posttoday

สตาร์ทอัพ อายุน้อย ไอเดียใหญ่

11 มกราคม 2561

นักรบย่อมมีบาดแผล นักธุรกิจวัยหนุ่มสาวก็เจอรอยขีดข่วนมาไม่น้อยกว่าที่จะมีวันนี้

 

ค่านิยมยุคหนึ่งเรียนจบต้องรับราชการเป็นการงานที่มั่นคง มีเกียรติ มีหน้ามีตา ยุคหนึ่งเป็นพนักงานเอกชนรายได้ดี โบนัสก้อนโตดาวน์รถเก๋งคันงามได้เลย ยุคหนึ่งทำงานรับจ้างคนอื่นไหนจะสู้ออกมาเป็นเจ้าของกิจการเอง เป็นอาชีพที่อิสระ เราทำเรารวย ค่านิยมหลังจากพ้นชีวิตวัยเรียนหมุนเวียนผันเปลี่ยนกันไป

หากสิ่งหนึ่งที่วัยเริ่มต้นทำงานมักมีเหมือนกัน คือ การแสวงหา ประสบการณ์ที่ตื่นเต้น ท้าทายความสามารถ และอยากนำเสนอความคิดของตัวเองให้ออกมาเป็นรูปธรรม เรียกว่าเป็นวัยที่ไฟแรง ไอเดียแตกซ่าน และพวกเขาเลือกความสุข หากสิ่งนั้นจะมีความกดดัน ความเสี่ยง แต่ถ้าคือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขก็พร้อมจะลองกับมันสักตั้ง

นักรบย่อมมีบาดแผล นักธุรกิจวัยหนุ่มสาวก็เจอรอยขีดข่วนมาไม่น้อยกว่าที่จะมีวันนี้ ทว่าประสบการณ์ของพวกเขาน่าสนใจ ไอเดียของพวกเขาไปไกลถึงต่างแดน มาทำความรู้จักกับเจ้าของแบรนด์อาหารไทยกึ่งสำเร็จรูป “ไทยวรี่” (Thaivory) และงานเซรามิกที่มีชิ้นเดียวในโลก “ทีละชิ้น” (Treerachin)

ไทยวรี่ พรีเซนต์ รสชาติอาหารไทยแท้

จูเนียร์-ทิพย์วสี กุลมงคล หลังจากเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ (อินเตอร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวัย 23 ปี และ มาร์ค-กฤษฎา พงษ์พันธ์เดชา วัย 24 ปี เรียนจบสาขาการจัดการระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทั้งคู่ตกลงกันทำธุรกิจทันที เพราะเป็นความตั้งใจไว้แต่แรก

หลังจากไอเดียบรรเจิด อยากทำนั่นนี่หลายอย่าง สุดท้ายมาลงตัวที่อุตสาหกรรมอาหาร โดยทิพย์วสี มีความผูกพันกับอาหารไทยมาตั้งแต่เด็ก ส่วนกฤษฎามีแนวคิดอยากทำสินค้าไทยๆ ออกไปสู่ตลาดโลกให้ชาวต่างชาติได้เห็นสิ่งที่ไทยทำ

2 ไอเดียผสานกันจนเกิดแบรนด์ “ไทยวรี่” (Thaivory) อาหารกึ่งสำเร็จรูปอบแห้ง ที่นำเอานวัตกรรมฟรีซดรายมาผลิตสินค้า

 

สตาร์ทอัพ อายุน้อย ไอเดียใหญ่

 

“ความจริงแล้วคุณแม่มีส่วนช่วยให้เกิดไอเดียนี้ เพราะคุณแม่ (ฐนิวรรณ กุลมงคล) เป็นนายกสมาคมภัตตาคารไทย ทำร้านอาหารมา 3 ร้าน จึงทำให้เกิดความสนใจ รวมถึงเห็นเสน่ห์และคุณค่าของอาหารไทยที่ควรนำมาพัฒนาต่อยอดและให้ความสำคัญเพื่อที่จะแชร์ให้คนทั้งโลกเห็นว่าอาหารไทยเป็นของดีที่ควรจะลิ้มลอง” ทิพย์วสี กล่าว

กฤษฎา เล่าถึงที่มาของการทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย “ที่ยังไม่เรียนต่อระดับปริญญาโท ผมเองก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าชอบทางไหน แต่เรื่องการทำธุรกิจเป็นเป้าหมายไว้แต่แรกอยู่แล้วว่า อยากมีแบรนด์ของคนไทยในแบบที่ต่างชาติรู้จัก เพราะส่วนใหญ่ชีวิตประจำวันผมอยู่กับแบรนด์ต่างชาติเยอะ จึงคาดหวังอยากเห็นแบรนด์ไทยไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนต่างชาติบ้าง”   

จากคู่รักเพิ่มเติมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ กฤษฎาบอกไม่กลัวจะทะเลาะกัน เพราะไม่ทำธุรกิจด้วยกันก็ทะเลาะกันอยู่แล้ว “ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้กันมากขึ้น และหาวิธีจัดการกับปัญหา ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่แต่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้”

“ในส่วนของเงินทุนเราใช้วิธีร่วมหุ้นกัน โดยใช้ทุนคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงทุนส่วนตัวด้วย หนูทำงานเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ ส่วนมาร์ครับทำกราฟฟิกดีไซน์ เขาก็มีทุนของตัวเอง

พยายามลงทุนให้น้อยที่สุด เพราะไอเดียนี้เริ่มตั้งแต่เรียนยังไม่จบด้วยซ้ำ ยังขาดประสบการณ์ในเรื่องของการลงทุน ดังนั้นก็พยายามมองหาหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล  (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ทำให้เราสามารถไปใช้สถานที่ของเขาได้ ให้เขาช่วยถ่ายทอดโนว์ฮาว

ฟรีซดรายเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย แต่ในวงการอาหารของต่างประเทศฝั่งตะวันตกอย่างนักบินอวกาศ เขาจะทำอาหารให้มันแห้งเพราะเอาขึ้นไปกินได้ แล้วสามารถเก็บคุณค่าของสารอาหารไว้ได้ และกินสะดวกแค่เติมน้ำ ฝั่งเอเชียเองญี่ปุ่นเริ่มเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างจริงจัง ใช้ในอาหารหลายๆ อย่าง เช่น พวกซุปก้อน

เราพยายามทำแบบบ้านๆ ทำกัน 2 คน ไม่จ้างใครเลย มาร์คบอกว่า อยากทำก็คือทำ เราก็เดินไปคุยกับโรงงานที่มีเทคโนโลยีแบบที่เราต้องการ โรงงานบอกว่าให้ไปทำอาหารมา เราก็ไปทำมาเริ่มจากเดินตลาดสดกันเอง หนูสองคนทำอาหารไม่เป็น แต่พี่เลี้ยงทำอาหารอร่อยมากเลยให้พี่เลี้ยงทำ เราคุมการผลิตเอง หาสูตรที่อร่อยที่สุดมา เสร็จก็ยกหม้อไปโรงงานเลย ด้วยต้นทุนค่อนข้างจำกัด อะไรที่ทำเองได้จะพยายามก่อน รวมไปถึงแพ็กเกจจิ้ง ดีไซน์ การออกแบบ แม้แต่คอนเซ็ปต์ของแบรนด์ก็ออกแบบเอง”

ทิพย์วสี เล่าถึงชื่อแบรนด์ “ไทยวรี่” (Thaivory) “การทำสินค้าที่ยากที่สุดคือการคิดแบรนด์ คำว่า Thai มาจากประเทศไทย กับคำว่า Ivory แปลว่า งาช้าง ช้างหนึ่งตัวมีงาแค่สองอัน งาช้างเป็นของดี เราไม่ควรจะเอาช้างมาฆ่าเรี่ยราด เราควรที่จะรักษาไว้ เหมือนกับอาหารไทยเราควรทำให้ถูกต้อง ก็มาผสมกับคำว่าไทย ก็อ่านออกเสียงเป็น ไทยวรี่ มีคุณค่าเหมือนงาช้าง”

กว่ารสชาติจะนิ่งและเริ่มทำการตลาดวางขายได้ จนตอนนี้มีคู่ค้าจากประเทศเวียดนามแล้ว พวกเขาต้องเจออุปสรรคมามาก

“ตอนแรกๆ รสชาติไม่อร่อย เพราะเราไม่รู้ว่าต้องทำให้รสชาติมันหวานเค็มแค่ไหน จนคิดว่าต้องใส่ผงชูรสไหม ใส่สารกันบูดไหม แต่ใจเราต้องการทำอาหารที่ให้พ่อแม่กินได้ อย่างนั้นต้องทำให้ดี ไม่ใส่ก็คือไม่ใส่ แต่พอไม่ใส่มันทำออกมายาก ทิ้งไปหลายล็อต บางล็อตก็เสีย

ขาดทุนเยอะมาก แต่เข้าใจอยู่แล้วว่าการทำธุรกิจเริ่มแรกมันไม่มีแบบว่า เริ่มปุ๊บได้ปั๊บ ก็ถือว่าเป็นการลงทุนของการเรียนรู้ไปอีกอย่างอาหารไทยมันนานาจิตตัง สิบคนชิมก็พูดไม่เหมือนกัน นี่ก็เป็นปัญหาอีกอย่างในจุดยืนของเรา จนท้ายที่สุดกลับมาคุยกับแม่ว่าจะทำอย่างไรดี แม่บอกว่า การทำอาหารต้องทำให้อร่อยไม่อย่างนั้นคนไม่ซื้อ และทำรสชาติให้เป็นจุดยืนของไทยวรี่ คือ ทรูไทย เป็นยังไงในเมื่อเราอยากเผยแพร่วัฒนธรรมไทยออกไป โดยที่เราทำส้มตำกับต้มยำกุ้งให้อร่อยแบบไทยแท้แต่ไม่เผ็ดมาก ใครๆ ก็รับประทานได้”

ต้มยำกุ้งและส้มตำ คือ อาหารไทย 2 เมนูแรกที่พวกเขาเลือกทำ “ตามวิสัยทัศน์ของแบรนด์อยากทำอาหารไทยที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ด้วยความที่ฟรีซดรายเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก เราก็อยากทำอาร์แอนด์ดี (Research And Development) ให้มั่นใจก่อนว่าอาหารอร่อยจริงๆ แล้วสามารถเก็บได้นาน

วัตถุดิบเราก็เลือกจากแหล่งที่ดีที่สุด กุ้งสดไม่แช่แข็ง มะละกอดำเนิน พริกจากกาญจนบุรี น้ำตาลมะพร้าว กระเทียมไทยกลีบเล็ก ข่า ตะไคร้ใช้สีชมพู เราต้องการให้วัตถุดิบทุกอย่างกินได้ต้องเลือกอ่อนๆ หั่นชิ้นพอดีคำ”

ใช้เวลาอยู่แรมปี ตอนนี้ไทยวรี่ ผลิตสินค้าเดือนละเกือบ 2 แสนกล่อง กฤษฎา บอกว่าตอนนี้ธุรกิจอยู่ในช่วงขยายฐาน “ยังมีค่าแพ็กเกจจิ้ง ค่าที่ดีลกับซัพพลายเออร์หลายๆ อย่าง ยังต้องลงทุน เหมือนที่บอกว่าธุรกิจแรกเริ่มเป็นไปได้ยากมากที่จะกำไรเลย ไม่คิดว่าจะใหญ่ขนาดนี้ จากเด็กมหาวิทยาลัยที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะมาขายเป็นตู้คอนเทนเนอร์”

ทิพย์วสี ตอบคำถาม การที่สตาร์ทอัพได้เร็วเพราะมีทุนของพ่อแม่ หรือพ่อแม่คอยหนุนให้หรือเปล่า “จริงๆ มันพูดยากแต่ต่อให้พ่อแม่หนุนให้ทุกอย่าง แต่คนเป็นลูกไม่อยากทำ เจออุปสรรคทุกวัน ไม่มีแพสชั่นที่อยากทำก็เท่านั้น สิ่งสำคัญคือคนที่ทำมีกำลังใจเริ่ม เพราะตอนเริ่มหนูก็ได้มาร์ค มาร์คบอกอยากเริ่มก็เริ่มเลย มาร์คบอกว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เริ่ม เป็นคำพูดง่ายๆ ของคนที่อยากเริ่มธุรกิจ”

กฤษฎา กล่าวเสริมว่า “ในส่วนของทฤษฎีการเรียนกับโลกของความจริงคนละอย่างเลย ต้องมานั่งทำบัญชี ทำภาษี ทั้งต้องคิดหลายๆ เรื่องเพราะไม่เหมือนกับที่เราเคยเรียน และไม่เหมือนกับที่คนอื่นๆ เขาพูดมา แต่การที่เราเริ่มทำธุรกิจเร็ว เราจะได้ประสบการณ์ตรงแน่นอน เพราะต่อให้เราทำงานบริษัท เราไม่มีทางรู้หมดอยู่ดี เพราะเราทำแค่ตำแหน่งๆ หนึ่ง แต่การที่เราได้เรียนรู้สิ่งที่เราอยากทำได้ต่อยอดอะไรหลายๆ อย่างเร็วขึ้น ต้องแลกมาพร้อมความเหนื่อย ด้วยเพราะทุกอย่างยังใหม่ หรือหลายๆ เรื่องที่รู้มาก็ปรับใช้ในความเป็นจริงได้ไม่เต็มที่ จึงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่เราจะเรียนรู้”

“เหมือนที่มาร์คบอกให้เริ่มจากอะไรที่ใกล้ตัวก่อน พอเราเริ่มที่ใกล้ตัวเราจะมีคนให้ถามเยอะแยะ มีคนให้หาข้อมูลเต็มไปหมด ฝรั่งเขาจะบอกว่า Don’t Afraid To Ark ถ้าไม่รู้ You Just Ark, Just Ark แค่ถามเท่านั้นเอง มันไม่ผิดแล้วยิ่งคนที่อายุน้อย คนเขายิ่งอยากบอก อยากสอนเราด้วยซ้ำ เพราะถ้าเราไม่ถาม ไม่รู้ เราก็จะไม่รู้ต่อไป เราไม่รู้ เราไม่ลอง ก็จะไม่รู้ต่อไป พยายามเรียนรู้อะไรเยอะๆ แล้วก็อย่าหยุดพัฒนาเท่านั้นเอง” จูเนียร์ กล่าว

ไทยวรี่ มีวางจำหน่ายที่ตลาด อ.ต.ก. ขายออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก ชื่อ Thaivory อาหารไทยกึ่งสำเร็จรูป และออกบูธที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดขึ้น เพราะกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติที่อยากลิ้มรสอาหารไทย และตอนนี้กำลังเจาะกลุ่มคนไทยที่ต้องเดินทางไปเที่ยวหรือพำนักยาวอยู่ต่างประเทศ เพราะอาหารไทยใครได้ลิ้มรสก็ติดใจ คนไทยเองไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็คิดถึงรสมือแม่ที่บ้านกันทั้งนั้น

 

สตาร์ทอัพ อายุน้อย ไอเดียใหญ่

 

 

ปั้นทีละชิ้นกับมือ แต่งแต้มด้วยความสุข

Cafe Talay ย่าน Sai Ying Pun ฮ่องกง ร้าน Megafash ประเทศสิงคโปร์ และ Pinkoi เว็บไซต์ไต้หวัน คือ สถานที่ที่มีสินค้าแบรนด์ “ทีละชิ้น” (Treerachin) เซรามิกแฮนด์เมด ที่การันตีด้วยคำว่า เมด อิน ไทยแลนด์ จัดจำหน่าย ยิ่งสินค้าแต่ละแบบมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ความสนใจและความต้องการของผู้ซื้อชาวเอเชียยิ่งสูงขึ้น

ส่งผลให้เซรามิกแบรนด์ทีละชิ้นติดตลาด แม้จะมีราคาสูงกว่างานเซรามิกเจ้าอื่น แต่ด้วยไอเดียที่ไม่เหมือนใคร ทำทีละชิ้น แบบละชิ้น เสมือนการสร้างงานศิลปะบนเซรามิก ทั้งประติมากรรมและจิตรกรรม ซึ่งราคาย่อมเยานักเมื่อได้มาครอบครอง

ณิชา เตชะนิรัติศัย คือ ผู้สร้างทีละชิ้น ตั้งแต่เธออายุ 22 ปี ทำไปพร้อมๆ กับทำงานประจำในตำแหน่งอินทีเรียร์ดีไซน์ จนตอนนี้อายุ 26 ทีละชิ้นเป็นงานเดียวที่เธอทำและสร้างรายได้ให้เธอได้มากกว่างานประจำ แม้ช่วงแรกๆ จะหกล้มหกลุกมาก แต่เพราะความเชื่อว่าการสร้างงานศิลปะ ที่ไม่ใช่งานแมส คุณค่าและมูลค่าของมันย่อมเป็นที่คู่ควร

หลังจากเรียนจบจากสาขาสถาปัตยกรรมภายในคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณิชาทำงานประจำและได้ไอเดียเริ่มต้นธุรกิจจากการเลือกข้าวของไปตกแต่งคอนโด

“เวลาซื้อของมาแต่งห้อง ก็จะซื้อมาเก็บด้วย เพราะมันสวยแปลกดี พอเริ่มเยอะก็เอาไปขายที่เจเจกรีน ขายดีมาก ก็เริ่มเกิดไอเดียไปซีเล็กต์ของมาขาย ทำได้สักพักของที่ซีเล็กต์ไม่ได้มีตามที่เราต้องการ ก็เริ่มอยากทำเอง เริ่มศึกษาที่ไหนสอนบ้าง มีเทคนิคยังไง ตอนนั้นงานเซรามิกซบเซา คนไม่ค่อยทำกัน คู่แข่งน้อย และเราชอบเซรามิกที่มีเทคนิคหลากหลาย

ระหว่างศึกษาก็ทำงานประจำอยู่ เริ่มทำเองคือกระถางต้นไม้เพราะทำง่ายสุด ใช้เวลาเผาไม่นาน ตอนนั้นมีทุนไม่มาก ร้านข้างๆ ขายต้นไม้ คนนิยมเลี้ยงกระบองเพชร ก็มาซื้อของเรา ขายดีแต่รายได้ยังน้อยกว่าเงินเดือน เพราะเราทำแค่เสาร์-อาทิตย์หรือหลังเลิกงาน ก็เริ่มเกิดความคิดถ้าเราทำทุกวันล่ะ”

ณิชาตัดสินใจลาออกจากงาน เธอหลงรักในสิ่งที่ทำ เธอปลดแอกความกดดันจากงานประจำ ค่อยๆ ลงมือปั้นทีละชิ้นๆ ขีดเขียนสีลงทีละนิดๆ ยิ่งทำมากฝีมือยิ่งรุดหน้า ยิ่งคนซื้อแสดงออกชัดเจนว่าปลื้มกับสินค้า ความสุขถ่ายทอดมาถึงเธอ และเธอรับมันด้วยหัวใจพองโต

“เราไม่ได้ขายงานแมส คนที่มาซื้อก็คนละกลุ่มกัน เขาดีใจแฮปปี้ที่ได้สินค้าของเรา และเขากลับมาซื้ออีกครั้ง ซึ่งเป็นโจทย์ที่เลือกทำแค่ชิ้นเดียว

ตอนทำงานประจำเรามีความกดดันแต่ก็มีคนคอยจัดการให้ แต่พอทำธุรกิจเองเรารับความกดดันเองเต็มๆ อย่างลูกค้าสั่งของชิ้นเดียว เราต้องทำ 5 ชิ้น เพื่อไม่ให้งานเสียหาย เพื่อให้ส่งของตามกำหนดเวลา เรายอมรับความเสี่ยงอีก 4 ชิ้นเอง แล้วพอเขารับสินค้าเขาแฮปปี้ ความกดดันสิ่งที่เราทำมามันคุ้ม งานมันจบเป็นโพรเซสๆ ไป ตอนทำงานประจำงานหนึ่งใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี มีความเครียดมันมีสะสมทุกวันๆ”

นอกจากปั้นเซรามิกขายออกบูธตามงานต่างๆ และในประเทศไทยมีวางขายที่พารากอนชั้น 4 โซนลิฟวิ่ง Naiipa Art Complex พระโขนง และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ชั้น 6 โซนโอเพ่นเฮาส์ ณิชา ยังเปิดสตูดิโอรับสอนปั้นเซรามิกที่สุขุมวิท 103/1

ทุกวันนี้กลุ่มลูกค้าหลักของเธอคือ นักท่องเที่ยวชาวเอเชีย และการส่งทีละชิ้นไปยังต่างประเทศ “สำหรับการดีลธุรกิจถ้าพูดกันแบบเพื่อนจะทำให้ดีลง่ายกว่า ต้องพูดคุยกันแบบตรงๆ ว่า อยากได้อะไร ราคาเท่าไหร่ เอาไปขายเท่าไหร่ ลูกค้าที่เลือกทำธุรกิจด้วยต้องมีความจริงใจต่อกัน เพราะของที่เราทำขายเราทำด้วยความจริงใจ ในอนาคตจะไม่เกิดปัญหาต่อกัน”

ตอนนี้รายได้ต่อเดือนมากกว่างานประจำที่ทำ หากแต่ละเดือนก็ทำรายได้มากน้อยต่างกัน ดังนั้นนอกจากการจัดการสินค้าแล้ว ณิชายังต้องบริหารการเงินด้วย แต่เธอบอกเสียงหนักแน่นว่า มีความสุขในสิ่งที่ทำ