posttoday

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

29 พฤศจิกายน 2558

ในค่ำคืนก่อนสิ้นปี 2557 ณ ถนนคนเดินแคมของ จ.หนองคาย ได้พบกับผู้ชายผมยาวประบ่า หนวดเคราบนใบหน้ากำลังดูงาม

โดย...นกขุนทอง-วิภาคย์ พูนพันธุ์ ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

ในค่ำคืนก่อนสิ้นปี 2557 ณ ถนนคนเดินแคมของ จ.หนองคาย ได้พบกับผู้ชายผมยาวประบ่า หนวดเคราบนใบหน้ากำลังดูงาม แค่รูปพรรณสัณฐานนี้ไม่ได้ทำให้สะดุดตาถึงกับต้องจดจำกันมาข้ามปี หากแต่รถเข็นคู่กายของเขาต่างหาก รถเข็นที่มีรูปในหลวง ปักธงชาติไทย พร้อมข้อความกำกับว่า “เดินเพื่อในหลวง” อักษรตัวโตนั้นที่ทำให้เราก้าวเดินฉับๆ เข้าไปทำความรู้จักอย่างไม่รีรอ

ผู้ชายคนนั้นชื่อ ทีม-จิตติวัฒน์ เตชะรัตนยืนยง ปีนี้เขาก็อายุ 30 แล้วสินะ แม้จะมีคำถามมากมายอยากเอ่ยออกไป แต่ยังก่อน เราต้องรอจังหวะ เพราะระหว่างนั้นมีชาวบ้านเข้ามาพูดคุยกับเขาอยู่เป็นระยะๆ บ้างเข้ามาถามอย่างไม่เชื่อในสิ่งที่เขากระทำ บ้างก็เข้ามาตั้งคำถามเป็นชุด มาจากไหน ทำอะไร ทำเพื่ออะไร หลายๆ คำถามเขาไม่เบื่อที่จะตอบมันซ้ำๆ จะกี่คนๆ ก็ได้คำตอบกลับไปว่า “เขาเดินเพื่อในหลวง”

บางคนไม่พูดจาเข้าไปขอจับมือพร้อมมีน้ำตาคลอ บางคนเอ่ยสั้นๆ ว่า ทำดีแล้วๆๆ ย้ำในสิ่งที่เขากระทำ บางคนบอกว่า สิ่งที่เขาทำอยู่เคยอยากทำเหมือนกันแต่ยังไม่มีความกล้าพอ เพียงเวลาไม่กี่นาทีของผู้คนที่เข้ามาสัมผัสผู้ชายเครางามคนนี้ เขาเหล่านั้นไม่รู้ตัวหรอกว่า ได้เติมพลังให้ชายคนนี้ได้มีแรงใจเดินต่อๆ ไป เช่นเดียวกับที่ที่เขาผ่านมา ผู้คนได้เข้ามาให้กำลังใจ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ เหล่าข้าราชการ เพียงแค่ “การเดิน” แต่เสมือนเขาได้เข็นสิ่งใหญ่ที่ประชาชนไทยฝากใส่รถไปด้วย

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

วันนี้หนึ่งเดือนก่อนถึงสิ้นปี 2558 เราไม่ลืมผู้ชายคนนี้ เรื่องราวของเขา เราไม่ควรเก็บไว้นึกชื่นชมคนเดียว แต่ทุกย่างก้าวของเขา ประชาชนไทยควรได้รู้ มันไม่ใช่การกระทำที่ยิ่งใหญ่เกินมนุษย์ผู้ใดจะทำได้ แต่มันสำคัญที่ว่า เขาได้ทำ แล้วทำได้จริง เดิน 4 ภาค ระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร เดินเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง

ในวันนี้ทีมผมยาวเลยบ่า หนวดเคราก็ยาวเฟื้อย มีสีผิวเข้มขึ้น รูปร่างแลดูผอมบางแต่กำยำมีมัดกล้ามเป็นผลจากการเดินนั่นเอง หากแต่วันนี้เราเจอเขาในสภาพที่มีไม้เท้าค้ำยันเป็นสิ่งช่วยในการเดิน อาการเท้าบวมเกิดจากการเดินล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. เขาเดินจากบ้านไปยังสนามราชมังคลาฯ เพื่อไปจัดนิทรรศการเล็กๆ บอกเล่าสิ่งที่ตัวเองผ่านมา และเพื่อให้ประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรในหลวง เช่นที่เขาเคยให้ประชาชนยังภูมิภาคต่างๆ ได้ทำ

‘บ้าน’ อยู่ที่กรุงเทพฯ

ถึงเวลาของเราจริงๆ แล้ว ที่จะมาทำความรู้จักกับเขา...

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

ทีมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ เคยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ สาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ติดตัวเดียวจึงย้ายหน่วยกิตมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก่อนหน้านี้ทำงานฟรีแลนซ์ ทั้งเบื้องหลังงานอีเวนต์ ฝ่ายโลเกชั่นกองถ่าย พิธีกรรายการท่องเที่ยว เป็นอาทิ แต่ถึงวันหนึ่งเขาตัดสินใจหยุดงานทั้งหมดเพื่อออกเดิน

“ผมคิดเรื่องเดินอยู่เกือบปี กว่าจะพร้อมก็ปลายปีแล้ว ซึ่งตั้งใจว่าจะเดินยาว เพราะปี 2558 ในหลวงพระชนมายุ 88 พรรษา พอดี ตัดสินใจเดินไม่ได้บอกใครเลย คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ทราบ ด้วยงานของผมมักไปต่างจังหวัดนานหลายวันอยู่บ่อยๆ ท่านทราบก็ตอนเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว มีคนเห็นข่าวก็ไปบอกต่อ ที่ผมไม่ได้บอกใครก่อนกลัวจะมีคนไม่เห็นด้วยแล้วห้าม แล้วผมเป็นคนที่คิดแล้วทำเลยดีกว่า ไม่ใช่ว่าพูดแล้วไม่ได้ทำ หรือพูดแล้วทำไม่สำเร็จ กลัวทุกคนเป็นห่วง เลยตั้งใจว่าค่อยบอกดีกว่า

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

เริ่มเดือนเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2557 ตั้งใจเดินให้ครบทั่วทุกภาคของไทย คงไม่ครบทุกจังหวัด แต่ผมตั้งใจเดินจากบ้านคือ กรุงเทพฯ เดินเป็นวงกลม หลายคนสงสัยว่าทำไมเดินมาจากกรุงเทพฯ แทนที่จะเดินเข้ากรุงเทพฯ เพราะในหลวงอยู่ที่นั่น แต่ผมต้องการที่จะเดินจากบ้านของผม และที่ซึ่งในหลวงประทับอยู่ ออกมาหาประชาชน ให้ทุกคนได้ระลึกถึงพระองค์ท่าน เป็นเหมือนกับการนำภาพของในหลวงไปตามสถานที่ต่างๆ ให้เหมือนกับสมัยที่ท่านทรงงาน ท่านก็เสด็จฯ ไปทุกที่ในประเทศ ก็เป็นความคิดเริ่มต้นที่จะเดินแบบนี้

ที่่เลือกการเดินเพราะมันเป็นอะไรที่ง่ายที่สุด ผมมองว่าบางทีใช้วิธีการอื่นมันเร็วและง่ายไป ซึ่งเป้าของผมคือ อยากเดินให้ครบทั่วทุกภาคของประเทศไทย วางแผนไว้ว่าเดิน 4,000 กว่ากิโลเมตร เส้นทาง ตะวันออก อีสาน เหนือ ใต้ กลับมากลาง และต้องมาถึงกรุงเทพฯ ก่อนสงกรานต์ 2558”

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

ทีมกางแผนที่กระดาษวางแผนเส้นทางเดิน “การวางแผนเดินช่วงแรกดูจากสภาพอากาศก่อน เพราะตั้งใจจะเดินทั่วประเทศ มันไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้เลย ประเทศเราไม่ร้อนก็ฝนตก ต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำภาคละ 1 เดือน ผมเลยเลือกเริ่มเดินในฤดูหนาว เพราะต่อด้วยร้อน ไม่เจอฝน ถ้าเจอฝนจะเดินลำบาก แล้วมาดูแผนที่กระดาษใบใหญ่ๆ ประกอบกับจีพีเอสว่าจังหวัดไหนต่อกัน แล้วมาดูละเอียดอีกทีว่า จากกรุงเทพฯ ไปอำเภอไหนไปไหนกี่กิโลเมตร แล้วก็ลองคำนวณกับตัวเองว่าเดินได้วันละกี่กิโล”

2 สัปดาห์แรก ปีศาจอยู่ที่เท้า

สมัยเรียนทีมเล่นกีฬา ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ในวัยทำงาน 2 ปีก่อนหน้านี้แทบไม่ได้ออกกำลังกายเลย ดังนั้นก่อนจะเดินทาง 1 เดือน ทีมจึงออกกำลังกาย เช็กสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อม แต่เมื่อออกเดินจริงๆ ร่างกายที่คิดว่าฟิตซ้อมมาอย่างดียังเกือบพ่ายแพ้ แต่นั่นเป็นเพียงปัญหาของเท้าที่เจ็บระบมจากการเดิน หาใช่หัวใจที่ยอมแพ้

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

“ช่วงอาทิตย์แรกมีปัญหาการเจ็บเท้า กล้ามเนื้อตึง เวลานอนหลับไม่สนิทเพราะปวดเท้ามาก ถึงที่พักผมต้องรีบกินยา ทายา ผมเลือกที่จะเดินหน้าหนาว เพื่อเลี่ยงช่วงหน้าฝน แล้วกลับมาก่อนที่อากาศจะร้อนจัด แต่เมืองไทยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงตลอด กลางวันร้อน กลางคืนหนาว บางวันแดดจัดแต่อากาศเย็น เป็นไข้ที่เจอบ่อยสุดแต่ผมกินยาตลอดไม่ให้ตัวเองป่วยจนนอนซม ทุกๆ วันผมต้องลุกออกเดินต่อไป”

ผ่านสัปดาห์แรกมาทีมรู้ซึ้งถึงคำว่าเหนื่อย ยิ่งเดินไกลขึ้นๆ ยิ่งเหนื่อย แต่ความเหนื่อยเทียบไม่ได้กับความเจ็บเท้าที่ปวดขึ้นเรื่อยๆ จากระยะทางและจำนวนวันที่สะสมมาจนถึงสัปดาห์ที่ 2

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

“ยอมรับว่ามีท้อ เพราะเกิดจากความเจ็บ แล้วคิดว่าเดินมาแค่นี้ยังเจ็บขนาดนี้ต่อไปจะไปไหวไหม แต่ก็ยังทนเดินต่อไป สองอาทิตย์แรกลำบากมากๆ ในช่วงหนึ่งของชีวิตเลย กล้ามเนื้อตึงปวดมาก อยู่ในช่วงเดินระหว่าง จ.ชลบุรี ไป จ.ฉะเชิงเทรา ช่วงสองสามวันแรกฟิตมากเดินได้ 30 กิโลเมตร แต่การที่เราหักโหมเดินให้ได้ไกลในช่วงแรกนั้นมันยิ่งทำร้ายร่างกายเรา ต่อมาเดินได้แค่ 10 กิโล เพราะบาดเจ็บ ระยะทางเลยไม่คงที่ตามร่างกายเรายังไม่คงที่ แต่ก็มีคิดเหมือนกันว่า ถ้าเรากลับจากจุดที่ท้อ มันก็ไม่ไกลบ้านเราเท่าไร แต่ก็คิดว่าเราตั้งใจไว้แล้ว ทุกอย่างที่เริ่มมาถ้ากลับมันก็จะหายไปหมดเลย มันก็จะจบลงง่ายๆ ก็เลยลองไปให้มันสุดๆ จนใจและร่างกายบอกว่าไม่ไหวแล้ว”

เขาไม่รู้อนาคตเลยว่า ร่างกาย เท้าของเขาจะหยัดยืน ทนเดินต่อไปได้อีกกี่กิโลเมตร

เขารู้แค่ว่าเขายังมีแรงเดินได้อยู่ยังไม่ล้มก็ต้องไปต่อ...

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

รูปที่มีทุกบ้าน

เขาเดินจากบ้านมาไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ระหว่างที่เดินเท้าที่ระบมก็ไม่ปรานีลดความเจ็บลงเลย เขาหันกลับไปมองชั่งใจว่า จะ “นั่งรถ” กลับบ้าน หรือมองไปข้างหน้าแล้ว “เดิน” ต่อ ทว่าเขาก็ได้ค้นพบคำตอบระหว่างที่ก้าวย่าง

“ผมยิ่งเดินยิ่งเจอคนระหว่างทาง คำพูดจากทุกๆ คนกลายมาเป็นพลัง บางคนไม่พูดแต่เขามาขอจับมือ สายตาที่เขามองมาผมรู้สึกได้ว่าเขาฝากใจให้กำลังใจเราในการเดิน ยิ่งเวลาเดินผ่านบ้านผมจะเห็นทุกบ้านมีรูปในหลวง เกือบทุกบ้านมีธงสัญลักษณ์ประจำพระองค์ติดไว้ ผมเก็บสิ่งเหล่านี้มาเป็นพลัง ในใจจะคิดเสมอว่าเราเดินแค่นี้ แต่พระองค์ท่านต้องเหนื่อยกว่าเราแน่นอน เพราะพระองค์ท่านทำมาเป็น 70 ปี ทำไมเราจะทำแค่นี้ไม่ได้ ทำให้ผมมีพลังเดินต่อ ช่วงแรกๆ เดินทำระยะทางได้ไม่มาก แต่ผ่านไปสัก 2 อาทิตย์เริ่มดีขึ้น ทำเวลาได้วันละ 30-40 กิโลเมตร” 

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

บางคนอาจจะมองสิ่งที่เขาทำว่าแปลก แต่หลายคนก็คลายความงงงวย เพียงเพราะคำว่า เพื่อในหลวง ซึ่งไม่ว่าจะกระทำอันใดจะน้อยใหญ่หลายๆ คนก็อยากจะทำเพื่อตอบแทนพระคุณท่าน เมื่อชายคนนี้ทำ หลายคนจึงให้การเอ็นดูต้อนรับ ให้ที่พักพิงบ้าง ขนมนมเนย ข้าวปลา แม้กระทั่งเงิน

“ผมมีเงินที่เก็บสะสมไว้เป็นทุนในการเดินอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วตั้งใจว่าจะใช้เงินไม่เกินวันละ 800 บาท/วัน ส่วนมากจะจ่ายค่าที่พัก ถ้าไม่มีวัด หรือที่พักฟรี ผมก็พยายามหาถูกที่สุด มีหลายคนชวนไปนอนที่บ้านแต่ผมก็เกรงใจเพราะผมต้องซักผ้าด้วย เพราะมีไม่กี่ชุด อีกอย่างผมตั้งใจว่า 4 เดือนที่เดินอยากอยู่กับตัวเองให้มากที่สุด ไม่อยากรบกวนใคร ระหว่างทางที่เดินมีผ่านบ้านญาติบ้านเพื่อนบ้างแต่ผมไม่ได้แวะทัก ไว้เจอกันโอกาสอื่นดีกว่า แล้วระหว่างที่เดินก็มีคนเลี้ยงอาหาร ให้น้ำหรือขนมบ้างในแต่ละวัน แต่ผมรับเท่าที่เราต้องกินเอาแรงเท่านั้น รับเยอะไปก็กลายเป็นน้ำหนักที่เราต้องเข็นไปตลอดทาง แต่เงินผมไม่รับเลย เพราะตั้งใจเดินเป็นการกุศล ถ้ารับมารู้สึกไม่สบายใจ เหมือนแอบอ้างสถาบัน ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ ผมตั้งใจเดินจริงๆ”

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

เมื่อเดินไปเรื่อยๆ บางเส้นทางเขาไม่ได้เดินคนเดียวแล้ว “80 เปอร์เซ็นต์ผมเดินคนเดียว ที่เหลือจะมีพี่ๆ กู้ภัยมาเดินด้วย มีน้องนักเรียนมาเดิน มีชาวบ้านมาเดินด้วยส่วนใหญ่ก็เดิน 3-5 กิโลเมตร แต่มีคนเดินไกลสุด 20 กิโลเมตร อยู่ที่ อ.ไชยา มันทำให้เราเห็นว่า ยังมีหลายคนที่อยากทำเพื่อในหลวงเรา”

28 วัน จังหวัดที่ 9

กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย คือเส้นทางที่ผ่านมาใน 28 วัน

“ผมเดินเฉพาะช่วงกลางวัน ถึงห้าโมงเย็นก็หาที่พักแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ของผมคือเดิน ส่วนที่เหลือก็มีใช้รถในช่วงที่เดินไปมืดระหว่างทางที่เป็นป่า ไม่มีที่พักก็ต้องอาศัยรถเข้าไปหาที่พัก มีคนผ่านมาเจอชวนขึ้นรถ ถ้าอีกแค่ 3-4 กิโลเมตรจะถึงที่พัก แม้ค่ำแล้วผมเลือกเดิน ไม่จำเป็นผมจะไม่ขึ้นรถเด็ดขาด”

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

วันแรกที่ทีมออกเดินทางจากบ้านมีเพียงกระเป๋าเป้ติดหลังใบเดียว พร้อมเสื้อผ้าไม่กี่ชุด รองเท้าก็คู่เดียวไม่มีเผื่อสำรอง โดยไม่คาดคิดว่าเขาจะต้องใช้มันถึง 3 คู่ เมื่อสิ้นสุดการเดิน แล้วเมื่อเดินไปเรื่อยๆ เขาก็ได้พบอุปสรรคปัญหาต่างๆ ค่อยๆ แก้ไขไปเรื่อย จนออกมาเป็นภาพที่ทุกคนได้เห็นกัน คือ ผู้ชายสวมหมวกปีกยาวปกคลุมใบหน้าให้พ้นจากแสงแดด เข็นรถเข็น เดินรอนแรมตามทางเท้า 

“พอเราเดินไปเจอคนขับรถผ่านก็จอดคุย ใครเจอก็ทัก แล้วมีให้น้ำขนมมาบ้าง ผมเอาทุกอย่างลงกระเป๋าเป้ซึ่งพอเดินไปนานๆ มันเริ่มหน่วง เท้าก็เริ่มเจ็บ หลังก็หนักขึ้นๆ ก็เลยต้องหารถเข็น ได้มาแถวๆ จ.สมุทรปราการ เพราะร่างกายมันไม่ไหว ในรถเข็นก็จะมีของใช้ทั้งหมดในนั้น มีเปลนอนด้วย ผมไม่พกเต็นท์เพราะมันหนัก คือผมจะเอาอะไรไปด้วยคำนวณเรื่องน้ำหนักด้วยว่าเราจะไหวไหม เราไม่ได้เดินใกล้ๆ

รถเข็นผมคิดแล้วให้ช่างช่วยทำ มีไอเดียของชาวบ้านด้วยว่า ให้ทำเสาติดธง ติดรูปในหลวง มีการแชร์ไอเดียกันตลอดทาง เหมือนเป็นการรวมใจกันทั้งหมด จากที่ผมเดินมามีแค่เป้ คนไม่รู้ว่าผมเดินทำไม พอมีรถเข็นมีรูปในหลวง คนก็หันมาสนใจ”

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

การเดินบนไหล่ทางที่มีรถใหญ่วิ่งนั้นต้องบอกว่าอันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกฝีก้าว “ผมระวังตัวเองอย่างดีเดินชิดไหล่ทางแล้ว แต่นั่นคือในส่วนที่ผมดูแลตัวเองได้ แต่ในส่วนของรถที่วิ่งนั้นเราควบคุมไม่ได้ แม้เราจะเดินอยู่ในกรอบแล้วแต่เขาอาจหักมาชนเราได้ แต่โชคดีที่ไม่มีอันตรายแบบนั้น ซึ่งตลอดทางที่เดินผมก็กลัวอันตรายจากรถมากที่สุด ส่วนเรื่องอันตรายจากคนผมไม่กลัวเลย ถ้าจะมาจี้ปล้นดูจากสภาพผมแล้วคงไม่มีอะไรให้ปล้น อีกอย่างผมเดินไปด้วยความตั้งใจ ผมคิดว่าในเมื่อผมเลือกทำดีแล้วคงไม่มีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในชีวิตเรา ตอนผมถึงบ้านพ่อแม่ดีใจมาก เพราะทุกวันบนถนนมันเสี่ยงทุกวินาที”

4,000 กิโลเมตร 4 เดือน

ทีมเดินผ่านทั้งหมด 34 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย ใช้เวลาไป 4 เดือน นับจากวันที่ 6 ธ.ค. 2557-6 เม.ย. 2558 เป็นระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร

เส้นทางเดินจากกรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ-บางนา-บางพลี-บางบ่อ-บางแสน-สัตหีบ จ.ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-ปราจีนบุรี-ปักธงชัย จ.นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย-เชียงคาน จ.เลย-นครไทย จ.พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-แพร่-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่-ลำพูน (ไม่ซ้ำเส้นทางเดิม)-ลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์-อุทัยธานี-ชัยนาท-สิงห์บุรี-สุพรรณบุรี-นครปฐม-ราชบุรี-(นั่งรถไฟ) สงขลา-พัทลุง-นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี-ชุมพร-ประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี-สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร-กรุงเทพฯ

“นอกจากผมคำนวณเส้นทางเองแล้วยังได้ชาวบ้านแนะนำว่า เดินไปเส้นทางไหนจะใกล้กว่า และที่สำคัญเส้นทางไหนไม่รกร้าง มีหมู่บ้านถี่กว่า ไม่อันตราย เพราะเราไม่เคยเห็นเส้นทาง บางทางที่เราเลือกมาก่อนมันอ้อมด้วยซ้ำก็ได้คนในพื้นที่แนะนำ ผมไปนอนบนยอดดอยขุนตาล 1 คืน เดินต่อเข้าลำพูนแล้วถึงเชียงใหม่ ก็เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ราวๆ 2,000 กิโล ยางรถ ล้อรถก็มาเสียที่นั่น แต่ตลอดทางได้รับน้ำใจจากชาวบ้าน

ผมมีเป้าหมายต้องถึงบ้านก่อนสงกรานต์ เพราะเป็นช่วงวันเกิดคุณแม่ ตอนอยู่ จ.ราชบุรี ผมมีเวลาเหลืออีก 1 เดือน แต่เรายังไม่ได้เดินลงใต้เลย ถ้าผมเลือกที่จะเดินลงไปแล้วเดินย้อนกลับมาซ้ำทางเดิมผมจะไม่ทำ แล้วกับเวลา 1 เดือนถ้าเดินลงไปจะจบที่สงขลาพอดี แต่ผมอยากจบการเดินทางที่กรุงเทพฯ ผมจึงตัดสินใจนั่งรถไฟจากราชบุรีลงไปสงขลา ซึ่งผมเสียเวลาตัดสินใจอยู่หลายวันด้วย มันก็กลายเป็นประสบการณ์อีกแบบที่เจอ กลายเป็นหนึ่งคืนที่ทรมาน เพราะนั่งแล้วขยับไปไหนไม่ได้ ผมกลับมาคิดว่านั่งบนรถมันอึดอัดกว่าเดินด้วยซ้ำ รถเข็นผมที่อยู่ด้วยกันมาตลอดก็แยกกัน

ระหว่างเดินจากสงขลาขึ้นมากรุงเทพฯ ผมเกิดความคิดในเชิงบวก เหมือนจิตวิทยาของตนเองว่า ทุกๆ ก้าวที่เดินมันจะใกล้ถึงบ้านขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นมันลืมว่าเราเดินไปได้เท่าไร แล้วเหลือระยะทางเท่าไร เพราะเรามีจุดหมายของเรา มีจุดโฟกัสในแต่ละเรื่อง ไม่รู้สึกว่าไกลหรือใกล้ ความรู้สึกมันอยู่ที่ก้าวต่อก้าว อยู่กับปัจจุบัน ช่วงนั้นก็ผ่านมา 3 เดือน กับ 3,000 กิโลเมตร เดือนสุดท้ายก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ที่ผ่านมาในแต่ละวันผมได้อยู่กับตัวเอง ทบทวนตัวเอง ปรับปรุงความคิดของตัวเอง อยู่กับจิต สมาธิ และสมองตัวเอง สิ่งที่เห็นจากชาวบ้านได้ข้อคิดมากเลย เพราะผมเกิดและโตในเมืองตั้งแต่เด็ก การเดินทำให้ผมได้เห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมการกินอยู่ และน้ำใจของผู้คน”

เดิน เดิน เดิน เพื่อในหลวง ด้วยพลังแห่งศรัทธา

 

‘วันพ่อ’ 5 ธ.ค. 2558

หลังจากเดินเสร็จ ทีมได้เกิดความคิดอยากจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งที่เขาประสบมา เพราะนอกจากสมุดบันทึกความทรงจำ รูปถ่ายระหว่างทางแล้ว ยังมีข้าวของบางอย่างที่เขาได้จากประชาชน เช่น ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว และสมุดหลายเล่มที่ข้างในมีลายมือจากประชาชนเขียนถวายพระพรในหลวง ตอนแรกตั้งใจจะจัดใหญ่ที่กรุงเทพฯ แต่เกินกำลังทุนทรัพย์ที่เขาจะทำได้ ทีมจึงย้อนกลับไปยังที่เขาเดินผ่านมา นำสิ่งเหล่านี้ไปจัดแสดง

“ผมเอารถเข็น รองเท้า ของต่างๆ ขึ้นรถ แล้วไปแสดงในจังหวัดที่เราเดินผ่านในเส้นทางเดิม ตั้งที่ละ 1-2 วัน ซึ่งผมทำคนเดียวตลอด ผมตั้งใจทำถวายในหลวง ซึ่งเป็นพ่อหลวงของคนไทยในชาติ เราเติบโตที่นี่ บ้านที่เราตอกเสาเข็มก็เป็นผืนแผ่นดินไทย ทุกคนในทุกภาคของไทยเราเป็นเพื่อนพี่น้องกันหมด สิ่งที่ได้ผมเห็นจากการเดินทางและอยากบอกต่อคือความรักชาติของทุกคน ทุกคนรักในหลวง เท่านั้นเองครับกับสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อสาร”

ส่วนวันที่ 5 ธ.ค.ที่จะถึง เขาหวังจะจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่สาธารณะที่ไหนสักแห่งใน กทม. ให้ประชาชนได้เห็นเหล่าคำถวายพระพรจากพี่น้องจากภาคอื่นๆ

ถึงวันนี้สิ่งที่ทีมได้จากการเดิน นอกเหนือจากความภูมิใจที่ทำเพื่อพ่อหลวงแล้ว การออกเดินทางยังทำให้เขากับพ่อได้ปรับความเข้าใจกัน “เป็นเรื่องที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง ก่อนที่จะออกไปเดินไม่คุยกับพ่อมาหลายเดือน แต่ระหว่างทางที่เดินผมได้ข้อคิดอะไรหลายอย่างมาก ผมกลับมาบ้านมาขอขมาพ่อ ตอนนี้เราคุยกันแล้ว”

วันนี้ที่ทีมบาดเจ็บที่ข้อเท้า เดินไม่สะดวกต้องใช้ไม้เท้าค้ำพยุง ก็มีพ่อเป็นคนขับรถรับส่งดูแล มีพ่อเป็นผู้พยุงชีวิตอย่างที่เป็นเสมอมา