3 นักข่าว ‘เครือเนชั่น’ คว้ารางวัล ‘วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2566’
นักข่าวเครือเนชั่น จาก ‘สปริงนิวส์-คมชัดลึก’ คว้ารางวัลประกวดคลิปสั้น เนื่องใน ‘วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day)’ ประจำปี 2566 ในหัวข้อ #ชีวิตคนทำงานสื่อ
นักข่าวในเครือเนชั่นจำนวน 3 คน คว้ารางวัลจากการประกวดคลิปวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม Tiktok เนื่องในโอกาส “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day)” ประจำปี 2566 ในหัวข้อ #ชีวิตคนทำงานสื่อ ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
โดยนักข่าวเครือเนชั่น 3 คน ประกอบด้วย นายนพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยี-พิธีกร จากสปริงนิวส์ คว้ารางวัลรองชนะเลิศ นายคณพศ เข็มทองวงศ์ และนางสาวขวัญเรียม แก้วสุวรรณ จาก ‘คมชัดลึก’ ได้รับรางวัลชมเชย
น.ส.ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ ผู้สื่อข่าวคมชัดลึก เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำคลิปส่งเข้าประกวดว่า เมื่อก่อนสำนักข่าวสามารถไล่ชื่อได้แบบไม่ตกแม้แต่ชื่อเดียว แต่ทุกวันนี้สื่อดิจิทัลเกิดขึ้นมากมาย ชนิดขานชื่อไม่หมด เกิดการแข่งขันสูง แต่สิ่งที่ทำให้สื่ออยู่ได้ในความคิดส่วนตัว คือ "คุณภาพ" และ "ความเร็ว" ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่เป็นไปได้ถ้าตั้งใจ
เรื่องราวในคลิป คือตัวเองใช้รถโดยสารสาธารณะเดินทางไปทำข่าว ทุกครั้งที่พิมพ์ข่าวจะก้มหน้าทำในโทรศัพท์มือถือ และเกือบทุกครั้งที่เงยหน้าขึ้นมาคือเลยที่หมาย ต้องนั่งย้อนกลับมา และจะหัวเราะกับตัวเองเสมอ บางวันกลับถึงบ้านเที่ยงคืน ไม่ใช่ทำงานดึก แต่เป็นเพราะนั่งโดยสารสาธารณะเลยป้าย
(รับชมคลิป น.ส.ขวัญเรียม คลิก)
น.ส.ขวัญเรียม เล่าต่ออีกว่า ในทุกๆ วันที่ออกไปทำข่าวจะมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย บางวันราบรื่น บางวันมีอุปสรรค เคยมีเหตุการณ์โดนม็อบชุมนมล้อมเพราะไม่พอใจที่รายงานข่าวไม่เข้าข้าง แต่ด้วยความถูกสอนมาให้ "รายงานตามข้อเท็จจริง" จึงใช้เป็นข้ออธิบายต่อม็อบชุมนมว่า "ทำตามหน้าที่สื่อมวลชน คือ รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ไม่เข้าข้างใครทั้งนั้น ขอทำหน้าที่ตัวเอง" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่านั้นคือ อำนาจที่มองไม่เห็น มีความพยายามปิดหูปิดตาสื่อมวลชน ทว่าที่สุดยังเชื่อเสมอว่า "ความเป็นกลาง" เป็น "สุนัขเฝ้าบ้าน" คือสิ่งที่ทำให้สื่อสู้กับอำนาจนั้นได้
นายคณพศ เข็มทองวงศ์ ผู้สื่อข่าวคมชัดลึก เล่าว่า สำหรับคลิปที่ได้รางวัลนั้น เป็นบรรกาศในการทำงาน ในวันรับสมัครสส.แบบแบ่งเขต เมื่อวันที่ 4เม.ย.2566 กับการติดตามการทำกิจกรรมของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ซึ่งการทำข่าวในภาคสนาม ที่ปัจจุบันมีสำนักข่าวมากขึ้น ทำให้การจะได้มุมภาพและเสียงของแหล่งข่าว จะต้องอาศัยการเบียดกันไปให้ใกล้มากที่สุด
ซึ่งส่วนตัวจะใช้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือในการเก็บภาพเคลื่อนไหว พร้อมกับถ่ายภาพนิ่งด้วยกล้องถ่ายรูป การทำงานจะต้องพยายามถ่ายภาพให้ใช้งานได้ทั้งสองส่วน ระหว่างนั้นต้องพยายามที่จะจดจำใจความสำคัญไปในตัวและต้องระวังไม่ได้อุปกรณ์ไปขวางเพื่อนๆนักข่าว ที่ต้องทำงานร่วมกัน
“ผมมองว่าความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชน ในมุมมอง คือการร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ แต่ไม่คุกคามหรือทำให้เสรีภาพบุคคลอื่นได้รับผลกระทบจากการรายงานหรือทำข่าวของสื่อมวลชน
(รับชมคลิปของ นายคณพศ คลิก)
ส่วน นายนพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยี-พิธีกร จากสปริงนิวส์ เปิดเผยว่า วันที่อัดคลิป เป็นวันที่ไปถ่ายสกู๊ปสัมภาษณ์พิเศษ นักการเมืองรุ่นใหม่ รายการ SpringVote ซึ่งกว่าจะสัมภาษณ์เพื่อให้ได้คอนเทนต์สกู๊ปแล้ว ความยากกว่าจะได้ภาพดี ๆ ยากกว่า ไม่ว่างานเราจะมีคนดูหรือไม่ แต่ทุกงานที่ออกไปต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานของเราและองค์กร ดังนั้นทุกงานต้องทุ่มเท 100%
การทำงานกันเป็นทีมก็เป็นเรื่องสำคัญ สังเกตจากตั้งแต่ลงพื้นที่ ทำงานกับทีมโปรดักชั่น ทำงานกับทีมตัดต่อ การสั่งงานและส่งต่อให้ชัดเจนก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการสื่อสารคืองานของเรา
ภายในคลิปเป็นการแสดงทั้งความยากลำบาก ความสนุก ความทรหดของงานนักข่าว กระบวนการและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ งานที่สามารถตัดสินความเป็นความตายของใครก็ตามในสังคม รวมถึงมีส่วนสร้างสรรค์สังคมด้วย ดังนั้นการมีจรรยาบรรในวิชาชีพจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน จึงพยายามนำเสนอลงมาในคลิปนี้ด้วย
“เสรีภาพของสื่อถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสื่อคือผู้ส่องทางนำสังคม , กระบอกเสียงของประชาชนและกระจกสะท้อนสังคม ดังนั้นหากไม่มีเสรีภาพเราจะนำทางและพัฒนาสังคมได้อย่างไร แม้ทุกวันนี้ทุกคนจะสามารถเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ได้ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมเช่นเดียวกัน” นายนพฤทธิ์ กล่าว
รับชม คลิปของนายนพฤทธิ์ คลิก
อ่านรายละเอียดทุกผลรางวัลการประกวดจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ที่นี่ คลิก