posttoday

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่เปี่ยมด้วยความรัก สุพจน์ หลี่จา

22 ตุลาคม 2560

อีกหนึ่งบุคคลที่ทำให้เรารู้จักชุมชนหมู่บ้านปางสา

โดย สมแขก

อีกหนึ่งบุคคลที่ทำให้เรารู้จักชุมชนหมู่บ้านปางสา และทำให้ภาพรอยพระบาทที่ดำเนินผ่านชุมชนชาวเขาแห่งนี้ได้ดีขึ้น ก็คือ จะแฮ-สุพจน์ หลี่จา ผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะ เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เขามีโอกาสได้รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะนั้นจะแฮยังเด็กเกินกว่าจะจดจำรายละเอียดและรับรู้เรื่องราวต่างๆ อย่างรางเลือน

ความทรงจำของหนุ่มลีซูคนนี้ที่จดจำได้ก็คือ ในหลวงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากเรียนหนังสือและภาพในวัยเด็กเริ่มแจ่มชัดขึ้นต่อเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการศึกษานอกระบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แล้วได้กลับมาทำงานร่วมกับชาวชาติพันธุ์ เขาจึงเริ่มเสาะหาเรื่องราวของพระองค์ท่าน ตลอดจนแนวทางที่พระองค์พระราชทานไว้ให้แก่ชาวชาติพันธุ์ นั่นคือ เศรษฐกิจพอเพียง

จะแฮ บอกว่า สิ่งที่เขาได้ยินตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโตขึ้น ก็คือความเมตตาและความรักที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีให้ชาวชาติพันธุ์ “คนรุ่นเก่าพูดอยู่เสมอว่า ถ้าไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 พวกเขาเหล่านั้นไม่รู้จะมีชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตดีงามได้อย่างไร เขาซาบซึ้งที่พระองค์ท่านทรงตรากตรำเข้าไปหาเขาในพื้นที่ เสวยพระกระยาหารแบบเดียวกับชาวชาติพันธุ์ ความซาบซึ้งกลายเป็นความเชื่อและศรัทธา รักหวงแหนต่อในหลวงรัชกาลที่ 9”

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่เปี่ยมด้วยความรัก สุพจน์ หลี่จา

ความภาคภูมิใจก่อตัวขึ้นหนาตัวจนกลายเป็นปณิธานที่จะดำเนินรอยตามพระราชาในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง “ภาพจำในหลวงของผม ต้องบอกว่าตอนที่พระองค์ท่านเสด็จมาที่หมู่บ้านปางสา ผมยังตัวเล็กอยู่ ได้เห็นภาพต่างๆ แม้ไม่ได้ใกล้ชิด ณ วันนั้นผมอาจไม่รู้ว่าพระองค์ท่านรับสั่งอะไรบ้าง แต่เพราะพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนหนังสือ และความโชคดีของผมคือมีโอกาสได้เรียนหนังสือ เป็นคนรุ่นแรกที่ได้เรียนหนังสือ และจบปริญญาตรีและปริญญาโทคนแรกในชุมชนหมู่บ้านปางสา แล้วก็ได้มาศึกษาสิ่งที่ในหลวงตรัสในวันเวลาที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มา

ถามจากคนเฒ่าคนแก่ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 มาทำอะไรไว้ให้ พอรู้ก็มาถอดความทำงานสืบสานเจตนารมณ์ของพระองค์ท่านทำทุกอย่างที่ในหลวงทรงเคยทำไว้ สิ่งหลักคือเราจะทำให้คนได้ระลึกถึงบุญคุณของพระองค์ท่าน เช่น ในหลวงให้ชุมชนผลิตอาหารที่ปลอดภัยเพื่อ

ริโภคในครัวเรือน เราก็ทำตามในเรื่องสวนผักของพ่อ มีผ้าป่าพันธุ์พืชเพื่อแจกจ่ายให้คนไปปลูกแบ่งปันในการบริโภคอาหาร มีมหกรรมอาหารชนเผ่า ในหลวงทรงประทับใต้ต้นแขริมแม่น้ำจันทน์ โครงการก็รื้อฟื้นให้ชุมชนรักษ์น้ำและอนุรักษ์พันธุ์ปลามากขึ้น เพื่อให้มีอาหารที่มีโปรตีน ในหลวงเสด็จฯ มาที่โรงเรียนที่เราเรียนหนังสือ ทุกวันนี้โรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนเรียนหนังสือมากขึ้น และผมก็เป็นตัวอย่างว่าไปเรียนหนังสือและกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่เปี่ยมด้วยความรัก สุพจน์ หลี่จา

ส่วนตัวเองก็ดำเนินชีวิตตามรอยในหลวง ผมมีพื้นที่การเกษตรของตัวเอง ปลูกพืชไม่ใช้สารเคมีใดๆ มีชีวิตที่เรียบง่าย เพาะปลูกทำการเกษตรเพื่อหล่อเลี้ยงชีพในครอบครัวและแบ่งปันไปสู่คนในชุมชนและสังคม เพราะเราสอนคนอื่นเราก็ต้องทำให้เห็นด้วย เป็นตัวอย่างที่ดีงาม ใช้มิติความรักความเมตตา สอดคล้องกับภูมิปัญญา ผมมองว่าสื่อที่ดีงามที่สุดคือสื่อบุคคล เมื่อเราสามารถเป็นสื่อบุคคลได้ ก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้พื้นที่เป้าหมายต่างๆ ในกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์กับพี่น้องทั่วประเทศ

ความหมายที่พระองค์ท่านพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เฉพาะเรื่องอาหาร สิ่งที่แฝงอยู่ในนั้นคือเรื่องของความรัก ความเอื้ออาทร ความเมตตาของในหลวงแฝงเพื่อให้ทุกคนมีความรัก ความสามัคคี เห็นใจผู้อื่น มีความเอื้ออาทรกัน สามารถดำรงชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมที่งดงาม มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ นี่คือสิ่งที่ในหลวงได้แฝงไว้กับระบบเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น หน้าที่ของผมก็คือการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความรัก ความสามัคคี ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 นี่คือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมต้องกลับมาทำงานในชุมชนของตนเอง และรวบรวมขยายสื่อสารกับคนในตำบล ในอำเภอ ให้คนมีความรักและระลึกถึงบุญคุณของพระองค์ท่าน”

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่เปี่ยมด้วยความรัก สุพจน์ หลี่จา

จะแฮ เล่าในสิ่งที่เขาทำและเผยความรู้สึกของชาวชาติพันธุ์ หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตครบ 1 ปี “ในหลวงได้มอบความรักเป็นมรดกที่สำคัญที่ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ นั่นคือสิ่งที่พวกเรายึดมั่นมาตลอด สิ่งที่เราสื่อสารออกไปกับคนรุ่นใหม่ ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเต็มไปด้วยความรัก โดยใช้หลักเหตุผล สิ่งที่ในหลวงแฝงไว้คือความรักความเมตตา การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข พี่น้องชาติพันธุ์เองก็ได้รับรู้

เท่าที่ผมได้ทำงานและพูดคุยกับชาวบ้าน แม้ว่าวันนี้ในหลวงไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว สิ่งที่พวกเรายึดมั่นและสืบทอดจากความรักความเมตตา สิ่งที่จับต้องได้ที่สุดคือการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำรัสตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อย่างที่นาที่ในหลวงพระราชทานให้ พวกเราจะดำรงและใช้ประโยชน์จากผืนดินแห่งนี้ในการผลิตอาหาร เลี้ยงลูก เลี้ยงดูครอบครัว ไปสู่ลูกหลานตราบนานเท่านาน”