศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา PREP หรือเรื่องของการเทคฮอร์โมนเพิ่มเติม หรือเป็นเรื่องของการแปลงเพศใดๆ ก็ตามก็มีโรงพยาบาลริเริ่มไปแล้ว 5 โรง และก็มีศูนย์บริการสาธาณสุขอีก 6 แห่งจากทั้งหมด 69 แห่งที่เรานำร่องไปแล้ว

ในมิติของเศรษฐกิจ ผมว่าเรานำร่องไปเยอะ  ก็คือเรื่องของการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมบันเทิง ต้องยอมรับว่ากลุ่ม LGBTQ เป็นกลุ่มที่แอคทีฟมากในด้านอุตสาหกรรมบันเทิง เรียกได้ว่าเป็นผู้มีคุณูปการมากมายต่อเมืองนี้มากมาย เพราะฉะนั้นประเด็นอุตสาหกรรมบันเทิงเราได้พูดคุยกับหลายอุตสาหกรรม และนำอุปสรรคที่เขาเจอ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะมีอุปสรรคของการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่สาธารณะ เพราะไม่มีเจ้าภาพ ออกกองทีนึงต้องเจอทั้งตำรวจ เทศกิจ เขต เจ้าของเอกชน เจอหลายคนมาก เพราะฉะนั้นการที่กทม.เป็นเจ้าภาพประสานแบบ One-stop service มันเป็นสิ่งสำคัญมากที่เขาอยากจะให้เกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นนโยบายที่เรานำร่องไปแล้วและเดินไปแล้วครับ

เราทำพื้นที่ท่องเที่ยว เพราะพื้นที่ท่องเที่ยวก็มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงอาหาร หรือท่องเที่ยวกลางคืน เรามีเตรียมย่านพื้นที่เศรษฐกิจ มีมาตรการสร้างความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นท่องเที่ยวกลางคืน กลุ่ม LGBTQ ก็ค่อนข้างแอคทีฟในพื้นที่เหล่านั้น ก็เป็นมิติที่เราก็พยายามสร้างความปลอดภัย และโปรโมทย่านกลางคืนตามนโยบายผู้ว่าเที่ยงคืน อยู่ใน 216 ข้อ เราก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่หลับใหลให้มีแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนต่อยอดไปได้ด้วย

 

ข้อสังเกตที่ดีคือ ประเทศตะวันตกสังคมค่อนข้างยังไม่เข้าใจ ยังไม่ค่อยเห็นคุณค่าของ LGBTQ แต่ว่า Policy maker ในระดับนโยบายค่อนข้างรับรองกฎหมายเร็วและก็มีนโยบายสมรสเท่าเทียมอออกมาแล้ว  แต่ในทางบ้านเรากลายเป็นว่าสังคมยอมรับแล้ว สังคมเข้าใจเรื่อง LGBTQ มาก ... แต่กฎหมายยังไม่ปรับเปลี่ยน

 

ภาคสังคมเข้าใจ แต่ถึงเวลาภาคนโยบายต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ผมว่าเป็นแรงกระตุ้นที่ดี แต่ว่ามันก็นานอีกตั้ง 5 ปี แต่ว่าก็ดีกว่าไม่มีเป้าหมายเลย ดูจาก Requirement ของทางผู้จัดงานถือว่าไม่ง่าย เมื่อฟังจากทาง InterPride แต่ก็ไม่ยากเกินไป ถ้าทางรัฐบาลจะร่วมมือกับเรา เพราะทางกทม. พร้อมมากที่จะส่งเสริมในแง่นโยบาย ส่วนภาคเอกชนผมว่าเขาแอคทีฟมากอยู่แล้ว มันมีคำหนึ่งที่ผมเชื่อมาก เป็นข้อสังเกตที่ดีคือ ประเทศตะวันตกสังคมค่อนข้างยังไม่เข้าใจ ยังไม่ค่อยเห็นคุณค่าของ LGBTQ แต่ว่า Policy maker ในระดับนโยบายค่อนข้างรับรองกฎหมายเร็วและก็มีนโยบายสมรสเท่าเทียมอออกมาแล้ว  แต่ในทางบ้านเรากลายเป็นว่าสังคมยอมรับแล้ว สังคมเข้าใจเรื่อง LGBTQ มาก ผมว่าเพื่อนทุกคนก็เป็น LGBTQ เยอะแยะ แต่กฎหมายยังไม่ปรับเปลี่ยน ยังโบราณอยู่ พูดง่ายๆ ความสวนทางกันเนี่ย คนที่จะผลักดันให้เป็น WorldPride ได้จริงๆ ไม่ใช่เอกชนไม่ใช่ภาคประชาสังคมละ แต่คือระดับนโยบายมากกว่า ที่พวกเราต้องจริงใจและเข้าไปแก้กฎหมายและเปลี่ยนแปลงขั้นตอนต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดขึ้นได้

 

 

จริงๆ แล้วผมว่าหัวใจไม่ใช่ WorldPride มันไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายจริงๆ คือ เราต้องการผลักดันสิทธิต่างๆ ให้ประชาชนให้เกิดความเท่าเทียม และโอบกอดความหลากหลายจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่โอบกอดวันเดียวแค่ในงาน Pride แต่ต้องโอบกอดตลอดเวลาและทุกวัน การจะโอบกอดทุกวันหัวใจคือกฎหมายและสิทธิที่จะเข้าถึงในบริการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม อย่างที่บอกว่าในมิติเศรษฐกิจ กลุ่ม LGBTQ ให้คุณูปการแก่เราเยอะ หลายอุตสาหกรรมขับเคลื่อนด้วยกลุ่ม LGBTQ แต่เราดันไม่ดูแลและไม่มีสิทธิเท่าเทียมให้เขาเลย เราคงเอาแต่ได้โดยที่ไม่แสดงความจริงใจผ่านกฎหมายไม่ได้.