posttoday

ผู้หญิงของ รพินทรนาถ ฐากุร กวีผู้ขบถต่อการเรียกหญิงม่ายว่า ‘กาลกิณี’

15 พฤษภาคม 2566

ย้อนกลับไปกว่า 100 ปีก่อน สังคมอินเดียประณามหญิงม่ายว่าเป็น ‘กาลกิณี' และสิทธิสตรียังหาได้ยากยิ่ง บทกวีของรพินทรนาฎ ฐากุร กลับกล้าที่จะสอดแทรกแนวคิด ‘ความเท่าเทียม’ สนับสนุนผู้หญิงลงในบทความระดับโลกของเขา!

อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นวันเกิดของ ‘รพินทรนาถ ฐากุร’ กวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดีย เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเป็นคนแรกในเอเชีย  งานเขียนจำนวนมากนำเสนอมุมมองใหม่ทางด้านการเมืองการปกครอง สังคมรวมไปถึงการศึกษาอินเดียที่ควรจะเป็น  ฉันทลักษณ์ในการเรียงร้อยบทประพันธ์ของเขาเพิกเฉยต่อกฎการประพันธ์เดิมๆ แต่เลือกใช้ฉันทลักษณ์ที่เป็นอิสระ เพื่อถ่ายทอดถ้อยคำที่เต็มไปด้วยแนวคิดและปรัชญาแบบ ‘อิสระ’ ของเขา

 

รพินทรนาถ ฐากุร กวีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนแรกของเอเชีย

การยืนหยัดอยู่ในฝั่งสิทธิของสตรี และสนับสนุนให้พวกเขาออกมาแสดงพลังของตัวเอง ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ปรากฎอยู่ในงานประพันธ์ขของกวีระดับโลกผู้นี้อยู่บ่อยครั้ง  รวมถึงประเด็นของ ‘หญิงม่าย’  ให้มีสิทธิในการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ  ซึ่งกลายเป็นแนวคิดที่ล้ำหน้าสังคมไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่คือ  ‘อินเดียเมื่อ 100 ปีก่อน’ ก็ตาม

 

หญิงม่ายผู้ถูกตีตราว่าเป็น ‘กาลกิณี’ กับพิธี ‘สตี’ ที่ยังคงมีอยู่จริง

 

ในวรรณกรรมเรื่อง ‘เล่ห์เสน่หา’ (Chokher bali) ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ชูประเด็นเรื่องหญิงม่ายชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่งของรพินทรนาถ บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มสาว 4 คนในคฤหาสถ์หลังหนึ่ง หลังจากที่บิโนดินี (Binodini) สาวงามผู้มีการศึกษาแต่กลับยากจน ถูกปฏิเสธจากชายหนุ่มเจ้าสำราญแสนร่ำรวย และเพื่อนของเธอที่เป็นชนชั้นปัญญาชน เธอจึงต้องแต่งงานกับชายสูงวัย ที่สุดท้ายก็ต้องตายจากไปปล่อยให้เธอกลายเป็นม่ายในสังคมอินเดียในยุค 1900 ซึ่งทำให้เธอดูเป็นกาลกิณีและหมดโอกาสในสังคม

 

Binodini หญิงงามผู้ขบถต่อค่านิยมของสังคมที่มีต่อ ‘แม่ม่าย’

หากจะกล่าวถึงค่านิยมต่อคนเป็นม่ายในสังคมอินเดียซึ่งยังคงปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน สามารถเห็นชัดได้ดีที่สุด ผ่านการรวมตัวกันของแม่ม่ายกว่า 6,000 ชีวิต ในเมืองที่ชื่อวฤนทาวัน (Vrindavan)  พวกเธอเดินทางจากบ้านเพื่อปักหลักใช้ชีวิตที่นี่ เนื่องจากค่านิยมเก่าแก่ในสังคมที่เชื่อว่า ‘แม่ม่ายผัวตาย’ ไม่ควรจะใช้ชีวิตแบบสดชื่นรื่นรมย์ และควรจะโศกเศร้าไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่!!

 

พวกเธอถูกกีดกันจากชุมชนที่อยู่ จึงไม่มีทางอื่นใดนอกจากมาอยู่รวมตัวกัน และได้รับการดูแลโดยรัฐบาล  .. คนที่เป็นม่ายในสังคมอินเดียนิยมนุ่งขาวเท่านั้น พวกเธอไม่สามารถแต่งงานใหม่ได้ ต้องหลบซ่อนภายในบ้าน ถอดเครื่องเงินเครื่องทองออกเพราะไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนถึงความโศกเศร้า .. ค่านิยมเหล่านี้ยังคงหลงเหลือในสังคมปัจจุบัน ซึ่งถือว่ามีการปรับเปลี่ยนจากเดิมมากแล้ว เมื่อเทียบกับการกระทำในอดีตที่แม่ม่ายจะต้องกระโจนเข้ากองเพลิงเผาตัวเองจนตัวตายตามสามีไปที่เรียกว่า ‘สตี (Sati) เพื่อแสดงออกถึงความซื่อสัตย์ เกียรติยศและความบริสุทธิ์ให้แก่สามี

 

แม่ม่ายในเมือง Vrindavan ที่มีจำนวน 5,000-6,000 คนในปัจจุบัน

ความเชื่อที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังค่านิยมดังกล่าวก็คือ

บทบาทและความสำคัญของเพศหญิงในสังคมอินเดียนั้นไม่เทียบเท่าเพศชาย

แม้กระทั่งตอนแต่งงาน หญิงสาวอินเดียจะต้องนำสินสอดมาสู่ขอผู้ชาย เพื่อให้ผู้ชายรับและดูแลพวกเธอ ..  เคยมีคำกล่าวถึงขั้นว่า ‘มีวัวยังมีประโยชน์กว่ามีลูกสาว’  พวกเธอจึงต้องทำงานหนักทั้งในบ้านและนอกบ้าน บางคนพ่อแม่พยายามให้พวกเธอแต่งงานและออกไปอยู่กับสามีตั้งแต่เด็ก หรือพิธีสตีที่เกิดขึ้นจากการมองว่าเพศหญิงเป็นเพศที่ต้องรักษาเกียรติสามี โดยไม่สนใจชีวิตของตนเองเลยแม้แต่น้อย ก็สะท้อนถึงรากฐานทางสังคมของอินเดียที่มีต่อเพศหญิงในสังคมได้เป็นอย่างดี

 

Choker bali (เล่ห์เสน่หา) เมื่อผู้หญิงของ รพินทรนาถ ขบถต่อการเป็นแม่ม่าย

 

บิโนดินี (Binodini) หญิงม่ายในเรื่องเล่ห์เสน่หา (Choker bali) ของรพินทรนาถ ถูกบรรยายไว้ว่า ‘เธอคือผึ้งนางพญาที่พร้อมจะต่อยทุกคนที่ขวางทางของเธอ อุปสรรคเป็นสิ่งที่เธอพบเจอมาตลอดชีวิต ... และเธอพร้อมที่จะสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของตัวเอง’

 

ในความคิดของ Binodini การเป็นม่ายไม่ใช่ทางเลือกที่เธอเลือกเอง และเธอไม่ยอมให้สังคมตีตราว่าเธอเป็น ‘กาลกิณี’ แม้วิธีการของ Binodini จะเต็มไปด้วยแผนการณ์ และผิดจารีตประเพณี เธอเข้าไปยั่วยวนผู้ชายที่มีภรรยาแล้วจนเกิดการนอกใจ ในขณะที่ใจจริงก็ไปหลงรักผู้ชายคนอื่น  สุดท้ายชีวิตเธอก็ต้องผิดหวังจากคนที่เธอรัก และพบกับจุดจบที่เธอไม่ต้องการ คือการปลีกวิเวกอยู่อย่างเงียบๆ ในฐานะหญิงม่ายตามลำพังและไม่อาจสมหวังกับความรักครั้งนี้

 

Binodini ในชุดสีขาว และเพื่อนรักของเธอ ซึ่ง Binodini เข้าไปพัวพันกับสามีจนเกิดเรื่องราวต่างๆ

 

และแม้ตอนจบของเรื่องราวจะไม่ใช่ฉากจบที่สะท้อนชัยชนะของ 'ความเท่าเทียม' แต่ความดีของวรรณกรรมเรื่องนี้ คือการที่รพินทรนาถ กล้าออกมาตั้งคำถามกับสังคมว่า ทำไมหญิงม่ายที่มีความกล้าหาญ และสามารถดูแลตัวเองได้จึงไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และทำไมผู้หญิงถึงไม่มีอิสระต่อความต้องการของตัวเอง?

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในบทพูดของ Binodini คือ ‘หากเธอไม่มีการศึกษาเหมือนหญิงม่ายคนอื่นๆ เธอก็คงจะสามารถทนต่อจารีตและค่านิยมของสังคมได้ง่ายกว่านี้’  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อของรพินทรนาถต่อการศึกษา ที่ควรจะมีให้แก่เพศหญิงไม่ต่างจากเพศชาย และความสำคัญต่อการศึกษาที่ทำให้คนกล้าที่จะออกมายืนหยัดถึงสิทธิของตนเอง

นอกจากนี้ยังมีงานเขียนของรพินทรนาถอีกหลายเรื่อง ที่ออกมาพูดถึงสิทธิของผู้หญิงในด้านต่างๆ และสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาเรียกร้องชีวิตของตัวเอง ทั้งสนับสนุนให้ผู้หญิงได้เข้าถึงการศึกษา สนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถมีชีวิตของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องแต่งงาน  หรือเรื่องราวของกิริบาลา (Giribala) ในวรรณกรรมเรื่อง Giribala ภรรยาที่อุทิศตัวแก่สามีมาก เธอแต่งงานแต่ไม่มีลูกและรักกันกับสามีเป็นอย่างดี ภายหลังสามีของเธอทำงานหนักไม่ค่อยมีเวลาให้เธอ  และยังนอกใจไปหลงใหลในตัวนักแสดงสาว ...   Giribala รู้เรื่องราวทั้งหมด  ในขณะเดียวกันเธอก็มีความต้องการที่ซ่อนเร้น คืออยากเป็นนักแสดง แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูไม่ดีนักในสังคมสมัยนั้น สุดท้าย Gigibala ได้หนีออกจากบ้านไปเพื่อเข้าร่วมคณะละคร ..  และวันที่ Giribala ได้แก้แค้นก็มาถึง เมื่อเธอได้แสดงบนเวทีอย่างที่เธอต้องการ สามีของเธอแทบเสียสติเมื่อได้เห็นอดีตภรรยาบนเวทีการแสดง 

 

บทบาทผู้หญิงอินเดียในปัจจุบัน มากกว่า 100 ปี จากวันนั้นสู่วันนี้..

 

แม้เวลาจะผ่านมากว่า 100 ปี แต่สถานภาพของผู้หญิงในประเทศอินเดียนั้นก็ยังไมีได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังหมืออย่างที่คาดหวังไว้  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้หญิงอยู่ในพรรคการเมือง  ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น วงการไอที หรือวงการกีฬา ซึ่งเป็นข้อหนึ่งของการบ่งชี้ว่าสังคมอินเดียเปิดพื้นที่ให้แก่เพศหญิงมากขึ้น .. แต่ก็ไม่มากนัก... เมื่อดูจากสถิติจากข้อมูลของธนาคารโลก พบว่าอัตราการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกำลังแรงงานของอินเดียอยู่ที่ระดับสูงสุดในปี 2000 ที่ร้อยละ 31 ตั้งแต่นั้นมากลับลดลงอย่างต่อเนื่องโดยแตะระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 21 ในปี 2018  แม้ว่าประชากรเพศหญิงในอินเดียจะมีจำนวนเกือบร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด

ค่านิยมที่ผูกไว้กับศาสนาและวรรณะ ได้หยั่งรากลึกในสังคมอินเดียมามากกว่า 100 ปี และมันคงต้องใช้เวลาอีกสักพักในการที่จะเปลี่ยนแปลง ... อย่างไรก็ตามเราได้เห็นความพยายามบางอย่างที่เกิดขึ้น อย่างเช่นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐกัวในอินเดีย ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกฏหมายต่อต้านการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อหญิงม่าย ด้วยสาเหตุที่ว่า ‘ถ้าธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ใช้สำหรับผู้ชาย ก็ไม่ควรใช้กับผู้หญิงที่ต้องผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากการถูกโดดเดี่ยวและเลือกปฏิบัติ’  ซึ่งคาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้อาจจะมีการบังคับใช้กฏหมายนี้ต่อไป

ในขณะเดียวกัน  เดือนเมษายนที่ผ่านมาประเทศอินเดียได้กลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แซงหน้าประเทศจีน หากมีการเคลื่อนไหวเรื่องบทบาทและความเท่าเทียมของสตรีในอินเดีย .. ก็จะทำให้โลกใบนี้มีความเท่าเทียมมากขึ้นได้แบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรโลกเลยทีเดียว

 

วรรณกรรมและงานเขียนที่ดีนั้นย่อมสะท้อนดังถึงสังคม ชุ่มฉ่ำไปด้วยอุดมการณ์ และแน่นอนว่าย่อมรับผิดชอบต่อความดีงาม ความถูกต้องในจิตวิญญาณของบุคคลและสังคม .. . และในฐานะกวี รพินทรนาถ ฐากุร ก็ได้ทำหน้าที่ของเขาเป็นอย่างดี และเพราะความดี ความงาม ที่เขียนนั้นจึงทำให้บทกวีของเขาสามารถยืนหยัดและร่วมสมัยจนถึงทุกวันนี้

 

ที่มา

http://www.languageinindia.com/june2018/vitseminarenglish/vihasamruthafeminismtagore.pdf

https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=11401

https://www.unicef.org/india/media/2746/file/Gender-Brief-UNICEF-India.pdf

https://frontline.thehindu.com/news/goa-assembly-unanimously-backs-bill-to-protect-widows/article66777088.ece