posttoday

How to พิชิตมะเร็งร้ายด้วยพลังของใจ

25 สิงหาคม 2562

วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นหากมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคมะเร็ง พร้อมเทคนิคเพิ่มกำลังใจเมื่อเราเป็นผู้ป่วยเสียเอง

วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นหากมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคมะเร็ง พร้อมเทคนิคเพิ่มกำลังใจเมื่อเราเป็นผู้ป่วยเสียเอง

How to พิชิตมะเร็งร้ายด้วยพลังของใจ

เมื่อรู้ว่าป่วยด้วยโรคมะเร็ง ไม่ว่าใครก็มักมีความกังวลใจ หดหู่ หรืออาจเกิดภาวะซึมเศร้า ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญ อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทย ประมาณ 153.6 ต่อประชากรไทย 100,000 คน สำหรับผู้ชาย และประมาณ 123.8 คน ต่อประชากร 100,000 คน สำหรับผู้หญิง ช่วงอายุที่พบเป็นมะเร็งมากคือ เพศชาย 55-75 ปี เพศหญิง 45-65 ปี แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 30 ปี สำหรับเพศชาย และ 25 ปี สำหรับเพศหญิง แต่สำหรับหญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วแนวโน้มของการเป็นโรคมะเร็งอาจมีตั้งแต่อายุน้อยกว่า 25 ปี 

แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 1.3 แสนราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกว่า 6 หมื่นราย แนวโน้มที่ผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องถึงประมาณ 3.5% ต่อปี นับเป็นตัวเลขที่สูงมาก หากเรารู้ตัวว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีคนในครอบครัวที่ต้องเผชิญกับมะเร็ง ความวิตกกังวลคงไม่ช่วยให้เรารอดพ้นจากโรคร้ายนี้ แต่เราจะทำอย่างไรให้มีพลังแรงใจในการต่อสู้

How to พิชิตมะเร็งร้ายด้วยพลังของใจ

8 วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นหากมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นมะเร็ง พร้อมเทคนิคเพิ่มกำลังใจเมื่อเราเป็นผู้ป่วยเอง 

1.ยอมรับแล้วก้าวต่อไป

ผู้ป่วย-มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ความทุกข์ท้อใจ กังวล เหนื่อยล้า มารุมเร้าเป็นธรรมดาในที่สุดคุณจำเป็นต้องยอมรับให้ได้ ยิ่งยอมรับเร็วเท่าไหร่ ก็จะจัดการปัญหาอย่างไรได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น

เพื่อนหรือญาติ-คุณจำเป็นต้องเข้มแข็ง ยอมรับ และเข้าใจสถานการณ์ก่อน จึงจะไปสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยยอมรับได้อย่างมีพลัง สารพัดคำปลอบโยนจากคนที่เข้าใจใกล้ชิด คือยาบรรเทาขนานแรกที่จะใช้ได้ในยามนี้

2.ลดความกังวล-เติมกำลังใจ

ผู้ป่วย-กล้าพูดคุยกับครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด เพื่อระบายความกังวลใจ และหาทางออกร่วมกันหลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียวแน่นอน

เพื่อนหรือญาติ-ให้ผู้ป่วยได้ระบายความทุกข์ หลีกเลี่ยงการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติด้านร่างกาย รูปลักษณ์ และเรื่องแง่ลบของโรคมะเร็ง แล้วเติมความสุข ให้กำลังใจ เพื่อผู้ป่วยจะก้าวผ่านความทุกข์ท้อ กังวลใจไปได้

3.เข้าถึงรายละเอียดในการจัดการ

ผู้ป่วย-ต้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมหาทางรักษาจนตัวเองเข้าใจและพอใจ รวมถึงการปฏิบัติตนที่ถูกต้องระหว่างการรับการรักษา เพื่อลดความผิดพลาด หรือทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง

เพื่อนหรือญาติ-หลังพบความเสี่ยงและได้ข้อสรุป ญาติต้องร่วมคิด ตัดสินใจ ตลอดจนการปฏิบัติตัวและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ ซึ่งเป็นอีกอุปสรรคสำคัญในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง

How to พิชิตมะเร็งร้ายด้วยพลังของใจ

4.ศึกษาเพิ่มเติมเสริมการรักษา

ผู้ป่วย-ควรรู้จักธรรมชาติของโรค เพื่อที่จะเข้าใจและตั้งรับถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละอาการ ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงพัฒนาสภาพจิตใจ คิดแต่สิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข และมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม

เพื่อนหรือญาติ-ศึกษาหาข้อมูลในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างดีต่อเนื่อง

5.ออกกำลังกายและมีกิจกรรมไม่ขาด

ผู้ป่วย-ออกกำลังกายไม่หักโหม ช่วยให้ร่างกายสดชื่น นอนหลับสนิท กระตุ้นการอยากอาหาร การไหลเวียนเลือด และลดโอกาส
ท้องผูก หากไม่ไหวขอให้พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่นอนติดเตียงหรือนั่งติดเก้าอี้

เพื่อนหรือญาติ-กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ทรุด คือ พาเขาออกกำลังกาย ขยับตัวสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเดินสั้นๆ ในสวน การหยิบจับสิ่งของด้วยตัวเอง การทำงานบ้านอย่างง่ายๆ นอกจากนั้นกิจกรรมนั่งเมาท์เป็นเพื่อนคุย งานศิลปะและดนตรีอย่างง่ายๆ ที่ทำร่วมกันได้ ไม่ลืมใส่ความสนุกจัดหนักลงไปด้วย เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสได้มาก

6.ลาขาดจากสิ่งบั่นทอนสุขภาพ

ผู้ป่วย-งดหรือเลิกสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงดูแลรักษาและควบคุมโรคอื่นๆ ควบคู่ร่วมไปกับการรักษาโรคมะเร็งไม่ให้โรคต่างๆ หรืออาการแทรกซ้อนขยายผลซ้ำเติมความป่วยไข้ที่มีอยู่

เพื่อนหรือญาติ-คอยผลักดันให้ผู้ป่วย ลด ละ เลิก ให้กำลังใจ และคอยควบคุมพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างถนอมน้ำใจ ให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจเพื่อประสิทธิผลที่ดีในการรักษา

7.ปรับพฤติกรรมการกิน เติมความสดชื่น

ผู้ป่วย-เมื่อกินอาหารได้น้อยให้พยายามกินในจำนวนมื้อที่บ่อยขึ้น และต้องงดอาหารหวานเพราะทำให้มะเร็งขยายตัวเร็ว และงดอาหารเค็มเพราะมีผลต่อการทำงานของไต หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารทอด ผัด หรือมีกลิ่นรุนแรงเพราะมักกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และควรงดอาหารที่จะกระตุ้นเซลล์มะเร็ง เช่น น้ำตาล หรือเนื้อแดง

เพื่อนหรือญาติ-ปรับเปลี่ยนสถานที่กินอาหารของผู้ป่วย ลดความจำเจ เปลี่ยนไปนั่งกินข้าวริมระเบียง หรือส่วนอื่นๆ ของบ้านที่บรรยากาศดี อากาศถ่ายเท มีแสงแดด หรือต้นไม้ดอกไม้

8.ตั้งเป้าหมายตบรางวัลให้ชีวิต

ทั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิด ต้องมีหัวใจเดียวกันว่าการมีชีวิตอยู่ต่อนั้นมีความหมายมาก ทั้งต่อตัวเรา คนรอบข้าง ยังมีสิ่งที่เราชอบ กิจกรรมที่เราอยากทำ สถานที่ที่ยังไม่ได้ไป หรืออะไรที่เรารัก ตั้งธงเป็นกำลังใจเลยว่า เราจะตายไม่ได้ เราจะหายดี แล้วเราจะได้ทำ จะได้ลอง จะได้ไปคว้าเอารางวัลที่เรารอคอย

 

 

ภาพ freepik