posttoday

เริงฤทธิ์ เทพารักษ์ เชฟรุ่นใหม่สไตล์ฟิวชั่น

17 พฤษภาคม 2558

ริงฤทธิ์ เทพารักษ์ หรือก๊อก เชฟหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง วัย 29 ปี ผู้มีบุคลิกเท่ๆ เฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร

โดย...ภาดนุ ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ริงฤทธิ์ เทพารักษ์ หรือก๊อก เชฟหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง วัย 29 ปี ผู้มีบุคลิกเท่ๆ เฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร เล่าย้อนถึงที่มาที่ไปในการชอบทำอาหาร และเส้นทางก่อนที่เขาจะก้าวเข้าสู่อาชีพเชฟอย่างในปัจจุบันนี้ให้ฟังแบบเป็นกันเอง

“เท่าที่จำได้ ผมชอบช่วยคุณพ่อทำอาหารมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ อันที่จริงแล้วผมมีพี่น้องที่เป็นผู้หญิงทั้งบ้านเลยนะ มีผมคนเดียวที่เป็นผู้ชาย แต่ในจำนวนพี่น้องทั้งหมดนั้นไม่มีใครชอบทำอาหารกันเลยสักคน มีผมคนเดียวนี่แหละที่ชอบทำอาหาร เลยเหมือนกับสถานการณ์มันบังคับให้เราต้องช่วยพ่อทำอาหารมาตั้งแต่ตอนนั้นเลยครับ (หัวเราะ)”

กระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ความรักและชอบในการทำอาหารก็ยังคงอยู่ ก๊อกจึงเริ่มเดินตามความฝันของตัวเองด้วยการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยดุสิตธานี ซึ่งเป็นหลักสูตรทางด้านบริหารธุรกิจเกี่ยวกับการโรงแรมและการทำอาหารโดยตรง

จากนั้นเขาก็เริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหาร โดยเริ่มจากการไปเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้าน “ปลาดิบ” ซึ่งเป็นร้านซูชิญี่ปุ่นเป็นร้านแรก ที่นี่ทำให้ก๊อกได้ประสบการณ์และได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทุกอย่างของร้านอาหาร ตั้งแต่การทำครัว การบริหารจัดการร้าน รวมทั้งการให้บริการลูกค้า ต่อมาเขาจึงค่อยๆ ขยับขยายมาร่วมหุ้นลงทุนเปิดร้านอาหารกับเพื่อนตามลำดับ

เริงฤทธิ์ เทพารักษ์ เชฟรุ่นใหม่สไตล์ฟิวชั่น

“ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นหุ้นส่วนของร้านซอลท์ (Salt) ซึ่งเป็นร้านอาหารแนวฟิวชั่นที่อยู่แถวซอยอารีย์ ซอลท์เป็นร้านกินดื่มในบรรยากาศสบายๆ ช่วงแรกๆ ที่เปิดร้านได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ จากลูกค้า หลังจากนั้นผมก็มาทำร้านอาหารไทยฟิวชั่นเมนูกินง่ายๆ ชื่อร้าน ‘อารีย์’ อีกที ซึ่งก็อยู่ตรงข้ามกับร้านซอลท์นั่นแหละครับ”

แล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เชฟก๊อกก็ได้เปิดร้านอาหารของตัวเองที่ชื่อร้านไซต์ (Site) ขึ้นในย่านบางนา แน่นอนว่าเขาต้องเป็นเชฟใหญ่ที่คอยควบคุมเมนูในร้านทุกๆ เมนูอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเมนูเจแปนิสฟิวชั่น แต่ก็จะมีเมนูอินเตอร์อย่างอิตาเลียนและเมนูอื่นๆ รวมอยู่ด้วย

“ที่จริงแล้วผมชอบทำอาหารหลายชาตินะ แต่ที่ถนัดที่สุดก็เห็นจะเป็นเมนูสไตล์ฟิวชั่นนี่แหละ โดยเฉพาะเจแปนิสฟิวชั่นผมจะถนัดมากที่สุด ด้วยนิสัยส่วนตัวแล้ว ผมจะชอบตระเวนไปชิมอาหารตามร้านต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อให้รู้ว่ารสชาติของแต่ละร้านนั้นเป็นอย่างไร และทุกๆ ปีผมจะเดินทางไปปารีส 2-3 สัปดาห์ เพื่อไปเที่ยวและไปตระเวนชิมอาหารตามร้านต่างๆ ในเมือง เป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้รสชาติ และซึมซับเสน่ห์ของเมนูอาหารในแต่ละร้านที่ได้ไปชิมมาเก็บเป็นความรู้ไว้”

เชฟก๊อก เสริมว่า สาเหตุที่ทำให้เขารักการทำอาหารสไตล์ฟิวชั่น เพราะรู้สึกว่าเป็นเมนูที่ถูกปากคนไทย และยังคงได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ แถมยังเป็นเมนูที่เขาเองก็ไม่ต้องใช้ความพยายามในการทำมากมายนัก

เริงฤทธิ์ เทพารักษ์ เชฟรุ่นใหม่สไตล์ฟิวชั่น

 

“นอกจากอาหารแนวฟิวชั่นแล้ว ถ้าไม่นับรวมว่าเมนูไหนทำแล้วจะขายได้หรือขายไม่ได้ ผมจะชอบทำอาหารแนวเฟรนช์ บาสเซอรี แม้ไม่ได้เชี่ยวชาญมากนัก อาศัยจากการลองชิมและทดลองทำดู แต่ผมก็สามารถที่จะทำเมนูเหล่านี้ออกมาได้เหมือนกัน (หัวเราะ)

แต่เท่าที่สังเกตมา คนไทยส่วนใหญ่มักไม่ค่อยชอบเมนูเฟรนช์ บาวเซอรี กันสักเท่าไหร่ ผมก็เลยต้องปรับมาเป็นเมนูเจแปนิสฟิวชั่นแทน ซึ่งเป็นอาหารที่กินง่าย รสชาติดี ไม่เลี่ยน และก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องครับ”

นอกเหนือจากวิชาที่ร่ำเรียนมาจากวิทยาลัยดุสิตธานีแล้ว เชฟก๊อก บอกว่า เขามักชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต จากหนังสือทำอาหารต่างๆ หรือศึกษาจากเชฟดังๆ อยู่เป็นประจำ โดยนำแนวทางปฏิบัติและวิธีการของเชฟเหล่านั้นมาปรับใช้ แล้วจึงสร้างสรรค์เมนูต่างๆ ที่คิดไว้เองขึ้นมาก่อน จากนั้นก็ค่อยดูว่ามีความเหมาะสมที่จะทำออกมาเพื่อนำเสนอให้ลูกค้าหรือไม่ เพราะในแต่ละร้านที่เขาเคยเป็นเชฟมา ล้วนมีฐานลูกค้าที่แตกต่างกันพอสมควร ดังนั้นในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ แต่ละเมนู จึงต้องพิจารณาดูให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าของแต่ละร้านหรือแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ

“ผมว่าเชฟหรือคนที่รักในการทำอาหาร มักจะอยากทำอาหารต่อไปเรื่อยๆ เวลาทำเมนูไหนให้ลูกค้ากิน ลูกค้ากินแล้วมีความสุข เชฟก็มีความสุขตามไปด้วยครับ ความฝันของผมสำหรับอาชีพเชฟก็คือ อยากมีร้านอาหารเล็กๆ ที่ทำอาหารเอง เสิร์ฟเอง บริหารจัดการเอง และสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างทั่วถึง มีโต๊ะแค่ไม่กี่โต๊ะก็พอ มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ผมว่าแค่นี้ก็เป็นสิ่งที่น่าพอใจที่สุดในชีวิตแล้วละครับ”

เชฟหนุ่มทิ้งท้ายว่า การทำอาหารให้ลูกค้ากินนั้นเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร สำหรับเขานอกจากรสชาติของอาหารที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษแล้ว เรื่องของการคัดสรรวัตถุดิบชั้นดีก็ต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะอาหารแต่ละเมนูนั้นจะอร่อยได้ก็ต้องมีองค์ประกอบทั้งรสชาติที่ดีและวัตถุดิบที่ดีควบคู่กันไป