posttoday

เปิดใจอดีต บอร์ดของ FIFA ”วรวีร์ มะกูดี“ ผมพร้อมกลับมาเพื่อชาติ

05 พฤศจิกายน 2565

นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดใจ ยินดีผลักดันคนรุ่นใหม่ แต่พร้อมกลับมาเพื่อชาติในฐานะนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอีกสมัยห เผยประสบการณ์พัฒนาวงการฟุตบอลของไทยและเอเซีย จนเป็นคนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้นั่งเก้าอี้บอร์ดฟีฟ่า

          ฟุตบอลโลกกับคนไทยอาจเป็นเรื่องไกลตัว ในการเข้าไปอยู่ในทีมบอร์ดบริหารผู้มีสิทธิ์ออกเสียงโหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกและมีส่วนในการร่วมออกแบบพัฒนาวงการฟุตบอลในระดับนานาชาติ แต่ในอดีตที่ผ่านมาเราเคยมีคนไทยเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของฟีฟ่า นั่นคือนายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

          นายวรวีร์เข้าไปทำหน้าที่ในบอร์ดฟีฟ่าตั้งแต่ปี 1997 - 2015 รวมระยะเวลา 17 ปีที่ทำหน้าที่ดังกล่าว แม้ปัจจุบันจะหมดวาระไปแล้ว แต่เขายังได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ สามารถเดินทางไปชมเกมฟุตบอลโลกและร่วมกิจกรรมตามที่ฟีฟ่าเชิญได้ทุกครั้ง เจ้าตัวเปิดใจถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าไปเป็น 1 ใน Member of the executive commettee of FiFA ว่าจุดเริ่มต้นมาจากตรงไหน เมื่อเข้าไปแล้วเขามีสิทธิ์อะไรบ้างในการกลับมาพัฒนาฟุตบอลไทย รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียน

เปิดใจอดีต บอร์ดของ FIFA ”วรวีร์ มะกูดี“ ผมพร้อมกลับมาเพื่อชาติ

          ช่วงบ่ายคล้อยต้นเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ทีมงานเดินทางไปบ้านของนายวรวีร์ มะกูดี แถวหนองจอก เพื่อพูดคุยประเด็นต่างๆเกี่ยวกับฟุตบอลโลกฉบับตะวันออกกลาง และการเข้าไปเป็น 1 ในบอร์ดฟีฟ่า ซึ่งนายวรวีร์ คือคนไทยคนเดียวที่เคยได้เข้าไปยืนตรงจุดนั้น

          อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลไทย ในวัย 70 ย่าง 71 ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง พูดคุยอย่างเป็นกันเอง

          "ผมยังมีอะไรให้ทำทุกวัน แม้จะไม่ได้บริหารสมาคมฟุตบอลแล้ว แต่ก็ยังทำงานตลอด รวมถึงออกกำลังกายเตะฟุตบอลตามแต่เวลาที่มี"

เปิดใจอดีต บอร์ดของ FIFA ”วรวีร์ มะกูดี“ ผมพร้อมกลับมาเพื่อชาติ

เตรียมการก่อนเข้าไปเป็นบอร์ดฟีฟ่า

          ประเทศไทยคือประเทศเล็กๆบนเวทีฟุตบอลนานาชาติ ผลงานการเข้ารอบสุดท้ายในฟุตบอลโลก ทั้งชุดเล็ก หรือ ชุดใหญ่คือศูนย์ ! ยิ่งในระดับเอเชีย ทีมฟุตบอลไทยทำได้ดีที่สุดคือคืออันดับ 4 ในฟุตบอลเอเชียน เกมส์ แค่ 2 ครั้ง (หลังจากนั้นปี 2014 ไทยก็ได้ที่ 4 เอเชียนเกมส์)

          นายวรวีร์ บอกกว่าการเข้าไปเป็นบอร์ดของฟีฟ่า มันมีที่มาที่ไปหลายขั้นตอน แต่ทุกอย่างเริ่มจากเขาที่เตรียมการมาจากประเทศไทยและเพื่อสมาชิกอีก 2 ประเทศอย่าง มาเซีย อินโดนิเซีย ที่รวมกันเป็นสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน Asian Football Federation (AFF)  นั่นเอง

          "ตำแหน่งที่เรียกอย่างถูกต้องก็คือ Member of the executive commettee of FiFa ปกติเขาจะเรียกสั้นๆว่า Fifa Member of Exco นะครับ" นายวรวีร์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเป็น Fifa Member

          "ขอย้อนกลับไป ช่วงปี 1996 ตอนนั้นผมยังเป็นเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอล มีความคิดว่าประเทศไทยไม่มีบทบาทในระดับนานาชาติเลย เลยคิดว่าอยากจะรวมอาเซียนก่อน ตอนนั้นมีไทย มาเลเซีย อินโดนิเซียเป็นกำลังหลัก คุยกัน 3 คน 3 ชาติที่ว่า จนเป็นที่มาของการจัดตั้งสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน Asian Football Federation (AFF) "

          "เมื่อก่อน AFF ยังไม่มีทัวร์นาเมนต์อะไร พอเรารวมกันได้จากนั้นฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ แต่ตอนนั้น ลาว กัมพูชา พม่า ยังไม่เข้ามา เพราะเขามีปัญหาภายในประเทศ"

          "ที่เราพูดนี่คือเมื่อ 30 กว่าปีก่อนนะ ผมเลยบอกไปว่าถ้างั้น เราเอา ลาว กัมพูชา พม่า เข้ามาด้วยเลย แม้เขาขังไม่ได้เข้าร่วมกับ AFF แต่ชาติเหล่านี้คือประเทศในอาเซียน เป็นสมาชิกของ Asian Football confederation (AFC) อยู่แล้วเพราะฉะนั้นพวกเขาก็มีเสียงโหวตในเวทีใหญ่ๆ"

เปิดใจอดีต บอร์ดของ FIFA ”วรวีร์ มะกูดี“ ผมพร้อมกลับมาเพื่อชาติ

ต้นกำเนิด ฟุตบอล AFF Cup

          "ตอนนั้นพอรวมกันแล้วเรายังไม่มีกิจกรรมอะไร  เลยคิดกันว่าจะจัดการแข่งขันเพื่อหาสิทธิประโยชน์รายได้เข้าสหพันธ์ (AFF) คุยกันไปมาหลายครั้ง ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งก็มาที่้บ้านเรา เพราะสหพันธ์ฯ ยังไม่มีรายได้ เราจึงรับหน้าที่ดูแล"

          "สุดท้ายตกผลึกและประมูลให้มีผู้สนับสนุนเข้ามา ได้ AFC Marketing (ช่วงหลังเปลี่ยนเป็น World Sport group) ที่ประมูลได้ จนกลายเป็น อาเซียน ฟุตบอล แชมเปี้ยนชิพ ที่แข่งในปัจจุบันนี้ ช่วงแรกที่คุ้นกันในชื่อของ ไทเกอร์ คัพ ไล่มาเป็นซูซูกิ คัพ และล่าสุดคือมิตซูบิชิ คัพ ซึ่งก็เปลี่ยนชื่อไปตามผู้สนับสนุน"

          "เราพูดได้เต็มปากเลยว่าฟุตบอลรายการนี้ จุดเริ่มต้นก็มาจากประเทศไทย ผมก็พูดเต็มปากเหมือนกันว่าคือกลไกให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา"

เปิดใจอดีต บอร์ดของ FIFA ”วรวีร์ มะกูดี“ ผมพร้อมกลับมาเพื่อชาติ

การรวม AFF ทำไมถึงขยายจนเข้าไปในบอร์ดของ Fifa ได้

          "พอเรามีเสียงเป็นปึกแผ่นแล้วตอนนั้นมีอยู่ 10 เสียง  เวลาไปเลือกตั้งผู้บริหารของ  Asian Football confederation (AFC) เราก็ใช้ตรงนี้ไปต่อรองกับภูมิภาคอื่น ทั้งเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง หรือเอเชียตะวันออก ภูมิภาคเหล่านี้ต่างก็ อยากร่วมกันเรา เพราะเสียงของพวกเราก็ปาเข้าเกือบครึ่งหนึ่งของการโหวตแล้ว จุดนี้คือจุดแข็งที่ประเทศเหล่านี้อยากคบหาและร่วมมือกับเรา เพราะลงเมื่อไหร่ก็ชนะเมื่อนั้น" นายวรวีร์เสริมต่อ

          "มันก็โยงกลับมาประเด็นที่คุณถามผมว่าเข้าไปใน Fifa ได้อย่างไร ... มันเป็นจังหวะพอดีเลยนะครับ ตอนเราจัด AFF Cup ปี 1996 พอปีถัดมา 1997 ฟีฟ่าเพิ่มตำแหน่งช่วงนั้นพอดีเหตุเพราะมีชาติสมาชิกเพิ่ม ทำให้เอเชียได้เพิ่้มมา 1 โควต้า จากปกติที่มีอยู่แล้ว 3 "

          "ซึ่งพอดีกับที่เรารวบรวมสมาชิกได้แข็งแกร่งแล้ว ผมเลยเสนอตัวไปว่าหากเพิ่มเอเชีย 1 ที่ ผมในฐานะตัวแทนจากชาติอาเซียน (Asian) ขอนะ ตอนนั้นที่มีอยู่ 3 ทีมคือ ซาอุดิฯ กาตาร์ และเกาหลี เราก็ขออีกที่ที่เพิ่มมา ซึ่งชาติๆอื่นที่เป็นสมาชิกเขาก็อยากให้เราเข้าไป เพราะมันจะมีสิทธิประโยชน์ที่เขาจะได้รับหากเราเข้าไป เพราะเวลาประเทศเหล่านี้เดินมาทางมาเก็บตัวฝึกซ้อมที่บ้านเรา สมาคมฟุตบอลไทยสมัยนั้นก็ดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี เขาจึงสนับสนุนให้ผมเข้าไป"

          "แต่ผมก็เจอคู่แข่งนะ ซึ่งเป็นประธานฟุตบอลเจลีก แต่ที่สุดแล้วผมก็ชนะและได้เข้าไปเป็น Fifa Member "

เปิดใจอดีต บอร์ดของ FIFA ”วรวีร์ มะกูดี“ ผมพร้อมกลับมาเพื่อชาติ

ภูมิใจพาเด็กไทยไปดูบอลโลกติดขอบสนาม

          หลังจากนั้นนายวรวีร์ก็ได้รับเลือกเข้าไปเป็น Member of the executive commettee of FiFa  อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1997 - 2015  ระหว่างที่นายวรวีร์เข้าไปเป็น  Member of the executive commettee of FiFa เขายังดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยอยู่ จนกระทั่งปี 2007 นายวรวีร์ได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแทนที่ของนายวิจิตร เกตุแก้ว

          พูดง่ายๆว่า "บังยี" เข้าไปเป็น 1 ในคณะกรรมการที่มีสิทธิ์มีเสียงขององค์กรระดับนานาชาติอย่าง ฟีฟ่า ก่อนขึ้นมาเป็นประมุขบอลไทยเสียอีก

          "ตอนเข้าไปเป็นบอร์ดของฟีฟ่ามันก็เกิดการพัฒนาต่างๆนาๆนะ อย่างตอนปี 1997 ที่ทีมไทยรุ่น U 19 ได้เข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ อิยิปต์ ตอนนั้นผมเป็นFiFa Member ครั้งแรก" อดีตประมุขบอลไทยย้อนความ

          "ต่อมาปี 1998 ฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะฟีฟ่าที่เมือง น็องต์ส (Nantes) ดูแลประสานงานความเรียบร้อยทุกอย่าง ช่วงที่เป็นกรรมการบริหารฟีฟ่า เป็นหัวหน้าคณะดูแลสนามในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้งปี 1998,2002,2006 และ 2010  ผมประทับใจฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้มากที่สุด"

          "ปีนั้นผมเป็นนายกสมาคมฟุตบอล มีความคิดอยากจะพาเด็กไทยของเราไปดูฟุตบอลโลกติดขอบสนาม เลยคิดโครงการให้เด็กคนไหนที่อยากไปเขียนบทความบรรยายถึงฟุตบอลโลกและความรักในเกมฟุตบอลของพวกเขามา สุดท้ายได้เด็กมา 11 คน ผมก็ออกค่าใช้จ่ายให้พวกเขาทั้งหมดเดินทางจากไทย มาดูฟุตบอลโลกในนัดเปิดสนามที่ แอฟริกาใต้"

          "ผมเห็นแววตา รอยยิ้มของพวกเขาคือมีความสุขมากๆ นั่นคืออีกความประทับใจในช่วงที่เราทำงานกับฟีฟ่าและได้พาเด็กๆของเราไปดูฟุตบอลโลก"

          ส่วนอีกภารกิจช่วงที่นายวรวีเป็น Member of the executive commettee of FiFa คือการนำทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติมาจัดในไทยนั่นคือ ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 19 และ ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ซึ่งรายการหลังคือรายการที่อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลไทยภูมิใจมากที่สุด เพราะไทยได้สนามบางกอก อารีน่า ทิ้งไว้ใช้งานหลังจากจัดทัวร์นาเมนต์นั้นนั่นเอง !

เปิดใจอดีต บอร์ดของ FIFA ”วรวีร์ มะกูดี“ ผมพร้อมกลับมาเพื่อชาติ

"ผมไม่ได้ต้องการกลับไป แต่หากไม่มีใครเหมาะสมผมก็พร้อมทำเพื่อชาติ" : วรวีร์ มะกูดี

          ปัจจุบัน นายวรวีร์ ยังไม่ทิ้งฟุตบอลที่เขารัก แม้จะไม่ได้บริหารสมาคมกีฬาฟุตบอลเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่เวลานี้เขาเป็นประธานบริหารทีม นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี

          ต่อข้อถามถึงโอกาสที่จะกลับมาชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลในสมัยหน้าหรือไม่ นายวรวีร์เผยว่า เขาอยากให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่มากกว่า แต่หากสโมสรสมาชิกยังเห็นว่าเขาเหมาะสมกับตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลเขาก็พร้อมที่จะรับตำแหน่งนี้อีกครั้ง

          "ถ้าถามตอนนี้ สมาคมปัจจุบันพยายามออกกฎเกณฑ์ไม่ให้ผมเข้าไปยุ่งเกี่ยว อันนี้ขออนุญาตพูดพาดพิงนะครับเพราะเป็นแบบนั้นจริงๆ" วรวีร์เสริมต่อ

          "แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย สำหรับผมเองถ้าเพื่อชาติเรายินดีที่จะทำให้อยู่แล้ว ยินดีทำเพื่อชาติ แต่ก็ต้องมีทีมและมีความคิดไปทางเดียวกัน มันก็เหมือนที่ผมบอกไปว่าเราต้องมีคณะสรรหา จาก 3 ลีกตั้งมาเพื่อสรรหา และถามสมาชิกว่าคนที่ถูกเสนอชื่อมาเหมาะสมไหม"

          "ผมเองยินดีที่จะสนับสนุนคนใหม่ๆขึ้นมา แต่ถ้ายังไม่มีใครและอยากให้เราไปช่วยก็ยินดีที่จะเสียสละเวลาเพื่อทำงานให้ทีมฟุตบอลชาติไทยเรา"

          "แต่ตรงนี้ผมไม่อยากพูดไปมาก เพราะพูดไปก็เหมือนเราอยากกลับไป ซึ่งความจริงแล้วเฉยๆมาก แต่หลายๆเสียงก็พูดมาว่า ช่วงที่เราทำมันเจริญก้าวหน้านะ แต่ตอนนี้มันมีแต่ตกต่ำไปเรื่อยๆ"

          "บางอย่างตอนนี้ผมคิดว่ามันควรจะทำได้ดีกว่าสมัยพี่ด้วยซ้ำไป เพราะรายได้สิทธิประโยชน์ที่เข้ามามันเยอะมาก มันสามารถทำอะไรได้มากมายจริง"

          วรวีร์ยืนยันว่าเขาไม่ยึดติดกับตำแหน่งและพร้อมจะเปิดทางให้คนรุ่นใหม่มาเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลด้วย เพราะเป้าหมายของทีมชาติไทย คือขยับตัวเองขึ้นมาเป็นเบอร์ต้นๆของเอเชีย และไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งตรงนี้ยังไม่เกิด

          แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในยุคขอลงนายวรวีร์มะกูดี คือสร้างฟุตบอลลีกในประเทศให้แข็งจนเกิดการสร้างนักฟุตบอลอาชีพ สร้างรายได้ครอบคลุมทั้งองคาพยพ ไม่ว่าจะนักฟุตบอล โค้ช เจ้าหน้าที่สนามฟุตบอล พ่อค้า แม่ค้า เจ้าของผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้า พวกเขาเหล่านี้ได้ประโยชน์และมีรายได้จากเกมฟุตบอลทั้งสิ้น