posttoday

อภัย นิรโทษกรรม ปล่อยวาง เฉยโง่

17 พฤศจิกายน 2556

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีเรื่องใดที่ก่อกระแสความสนใจและความวุ่นวายไปทั้งประเทศได้มากกว่า

โดย...ดนัย จันทร์เจ้าฉาย CEO DC Consultants & DMG Books/Facebook.com/danai.chanchaochai/ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีเรื่องใดที่ก่อกระแสความสนใจและความวุ่นวายไปทั้งประเทศได้มากกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ซึ่งทำให้เกิดทั้งความสับสนและความขุ่นข้องในใจของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้นำได้ออกแถลงการณ์ว่า คนไทยยังไม่พร้อมในการให้อภัย จึงไม่สามารถดำเนินการเรื่องนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดองได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดถนัด แสดงให้เห็นว่าทั้งผู้เขียนคำกล่าวและผู้อ่านไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งที่พูด จึงขออ้างถึงธรรมะของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ผู้เปรียบเสมือนเสาหลักทางปัญญาแห่งพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน โดยทุกครั้งที่มีข้อข้องใจเกี่ยวกับหลักการทางพระพุทธศาสนา ท่านสามารถให้คำตอบที่แจ่มแจ้งได้เสมอ จากหนังสือ ประชาธิปไตยจริงแท้...คือแค่ไหน? หน้า 132134

ดังที่มีผู้กราบเรียนถามเรื่องทัศนะที่แตกต่างกัน ในเรื่องของการให้อภัยแก่ผู้ทำผิดว่า การให้อภัยนั้นควรมีหลักการ เงื่อนไข หรือขอบเขตแค่ไหน อย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม?

ท่านเจ้าคุณอาจารย์ : เราให้อภัยได้ แต่เราให้ความชอบธรรมไม่ได้ เราให้อภัยก็คือไม่มีภัยจากเราแก่เขา แต่ความชอบธรรมหรือความผิดธรรมเป็นเรื่องของธรรม ไม่ขึ้นต่อเรา เราเปลี่ยนมันไม่ได้ การให้อภัยนั้น มีการให้อภัยในจิตกับการกระทำภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องการแสดงออก การให้อภัยในจิตเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องทำ และต้องออกมาจากภายในจิตใจ

หมายความว่าเราจะไม่ถือเป็นเรื่องที่จะเอามากระทำการใดๆ ด้วยความเคียดแค้นชิงชัง แต่เป็นการกระทำเพื่อรักษาธรรม เพื่อรักษาประโยชน์ของสังคม ซึ่งเรายังต้องทำตรงนี้ ต้องแยกกันให้ออก

ในกรณีอย่างนี้ เราก็จะลงโทษโดยที่ว่าเราไม่ได้ทำด้วยความชิงชัง แต่ทำเพื่อรักษาธรรมของสังคม ซึ่งบางทีเราก็ต้องทำเพื่อรักษาประโยชน์สุขของสังคม แต่การที่เราทำโดยไม่มีความเคียดแค้นชิงชังนั้น จะทำให้การตัดสินต่างๆ เป็นธรรมมากขึ้น มันจะบริสุทธิ์และเป็นไปโดยปัญญา เพราะถ้าเราตัดสินด้วยความเคียดแค้นชิงชัง มันก็จะเบี่ยงเบนและเกิดอคติ

ดังนั้น ทางจิตใจเราจึงควรให้อภัยไว้ก่อน อุเบกขาก็จะเข้ามา เป็นอุเบกขาด้วยปัญญา เพราะจิตเรียบสงบ ไม่มีความเคียดแค้นชิงชังและไม่เอนเอียง จึงทำให้ตัดสินเรื่องราวต่างๆ ด้วยความรับผิดชอบเพื่อรักษาธรรม ส่วนการแสดงออกภายนอกนั้นเราควรจะแบ่งเป็นขั้นตอน เพราะการที่จะให้อภัยหรือลงโทษใครแค่ไหน ก็ต้องมีลำดับ

เช่นเรื่องนี้ เราจะต้องหาหลักว่าอะไรเป็นจุดสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสิน เช่น (หนึ่ง) เพื่อให้ธรรมของสังคมดำรงอยู่ เพื่อความเป็นแบบอย่างของสังคม (สอง) เพื่อประโยชน์สุขในระยะยาว

ในกรณีนี้เราควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด นี่เป็นข้อพิจารณาในการตัดสิน แล้วก็มาดูในส่วนของตัวบุคคล โดยควรคำนึงถึงคุณธรรมของเขาด้วย เช่น ดูว่าเขามีความสำนึกไหม ความสำนึกนั้นต้องเป็นไปโดยความบริสุทธิ์ใจ หรือบางทีก็ต้องมีการให้ปัญญาแก่เขาด้วย เพราะบางทีเขาทำผิดโดยมีความบริสุทธิ์ใจ เข้าใจว่าที่เขาทำนั้นถูกต้องดีแล้ว ซึ่งเขาเข้าใจผิดพลาด เพราะเขาไม่มีปัญญาที่จะมองอะไรได้อย่างรอบด้าน

อย่างนี้ก็ต้องถกเถียงกัน ก็มาใช้ปัญญาพูดกัน ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็นผลเสียอย่างไร เสียประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร ถ้าเขาได้เข้าใจข้อมูลอะไรต่างๆ อย่างนี้แล้ว เขายังไม่สำนึกก็ค่อยว่ากันอีกที แต่เราต้องมีการทำเป็นขั้นตอนก่อน

ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะไปทำให้เขาสำนึกในทันทีทันใด แล้วการสำนึกนั้นก็มักเป็นไปตามความหมายของเรา เพราะฉันเห็นว่าอย่างนี้ถูก เขาต้องสำนึกตามที่ฉันต้องการ ส่วนคนผิดเขาก็คิดเหมือนกันว่า ฉันก็ว่าของฉันอย่างนี้ถูก

แล้วจะให้ฉันสำนึกได้ยังไง เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสร้างปัญญาขึ้นก่อน สำนึกที่ชอบธรรมมันก็เกิดจากปัญญาที่มองเห็นและเข้าใจความเป็นไป

คนจำนวนมากคิดว่า ความเป็นพุทธคือ การปล่อยวางหรือวางเฉย แต่แท้จริงแล้ว อุเบกขาหรือความวางเฉยนั้นมีที่มาจากปัญญา เมื่อเห็นว่าไม่ควรจะทำอะไรหรือไม่อาจจะทำอะไรได้แล้ว จึงวางเฉย แต่ในระหว่างนั้นก็พิจารณาอยู่ตลอดว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

การเฉยโดยไม่ใส่ใจ หรือเฉยโดยไม่รับรู้ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ (พระพรหมคุณาภรณ์) ใช้คำว่า “เฉยโง่” ซึ่งไม่ตรงตามหลักอุเบกขาที่ถูกต้อง ชาวพุทธจึงต้องแยกให้ชัดเจน ระหว่างการ “ทำจิต” และ “ทำกิจ” เรามีหน้าที่จะต้องทำทั้งสองอย่างให้ถูกต้อง จะอ้างว่าทำจิตให้สงบผ่องใสอย่างเดียวไม่ได้ หรือจะมุ่งมั่นทำกิจเพื่อความถูกต้องด้วยใจที่เคียดแค้นชิงชังอย่างเดียว ก็ถือว่าไม่ถูกต้องเช่นกัน

ความเป็นชาวพุทธที่แท้จึงอยู่ที่การทำงานทั้งสองด้านให้สอดคล้องสัมพันธ์กันด้วยสติและปัญญา กล่าวโดยสรุปตามท่านพุทธทาส จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือการทำงาน ปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำ ด้วยหัวใจที่ไร้ตัวตน เพราะหน้าที่เป็นเรื่องภายนอก การปล่อยวางเป็นเรื่องภายใน จึงหวังว่าจะเคลียร์ข้อสงสัยให้กับหลายท่านสำหรับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ว่าเราควรปฏิบัติตัวและทำใจอย่างไร

สำหรับกฎแห่งกรรมทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า กรรมดีย่อมส่งผลดี กรรมชั่วย่อมส่งผลชั่ว ถึงแม้ว่าการทำกรรมดีจะลบล้างกรรมชั่วเก่าที่มีอยู่เดิมไม่ได้ แต่มีส่วนช่วยให้ผลจากกรรมชั่วที่มีอยู่เดิมผ่อนลง คือ การผ่อนหนักให้เป็นเบา อุปมาได้กับการที่เรามีน้ำขุ่นข้นอยู่แก้วหนึ่ง หากเติมน้ำบริสุทธิ์ลงไปแล้ว มิสามารถทำให้น้ำขุ่นกลับบริสุทธิ์ได้ แต่ทำให้น้ำขุ่นข้นนั้นกลับเจือจางลงและใสยิ่งขึ้นกว่าเดิม

แม้แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องรับผลของกรรมที่ได้ทำไว้ จนกว่าจะปรินิพพาน เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์พวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้