posttoday

รักลูก ต้องสอนเรื่องเงิน

18 กรกฎาคม 2560

เด็กๆ เปรียบเสมือนผ้าขาว ครอบครัวคือโรงเรียนแห่งแรกของพวกเขา พ่อแม่คือครูคนแรกที่จะเริ่มวางรากฐานของทุกวิชา

เรื่อง ภาดนุภาพ รอยเตอร์ส

เด็กๆ เปรียบเสมือนผ้าขาว ครอบครัวคือโรงเรียนแห่งแรกของพวกเขา พ่อแม่คือครูคนแรกที่จะเริ่มวางรากฐานของทุกวิชา และช่วยให้พวกเขารู้จักการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้

ถ้าเปรียบกับการสร้างบ้าน พ่อแม่หรือครอบครัวก็คือผู้วางรากฐานของบ้านหลังนี้ หากวางรากฐานไว้ดี ลงเสาเข็มอย่างมั่นคง บ้านหลังนี้ก็จะมั่นคงแข็งแรงตลอดไปในอนาคต แม้ต้องเผชิญกับพายุ ฟ้าฝนอย่างไร ก็จะยืนหยัดได้อย่างมั่นคง

เช่นเดียวกับเด็กๆ หากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวช่วยกันปลูกฝังนิสัยและพฤติกรรมต่างๆ ในทางที่ดี ที่ถูก ที่ควร ให้กับเขาตั้งแต่เริ่มแรก ก็จะช่วยให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นด้วยความพร้อมที่จะรับอีกหลายสิ่งหลายอย่างในสังคม สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร และอยู่รอดในสังคมได้อย่างปลอดภัย

หลายคนคงได้ยินข่าวคราวปัญหาด้านการเงินของคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนเป็นเหตุให้เสียอนาคต เสียชีวิต ครอบครัวเดือดร้อน และอื่นๆ กันมาบ้าง โดยมุ่งประเด็นไปที่เครื่องมือการใช้เงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตก็ดี เงินกู้ส่วนบุคคลต่างๆ ก็ดี ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว

แต่ก็ต้องยอมรับว่า เครื่องมือเหล่านี้มีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ หากดูกันให้ลึกจริงๆ ปัญหาอยู่ที่พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของแต่ละคนมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่บางคนคิดว่าตัวเองพยายามเป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว ทำไมลูกไม่เอาอย่าง

การเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องสอนด้วย เพราะสังคมปัจจุบันนี้มีสิ่งยั่วยุมากมาย และต้องยอมรับว่าลัทธิเอาอย่างยังไม่หมดไป หากเด็กไม่ได้รับการสั่งสอนและปลูกฝังที่ดีมาตั้งแต่เล็กก็อาจหลงทางได้ เรื่องการเงินง่ายๆ ที่น่าจะปลูกฝังนิสัยการออมและการใช้เงินให้ลูกตั้งแต่เด็กๆ คือ

สอนให้ลูกรู้จักการเก็บออมตั้งแต่อายุยังน้อย

ด้วยวิธีง่ายๆ โดยหากระปุกออมสินสัก 1 กระปุก แล้วสอนให้พวกเขารู้จักเก็บออมด้วยการหยอดเงินใส่กระปุกออมสินเก็บไว้เมื่อมีญาติผู้ใหญ่ให้เงิน และหากเก็บได้จำนวนมากพอก็อาจเปิดบัญชีธนาคารฝากเงินไว้ให้ลูก โดยทุกครั้งจะต้องสอนและบอกให้ลูกทราบว่า จากการหยอดกระปุกวันละไม่กี่บาทของเขา จะทำให้มีเงินมากขึ้นได้ในอนาคต

สอนให้เขารู้จักการใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่าของเงิน

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นและเข้าเรียนชั้นประถมจะได้รับเงินค่าขนม เริ่มด้วยการให้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขยับขึ้นเป็นลำดับเมื่อเขาโตขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ลูกรู้จักการบริหารเงินที่ได้รับให้เพียงพอในการใช้จ่าย ควรแนะนำให้เขามีเหลือไว้เก็บออมด้วย เพื่อฝึกให้เขามีวินัยในการออมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวัยดังกล่าวเด็กอาจต้องการได้ของเล่นหรือสิ่งของอื่นๆ ควรสอนให้เขารู้จักการเก็บเงินเพื่อซื้อเอง จะช่วยให้เขาเห็นคุณค่าของการเก็บเงินและรู้ค่าของเงิน รู้จักการรอคอย มีความอดทน ในกรณีของบางอย่างที่เขาอยากได้และเห็นว่ามีประโยชน์ พ่อแม่ก็อาจให้กำลังใจโดยการช่วยเพิ่มเงินบางส่วนสมทบให้ แต่อย่างไรก็ตาม เงินส่วนหนึ่งต้องเป็นเงินจากการออมของเขา

สอนให้ลูกรู้จักการจดบันทึกรายการใช้จ่าย

เมื่อเริ่มเรียนระดับมัธยมควรแนะนำให้ลูกรู้จักการจดบันทึกค่าใช้จ่ายของเขา เพื่อฝึกให้เขารอบคอบเรื่องการใช้จ่ายเงิน รู้จักบริหารเงินและทราบที่มาที่ไปของเงิน ตลอดจนใช้เงินอย่างรู้คุณค่า เรื่องการออมก็ยังเน้นเหมือนเดิม เพราะหากเขาอยากได้ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาจะต้องรู้จักเก็บเงินซื้อเอง ซึ่งช่วงวัยนี้ก็อาจเก็บด้วยการฝากธนาคาร

สอนให้รู้จักการลงทุน

เมื่อลูกเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยหรือจบออกมามีงานทำ มีเงินเดือน ก็อาจสอนให้เขารู้จักการบริหารเงิน แบ่งเป็นเงินสำหรับเก็บ เงินลงทุน เงินใช้จ่ายประจำวัน สำหรับการลงทุนให้เน้นที่ไม่เสี่ยงมาก เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น และสอนให้รู้จักตั้งเป้าหมายในการออมเพื่อจะไปให้ถึงจุดหมาย เช่น ถึงอายุ 25 ปี อยากเก็บเงินให้ได้ 5 แสนบาท เป็นต้น

ถ้าทุกครอบครัวช่วยกันคนละไม้คนละมือ ปลูกฝังนิสัยการออมและการใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่าของเงินให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็กๆ พวกเขาก็จะได้ไม่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องการเงินเมื่อเติบโตขึ้น

พ่อแม่หลายคนที่ชอบตามใจลูก จะด้วยเหตุผลว่าเคยลำบากมาก่อน หรือรักลูกมากเกินเหตุ ลูกอยากได้อะไรก็จะรีบซื้อให้ทุกอย่าง นี่แหละจะทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าของเงิน และใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็อาจก่อปัญหาด้านการเงินในอนาคตได้