posttoday

“วีระวิทย์ เหล่าสันติพลวุฒิ” อาตี๋เร่ร่อนที่พลิกตัวเองสู่ ‘เฮีย’ แห่งวงการนักแสดง

09 มกราคม 2563

จากเรื่องตลกๆ ในชีวิตจริงถูกนำมาใช้กับบทบาทการแสดง อดีตเด็กเร่ร่อนจากเยาวราช รับจ้างทำงานเดินเอกสารสำนักข่าวจีน สู้ชีวิตจนก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงนับร้อยๆ เรื่อง

จากเรื่องตลกๆ ในชีวิตจริงถูกนำมาใช้กับบทบาทการแสดง อดีตเด็กเร่ร่อนจากเยาวราช รับจ้างทำงานเดินเอกสารสำนักข่าวจีน สู้ชีวิตจนก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงนับร้อยๆ เรื่อง

**************************************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

โดยส่วนใหญ่จะรับบท 'เฮีย' ทั้งๆ ที่ไม่ได้รวยระดับพันล้าน หรือ ใหญ่คับฟ้าบารมีล้นเหลือ แต่ “วีระวิทย์ เหล่าสันติพลวุฒิ” เฮียคนนี้เป็นที่เคารพได้เพราะเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม

ยิ่งเฉพาะในปี พ.ศ. 2548 พ่อค้านักธุรกิจและนักแสดงตัวประกอบก้าวขึ้นเป็นนักแสดงหลัก ในบท ‘เฮียตง’ กับภาพยนตร์เรื่อง ‘จี้’ ทำให้หลังจากนั้นคนดูไม่น้อยยกรางวัลตุ๊กตาใจในบทบาท 'เฮีย' กับเขาเรื่อยมาทั้งในจอเงิน จอแก้วและงานโฆษณา

“พอถ่ายหนังเสร็จ เขาก็มักจะสังสรรค์กัน เราก็ได้บทอยู่ในหนังเรื่อยๆ เพราะกินอยู่กับเขา” ชายวัยกลางคนใบหน้าทะเล้น เปรยเริ่มต้นชีวิตตลกๆ ของตัวเอง

“วีระวิทย์ เหล่าสันติพลวุฒิ” อาตี๋เร่ร่อนที่พลิกตัวเองสู่ ‘เฮีย’ แห่งวงการนักแสดง

ตี๋เยาวราช

วีระวิทย์ เหล่าสันติพลวุฒิ เกิดและเติบโตที่เยาวราช ย่านวงเวียน 22 กรกฎา เรียนโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ซอยมังกร ตรงกับช่วง พ.ศ. 2499 โดยพ่อทำธุรกิจโรงกลึง บรรพบุรุษปู่ย่ามาจากเซินเจิ้ง มณฑลกวางตุ้ง ส่วนฝ่ายตายายมาจากฮ่องกง เปิดภัตตาคารอาหารจีนย่อมๆ เจ้าแรกๆ ในประเทศไทยบริเวณ 4 แยกราชวงศ์

“แม่แซ่หลิว แซ่เดียวกับหลิว เต๋อหัว ก็ไม่ใช่ย่อยๆ ใหญ่ระดับต้นๆ ในบรรดาฮ่องกง พูดง่ายๆ เกิดมาบนกองเงินกองทองในยุคนั้น เพราะเทียบในสมัยนี้ก็ระดับเด็กโรงเรียนนานาชาติ เพราะโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ค่าเทอมสมัยนั้นหลักร้อยกว่าบาท แต่ข้าวจานละ1สลึง”

วีระวิทย์หรือที่ใครๆ แถวนั้นเรียกกันว่า “อาป๋อยัง” ในภาษากวางตุ้ง หรือ “อาเหว่ง” ในภาษาแต้จิ๋ว เหมือนเด็กธรรมดาใช้คืนวันชีวิตสนุกสนาน เปิดเผย เป็นลูกผู้ชาย

“นิสัยส่อแววทะเล้นๆ ตั้งแต่เด็กๆอย่างยกพวกกันไป 5-6 คน เล่นกระโดดน้ำที่ 4 แยกราชวงศ์ คนอื่นไปถอดกันที่คลอง ผมเดินถอดเสื้อตั้งแต่บ้าน ใส่กางเกงตัวเดียวไปถึงถอดกางเกงหมดแล้วกระโดดน้ำเลย ส่วนขากลับตัวเปล่า เพราะกางเกงถูกขโมย ก็เดินกุมเป้ากลับบ้านไม่สนใจใคร”

วีรกรรมความแสบสันต์อีกอย่างที่ส่งผลต่อแววความตลกก็คือการแกล้งหัวโจกด้วยพริก 2 เม็ดยัดในไส้ขนมสาคู “เอาคืนรุ่นพี่ที่ชอบแกล้ง และเราก็โดนครูตีเอง (ยิ้ม) วันไหนไม่โดนตีรู้สึกไม่สบายครั่นเนื้อครั่นตัว”

แต่อย่างไรก็ตามความสนุกก็ต้องมีพักหยุดเว้นจังหวะบ้าง เฮียตงเล่าว่าพ่อเกิดล้มป่วยส่งผลให้กิจการพังลงตามไปด้วย ทีนี้ด้วยความที่ตัวเองยังเด็กจึงรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง เลือกที่จะไม่ยอมเข้าบ้าน ไปเป็นเด็กเร่รอนที่ตลาดน้อยแถววัดตะเคียง (ชื่อปัจจุบันวัดมหาพุทธาราม) กับเก็บพวกสายไฟขาย ขโมยผลไม้ในตลาด

“เกือบตายเพราะยาเบื่อหนูที่เขาวางในผลไม้ เราก็ไปคบเพราะเริ่มเกเรต่างจากคนจีนแถวนั้นไม่มีใครคบเพื่อนพวกนี้ จริงๆ เราก็อายแรกๆ แต่อายไม่ได้เพราะไม่อย่างนั้นเข้าแก๊งไม่ได้ ตรงนี้ก็น่าจะมีส่วนหนึ่งให้บุคลิกจะเป็นคนดูเสื่อมๆ ไม่ดีๆ แต่ไม่ถึงกับร้ายชั่ว” วีระวิทย์เล่าพลางชำเลืองไปยังรูปถ่ายกับเหล่าบรรดาดาราอย่าง 'แสน สุรศักดิ์' ดารารุ่นใหญ่ โดยที่ไม่รู้ว่าในอีก 10 กว่าปีข้างหน้า เขาจะได้เดินเข้ามาโลดแล่นในวงการบันเทิง

“วีระวิทย์ เหล่าสันติพลวุฒิ” อาตี๋เร่ร่อนที่พลิกตัวเองสู่ ‘เฮีย’ แห่งวงการนักแสดง

นักหนังสือพิมพ์ตงฮั้ว

เหมือนฟ้าบันดาลจังวหะที่วีระวิทย์อยู่ในช่วงวัยคะนอง บรรดาตั่วเตี๋ยและอาอี้ เห็นเร่ร่อนในตลาดบ่อยๆ จึงชักชวนให้มาช่วยแบกผลไม้

“เตร่ขโมยผลไม้ วันหนึ่งเขาก็เรียกไอ้ตี๋ถามว่าเดินทำอะไรทุกวัน ว่างงานก็มาช่วยงานขนผลไม้ดีกว่า ได้งานแบบงงๆ ค่าแรงวันละ 5 บาท ก๋วยจั๊บชามละ 50 สตางค์ มีไข่ มีหมู เยอะกว่าสมัยนี้ 3 มื้อ 1 บาท สบายเลย ก็ยกผลไม้แบกไปตามละแวกไปส่ง แตงโม 4 ลูก สับปะรด 2 ลูก ทุเรียน 4 ลูก  จังหวะนั้นทำได้ไม่ถึงเดือน แม่มีคนรู้จักเป็นน้องของเถ้าแก่หนังสือพิมพ์เกียตงฮั้วก็ฝากให้ทำงานที่นั้น”

ทำงานในหน้าที่เดินเอกสารส่งข่าวและโฆษณาทั้งหมดของสำนักงาน วีระวิทย์บอกว่า จากอาตี๋ตัวเล็กๆ อวบๆ วิ่งชนิด ชั้น 1 ไป ชั้น 4 และจากชั้น 4 ลงมา ชั้น 1 จนร่างกายโปร่งสูง

“150 บาทต่อเดือน ใช้คนเดียวกินไม่มีอ้วนเบิร์นหมดไขมัน ทำอย่างนั้นจนพ่อที่ป่วยอาการแย่ลงและเสียชีวิต ทีนี้ภาระเพิ่มขึ้น เราเป็นคนโต มีน้องผู้หญิงเล็กอีก 3 คน แม่ก็ขายของเล็กๆ รายได้ไม่พอ ถึงจะมาคิดและตั้งใจฝันแบบเด็กๆ ที่อยากจะมีการมีงานเป็น ทหาร ตำรวจ แต่เราตอนนั้นอยากเป็นฝ่ายจัดหน้า”

เงินเดือน 1,000 บาท และเพิ่มมากขึ้นเมื่อธุรกิจสื่อส่งพิมพ์ขยายตัว หมุดหมายหลักเพื่อครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“วิ่งขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีอนาคต แน่ๆ แม่ก็ลำบากขึ้น ก็ไปส่องๆ มองๆ หน้ากระจกห้องแอร์งานอาร์ตเวิร์คสมัยนั้นเป็นแท่นแป้นพิมพ์ คิดจะเข้าไปยังไงดี หัวหน้าก็เต๊ะท่า ไปขอเขาก็ไล่ออกมาเลย แต่เถ้าแก่เห็นท่านก็สนับสนุนเรา ก็ไปเริ่มเลยวันไหนแผนกมีคนหยุด “เฮียเอาอะไรไหม เดี๋ยวอั๊วไปซื้อให้” ก็เล่นแกล้งเราให้ไปซื้อข้าวขาหมูวัดไตรมิตร เบาหน่อยก็คือการไปซื้อโอเลี้ยง”

วีระวิทย์บอก นอกจากหน้าที่หลังประจำการฐานข้อมูลและควบหน้าที่ซื้อของให้ลูกพี่จัดพิมพ์อยู่เป็นเดือนๆ ก่อนจะมีปัญหาภายในของพนักงานแผนก ทำให้เกิดตำแหน่งว่างให้แทรกเข้าไป

“เงินเดือนเพิ่มเป็น 300 บาท คิดในใจสบายแน่ จากซื้อกาแฟไปเป็นคนจัดพิมพ์ ทีไหนได้ไปเป็นคนเช็คกระดาษแก้วหลังตีตัวพิมพ์ โรยฝุ่นดำไม่ให้หมึกติดเวลาพิมพ์ เละทั้งตัว ป้ายจมูกมาทีดำปิ๊ด”

ความตลกของวีระวิทย์ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หลังจากสู้รบกับฝุ่นดำแห้งกรังทั้งตัว ตำแหน่งต่อไปก็คือการล้างตัวพิมพ์ที่เล่นเอาชุ่มฉ่ำ

“นอกจากคิดไปเองแล้วยังคิดไปไกลอีกด้วย เกือบจะปีถึงจะได้ทำหน้าที่จริงๆ อายุ 13 ได้ จากเข้าไปตอน 11 ปีกว่าๆ ทีนี้น้องก็โตขึ้นตามเรา 600 บาท ต่อเดือนก็ไม่พอ อะไรก็ได้ทำแล้วได้เงินเยอะ ทำหมด ก็พยายามเรียนรู้ทำแบบลักจำวิธีการอัดทำลงน้ำยาการพิมพ์ เพื่อไม่ให้พิมพ์เสียเลอะหมึกดำบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ และก็พยายามตามลูกพี่เป็นปีถึงจะได้ขยับขึ้น เพราะมีคนเก่าออกไปรับที่ใหม่เงินเยอะกว่าในระดับ 1,500 บาท เราเลยสวมแทนที่ 900 บาท”

ประสบการณ์ดีขึ้นและพัฒนาไปตามการจับงานในทุกๆ วัน การเปลี่ยนแปลงของชีวิตก็เดินทางมาถึง

“หัวน้าช่างแยกสีชวนย้ายที่ มาล้างสมองว่าไปที่ใหม่หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า เขาให้ 1,800 บาท แต่เราไม่รู้ว่าเขาทะเลาะกับเถ้าแก่ เราออกกะทันหันหนังสือพิมพ์เกือบไม่ได้ออก ต้องไปเรียกช่างที่อื่นมาช่วยประคับประคอง เถ้าแก่ถึงกับด่าเราว่าไอ้ชาติชั่ว ชาตินี้อย่าได้เจอกันอีก”

วีระวิทย์บอกว่า รู้สึกผิดเป็นอย่างมากทั้งที่โตมากับลูกหลานเถ้าแก่และเต็มไปด้วยความเอ็นดูให้งานให้โอกาส

“แกมาบอกทีหลังว่าถ้าเงินไม่พอให้บอก แกให้ได้ 2,000 บาท ยังไหว แต่เราไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว สำนึกผิด จุกพูดไม่ออก ก็ทำได้แต่ตามที่แกเคยสอนสั่ง ดูแลครอบครัวแม่ น้องๆ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น จนกระทั่งมีครอบครัวอายุ 19 เริ่มรู้จักคนเยอะ ไปเข้าสมาคมสโมสรวังสราญรมย์ ทำให้รู้จักพวกนักแสดง ดารา พระเอก ดาวร้าย นักกล้าม”

“วีระวิทย์ เหล่าสันติพลวุฒิ” อาตี๋เร่ร่อนที่พลิกตัวเองสู่ ‘เฮีย’ แห่งวงการนักแสดง

ก้าวแรกบันเทิงไทย

พระเอกแถวหน้า 'แสน สุรศักดิ์' รุ่นราวคราวเดียวกับ 'หม่อมหลวงอภิรัฐ จรูญโรจน์' หรือ 'ไชยา สุริยัน' นักแสดงเจ้าบทบาท เจ้าของรางวัลตุ๊กตาทองแถวหน้าแห่งยุค 90 คือผู้ที่ชักชวนวีระวิทย์เข้าสู่วงการ ด้วยการจับพลัดจับผลูในหน้าที่ตีสเลทสั่งแอคชั่นและคัท

“วันหนึ่งสนิทกันมากขึ้นเขาจะทำหนัง ชวนสั้นๆ ไปช่วยหน่อย เป็นคนตีสเลท ตีได้สองสามเทค พี่เขาก็บอกให้ไปเล่นด้วยเลยแล้วกัน ดื้อๆ อย่างนั้น”

วีระวิทย์ บอกว่าประวัติศาสตร์ชีวิตถูกจารึกครั้งแรกในฐานะนักแสดงตัวประกอบ สวมบทบาทเป็นสมุนโจร ภาพยนตร์เรื่อง ‘ปีศาจเมียน้อย’

“แต่ไม่ได้บทพูด เป็นบทแจมๆ ในพล็อตเรื่องนี้ก็คือผัวมีเมียน้อย และเมียหลวงรู้จากนั้นว่าจ้างฆ่าเมียน้อย เมียน้อยตาเป็นปีศาจมารังควานโจรที่ปล้นฆ่า ก็เจอเมียน้อยเล่นงานกันหมด เราที่รับบทก็ตายซี้แหงแก๋”

หลังจากนั้นภาพยนตร์ที่จำได้คราวๆ แสดงต่ออีก 10 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘โคตรคนจริง’

“ที่ได้เล่นต่อเพราะพอถ่ายหนังเสร็จก็มักสังสรรค์ เราก็ได้อยู่ในหนังเรื่อยๆ จนออกจากหนังสือพิมพ์มาค้าขาย ก็ยังวนเวียนผ่านๆ รับ 300 บาท ต่อวันๆ กับพี่เขา เพราะมีครอบครัวต้องดูแล จนกระทั่งไปทำงานเป็นกุ๊ก ช่วงพ.ศ.2525 ออกมาเปิดกิจการร้านอาหารของตัวเอง ถึงได้พักไปช่วงหนึ่ง จนเกิดการปฏิวัติ ร้านเจ๊ง ก็กลับมาเข้าวงการอีก”

วีระวิทย์ได้กลับเข้าไปที่สมาคมวังสราญรมย์อีกครั้ง แต่คราวนี้กระโดดไปเล่นละคร จากบทประกอบไม่มีคำพูดจึงได้เปลี่ยนมามีบทให้คนจดจำ

“ได้เห่าบ้างแล้ว จากยืนเป็นต้นไม้ ไปเดินผ่าน หลังๆ พอได้ไดอะล็อกคนก็เริ่มจำ คุณบอย ถกลเกียรติ ทำให้พีคเลย บทคุณหมอ ชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวๆ กางเกงสีเขียวๆ ต้องเราเท่านั้น เล่นตั้งแต่ คุณสินใจ เปล่งพานิช เป็นนางเอกใหม่ๆ ไปถ่ายที่โรงพยาบาลจิตเวช คนมาเยี่ยมไข้มาถามทางเรียกคุณหมอๆ ห้องน้ำไปทางไหน เราไม่รู้ก็ชี้ไปมั่วๆ ข้างหลังๆ”

 

“วีระวิทย์ เหล่าสันติพลวุฒิ” อาตี๋เร่ร่อนที่พลิกตัวเองสู่ ‘เฮีย’ แห่งวงการนักแสดง

ขึ้นแท่นเสี่ย ‘เฮียตง’ วงการหนัง

“ธนิต จิตนุกูล ทำให้เล่นตลก เพราะเขาเห็นเราช่วงที่เล่นหนังเรื่ององค์บาก เล่นหนังเรื่องคนล่าฝัน รับบทเป็นเฮียเกษมบ้าผู้หญิง ตี๋ๆ ตลกๆ เขาเห็นแวว” วีระวิทย์ขยายถึงผลงานการแสดงในฐานะนักแสดงหลักภาพยนตร์ เรื่อง จี้ ในปีพ.ศ. 2548

“เด็กห้องน้ำเรียกเฮียตง อยู่ริมถนนเปิดร้านอาหารอยู่กำลังออกมารดน้ำต้นไม้ เด็กนักเรียนนั่งรถผ่าน ตะโกนเฮียตงรดน้ำต้นไม้ และเพื่อนๆ มันก็ตะโกนเฮียตงๆ เราก็รู้สึกดีที่มีคนจดจำบทบาทเราได้ แต่อับดับแรกเลยก็คือต้องขอบคุณคุณพี่ปื้ด เขาบอกให้เล่นเป็นตัวเรา แรกๆ เราก็ยังงง ว่าตัวเราเป็นยังไงยังไม่รู้เลย เราก็บอกว่าได้ให้เล่นเป็นตัวเรา เราก็ใส่ไปหมด จริงๆ การเป็นดาราต้องแคสติ้ง แต่เราไม่ต้อง เขาเจาะจงที่เราเลย

“ส่วนที่สองคือทีมงาน ทางทีมงานการแสดงในเรื่องจี้ ภาค 1 เขาให้เล่นกันเอง ไม่มีตลก และทีมงานที่เขาทำทุกคนผู้ช่วยกันตั้งแต่เด็กยกน้ำมีอะไรเสนอได้หมด ทุกคนสามารถออกหัวคิดได้ มีมุกอะไรใส่ไปเลย ทุกคนก็ช่วยกัน ทำให้งานออกมาละเอียดมีพลัง ไม่ใช่คนเดียวสั่ง”

หลายคนคงจดจำใบหน้าและท่าทางของเฮียตงได้ตลอดเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่งในเนื้อหนัง ซึ่งการมีส่วนร่วมในการเพิ่มเติมบทชูให้หนังออกรสออกชาติมากขึ้น วีระวิทย์บอกว่าฉากเด่นๆ ของตัวเองคือฉากอาม่าในเรื่องเสียชีวิตและฉากที่ปลอบประโลมนางเอกที่รับบทโดย กระแต ศุภักษร

“ขำที่สุดตอนก่อนอาม่าตาย ฉากบนโต๊ะอาหารบทไม่ถึงขนาดนั้น บทต่ออ่ำ อัมรินทร์ “เฮียตงเราเคยทำหนังกันนะ พ่องมึงซิ ดูซิ แล้วก็โยนบท” จบแค่นั้น แต่คุณพี่ปื้ดเขาบอกว่าให้เราเพิ่ม ก็เอาเลยนี่เลย “เจ๊งแล้วจ้าตงชินภาพยนตร์ กูเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจกูเลยนะเนีย” แล้วก่อนจะออกเดินไปเฉยๆ ก็ไม่ได้ “เฮ้ย! ปิดไฟด้วยมันเปลือง” ก็ให้อารมณ์เสริมในหนังดูจริงจังว่าจะไม่ทำตามโครงหนังที่จะมาขอเงินทำหนัง

“อีกฉากคืออ่ำกำลังหึงกระแต หลังไอ้ม้าพระเอกในเรื่องมาจูบก็โดนตบ เราก็เพิ่มให้อ่ำดูหึงขึ้นไปอีก โดยโอบหอมกระแตปลอบ จาก 1 ครั้งในบท เป็น 2-3 ครั้ง “ไม่เป็นไรนะลูก” “ไม่เป็นไรนะหนู” อ่ำก็ต่อสายตาและผลักเรากระเด็น พี่ปื้ดเขาก็ซื้อ เพราะสโลแกนเขา นักแสดงที่ดีต้องทำได้ทุกอย่าง ก็ทุกอย่างจริงๆ ตรงนี้ทำให้เข้ากันได้ทุกอย่างและผลงานออกมาก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากในตอนนั้น”

วีระวิทย์จากนั้นไปไหนมาไหนใครต่อใครก็เรียก "เฮียตง" แทนชื่อจริงๆ และมีผลงานการแสดงแนวคอมเมดี้ตามมาอีกมากมาย ทั้งละครจอแก้วหัวค่ำหลังข่าวหรือละครซิทคอมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ กระทั่งงานโฆษณา นับผลงานการแสดงนับร้อยกว่าผลงาน

"อายุมันมากขึ้น ใบหน้า บุคลิก เปลี่ยน ดูละม้ายออกคนไม่ค่อยดี ทีนี้ยิ่งสนิทจะเป็นคนเป็นกันเอง เรียบๆ ง่ายๆ ออกแนวเด็กๆ เขาก็จะให้เป็นอาเฮีย บทก็ไม่ปล่อยเงินกู้ ก็ค้ายา บ้ากาม กลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัวที่คนเห็นต้องไอ้นี้เท่านั้น"

“วีระวิทย์ เหล่าสันติพลวุฒิ” อาตี๋เร่ร่อนที่พลิกตัวเองสู่ ‘เฮีย’ แห่งวงการนักแสดง

ต้นไม้ต้องมีปุ๋ย...คมคิดระดับเฮีย

“ตัวเราก็สำคัญ ส่วนหนึ่งซื่อสัตย์ ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่รบกวนคนอื่น ไม่สร้างความเดือนร้อนให้ใคร และทำทุกวันให้มันเต็มที่เราไม่มีตกอับหรืออดตาย” เฮียตง กล่าวคำตอบในคำถามถึงประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มเข้าวงการช่วงอายุ 20 ต้นๆ จนกระทั่งตอนนี้ในวัย 63 ปี

“รู้จักก็คือแค่นั้น ไม่รู้จักก็คือแค่นั้น สบายใจ หลายคนรู้จักเป็นดาราแล้วกระหยิ่มยิ้มย่องเจอคนบอกไม่รู้จักทักก็เศร้า แล้วความสุขมันจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราได้อย่างไร เราคือนักแสดงคือการแสดงบทบาทสมมุติ เราทำให้เขามีความสุข ส่วนชีวิตข้างนอกเราก็ง่ายๆ เหมือนทุกคน เสื้อยืด ขาสั้น นอกจากงานสำคัญๆ ถึงใส่สูท

“ประสบการณ์ชีวิตมันสอนเรา เราสวมบทบาทมามีทั้งคนดีและไม่ดี ชีวิตทุกวันนี้จะเครียดมันก็ไม่ดี เครียดไปทุกข์หาอะไร ทุกข์แล้วได้ดี ควรทุกข์ ทุกข์ไม่ได้ดีทุกข์ไปทำไม แถมทำคนรอบข้างลำบากขึ้นอีกทั้งจิตใจและร่างกาย พูดกับครอบครัวสอนลูกตลอด และหากมีโอกาสควรแบ่งปันกัน ความสุขไม่ใช่เงินเสมอไป ชื่อเสียงก็ไม่ใช่ แต่ที่สำคัญคือทำในสิ่งที่เรารัก”

รักที่ว่าคือ รักในเส้นทางของตน ไม่เลี้ยวหลีกตามอุปสรรค อย่าง ‘เฮียตง’ การดิ้นรน ต้องมีความรู้ จังหวะ หยุดก้าวบ้าง ดูซ้าย ดูขวา และต้องมองสิ่งแวดล้อม

“ถ้าดูละครแล้วสะท้อนย้อยดูสังคมหรือตัวเอง ตัวเฮียส่วนมากที่เราเล่นและแสดง วิธีการคิดมุมมองมันก็สอนให้คนมุ่งมั่นในแนวทาง รักชอบทำหนังก็ฝ่าฝันอุปสรรคในสิ่งที่ทำ แม้มันจะยังไม่สำเร็จ แต่สักวันหนึ่งมันก็ต้องสำเร็จ ทุกคนส่วนตัวทำของตัวเองให้เต็มฝัน มันก็มีความสุขในชีวิต

“คนเราชีวิตมันก็เหมือนต้นไม้ต้องมีปุ๋ย ปลูกง่ายแค่ไหนปุ๋ยไม่ดีก็โตไม่เต็ม เราก็ต้องเติมปุ๋ย สร้างฝันและทำตัวเองให้ดีให้มีค่า เรายืนอยู่ที่ไหนได้ทุกที่สำคัญทุกในฐานะ” เขากล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

ติดต่องานแสดงได้โดยตรงที่เบอร์: 081-426-0662