posttoday

ภาพถ่าย เปิดประวัติศาสตร์ไทย

22 กันยายน 2559

มีเสียงค่อนขอดออกมาอยู่เสมอว่า คนไทยชอบเข้าห้างสรรพสินค้ามากกว่าพิพิธภัณฑ์ ชอบดูหนังฟังเพลงมากกว่างานศิลปะแขนงที่ต้องจัดโชว์ในหอศิลป์ต่างๆ

โดย...นกขุนทอง

มีเสียงค่อนขอดออกมาอยู่เสมอว่า คนไทยชอบเข้าห้างสรรพสินค้ามากกว่าพิพิธภัณฑ์ ชอบดูหนังฟังเพลงมากกว่างานศิลปะแขนงที่ต้องจัดโชว์ในหอศิลป์ต่างๆ และไม่ใคร่สนใจในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์บ้านเมืองของตัวเอง แต่ ณ ขณะนี้ใจกลางกรุงเทพมหานคร นิทรรศการ “ฉายาลักษณ์สยาม” ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ภาพถ่ายโบราณ พ.ศ. 2403-2453 (Unseen Siam-Early Photography 1860-1910) กำลังเป็นที่สนใจ มีผู้คนทั้งไทยและต่างชาติเข้าไปชม และสิ่งที่ปรากฏนั้นก็สร้างความตื่นตาตื่นใจ เพราะทุกภาพล้วนแล้วแต่มีเรื่องเล่าและเป็นภาพที่ไม่ค่อยปรากฏให้ได้เห็นมาก่อน เป็นภาพอดีตของแผ่นดินสยาม เป็นภาพพระมหากษัตริย์สยาม วิถีชีวิตชาวสยาม ฯลฯ ภาพเมื่อครั้งกาลก่อนที่จะสามารถพาเราย้อนเวลากลับไปและคืนกลับมาตระหนักถึง ณ ปัจจุบันกาล

ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ ในฐานะผู้จัดร่วมและหนึ่งในภัณฑารักษ์ (พิชญา ศุภวานิช-ภัณฑารักษ์ร่วม) กล่าวว่า ภาพโบราณที่นำมาพิมพ์และขยายจัดแสดงครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นภาพที่ถูกแปลงเป็นดิจิทัลแล้ว จากคอลเลกชั่นในยุโรป ส่วนใหญ่มาจากประเทศเยอรมนีและเบลเยียม และบางภาพมาจากฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรียและเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีภาพบางส่วนมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันนับเป็นผลงานที่ไม่คุ้มครองด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์

ส่วนความสำคัญของนิทรรศการ คือ รวมผลงานของช่างภาพถึง 15 ท่าน เป็นนิทรรศการครั้งแรกที่จัดแสดงภาพโบราณของไทยที่ส่วนใหญ่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นภาพถ่ายที่เก็บรักษาในต่างประเทศทุกภาพ บางภาพอาจจะมีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์บ้าง แต่นี่คือสำเนาภาพที่อัดขยายจากภาพต้นฉบับทุกภาพ และเป็นนิทรรศการที่แสดงภาพถ่ายโบราณตั้งแต่เมื่อแรกมีการถ่ายภาพในเมืองไทย จนสิ้นรัชกาลที่ 5 หรือประมาณ 50 ปีของพัฒนาการการถ่ายภาพในสยาม (คัดเลือกภาพโดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ และไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์)

ภาพถ่าย เปิดประวัติศาสตร์ไทย

ชีวิต แบบบ้านแปงเมือง วัฒนธรรม

ความน่าสนใจของนิทรรศการคือ การคัดเลือกภาพที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อนในเมืองไทย รวม 150 ภาพ จากฝีมือของช่างภาพที่กลายเป็นตำนานระดับโลก ประกอบด้วย บาทหลวงลาร์โนดี, เฟเดอร์
เจเกอร์, ปิแอร์ รอซิเอร์, คาร์ล บิสมาร์ค, ฟรานซิส จิตร, จอห์น ทอมสัน, เฮนรี่ ชูเรน, กุสตาฟ ริชาร์ด แลมเบิร์ต, แม็กซ์ มาร์ติน, วิลเลียม เคนเนท ลอฟตัส, ฟริทซ์ ชูมานน์, โจคิม แอนโทนิโอ, โรเบิร์ต เลนซ์, เอมิล กรูท และ ไคชิ อิโซนากะ

มีการแบ่งหมวด ได้แก่ หมวดภาพบุคคล (Portrait) ภาพที่ถ่ายในสตูดิโอของช่างภาพนั้นๆ มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 หลายภาพ พระฉายาลักษณ์หรือพระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพขุนนางหรือข้าราชการ ชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการหรือทำงานในสยาม ตลอดถึงราษฎรทั่วไปในพระนครและหัวเมืองเกือบ 60 ภาพ รวมถึงภาพนู้ดยุคแรกอันเป็นมุมมองอันละเอียดอ่อนที่ช่างภาพต่างประเทศได้เก็บประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ได้สวยงามน่าทึ่งมาก

หมวดพระราชพิธีหรือเหตุการณ์สำคัญ เช่น พระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย คือ เป็นภาพพระเมรุมาศกลางท้องสนามหลวง พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีลงสรงสนานและเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรก ภาพเหตุการณ์การเสด็จเยือนสยามของมกุฎราชกุมารรัสเซีย เป็นอาทิ

ภาพถ่าย เปิดประวัติศาสตร์ไทย

 

หมวดนาฏศิลป์และการแสดง โขนละครลิเกนับเป็นสิ่งที่ช่างภาพแต่ละท่านให้ความสนใจ เช่น ภาพถ่ายของ โจคิม แอนโทนิโอ ภาพกลุ่มนางละครรำถวายมือ คณะละครเด็กผู้หญิงซึ่งมีใบหน้าขาวจากการประแป้ง ร่ายรำในท่าเดียวกัน ด้านหลังมีนักแสดงรำชายสวมหัวม้า ตัวละครในคณะทั้งหมดจะออกมารำ “ถวายมือ” เพื่อเป็นการบูชาครูก่อน ตัวละครในภาพตั้งท่าเดียวกัน คือ ท่ากินนรรำ (ท่ารำกระบี่สี่ท่าหรือท่าจีบยาว) ซึ่งเป็นท่ารำหนึ่งในกระบวนเพลงเร็ว สันนิษฐานว่า ตัวละครเหล่านี้กำลังรำเพลงช้าเพลงเร็วเพื่อถวายมือ ซึ่งธรรมเนียมการรำถวายมือนี้ยังคงปรากฏในการแสดงสมัยปัจจุบัน เช่น ในละครชาตรีหรือลิเก

หมวดวิถีชีวิตชนชาวสยาม ส่วนใหญ่เป็นภาพหาชมยาก เนื่องจากช่างภาพหลายท่านไม่ได้พำนักอยู่ในเมืองไทยนานพอที่จะออกไปถ่ายภาพเหล่านี้ ภาพที่มาจัดแสดงจึงหาชมยาก โดยเฉพาะชาวบ้านร้านตลาดในหัวเมือง และหมวดสถาปัตยกรรม ทิวทัศน์และวัดวาอาราม ภาพที่มาจัดแสดงมีที่น่าสนใจเป็นภาพมุมกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาหลายภาพ ที่ถ่ายในหลายช่วงของแม่น้ำ นับตั้งแต่บริเวณถนนตกมาจนถึงบริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเราจะได้เห็นพัฒนาการของการขยายเมืองหลวงตั้งแต่ยุคนั้น เปรียบเทียบกับปัจจุบัน ได้เห็นชุมชนริมแม่น้ำที่เป็นเรือนแพและเรือนไทยมากมาย ได้เห็นการสัญจรทางน้ำที่คับคั่ง ยังมีภาพวัดวาอารามหลายแห่งที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน อย่างพระปรางค์วัดอรุณ คือ สิ่งที่ช่างภาพทุกท่านต้องไปถ่ายในสมัยนั้น ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของวัดนี้ได้อย่างชัดเจน

ภาพถ่าย เปิดประวัติศาสตร์ไทย

 

ศึกษา รักษา สืบสาน จากภาพเก่าสู่อนาคต

ภาพโบราณได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อในมุมมองร่วมสมัย ด้วยผลงานของศิลปินทำให้เห็นมิติและความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปของเมือง ผู้คน เศรษฐกิจและสังคม วิถีชีวิตการสัญจรทางน้ำและบก ศิลปะการแสดง รวมไปถึงเทคโนโลยีการถ่ายภาพ ที่สำคัญสร้างวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ที่ต่อยอดการตีความ และเป็นการสืบต่ออายุภาพเหล่านี้

เอนก นาวิกมูล นักวิชาการอิสระด้านภาพถ่ายเก่าและผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้บรรยายถึงภาพเก่าว่า “ผมในฐานะคนที่สนใจเรื่องภาพเก่า เมื่อปี 2520 ผมได้ไปดูภาพเก่าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตรงท่าวาสุกรี มีภาพเก่าทั้งของรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ขุนนาง รวมทั้งภาพทิวทัศน์บ้านเมือง นั้นเป็นการจุดชนวนว่า ถ้าเราได้ค้นคว้าเรื่องภาพเก่าของเมืองไทยน่าจะเป็นการดี ปกติผมชอบชำระเรื่องพวกนี้ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรในเมืองไทยและพัฒนามาอย่างไรบ้าง อีกแห่งที่ผมเคยไปดูแล้วชอบใจ คือ หอสมุดดำรงราชานุภาพ ตรงหลานหลวง ในนั้นมีอัลบั้มเก่าที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ถ่าย และมีภาพของช่างภาพฝรั่งและภาพถ่ายรัชกาลที่ 5 ได้ถ่ายไว้ ทำให้เราได้ทราบว่าในประเทศไทยภาพถ่ายเก่ามีแหล่งเก็บ 2 แห่งนี้เป็นหลัก ถ้าทางภาคเหนือเท่าที่ทราบเก็บไว้เยอะที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ แต่ผมยังไม่เคยไปดู

ในปี 2555 ผมได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ (ชาวต่างชาติ) ที่ฝังตัวในยุโรป ได้ไปเจอภาพเก่าแปลกๆ เยอะมาก ท่านโทรศัพท์มาว่าอยากเจอผม มีภาพจากอังกฤษ เบลเยียม เยอรมนี เอามาให้ดู ผมเห็นตกใจมาก อาจารย์ไปค้นภาพแปลกมาได้ยังไง หลายร้อยภาพที่ผมไม่เคยเห็น นักสะสมภาพในไทยเองคงไม่เคยเห็น อย่างภาพถ่ายของบาทหลวงลาร์โนดี ถ่ายภาพรัชกาลที่ 4 นั่งกับเครื่องบรรณาการจากฝรั่งเศส ภาพของปิแอร์ รอซิเอร์ เป็นภาพตัวละครนั่งบนเสื่อ คือมีการจัดฉาก ช่างภาพฝรั่งเขาทำอะไรน่าสนใจ เขาจะถ่ายหลายๆ ชีวิต ทั้งกษัตริย์ ตัวละคร ขุนนาง ชาวบ้าน มีการจัดฉากเป็นเรื่องเป็นราว 

ภาพถ่าย เปิดประวัติศาสตร์ไทย

 

โรเบิร์ต เลนซ์ ก็ถ่ายพ่อค้า เจ้าของโรงสีริมแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของไทย มีประโยชน์อะไรบ้าง ในยุคนี้เรากินบุญเก่าเยอะ นักท่องเที่ยวมาทั้งไทยและเทศส่วนใหญ่ก็ไปวัด วัง ซึ่งล้วนเป็นสถานที่คนรุ่นเก่าสร้าง นอกนั้นทางธรรมชาติ พอยุค 2500 รัฐบาลตั้งแต่ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านค่อนข้างพัฒนา รื้อของเก่าทิ้งเยอะ โดยเฉพาะวัดวาอาราม มีการรื้อมากขึ้นจนปัจจุบันรื้อทั่วประเทศ ทำให้สิ่งเก่าหายไป พอเรามาโหยหาอดีตอยากสร้างแบบเก่าทำท่าจะยาก อันนี้แหละ คือภาพถ่ายเก่าเข้ามาเสริม โดยเฉพาะสถาปนิกที่นำแนวทางจากภาพเก่าไปสร้างสิ่งเหมือนเก่าขึ้นมา ยกตัวอย่าง ชื่อสะพานหันแต่หน้าตายังไงไม่เหลือให้ดูเลย เด็กก็นึกไม่ออกเพราะเราเรียนประวัติศาสตร์ที่มีภาพถ่ายเป็นภาพประกอบน้อย ในภาพเป็นสะพานโค้งข้ามคลองแบบเวนิส แต่ไม่ใช่สะพานหันแท้ จริงๆ สะพานหันแท้มีลักษณะเหมือนไม้บรรทัด ไม้แข็งแรงวางทอดแม่น้ำไว้แล้วปักหมุด ทำให้มันหมุนได้ เพื่อให้เรือผ่านได้ มีมาแต่สมัยอยุธยาแล้ว เรารื้อจนมาเป็นแบบสะพานโค้งในภาพถ่ายเก่า แล้วกลายมาเป็นสะพานคอนกรีตอย่างปัจจุบัน

เราสามารถใช้ภาพเก่าซ่อมแซมโบราณสถาน คนสนใจละครก็ได้ดูว่าเขาแต่งตัวยังไง คนสนใจการละเล่นแบบไทย ของเก่าเขาปลูกโรงละครยังไง โรงโขนเป็นแบบไหน ที่ผมสนใจมาก เช่น โรงกัลปพฤกษ์ ที่หายไปจากเมืองไทยในยุครัชกาลที่ 6 ต้นไม้ในสวรรค์ มีปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังเยอะ ในภาพถ่ายเก่าก็เยอะ แต่ไม่มีใครเห็นต้นกัลปพฤกษ์ ตอนรัชกาลที่ 4 เสด็จทางชลมารค พงศาวดารเขียนว่า ท่านโปรยลูกกัลปพฤกษ์สีเขียวสีแดงไปตามสายน้ำให้คนเฝ้ารับเสด็จ ข้างในเป็นเหรียญ เป็นทานสำหรับคนทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง ไม่มีบันทึกบอกในหอจดหมายเหตุ แต่มีปรากฏในภาพถ่ายภาพถ่ายจึงสำคัญมาก

ภาพถ่าย เปิดประวัติศาสตร์ไทย

 

ในยุคหลังๆ คนอาจเผลอไผลก็มี ปัจจุบันเราเห็นภาพถ่ายเก่าไม่มีค่าทิ้งลงถังขยะ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีคนเอาภาพถ่ายเก่าของตระกูลวุฒากาศมาให้ผม คนขี่ซาเล้งไปเจอในถังขยะ ประโยชน์ของภาพถ่ายเก่าที่นำมาเผยแพร่ ผมยังตื่นเต้น เชื่อได้ว่าทุกคนจะตื่นเต้นมากๆ แล้วทางริเวอร์ บุ๊คส์ นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ พิมพ์ 2 ภาษา ผมว่ามีค่ามาก ทำให้ภาพเหล่านี้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก เผยสิ่งที่ยังไม่ปรากฏในสาธารณชน ภาพที่เราจะได้เห็นครั้งนี้เป็นสิ่งที่คนไทยควรได้เห็นกันมากที่สุด จะเป็นการถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ของไทย ให้ความรู้มันเผยแพร่ไปได้มากที่สุด

ผมเชื่อว่ายังมีภาพถ่ายเก่าที่รอท้าทายคนไทยและคนต่างประเทศที่ค้นคว้าภาพเก่าอีกเยอะ ไม่มีสิ่งสมบูรณ์ที่สุดในการทำงานแต่ละครั้ง การทำงานใหม่จะเจอสิ่งใหม่เสมอ อย่างภาพถ่ายของชาวญี่ปุ่น คือ ไคชิ อิโซนากะ ผมเคยเจอในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นภาพบุคคล ช่างภาพที่เป็นคนไทย คือ จิตร จิตราคนี หรือหลวงอัคนีนฤมิตร ได้ถ่ายไว้เยอะมาก แต่เหลือในหอจดหมายเหตุประมาณ 300-400 ภาพ ก็เป็นภาพที่น่าตื่นใจอีกชุดเหมือนกัน สรุปอย่างง่ายที่สุด ไม่ได้พูดถึงภาพถ่ายยุครัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 ยังไม่มีคนมาค้นคว้าว่ามีช่างภาพมากเท่าไหร่ หรือภาพรัชกาลที่ 5 ต้องประมวลกันอีก เพราะท่านถ่ายไว้เยอะ แต่ยังไม่ได้ชำระกันมากพอ บางภาพไม่ได้เซ็นพระนามไว้ ซึ่งล้วนแต่น่าสนใจให้ค้นคว้าต่อ ฝากไว้ให้ทุกท่านเจอภาพถ่ายเก่ามาบอกกล่าวกันและช่วยกันศึกษาค้นคว้า”

มองอดีตจากภาพถ่ายที่สะท้อนความเป็นจริงจากยุคนั้น นอกจากเสพความงามอย่างที่ยากจะหาได้เยี่ยงนี้อีกแล้ว ยังได้เข้าใจได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์เพราะ 1 ภาพ สามารถแทนคำได้นับพัน

นิทรรศการ “ฉายาลักษณ์สยาม” ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ภาพถ่ายโบราณ พ.ศ. 2403-2453 เปิดให้ชมได้ ตั้งแต่วันนี้ถึง 7 พ.ย. ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 10.00-20.00 น. (ปิดวันจันทร์)