posttoday

ชีวิต (พระเอก) หลังบวช กับ ซี ศิวัฒน์

28 มกราคม 2556

โดย...จตุรภัทร–ณัฐกานต์ ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

โดย...จตุรภัทร–ณัฐกานต์ ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ในวงการบันเทิงบ้านเรา ขึ้นชื่อว่า “พระเอกในดวงใจของแฟนๆ” ความเป็นพระเอก ที่นอกจากจะ ดาร์ก ทอลล์ แอนด์ แฮนซัม ความหล่อกาย เดี๋ยวนี้ไม่พอ ยังต้องหล่อที่ใจ และยิ่งใช้เวลา (ว่าง...ที่มีอยู่น้อยนิด) เดินทางเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หรือการได้บวชเพื่อเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แน่นอนว่า พระเอกคนนั้น “หล่อยิ่งกว่าหล่อที่ใจ”

วันนี้ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับพระเอกคนล่าสุด (ที่หล่อทั้งกายและหล่อทั้งใจ) ที่ได้เดินทางเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ไปเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2555 และได้ลาสิกขาบทตามฤกษ์ ในวันที่ 29 ธ.ค.ในปีเดียวกัน เขาคนนั้นคือ ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ พระเอกเด็กสร้างของช่อง 7 สี ที่กำลังจะมีผลงานละครเรื่อง “คุณชายเลี้ยงหมู คุณหนูเลี้ยงแกะ” และละครเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่อง “ไกลกังวล มิวสิคัล ออน เดอะ บีช” ที่จะเปิดทำการแสดง ณ สวนหลวงราชินี อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงปลายเดือน ก.พ.

“จริงๆ แล้วเรื่องบวช ผมอยากบวชตั้งแต่อายุ 21 แต่ก็ไม่ได้บวช พออายุ 25 อยากบวชอีก แต่ก็ไม่ได้บวช ด้วยเรื่องงานด้วยอะไรก็ว่ากันไป จนกระทั่งได้มาบวชตอนอายุ 30 นี่แหละครับ”

ศิวัฒน์ เปิดใจว่า ที่ไม่ได้บวชเพราะติดนั่นติดนี่ มันเหมือนเป็นข้ออ้างมากกว่า “ผมมองว่าจะบวชหรือไม่บวชมันอยู่ที่ใจเรามากกว่า จริงๆ แล้วถ้าจะบวช เรื่องงานเรื่องอะไรไม่ได้เกี่ยวอยู่แล้ว ถ้าเราตั้งใจจริง ก็ไม่จำเป็นต้องอะไรๆ แต่ถ้ามัวแต่รอ แล้วเมื่อไรมันจะได้บวช จริงมั้ยครับ”

สำหรับฤกษ์ดีของศิวัฒน์ เขาบอกว่า แค่เป็นวันเวลาที่เขารู้สึกสบายใจ ไม่ต้องห่วงกังวลอะไร นั่นก็คือฤกษ์ดีสำหรับเขาแล้ว “ผมรู้สึกว่าชีวิตในวัย 30 เป็นช่วงวัยที่พร้อมจะศึกษาธรรมะจริงๆ ผมตั้งใจที่จะตัดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องละคร เรื่องงานอื่นๆ ถ้าถามหาวันว่าง ไม่ต้องบวชกันพอดี เพราะมันไม่มีวันว่างจริงๆ ฉะนั้น ผมว่ามันอยู่ที่เราพร้อมจะตัดทุกอย่าง แล้วตั้งใจบวชแบบไม่ต้องรีรอหรือเปล่า”

ศิวัฒน์ตัดสินใจบวชที่วัดแก้วฟ้าจุฬามณี ย่านเกียกกาย โดยได้ฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า ฐิตวฑฺฒโน ซึ่งแปลว่า ผู้มีความดำรงอยู่แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเขาถึงเลือกบวชที่วัดในกรุงเทพฯ ทำไมไม่เลือกบวชตามต่างจังหวัด

“ที่เลือกวัดนี้ แม้ว่าจะอยู่ในเมือง ที่ใครมองว่ามันวุ่นวาย แต่ก็ไม่มีใครมายุ่งกับผมในยามวิกาลสักหน่อย ผมก็ใช้ชีวิตและทำกิจของสงฆ์ได้อย่างสงบร่มเย็น ผมเชื่อว่าทุกที่มีความสงบหมด ถ้าใจเราสงบ”

อีกประการ ที่เขาเลือกที่วัดนี้ เป็นเพราะอยากจะให้เพื่อนในวงการบันเทิงมาร่วมงานบวชได้โดยเดินทางไม่ลำบาก และอยากให้คนในวงการบันเทิงหันมาเข้าวัดกันเยอะๆ

“ด้วยความที่ผมเป็นนักแสดง โอกาสที่คนในวงการบันเทิงจะเข้าวัด มันยากเหลือเกิน ผมถึงรู้ เพราะผมก็เป็น ฉะนั้น เมื่อวันที่ผมได้เป็นพระ เลยเป็นโอกาสดีที่จะได้ชักชวนเพื่อนๆ ในวงการมาทำบุญไหว้พระกันมากขึ้น แถมเขายังจะได้ชวนญาติพี่น้องมาพร้อมกันด้วย นี่เป็นการจุดเทียนหนึ่งเล่มแล้วสามารถจุดให้เล่มต่อๆ ไปได้ เหมือนเป็นการเพิ่มบุญเพิ่มกุศล ไม่ใช่ไปบวชไกลๆ แล้วคนที่อยากจะมาทำบุญร่วมกับเรา กลับไม่มีโอกาส”

บทสนทนาของเราเดินทางมาถึงช่วงสำคัญ ผมถามศิวัฒน์ว่า เขาได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วงเวลาที่เขาอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

“จริงๆ แล้วก่อนที่จะบวช ผมก็ไปฝึกจิต ฝึกการทำสมาธิ และสวดมนต์ ซึ่งบอกตรงๆ ว่าก่อนหน้านี้ผมเป็นคนค่อนข้างพลังเยอะ คิดเยอะ พูดเยอะ ทำเยอะ คิดเร็วทำเร็วครับ ฉะนั้นแล้ว ผมจำเป็นที่จะต้องไปฝึกจิตก่อน เพราะว่าในใจลึกๆ ของเรามันต่อต้านตลอดเวลา ผมไม่ใช่คนที่จะนั่งสมาธิได้ ไม่ใช่คนที่จะสวดมนต์ได้ และไม่น่าจะเป็นพระได้อย่างถูกต้อง แต่อย่างที่บอกว่า ถ้าเรามัวแต่ไปอคติกับเรื่องอะไรไม่รู้ คือผมมองว่าคนเราอคติได้ แต่ก่อนจะอคติ ต้องรู้ให้จริงก่อน ก่อนที่จะไปอคติ บางทีเราไปบอกว่าคนนั้นไม่ดี เรายังไม่รู้เลยว่าคนนั้นเป็นอย่างไร เหมือนการบวชพระ ผมต้องรู้ให้จริงก่อน จึงเข้าไปฝึกจิต ฝึกการทำสมาธิ และสวดมนต์ ถ้าผมไม่เข้าใจคำพูดไหนในบทสวด ผมก็จะถาม เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าทุกคำพูดที่เราพูดไป มันแปลว่าอะไร ไม่ใช่นกแก้วนกขุนทอง อ่านท่องไปแล้วสุดท้ายก็ลืม”

ในระหว่างที่บวช สิ่งที่เขาได้ค้นพบ และถือเป็นหัวใจสำคัญของการบวชในครั้งนี้ คือ ความสงบ

“ผมได้เรียนรู้ว่าความสุขที่แท้จริงคือความสงบ ที่ไม่ใช่การมีทรัพย์สินเงินทองเยอะแยะมากมาย ผมยืนยันว่าผมไม่ได้ละทุกอย่างได้ เพียงแต่ผมสามารถพิจารณาว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง”

ศิวัฒน์บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า กิจของสงฆ์ไม่ได้มีอะไรมากมาย นอกจากบิณฑบาต ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น

“แค่นี้เองครับ พระไม่ได้มีกิจวัตรอะไรที่มากมายเลย ผมเลยมีเวลาได้อยู่กับตัวเอง และไม่คิดว่าตัวเองจะอ่านหนังสือธรรมะได้เยอะขนาดนี้ (หัวเราะ) ผมมีเวลาน้อย บวชแค่ 12 วัน เพราะฉะนั้น มีเวลาก็อ่านเลย ยิ่งอ่านยิ่งอยากรู้ พอนั่งสมาธิแล้วสงบ ก็ยิ่งอ่านได้มากขึ้น”

นอกจากนี้ ศิวัฒน์ยังได้บอกเล่าถึงการฝึกจิตได้อย่างน่าสนใจ ทำเอาผมอดที่จะสนใจฝึกจิตตามเขาไปด้วยไม่ได้

“การนั่งภาวนาจิต มันช่วยทำให้จิตใจของเราสะอาด คนเราต้องฝึกความคิดตัวเอง เพราะความคิดมันเหมือนลิง วันหนึ่งเราคิดกันเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง จิตถ้าไม่มีการฝึก มันก็เปรียบเหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำเสมอ”

ศิวัฒน์ยังกล่าวต่ออีกว่า คนเราทำชั่วได้ง่ายกว่าทำความดี เราทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกจิตตนเองให้สะอาด

“ฝึกธรรมะแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมแบบเห็นได้ชัดเจนเลย คือ ผมสามารถแนะนำหลักธรรมคำสอนให้แก่คนอื่นได้โดยไม่ต้องพูดว่าอริยสัจ 4 คืออะไร แต่มาจากการได้ศึกษาได้วิเคราะห์ และสังเคราะห์จนเกิดปัญญา สิ่งที่พูดมา ไม่ใช่จะโชว์ว่าเราเป็นพระแล้วถึงพูดได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าผมไม่ได้พูดออกมาจากความเข้าใจ และไม่ได้ถ่ายทอดออกมาจากใจของผมเอง”

หลังจากลาสิกขาบท ศิวัฒน์บอกกับผมว่าเขารู้สึกไม่อยากสึกออกมาเลย เขามองหน้าผม แล้วผมสัมผัสได้ว่า เขาพูดออกมาจากใจจริงๆ

“เหมือนเวลาเราเจออะไรที่มีความสุขแล้ว เราไม่อยากจากความสุขนั้นไปไหน เวลาที่เราอยู่ในที่สงบที่ทำให้จิตใจเราสูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็อยากอยู่ตรงนั้นนานๆ อยากสัมผัสน้ำที่มาชำระล้างใจเราไปนานๆ แต่เมื่อเรายังต้องมีอะไรให้รับผิดชอบในทางโลก เราก็ต้องกลับไปทำ แม้จะรู้ว่าเมื่อสึกออกไปแล้วจะต้องเจออะไรที่วุ่นวาย ไหนจะเรื่องงาน เรื่องธุรกิจของตนเอง ต้องบินไปนู่นไปนี่ ไหนจะเรื่องคิวละคร เห็นได้ว่ามันวุ่นวายมาก ท้ายที่สุด เราต้องละวางความอยาก แล้วพิจารณาตามความเป็นจริง”

คนเราสามารถมีความสุขได้ในการเดินทางสายกลาง ผมพูด ศิวัฒน์ยิ้มแล้วบอกกับผมว่า เหมือนกับการเล่นดนตรี เล่นตึงไปก็ไม่เพราะ หย่อนเกินไปก็ไม่เป็นเพลง

“เวลามีคนทำให้ผมไม่สบายใจ ผมก็เรียนรู้ที่จะดึงอารมณ์ตัวเอง รู้เท่าทันตนเอง ดึงอารมณ์ตรงนั้นให้กลับมาไม่ต้องไปด่าเขา สาปแช่งเขา อย่าลืมว่าที่เราไม่พอใจเวลาใครมาด่ามาว่าเรา เขาทำให้เราเจ็บใจได้แค่ครั้งเดียว ที่เหลือตัวเราเองทำหมดเลย เหมือนผมด่าคุณ คุณโกรธแน่ เพราะเราไม่รู้จักกัน ผมก็ด่าแค่ครั้งเดียวแล้วก็เดินจากไป แต่เรายังเป็นทุกข์ที่คอยแต่คิดว่า เขาเป็นใคร มาด่าเราทำไม พอทุกข์เสร็จ มานั่งทำงานต่อ ทำเสร็จกลับมาคิด ก็ทุกข์ต่อ เท่ากับว่าคุณเอามีดมาแทงตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่าลืมว่า เรื่องมันเกิดขึ้นและจบไปแล้ว”

การบวชในครั้งนี้ ทำให้ศิวัฒน์ได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจเพื่อนมนุษย์และโลกใบนี้มากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ เมื่อสึกแล้ว เขาไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างที่หลายคนเข้าใจ เขายังเป็น ซี ศิวัฒน์ คนเดิม

“ผมยังเป็นคนเดิมครับ นิสัยเป็นอย่างไร ก็ยังเป็นอย่างนั้น เพราะนิสัยมันแก้ไม่ได้ เราเป็นตัวของตัวเองมา 10 ปี 20 ปี คุณคิดว่าจะแก้นิสัยนั้นได้ภายใน 12 วันไหม ไม่ได้ แต่เราสามารถแก้ที่ใจของเราได้เหมือนมีคนบอกว่าทำบุญแก้กรรมได้ ไม่จริงครับ แต่ทำให้มันจางได้ คุณมีแก้วน้ำเปล่าหนึ่งใบ เทหัวเชื้อน้ำแดงเข้มข้นลงไป เติมน้ำตามลงไป น้ำแดงก็ยังเข้มข้นอยู่ เมื่อเติมน้ำเพิ่มไปอีก สีก็จางลง แต่สีแดงนั้นไม่ได้หายไป”

ก่อนจาก เขาได้ย้ำข้อความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรา ที่มีเข้ามาได้ทุกวี่วันได้น่าสนใจมากทีเดียว

“คนส่วนใหญ่ เวลาเกิดปัญหาจะไม่โทษตัวเองเลย มักจะโทษคนนั้นคนนี้ โทษชะตากรรม โทษวันเวลา โทษพ่อ แม่ เพื่อน แต่ไม่เคยโทษตัวเองเลย ไปปล้นก็โทษวิบากกรรมว่าจนจึงต้องมาปล้น คนส่วนใหญ่ตั้งอะไรขึ้นมาเพื่อเป็นข้ออ้าง อย่าลืมว่า ปัญหาไม่เคยวิ่งเข้าหาเรา ตัวเราที่วิ่งเข้าหาปัญหาเอง เพราะฉะนั้นจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ต้องเริ่มต้นแก้ไขที่ใจของเราเองครับ”

ศิวัฒน์ทำให้เราเห็นแล้วว่า การบวช ไม่ใช่แค่การบวช แต่เป็นการได้เข้าไปแก้ “อะไรบางอย่าง” ที่เกิดขึ้นกับใจตนเอง ด้วยตัวของเราเอง เพื่อที่จะได้ใช้ “ชีวิต” อย่างคนที่ทุกข์น้อยลง แต่มีความสุขมากขึ้น และมันจะเป็นความสุขที่เราสามารถเผื่อแผ่ให้เพื่อนร่วมโลกได้อีกด้วย