posttoday

ชำแหละเหตุคดี "ข่มขืน" เมื่อสังคมซ้ำเติม"เหยื่อ"ให้รู้สึกผิด

05 มกราคม 2562

มองการแก้ปัญหา"ข่มขืน" จากสายตาผู้ผ่านประสบการณ์ในฐานะที่เป็นเหยื่อ กับทางออกในการแก้ปัญหาที่ไม่ใช่การซ้ำเติมผู้ถูกกระทำให้รู้สึกผิดกับตัวเอง

มองการแก้ปัญหา"ข่มขืน" จากสายตาผู้ผ่านประสบการณ์ในฐานะที่เป็นเหยื่อ กับทางออกในการแก้ปัญหาที่ไม่ใช่การซ้ำเติมผู้ถูกกระทำให้รู้สึกผิดกับตัวเอง

*********************************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

"5 โจ๋รุมขืนใจ" หรือ "7ทรชนโทรมหญิง" เหตุคดีข่มขืนที่ไล่เรียงกันมาไม่ทันพ้นข้ามเดือนในช่วงก่อนสิ้นปีใหม่ ซึ่งยังไม่นับรวมคดีอื่นๆ ที่เรียงพาดหัวตัวโตออกสื่อก่อนหน้าและที่ไม่ออกสื่อ 

ประเทศไทยติดอันดับท็อปเท็นประเทศที่มีคดีข่มขืนของโลกในปีตั้งแต่ 2559 จนถึง ณ วันนี้แม้ไม่มีตัวเลขปรากฏการณ์แต่คดีความต่อเนื่องชวนให้เกิดการตั้งคำถามถึงทิศทางในการแก้ไข ที่ปัจจุบัน “โทษ” สูงสุด 20 ปี ไม่ช่วยให้ลดลงและเรียกคืนสิ่งที่เสียไปกลับคืน หรือ “โทษแรง” การประหารคดีข่มขืนจะช่วยให้การทำผิดหายไปได้ 

"นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง" บล็อกเกอร์,นักออกแบบเพื่อสื่อสารประเด็นสังคมและเจ้าของเพจ Thaiconsent สะท้อนมุมมองของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศถึงหนทางแก้ไขปัญหาที่น่าจะช่วยให้การข่มขืนลดลงได้ 

ชำแหละเหตุคดี "ข่มขืน" เมื่อสังคมซ้ำเติม"เหยื่อ"ให้รู้สึกผิด

เหตุข่มขืนในไทยยังเกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะอะไร

มันเกิดขึ้นเพราะบ้านเราไม่เคยมีการรณรงค์เรื่องเพศในเรื่องของการข่มขืน หลายคนอาจจะบอกว่า ก็มีรายการเตือนภัย มีข่าวออกให้เห็นเป็นบทเรียนสอน มันไม่ใช่ เป็นแค่การบอกเล่าข่าวอาชญากรรม แค่บอกว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และก็เกิดอะไรขึ้นกับคนที่ทำกับคนที่ถูกกระทำ แต่มันไม่ใช่การรณรงค์เพื่อป้องกันหรือลดเรื่องนี้

นิยามคำว่า "ข่มขืน" การข่มขืนของบ้านเราคือการที่คนแปลกหน้าตีหัวแล้วฉุดลากไปมีเพศสัมพันธ์โดยที่สอดใส่อวัยวะเท่านั้นเรียกว่าถูกข่มขืน ไม่ครบเรียกว่าล่วงละเมิด ส่วนในมิติอื่นๆ หญิงกับชาย รู้จักกันแต่ฝ่ายชายคิดไปเองว่าฝ่ายหญิงชอบและชวนกันไปดื่มกินอาหาร ก่อนอาศัยจังหวะฝ่ายหญิงเมาฉวยโอกาสมีเพศสัมพันธ์ 

ข้อคิดคือถ้าฝ่ายหญิงไม่โวยวายหลังร่วมเพศ ไม่ถือเป็นการข่มขืน แต่ซึ่งถ้าเพิ่มเบื้องหลังลงไปว่า ชายคนนั้นคือเจ้านาย การที่พูดร้องแจ้งอาจจะทำให้ตกงานได้ อย่างนี้เรียกว่าข่มขืนหรือไม่

วัฒนธรรมอำนาจที่ซุกซ่อน การรับน้องสั่งให้ถอดเสื้อกลิ้งกับพื้น หรือพี่ชายคนโตกว่าน้องคนเล็กสามารถสั่งชี้นำชีวิตได้ มันไม่ต่างกันกับเรื่องข่มขืน

เมื่อเกิดเหตุข่มขืนเราไม่ได้อยู่ข้างเหยื่อตั้งแต่แรก เห็นได้จากการให้เหตุผลหรือข้ออ้างในการกระทำนั้นๆ เมื่อเกิดคดีข่มขืนสังคมมักตั้งคำถามก่อนกับเหยื่อ แต่งตัวล่อแหลม อ่อย ดื่มเหล้า จากนั้นเราไปให้น้ำหนักกับชีวิตส่วนตัวของผู้ถูกกระทำ เป็นใคร ทำอะไรมาก่อน ทำงานอาชีพอะไร เพื่อตัดสินว่าเป็นคนดีหรือไม่ดีที่จะเชียร์ต่อหรือหยุด มันไม่ได้นำมาซึ่งความยุติธรรม เขาอยู่เฉยๆ ดันผิดมากกว่าไอ้คนทำความผิด มองผู้ชายไม่ดี แต่ผู้หญิงก็ใช่ย่อย

เราคิดว่าจำนวนของคดีข่มขืนที่เกิดขึ้นมันมากแล้ว แต่จำนวนของการข่มขืนไม่ปรากฏเท่ากับความเป็นจริง ตามรายงานการวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา สมมติว่าคดีข่มขืนที่ถูกศาลตัดสินว่าผิดจริง มี 100 คดี จะเข้าสู่ศาลเพื่อตัดสินความยุติธรรม 1,000 และได้รับแจ้งความ 10,000  และถ้าเกิดไปถามผู้หญิงว่าคุณเคยถูกข่มขืนหรือไม่ ได้คำตอบถึง 100,000 จะเห็นว่าตัวเลขที่หายไประหว่างบันทึกแต่ละขั้นมันเยอะมาก 

ชำแหละเหตุคดี "ข่มขืน" เมื่อสังคมซ้ำเติม"เหยื่อ"ให้รู้สึกผิด

โทษข่มขืนเท่ากับประหารช่วยแก้ได้หรือไม่

ส่วนตัวคิดว่าเป็นภาพสะท้อน มันไม่ใช่ทางออก มันเป็นวิธีการทำให้คนในสังคมสบายใจ ณ ตอนนี้เท่านั้น  แต่มันไม่ใช่การันตีได้ว่าในอนาคตมันจะดีขึ้น เพราะแม้วันนี้เหล่านักโทษคดีข่มขืนจะถูกประหารตายหมดแล้ว แต่ในอนาคตเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่มีคนใหม่เกิดขึ้น

ในขั้นนี้คำถามคือเราต้องการคงอำนาจนั้นไว้หรือเปล่า เพราะเราเห็นได้จากเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต่างกัน เช่น การตีทำโทษลูกคือการอยากให้ลูกได้ดี ซึ่งจริงๆ มันคือการให้ความคิดหรือไม่ที่จะให้ผลพัฒนา ต่างประเทศในเรื่องของการรณรงค์การข่มขืนเขาให้เคารพสิทธิ สิทธิคืออะไร เราไม่ควรละเมิดคนอื่น ละเมิดแปลว่าอะไร ซึ่งมันมีหลายระดับมาก แต่บ้านเรายังลงรายละเอียดเพศศึกษาแค่ในส่วนของภายในภายนอกร่างกาย เพศหญิงมีรังไข่ อัณฑะเพศชายทำหน้าที่อะไร

วิธีไหนถึงช่วยแก้ไขให้ลดลงได้

คนในสังคมต้องเรียนรู้คำว่า "consent" หรือ การยินยอม 1.ทั้งคู่ต้องรู้ว่าจะมีการมีเซ็กซ์ ก่อนที่จะมีเซ็กซ์ 2.ต้องมีการตกลงกันก่อนว่าจะมีเซ็กซ์กัน ไม่ใช่ว่าอยู่กันสองต่อสองคือการให้ท่า 3.ระหว่างที่มีเซ็กซ์หากอยากหยุดต้องหยุดได้ 4.อำนาจต้องเท่ากัน ไม่ใช่เกิดการไม่จำยอมเพราะเกรงคนที่แข็งแกร่งกว่า ต้องไม่กังวลหรือหวาดกลัวขณะมีเซ็กซ์  5.ต้องมีทางเลือกในการที่จะไม่มีเซ็กซ์ก็ได้ เช่น ไปแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในป่า  ห่างไกลตัวเมืองร้อยกิโลเมตร การกางเต๊นท์นอนทำให้เกิดมีเพศสัมพันธ์ เพราะถ้าเกิดฝ่ายหญิงไม่ยอมอาจจะกลับบ้านไม่ได้ 

ที่สำคัญเราต้องใส่ใจในเรื่องการไม่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เพศหญิงควรได้รับการเปิดกว้างที่มากกว่าการเป็นหน้าที่ผลิตทายาทและภรรยา สังเกตได้ชัดจากการที่สื่อกระแสหลักมีข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงจะมีแค่ความสวยความงาม การบริจาคของกลุ่มแม่บ้าน เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เศรษฐกิจ การเมือง ไม่มี มันก็สะท้อนอะไรหลายอย่างในบ้านเรา

หากเราตระหนักตรงนี้ผู้หญิงถูกมองกลับในฐานะมนุษย์เท่าเทียมกัน การใช้อำนาจอันเป็นพื้นฐานการข่มขืนก็อ่อนแรง จำนวนการข่มขืนก็ลดลงได้

ทุกคนในสังคมควรเข้าใจหากจะลดเรื่องการข่มขืน?

ส่วนหนึ่งถ้าสังคมตระหนักลดได้ เพราะนอกเหนือจากการที่เราจะลุกขึ้นได้ด้วยตัวเองผ่านการฟื้นฟูจิตใจกับนักบำบัดหรือจิตแพทย์ การที่สังคมเข้าใจและทำได้ในส่วนนี้ มันสำคัญคือเรื่องนี้จะถูกพูดถึงมากขึ้น ได้รับการบันทึกจดจำว่า ‘เหยื่อ’ ไม่ใช่แค่ ‘เหยื่อ’ มันคือการกลับมาเป็นผู้เล่าแทนว่าเราไม่ใช้ผู้ถูกกระทำอีกต่อไปแล้ว แต่เราคือหลักฐานที่บอกว่าคุณทำผิด กระบวนการต่อไปจะเป็นโทษ การสำนึก หนักหรือเบา เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เหยื่อจะไม่โทษตัวเองว่าเขาทำผิด

คนผิดที่แท้จริงคือผู้กระทำ ซึ่งจะนำมาซึ่งการกลับมามีชีวิตของเหยื่อไม่ต้องเป็นตราบาปชั่วชีวิตจากสังคมที่ตีตรา เกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วต้องเจ็บช้ำไปทั้งชีวิต ถูกข่มขืนมันต้องหายได้ 

มีมุมไหนที่ผลักดันเรื่องนี้ได้อีกบ้าง?

1.ให้เหยื่อเป็นผู้เล่าเรื่องแทนการบอกเล่าแบบเก่าๆ ที่เหยือเป็นผู้ถูกกระทำ ยกตัวอย่างในเรื่องของการรณรงค์ เพราะบ้านเราต้องมีสิ่งเหล่านี้หลังจากเข้าใจคำว่าข่มขืน ซึ่งการรณรงค์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีได้แก่แคมเปญต่างๆ ของต่างประเทศ อย่าง Flirting isn’t crime…rape is ! การจีบไม่ใช่อาชญากรรม แต่การข่มขืนเป็นอาชญากรรม ถ้าเธอไม่ "โอเค" นั่นคือการข่มขืน หรือ I know when she’s asleep it’s a no ผมรู้ว่าถ้าเธอง่วง มันหมายถึงการปฏิเสธ แล้วคุณล่ะ คุณคิดเหมือนผมหรือไม่ เซ็กส์ที่ไม่มีการยินยอมคือการ “ข่มขืน” และเราหยุดมันได้

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เขาคลี่คลายตัวเองได้ง่ายขึ้น เพราะเหยื่อเหตุข่มขืนใช้ระยะเวลานานเป็นปีๆ  5 ปี หรือ10ปี กว่าที่จะยอมรับและบอกกล่าวได้ การให้เขาเป็นผู้เล่าช่วยให้เกิดเสียงแรก เขาไม่ต้องแบกเก็บเป็นความลับ เมื่อเสียงเงียบไม่เงียบอีกต่อไป สังคมตระหนักสิทธิกันและกันมากขึ้น การข่มขืนก็จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

2.เลิกภาพสะท้อนรุนแรงช่วยให้เหยื่อดีขึ้น เรื่องข่มขืนมันต้องไม่ใช้ภาพรุนแรงเพื่อสร้างความสนใจ อดีตภาพผู้หญิงกำลังร้องสุดเสียงในห้องที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมันกลายเป็นการจัดฉากข่มขืนซ้ำอีกรอบหนึ่งหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น จากกิจกรรมที่ทำร่วมกับเยาวชนเด็กมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยการให้วาดรูปของเหตุการณ์ถูกบังคับให้สำเร็จความใคร่ด้วยปาก ผู้ชายจะวาดฉากออรัลเซ็กซ์และด้วยมุมมองของคนที่บังคับให้ทำด้วย

หากตรงนี้สังคมเข้าใจช่วยให้เมื่อสังคมรุกล้ำผู้ถูกกระทำมากเกินในสิ่งที่เขาไม่อยากให้เกิดขึ้น เขาสามารถปฏิเสธได้เพื่อจิตใจเขาเอง อันนี้เป็นเรื่องทักษะที่สังคมต้องรู้และคำนึง เพราะผู้ถูกข่มขืนไม่ใช่เรื่องที่ฝึกหัดได้มาก่อน เพราะมันไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น

ชำแหละเหตุคดี "ข่มขืน" เมื่อสังคมซ้ำเติม"เหยื่อ"ให้รู้สึกผิด

อีกนานแค่ไหนในการจัดการปัญหาการข่มขืนนี้ได้  

เร็วๆนี้น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอันนี้ตอบในส่วนของเหตุการณ์ข่มขืนทั่วทั้งโลก เพราะตอนนี้ UN มีแคมเปญในเรื่องการลดความรุนแรงของผู้หญิง โดยให้เหยื่อเล่าจากมุมตัวเอง ไม่ได้เอาผู้เชี่ยวชาญมาจินตนาการแล้วเล่าอีกต่อไป เพื่อที่เราจะได้ฟังจากเขาได้มากขึ้น และได้ทราบถึงการแก้ไขอย่างแท้จริง ซึ่งกลายเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ถูกบรรจุแล้วในตอนนี้ 

ณ ตอนนี้ทางเพจ thaiconsent กำลังดำเนินการผลักดันเรื่องนี้อย่างไรบ้างให้เกิดขึ้น

เมื่อปี 2018 ในประเทศไทยทางเรามีการจัดงาน E.Quality Talks and ThaiConsent Exhibition และนิทรรศการป๊อปอัพ First Step: BREAK SILENCE เรื่องการยินยอมในเรื่องเพศร่วมกับคนไทยและศิลปินต่างชาติที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองซานฟรานซิสโก ตอนนี้เราก็เดินหน้าต่อในหลักการจุดเริ่มต้นของเพจเราคือ เพื่อต่อสู้ให้ได้รับความยุติธรรมหรืออย่างน้อยที่สุดคือต้องสู้กับมายาคติของสังคม เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกระทำต้องรู้สึกผิดกับตัวเอง 
 

ชำแหละเหตุคดี "ข่มขืน" เมื่อสังคมซ้ำเติม"เหยื่อ"ให้รู้สึกผิด