posttoday

รวมพลังสามัคคีสู้โควิด-19 เปิดใจผญบ.รับมืออย่างไรเมื่อพื้นที่ถูกปิด14วัน

29 เมษายน 2563

เปิดใจผู้ใหญ่บ้าน ผู้อยู่เบื้องหลัง หมู่บ้านท่าอ่างโคราช ต้นแบบความสามัคคี ต่อสู้ไวรัสโควิด-19 จนผ่านพ้นวิกฤตระบาด

ที่หมู่บ้านท่าอ่าง หมู่ที่ 3 ต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ถือว่าเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่มีความร่วมมือหลายภาคส่วน จนสามารถผ่านพ้นวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 มาได้อย่างดีเยี่ยม หลังจากที่ก่อนหน้านั้น มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านแห่งนี้ 4 ราย สร้างความแตกตื่นให้กับคนในพื้นที่ กระทั่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ต้องมีคำสั่งปิดหมู่บ้านท่าอ่างเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ถึงวันที่ 13 เมษายน 2563 เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อออกมาสู่ภายนอก

รวมพลังสามัคคีสู้โควิด-19 เปิดใจผญบ.รับมืออย่างไรเมื่อพื้นที่ถูกปิด14วัน

นายธนพล ปลอดกระโทก ผู้ใหญ่บ้านท่าอ่าง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้นทางจังหวัด ได้ประกาศให้เฝ้าระวังดูกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผีน้อย ซึ่งเดินทางมาจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ แต่หลังจากที่กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศชัตดาวน์สถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ก็ทำให้มีชาวบ้านที่ไปทำงานอยู่กรุงเทพมหานคร เดินทางกลับมาในหมู่บ้านท่าอ่าง หนึ่งในนั้นก็มีติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้กักตัวเองอยู่ในบ้าน แต่ได้แพร่เชื้อให้กับลูกสาววัย 1 ขวบเศษ ส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนใกล้ชิดอีก รวมเป็น 4 ราย ทำให้ช่วงแรกก็เครียดมาก เพราะแถบนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่หลายแห่ง ที่มีพนักงานทำงานอยู่กว่า 2,000 คน ซึ่งทางโรงงานเหล่านั้นก็โทรศัพท์มาสอบถามแต่ตนเองก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีกลุ่มเสี่ยงอยู่เท่าไหร่

รวมพลังสามัคคีสู้โควิด-19 เปิดใจผญบ.รับมืออย่างไรเมื่อพื้นที่ถูกปิด14วัน

ดังนั้นจึงได้ขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝ่ายสอบสวนโรค เพื่อที่จะแยกกลุ่มเสี่ยงออกมา ซึ่งหมู่บ้านท่าอ่างนี้ มีทั้งหมดกว่า 400 หลังคาเรือน ก็พบว่ามีกลุ่มเสี่ยงอยู่กว่า 200 คน ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน 65 หลังคาเรือน จึงได้มีการประชุมระหว่าง นายอำเภอโชคชัย, อบต.ท่าอ่าง, รพ.สต.ท่าอ่าง, กำนัน ต.ท่าอ่าง เพื่อหารือแนวทางในการแก้ปัญหา หลังจากนั้นได้ส่งรายงานไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ รับทราบ ซึ่งที่ประชุมโรคติดต่อระดับจังหวัด ก็ได้มีมติให้ปิดหมู่บ้านท่าอ่าง เฉพาะโซนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้เคียงกัน 65 หลังคาเรือน เป็นระยะเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2563 เพื่อกักตัวให้คนเหล่านั้นอยู่แต่ภายในบ้าน และนำกลุ่มเสี่ยง 10 คน ไปกักตัวที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นเวลา 14 วัน

รวมพลังสามัคคีสู้โควิด-19 เปิดใจผญบ.รับมืออย่างไรเมื่อพื้นที่ถูกปิด14วัน

การปิดหมู่บ้านนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหลายคนก็มีหน้าที่การงาน บางคนทำงานอยู่ในโรงงานก็ต้องถูกให้หยุดงานเป็นการชั่วคราวก่อน บางคนเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู ก็ต้องหาคนมาช่วยเลี้ยง และมีร้านค้าอยู่ในละแวกดังกล่าว ก็ต้องขอความร่วมมือปิดร้านไว้ก่อน ซึ่งก็สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกบ้านที่ถูกกักตัวเป็นอย่างมาก แต่ทุกคนก็พร้อมใจที่จะให้ความร่วมมือ เพราะเห็นแก่ส่วนรวม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ก็เดินทางมาให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ก็ประกาศบอกกับลูกบ้านว่า ในช่วง 14 วันนี้เราจะร่วมทุกร่วมสุขไปด้วยกัน โดยเอาตำแหน่งเป็นเดิมพัน หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น พร้อมจะลาออกจากผู้ใหญ่บ้านเลย หลังจากปิดหมู่บ้าน เราก็ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทหาร อบต., รพ.สต. และที่สำคัญคือ อสม. ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ โดยในหมู่บ้านท่าอ่างนี้ มี อสม.อยู่ทั้งหมด 33 คน แต่บางคนก็ต้องกักตัวเองด้วย จึงเหลืออยู่ประมาณ 25 คน ทุกคนก็พยายามช่วยเหลือเต็มที่ แต่ละวันก็จะเป็นด่านห้าลงไปวัดไข้ชาวบ้านที่กักตัวเอง เพื่อนำมารายงานผล ส่วนตนเองก็ได้ประสานกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านใกล้เคียงอีก เพื่อมาช่วยเหลืออีกแรงหนึ่งด้วย

รวมพลังสามัคคีสู้โควิด-19 เปิดใจผญบ.รับมืออย่างไรเมื่อพื้นที่ถูกปิด14วัน

ส่วนการจัดมาตรการช่วยเหลือด้านอาหาร ก็ได้ความร่วมมือจากกองทัพภาคที่ 2 นำโรงครัวมาทำอาหารให้ชาวบ้านทั้ง 3 มื้อ และให้แต่ละครอบครัวส่งตัวแทนมารับอาหาร ครอบครัวละ 1 คน ตลอด 3 มื้อ ซึ่งก็ต้องมีการจัดระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มแออัด โดยแบ่งเป็น 5 จุด สำหรับแจกอาหาร จุดแรก มี 3 ครัวเรือน จุดที่ 2 มี 14 ครัวเรือน จุดที่ 3 มี 16 ครัวเรือน จุดที่ 4 มี 14 ครัวเรือน และจุดที่ 5 มี 10 ครัวเรือน โดยนำอาหารไปวางไว้ในระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 2 เมตร และแยกเป็นกลุ่มเป็นตอน เพื่อไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญตนเองต้องลงไปพบปะลูกบ้านทุกเย็น เพื่อให้กำลังใจชาวบ้านด้วย

รวมพลังสามัคคีสู้โควิด-19 เปิดใจผญบ.รับมืออย่างไรเมื่อพื้นที่ถูกปิด14วัน

ด้านนางสมจิต เนื่องกระโทก อายุ 50 ปี หนึ่งใน อสม.ที่ปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ เปิดเผยว่า สำหรับชีวิตการเป็น อสม.ของตนนั้น ครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุด ก่อนหน้านั้นมีเพียงเรื่องการระบาดของโรคไข้เลือดออกเท่านั้น แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ เป็นเรื่องใหม่มาก เพราะไม่แสดงอาการ และยังไม่มียารักษา ทำให้เกิดความเครียดมาก ช่วงแรกจึงต้องระมัดระวังตัวกันอย่างเต็มที่ โดยวางแผนกันไว้ว่า ในส่วนของ อสม.ที่กักตัวอยู่ภายในหมู่บ้าน 6-7 คน ก็ให้ช่วยเฝ้าดูอาการกันและแจ้งให้ อสม.ที่อยู่ข้างนอกทราบ เพื่อที่จะได้สนับสนุนการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ข้างนอก โดยตนเองและเพื่อ อสม.ก็จะรับผิดชอบผู้กักตัวคนละ 2-3 ครอบครัว เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง ซึ่งช่วงแรกชาวบ้านที่ถูกกักตัวก็รู้สึกกังวล บางคนที่มีเงินเก็บก็ไม่เท่าไหร่ แต่สำหรับบางครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเก็บก็จะรู้สึกกังวลใจมาก จึงต้องให้กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปทำความเข้าใจว่าจะช่วยเหลือความเดือดร้อน มีอาหารให้รับประทานฟรี 3 มื้อ จึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยแต่ละคนก็จะอยู่แต่ภายในบ้าน ทาง อสม.ก็จะแนะนำให้ออกกำลังกายทุกเช้า มีการวัดอุณหภูมิ และทำบันทึกประจำวัน เพื่อรายงานให้จังหวัดทราบตลอด จนกระทั่งครบ 14 วัน ทุกคนก็รู้สึกโล่งใจ เพราะไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มอีกเลย จึงได้มีการเปิดหมู่บ้าน แต่ก็ยังต้องมีการวัดไข้ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงไปอีก 14 วัน เพื่อให้มั่นใจอีกครั้ง รู้สึกภูมิใจมาก ที่ได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาชาติ ว่า อสม.ของไทย คือหัวใจสำคัญที่ทำให้การควบคุมไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพดีที่สุด แม้ว่า อสม.จะได้รับเงินเดือนเพียง 1,000 บาท แต่ก็จะมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่

รวมพลังสามัคคีสู้โควิด-19 เปิดใจผญบ.รับมืออย่างไรเมื่อพื้นที่ถูกปิด14วัน

ด้านนางปลอบใจ สุขประภาวัฒน์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 บ้านท่าอ่าง หมู่ที่ 3 ต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา หนึ่งในผู้ที่ถูกกักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน ช่วงปิดหมู่บ้าน เปิดเผยว่า บ้านของตนเองนั้น เปิดเป็นร้านขายของชำ ซึ่งจะมีขายทั้งอาหารสด และอาหารแห้ง หลายรายการ โดยแต่ละวันจะมีลูกค้าที่เป็นพนักงานโรงงานต่างๆ แวะมาอุดหนุนคึกคัก มีรายได้วันละหลายพันบาท แต่ภายหลังจากที่ปิดหมู่บ้าน และบ้านของตนถูกกักตัวก็ทำให้อาหารสดที่แช่ไว้ในถังน้ำแข็ง ต้องเน่าเสียหายไปทั้งหมด คิดเป็นมูลค่านับหมื่นบาท หลังจากนั้นก็ไม่มีลูกค้าแวะเวียนมาหาอีกเลย กระทั่งเปิดหมู่บ้านแล้ว ก็ไม่มีลูกค้าจากหมู่บ้านอื่นแวะมาเลย นอกจากคนในหมู่บ้านเดียวกันที่แวะมาช่วยซื้อของกันเอง ตอนนี้ก็ยังถือว่าได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่ถึงจะเดือดร้อนอย่างไรก็ตาม เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ตนเองก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนรวม ทุกคนเดือดร้อนกันทั่วหน้า หากเราไม่ให้ความสามัคคีกัน จะไม่สามารถผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้แน่นอน.