posttoday

 ธุระของ “พระภิกษุในพระพุทธศาสนา”

29 กันยายน 2562

วัฒนธรรมประเพณีในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งมีค่า เราต้องร่วมกันฟื้นฟูและส่งเสริมให้อยู่คู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านาน

โดย    อุทัย มณี  (เปรียญ)

ปัจจุบันบทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทยมีบทบาทกว้างขวางมากยิ่งขึ้นทั้ง ด้านสาธารณะสงเคราะห์, ด้านส่งเสริมการศึกษา, ด้านการเผยแผ่, บทบาทแต่ละอย่างล้วนสัมผัสกับวิถีชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชนแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในอดีตบทบาทพระสงฆ์ไทยอย่างน้อยทำหน้าที่ 3 ประการคือ หนึ่ง อบรมสั่งสอนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้กับประชาชน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน สอง บทบาทในการพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน และ สาม มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนหมู่บ้านกับภาครัฐ

               ปัจจุบันบทบาทเหล่านี้ของพระภิกษุสงฆ์ ของเจ้าอาวาสแทบไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากภาครัฐ “เข้ามามีบทบาท” แทบทั้งสิ้น

               ผู้อ่านบางท่านที่ไม่มีพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาเลย คงอยากจะรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงวาง “ธุระหรือหน้าที่” สำหรับพระภิกษุไว้อย่างไรบ้าง

               ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสแนะแก่พระภิกษุชื่อ มหาปาละ เมื่อถามถึงธุระในพระพุทธศาสนามีกี่อย่าง

                  "ภิกษุ ธุระมี 2 อย่าง คือ คันถธุระ (กับ) วิปัสสนาธุระ เท่านั้น" พระมหาปาละทูลถามว่า  "พระเจ้าข้า ก็คันถธุระเป็นอย่างไร วิปัสสนาธุระเป็นอย่างไร"

 ธุระนี้ คือ การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฏกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้ กล่าวบอก พุทธวจนะนั้น ชื่อว่าคันถธุระ. ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ  ยังวิปัสสนาให้เจริญ  ด้วยอำนาจแห่งการติดต่อแล้ว ถือเอาพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติแคล่วคล่อง ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ.

พระเจ้าข้า  ข้าพระองค์บวชแล้วแต่เมื่อแก่  ไม่สามารถจะบำเพ็ญคันถธุระให้บริบูรณ์ได้ แต่จักบำเพ็ญวิปัสสนาธุระให้บริบูรณ์  ขอพระองค์ตรัสบอกพระกรรมฐานแก่ข้าพระองค์เถิด..”

               แนวทางนี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับคณะสงฆ์ไทยยึดถือเป็นแนวทางปฎิบัติสืบ ๆ ต่อกันมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนที่พระมหาปาละ จะทูลถามธุระในพระพุทธศาสนากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านอยู่ในสำนักพระอาจารย์และอุปัชฌาย์ครบ  5  พรรษาแล้ว   หมายความว่า พระภิกษุรูปใดก็ดี เมื่อบวชแล้วจะต้องศึกษาเล่าเรียนพื้นฐานอย่างน้อย 5 พรรษาในสำนักพระอุปัชฌาย์  ปัจจุบันแนวทางนี้คณะสงฆ์ไทยก็ยังยึดอยู่ คือ พระภิกษุบวชใหม่ หากจะไปอยู่วัดอื่นหรือแยกตัวออกไปอย่างน้อยจะต้องอยู่ในวัดพระอุปัชฌาย์หรืออยู่ตามวัดในสายตาพระอุปัชฌาย์ 5 พรรษา แต่ตอนหลังก็อาจ อะลุ่มอล่วย บ้าง

               ระหว่างบวช 5 พรรษาก็เรียนหนังสือเพื่อเป็นฐานในการปฎิบัติเป็นปกติ และมิใช่เรียนหนังสือหนังเดียว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ยังวางหลักการปฎิบัติกิจวัตรของพระภิกษุไว้อีก 10 ประการคือ 1.ลงอุโบสถ 2. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ 3. สวดมนต์ไหว้พระ  4.กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์ 5.รักษาผ้าครอง 6.อยู่ปริวาสกรรม 7.โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ 8. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์ 9.เทศนาบัติ 10. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง 4 เป็นต้น..

               สำหรับหน้าที่ของฆราวาส ที่ควรปฎิบัติต่อพระภิกษุ  หลัก ๆ ก็คือสนับสนุนให้พระท่านมีกำลังกายกำลังใจ ในการศึกษาปฏิบัติธรรม ส่งเสริมให้ท่านศึกษาเล่าเรียนด้วยการถวายทุนการศึกษาบ้าง ถวายหนังสือบ้าง ถวายอาหารการฉัน ดังนี้เป็นต้น

               สังคมไทยมีฐานมาจากพระพุทธศาสนา สังคมไทยในอดีตอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขที่นานาชาติยกย่องยอมรับ ให้เป็นประเทศหนึ่งที่พลเมืองมีความสุขที่สุดในโลก เป็นดินแดนที่มีแต่รอยยิ้ม เป็นสยามเมืองยิ้ม ปัจจุบันร่องรอยเหล่านี้แม้จะเลือนลางลง แต่ก็ยังไม่สายที่จะกอบกู้กลับมา อันไหนที่มิใช่ของเรา เราคว้า เรามาดัดแปลงให้เป็นของเรา มันก็ไม่เนียน มันก็ไม่เหมือนของเดิมอยู่ดี  วัฒนธรรมประเพณีในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งมีค่า เราต้องร่วมกันฟื้นฟูและส่งเสริมให้อยู่คู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านาน..