posttoday

8พ.ย.คืนลอยกระทงชม ปรากฎการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง”

29 ตุลาคม 2565

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดหอดูดาว 4แห่ง เตรียมชมปรากฎการณ์“จันทรุปราคาเต็มดวง”คืนวันลอยกระทง 8 พ.ย.นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ตั้งแต่เวลาประมาณ 15:02 - 20:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถสังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้ 

 

ประเทศไทย ตรงกับคืนเดือนเพ็ญ และเป็นวันลอยกระทงของปีนี้ด้วย ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17:44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:44 น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19:49 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือช่วงขึ้น 14 - 15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก

คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันลอยกระทง พบกันได้ที่จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ 

อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาว

หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา

หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

 
สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรมในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ สดร. ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่ง ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย ตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022

เครดิตภาพ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ