posttoday

ว่านหางจระเข้

21 ธันวาคม 2557

สำหรับผู้เขียนเองให้ความรู้สึกกับว่านหางจระเข้ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทย

สำหรับผู้เขียนเองให้ความรู้สึกกับว่านหางจระเข้ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทยว่าเป็นพืชที่ยังมีจิตวิญญาณของพืชเฉพาะถิ่นแอฟริกาอย่างแท้จริง ยากจะหาพืชอื่นใดมาเปรียบ ว่านหางจระเข้เป็นพืชอวบน้ำโดยธรรมชาติ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถิ่นที่กำเนิดอันแห้งแล้ง หนามของมันตลอดจนรสชาติอันขมขื่นของของเหลวที่มีคุณสมบัติปฏิชีวนะของมัน เป็นตัวบ่งบอกถึงการต่อสู้กับบรรดาสัตว์กินพืชและโรคภัยตลอดช่วงเวลาอันยาวนานของอดีต สีช่อดอกฉูดฉาดสดใสของมัน บอกให้รู้ถึงความอุดมด้วยน้ำต้อยแสนหวาน ซึ่งเป็นตัวดึงดูดใจบรรดาสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกกินปลีที่เป็นพาหะถ่ายเรณู

ในแอฟริกาเราอาจพบว่านหางจระเข้ได้ประมาณ 150 ชนิด (ราว 350 ชนิดพบทั่วไปในทวีปแอฟริกา) ว่านหางจระเข้จัดอยู่ในวงศ์ของมันเองคือ อโลเอซี่ (Aloaceae) ซึ่งนับรวมเอาพืชคล้ายว่านหางจระเข้ขนาดเล็กชนิดอื่นๆ เช่น ม้าลาย (Haworthia) ลิ้นกระบือ (Gasteria) โพเอลนิทเซีย (Poellnitzia) แอสโทรโลบา (Astroloba) และโลมาโตไพลัม (Lomatophyllum)

ว่านหางจระเข้

 

พืชในกลุ่มว่านหางจระเข้มีตั้งแต่ชนิดเล็ก เช่น Aloe albida ซึ่งสูงเพียง 2-3 เซนติเมตร ไปจนถึงว่านหางจระเข้ต้น (arborescent tree aloe) เช่น Aloe bainesii ว่านหางจระเข้ทั้งหมดจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (monocotyledons) มีรากพิเศษ (adventitions roots) และมีใบเดี่ยวที่มีเส้นเป็นแถบตามยาวและมีวงกลีบดอกเท่ากับสาม (trimerous flowers) ใบแก่ ไม่หลุดร่วง โดยคงติดอยู่กับลำต้นโดยแห้งเป็นกระโปรงปกป้องเนื้อเยื่อภายในที่มีชีวิตให้พ้นภัยจากสัตว์และไฟป่า แม้แต่ภายใต้สภาพการณ์ที่แห้งแล้งแสนสาหัส ความชื้นที่อยู่ในใบอาจถูกรีไซเคิลมาใช้ได้โดยเริ่มจากใบล่างขึ้นสู่ส่วนยอด

ถิ่นที่อยู่ของว่านหางจระเข้ชนิดต่างๆ อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของแอฟริกาใต้ เช่น รีโนสเตอร์เวลด์ (renosterveld) ฟินบอส (fynbos) ที่แห้งแล้งคารู (karoo) ที่ชุ่มชื้น นามา คารู (Nama karoo) เคพตะวันออก (eastern Cape) ป่าทึบและทุ่งหญ้า ว่านหางจระเข้ขึ้นได้ในดินหลากหลายประเภท ตั้งแต่ดินที่เกิดจากหินทรายควอตซ์ไซท์ที่มีธาตุอาหารต่ำไปจนถึงดินที่เกิดจากหินชั้น หินตะกอน หินกรวด หินปูน และดิน โดลีไร้ท์ (Dolerite) เราอาจพบต้นว่านหางจระเข้ได้เป็นดงเป็นดานในหลายท้องที่และบางแห่งมีการตัดใบไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ปรากฏว่าเกิดอันตรายใดๆ กับต้นที่เป็นอยู่เลยเสียด้วยซ้ำ

ต้นว่านหางจระเข้ของเคพดังกล่าวมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Aloe ferox มีช่อดอกตั้งตรง แตกกิ่งราวช่อเชิงเทียน ดังนั้นจึงได้ชื่อชนิด (specific epithet) ว่า Ferox หมายถึง ดุร้าย (หนามของมัน) พืชชนิดนี้พบตามธรรมชาติได้ทางภาคตะวันตกของเคพไปจนถึงตอนใต้ของควาซูลู/นาตาล และหลายส่วนของฟรีเสตท และลีโซโท (Lesotho) แต่ที่พบเป็นดงทึบ ได้แก่ ที่พบตามริมถนนที่เชื่อมระหว่างคาลีดอนและยอซ ในระหว่างเดือน มิ.ย. มันจะพากันแทงช่อดอกออกเป็นช่อเชิงเทียน สีแดงปนส้มสุกใสงดงามเหลือเชื่อ เพราะช่วงเวลานั้นไม่มีพืชใดกล้าออกดอกมาประชันโฉมกับพวกมัน ดอกของมันมักสีแดงปนส้ม แต่ที่กลายพันธุ์เป็นกลีบเหลืองและแม้แต่กลีบขาวเผือกนั้นก็อาจพบได้เป็นครั้งคราว หากคุณโชคดีและตาไว

ว่านหางจระเข้

 

ว่านหางจระเข้แห่งเคพ (Aloe ferox) นี้ถูกค้นพบและอธิบายลักษณะไว้โดย มิลเลอร์ (Miller) ดังปรากฏในพจนานุกรมชาวสวน (Gardenery Dictionary) เมื่อปี ค.ศ. 1767 และปรากฏรูปครั้งแรกใน Praeludia Botanica โดย Commelin จากเมล็ดซึ่งถูกส่งไปฮอลแลนด์ โดยไซมอน แวน เดอ สตีล (Simon van der Stel) เมื่อปี ค.ศ. 1703 นับได้ว่าเป็นต้นแรกที่ปลูกกันในแหลมเคพ โดยมีปลูกในสวนของบริษัท ดัตช์ อีสต์ อินเดีย และพบได้ในโอลเดนแลนด์ ครูท บวก โดยเรียกกันเล่นๆ ว่าต้นใบขม (bitteralwyn) และมีการใช้ประโยชน์กันมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18

การใช้ประโยชน์ในแง่สมุนไพร

ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ ต้นพืชนามว่านหางจระเข้ได้ถูกใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่มีคุณค่า บรรดากะลาสีเรือใช้มันเป็นยาบำบัดอาการผิวหนังอักเสบจากการถูกแสงแดดแผดเผาและน้ำทะเลกัด มิชชันนารีหรือนักบวชจากประเทศเขตเมดิเตอร์เรเนียนใช้เป็นยาบำบัดแผลภายนอก ทางแอฟริกันนำใบว่านชนิดนี้ติดตัวไว้ใช้ยามจำเป็น

แม้ในศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์บันทึกไว้ว่าว่านหางจระเข้นี้มีคุณสมบัติทางชีวบำบัดรักษาโรครา ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งและต่อต้านอาการปวดบวม และแม้แต่เป็นยาบรรเทาความชราภาพ เพราะมันกระตุ้นการเติบโตของเซลล์ร่างกายมนุษย์ เช่น ผิวหนังและเซลล์ต่อมน้ำเหลือง ผลการวิจัยล่าสุดยังพบว่าเจลว่านหางจระเข้ เพิ่มปริมาณการไหลหมุนเวียนโลหิตในบริเวณแผล ซึ่งช่วยการเจริญเติบโตเซลล์ผิวหนัง

อ่านเรื่องของว่านหางจระเข้นี้ต่อในฉบับหน้าครับ