posttoday

'คณะวิทย์ มธ.' ห่วงหนี้คนไทยพุ่ง ต้นเหตุจาก 'การพนัน'

03 เมษายน 2566

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธรรมศาสตร์ ห่วงสถานการณ์ 'หนี้คนไทย' ที่มีสาเหตุจาก 'การพนัน' ชี้จะลามสู่การเป็นหนี้นอกระบบ เปิดงานวิจัย ชี้โอกาสถูกรางวัลหรือเป็นผู้ชนะน้อยนิด วอนรัฐลดการโปรโมท ลดแรงกระตุ้นเข้าถึงการพนัน พร้อมให้ความรู้เท่าทันภัยจากการพนันมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.วราฤทธิ์ พานิชกิจโกศลกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล และอาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า 'ภาวะหนี้' เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความอ่อนไหวต่อระบบเศรษฐกิจไทย และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะ 'หนี้นอกระบบ' ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มนักเล่น 'การพนัน' อาทิ ลอตเตอรี่ หวยใต้ดิน พนันฟุตบอล หรือพนันออนไลน์ ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมให้สามารถเข้าถึงการพนันรูปแบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น  ที่ผ่านมา คณะวิทย์ฯ มธ. มีงานวิจัยเรื่อง 'ผลตอบแทนที่คาดจะได้รับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากเลขท้าย' ที่สะท้อนผลลัพธ์โอกาสหรือความเป็นไปได้ของการเล่นการพนันรูปแบบต่าง ๆ คือ โอกาสเสียมีมากกว่าได้

 

ส่วนหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าว ได้เปิดเผยถึง โอกาสโชคดีที่จะถูกรางวัลแจ็กพอต หรือเป็น 'วินเนอร์' ที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ยกตัวอย่างการออกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว ซึ่งมีโอกาสเพียง 1 ใน 100 ที่ต้องซื้อเลขเดียวกันต่อเนื่องอย่างน้อย 100 งวด เพื่อให้มีโอกาสถูกรางวัลเฉลี่ย 1 ครั้ง หรือต้องใช้เวลาประมาณ 4 ปี 2 เดือน จึงจะถูกมีโอกาสถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 1 ครั้ง และโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะถูกรางวัลที่ 1 ซึ่งมีโอกาสเพียง 1 ในล้าน

 

'คณะวิทย์ มธ.' ห่วงหนี้คนไทยพุ่ง ต้นเหตุจาก 'การพนัน'

นอกจากนี้  งานวิจัยดังกล่าวยังได้แสดงผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เปรียบเทียบระหว่าง 'หวยบนดิน' และ 'ลอตเตอรี' ว่ามีโอกาสขาดทุนมากน้อยเพียงใด ซึ่งพบว่าโดยเฉลี่ยจะมีโอกาสขาดทุนในทุกเกม อยู่ที่ประมาณ 35-70% ของเกมที่เล่น ซึ่งกรณีที่ซื้อ 'ลอตเตอรี' มีเปอร์เซนต์ขาดทุนประมาณ 40% ของทุกเกม หากเลขท้าย 2 ตัว มีเปอร์เซนต์ขาดทุนประมาณ 35% และประเภทที่มีเปอร์เซนต์ขาดทุนมากที่สุด คือ การเล่น 3 ตัวโต๊ด ที่มีเปอร์เซนต์ขาดทุนสูงถึง 70% ขณะที่ ผู้เล่นที่ใช้เทคนิคการซื้อกวาดซื้อกระจายเพื่อเพิ่มโอกาส ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสถูกรางวัลมากขึ้นนั้น เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงบางส่วน เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนการเล่น กับเงินที่ต้องจ่ายก็มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเทียบกับเงินรางวัลที่มีโอกาสได้ จึงไม่ใช้วิธีการที่คุ้มค่าตามความเชื่อของผู้เล่น

'คณะวิทย์ มธ.' ห่วงหนี้คนไทยพุ่ง ต้นเหตุจาก 'การพนัน'

สิ่งที่น่าเป็นห่วงจากสถานการณ์หนี้คนไทยที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการพนันในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีที่เพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงการซื้อสลากออนไลน์ การเล่นเกมพนันต่าง ๆ ทั้งจากเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงด้วยกระบวนที่เข้าใจง่าย มีวิธีการสื่อสารที่ดึงดูด และบางแห่งมีวงเงินพร้อมใช้สำหรับกู้ยืมโดยใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว ที่เพิ่มปัจจัยการเป็นหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในจำนวนนี้เชื่อมโยงกับปัญหา 'หนี้นอกระบบ' ซึ่งยิ่งทำให้วงจรการเป็นหนี้ขยายวงกว้างและยาวนานออกไปอีก อีกทั้งสถานการณ์ที่เปราะบางกับกลุ่ม 'เยาวชน' ที่อาจเข้ามาสู่วงจรการพนันและการเป็นหนี้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  โดย คณะวิทย์ฯ มธ. มีข้อเสนอแนะว่าควรลดความถี่ในการโปรโมทการเข้าถึงการพนันทุกรูปแบบ แม้ว่าจะเป็นการออกรางวัลที่ถูกกฎหมายก็ตาม เนื่องจากหากมองพฤติกรรมของผู้เล่นในปัจจุบัน ที่มีกระแสความนิยมในสังคมไทยอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องมีการโปรโมทเพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างภาพจำว่า การพนันหรือการวัดดวงเป็นเรื่องปกติของสังคม โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวบุคคลถูกรางวัลใหญ่ของแต่ละงวด

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ศึกษาสถานการณ์และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปี 2564 พบว่า คนไทยเล่นการพนันร้อยละ 59.6 หรือประมาณ 32.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 1.9 ล้านคนเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 จำนวนนี้เป็นผู้ที่เล่นพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือเรียกว่า "นักพนันหน้าใหม่" เกือบ 8 แสนคน ที่น่ากังวลคือ ร้อยละ 29.5 ของประชากรเด็ก อายุ 15-18 ปี ที่เล่นการพนัน มีวงเงินหมุนเวียนรวม 29,155 ล้านบาท และร้อยละ 54.6 ของเยาวชน อายุ 19-25 ปี ที่เล่นการพนัน มีวงเงินหมุนเวียนรวม 93,321 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น และวงเงินพนันหมุนเวียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยการพนันที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' และ 'หวยใต้ดิน'

'คณะวิทย์ มธ.' ห่วงหนี้คนไทยพุ่ง ต้นเหตุจาก 'การพนัน'

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่า คนไทยเป็นหนี้สูงถึง 37% หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรไทย หรือราว 25 ล้านคน ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยประมาณ 57% ของผู้ที่มีหนี้ จะมีหนี้สินตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป และกลุ่มผู้ที่มีหนี้ตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป มีถึง 14% โดยสามารถแยกหนี้ตามประเภทต่าง ๆ สูงสุด 3 อันดับแรก คือ

 

1.        สินเชื่อส่วนบุคคล    39%

 

2.        บัตรเครดิต    29%

 

3.        การเกษตร   12%

 

โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย มีรายงานว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2564 ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ทำให้หนี้ครัวเรือนไทย พุ่งสูงถึง 90.1% ก่อนจะปรับลดลงมาในไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ระดับ 86.8%

สำหรับหนี้นอกระบบ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ พบว่า 42% ของกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,600 ครัวเรือนจากทุกภูมิภาคของไทย มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยรายหัวอยู่ที่ คนละ 54,300 บาท ซึ่ง 'การพนัน' เป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของการเป็นหนี้นอกระบบ

'คณะวิทย์ มธ.' ห่วงหนี้คนไทยพุ่ง ต้นเหตุจาก 'การพนัน'