posttoday

จากวันนั้นถึงวันนี้ เธอคือ‘ราชินีละคร’

08 ตุลาคม 2555

ขึ้นชื่อว่าเป็น“ผู้หญิง”ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพในวงการบันเทิง หากเทียบเคียงกับวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือที่เราเรียกตามภาษาการตลาดว่าโปรดักต์ ไลฟ์ ไซเคิล

โดย...จตุรภัทร หาญจริง

ขึ้นชื่อว่าเป็น“ผู้หญิง”ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพในวงการบันเทิง หากเทียบเคียงกับวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือที่เราเรียกตามภาษาการตลาดว่าโปรดักต์ ไลฟ์ ไซเคิล วงจรชีวิตการทำงานของเธอเหล่านี้ นอกจากเป็นนางเอก นางร้าย หรือนางแบบระดับขายดีแล้ว เมื่อต้องถึงขาลง หรืออายุอานามเริ่มมากขึ้น บ้างก็เบนเข็มไปทำธุรกิจส่วนตัว เป็นภรรยาของใครสักคน หรือไม่ก็เป็นคุณแม่ลูกหนึ่งลูกสองก็ว่ากันไป

แต่มีนางเอก นางร้าย นางแบบ หลายยุคหลายสมัยที่ยังยืนหยัดอยู่ในวงการบันเทิง โดยผันตัวเป็นผู้จัดละคร หรือไม่ก็เป็นผู้กำกับการแสดงที่มีผลงานโดดเด่นมากมาย วันนี้ผมจะพาคุณไปทำความรู้จักกับเธอเหล่านี้ สตรีที่ผมยกย่องให้เธอเป็น“ราชินีแห่งละคร”ตัวจริงเสียงจริง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2485สุพรรณ บูรณะพิมพ์ได้รับเลือกให้เป็นนางเอกละครเวทีครั้งแรกในเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ มีชื่อเสียงจากละครเรื่อง ราชินีบอด และเริ่มเป็นผู้จัดละครเรื่อง หนึ่งในร้อย แต่ชีวิตคนเรานี้หนอไม่เที่ยงทน สุพรรณ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2548ขณะที่กำลังกำกับละครโทรทัศน์เรื่อง สายโลหิต และเตรียมการสร้างละคร“วิวาห์พระสมุทร”และ“แผลเก่า”ค้างอยู่ นับว่าสุพรรณคือ ราชินีแห่งละครที่ทุ่มเทจิตวิญญาณให้ละครโดยแท้

จากนางเอกละครระดับแถวหน้าของช่อง4บางขุนพรหมกนกวรรณ ด่านอุดมมีผลงานการแสดงที่สร้างชื่อจากละครเรื่อง น้ำผึ้งขม หลังจากช่อง 4 เปลี่ยนเป็นช่อง 9 กนกวรรณก็เป็นผู้จัดละครหลากหลายเรื่อง แต่ที่ดังเปรี้ยงปร้างคือ เรื่อง“ทัดดาว บุษยา”และ“สามเกลอ”(พล นิกร กิมหงวน) แถมยังมีเรื่องร่ำลือมาจนทุกวันนี้ว่า กนกวรรณคือผู้จัดที่มักยกทัพไปถ่ายละครที่ต่างประเทศบ่อยครั้ง ทุ่มทุนสร้างที่สุด และใจเด็ดที่สุด

จากวันนั้นถึงวันนี้ เธอคือ‘ราชินีละคร’

 

ยุคต่อมาหญิงใหญ่มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวชกับหญิงเล็กทาริกา ธิดาทิตย์แห่งภาพยนตร์เรื่องบ้านทรายทอง ก็ผันตัวมาเป็นผู้จัดละครที่มีผลงานยาวนานต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ แถมมีลูกรักที่มีผลงานการแสดงที่สร้างชื่อไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นชาย ชาตโยดมแอฟ ทักษอร (ลูกรักของมยุรฉัตร) อั้ม อธิชาติต๊ะ วริษฐ์ (ลูกรักของทาริกา) นี่แสดงให้เห็นว่า บนเส้นทางเดินของการเป็นผู้จัดละครไม่ใช่แค่ทำละครดีๆ ออกมาเรื่องหนึ่งแล้วก็จบ แต่หมายถึงการทำให้นักแสดงได้แสดงความสามารถจนได้รับการยอมรับจากคนดูทั่วทั้งประเทศ

หากผมไล่เรียงรายนามของนางเอก นางร้าย และนางแบบมากฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นธิติมา สังขพิทักษ์หทัยรัตน์ อมตวณิชย์จริยา แอนโฟเนธัญญา วชิรบรรจงชุดาภา จันทเขตต์แอน ทองประสมบุษกร วงศ์พัวพันธ์และเมย์ เฟื่องอารมย์เธอเหล่านี้ นอกจากฝีไม้ลายมือในการแสดงที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากมายหลายเรื่อง เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งของการทำงาน เธอเหล่านี้ต่างรู้ดีว่า“จุดที่จะต้องไปต่อของชีวิต”คืออะไร และอะไรคือก้าวต่อไปที่จะทำให้เธอยังยืนหยัดอยู่ใน“วงการบันเทิง”นี้ได้อย่างสง่างาม

ปัจจุบัน ธิติมา สังขพิทักษ์ เป็นผู้จัดละครเรื่อง ดาวเรือง และคุณชายพุฒิภัทร (สุภาพบุรุษจุฑาเทพ) ทางช่อง 3/หทัยรัตน์ อมตวณิชย์ เป็นผู้จัดละครเรื่อง แรงปรารถนา และอย่าลืมฉัน ทางช่อง 3/จริยา แอนโฟเน เป็นผู้จัดละครเรื่อง คุณสามี (กำมะลอ) ที่รัก ทางช่อง 3/ธัญญา วชิรบรรจง เป็นผู้จัดละครเรื่อง ทองเนื้อเก้า ทางช่อง 3/ชุดาภา จันทเขตต์ เป็นผู้กำกับการแสดงเรื่อง พรพรหมอลเวง ทางช่อง 3/แอน ทองประสม เป็นผู้จัดละครเรื่อง ปัญญาชนก้นครัว และสามีตีตรา ทางช่อง 3/บุษกร วงศ์พัวพันธ์ เป็นผู้จัดละครที่เพิ่งอวสานไป เรื่อง รักคุณเท่าฟ้า ทางช่อง 3 และเมย์ เฟื่องอารมย์ เป็นผู้จัดละครเรื่อง น้องเมีย ทางช่อง 8

และบทสนทนาต่อจากนี้ไปจะเป็นบทสนทนาที่ผมตั้งใจรำลึกถึงความหลังครั้งเก่า ที่มาพร้อมกับคุณงามความดีของผู้หญิงเก่งแห่งวงการละครบ้านเรา“อารีย์ นักดนตรี”คือ สุภาพสตรีที่จะมาช่วยผมและคุณผู้อ่านได้นั่งไทม์ แมชชีนเพื่อย้อนกลับไปรำลึกถึงเรื่องราวในอดีตที่เหมือนเพิ่งผ่านไปได้ไม่นาน

จากวันนั้นถึงวันนี้ เธอคือ‘ราชินีละคร’

 

อารีย์ นักดนตรีคือ ผู้ประกาศ/จัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ พิธีกร นักแสดง นักร้อง นักพากย์ ผู้จัดละครคณะ“อารีวัลย์”ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ (ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม) และละครดังอีกมากมายทางช่อง 9 อสมท

ในฐานะนักแสดง ละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเธอคือ ขุนศึก และลูกทาส เมื่อจัดตั้งคณะอารีวัลย์ก็ได้ผลักดันให้ดาวรุ่งดวงใหม่ได้เจิดจรัสบนท้องฟ้าแห่งวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น กนกวรรณ ด่านอุดมศิริพร วงศ์สวัสดิ์นันทวัน เมฆใหญ่รัชนู บุญชูดวงเดือนเต็ม สาลิตุลอุทุมพร ศิลาพันธ์ลินดา ค้าธัญเจริญนวลปรางค์ ตรีชิตกาญจนา จินดาวัฒน์ศิริวัฒน์ คงคาเขตรอนุสรณ์ เดชะปัญญาปรัชญา อัครพล และอัศวิน รัตนประชา อีกทั้งผลงานการเป็นผู้จัดและผู้กำกับการแสดงก็มีหลากเรื่องหลายรส ไม่ว่าจะเป็น คุ้มผาคำสวรรค์เบี่ยงใครกำหนดแม่ม่ายหลานสาวคุณหญิงกุหลาบไร้หนามสามอนงค์หลงชลาลัยสาวแก่อีสาประทีปอธิษฐานขมิ้นกับปูน ฯลฯ

“จากที่เรามีโอกาสได้เล่นละคร ได้เห็นวิธีการกำกับหรือการจัดฉากของรุ่นพี่ๆ ทำให้เราได้เห็นงานของเขา ประกอบกับเรารักงานนี้ เราเลยสนใจ อีกทั้งโลกของโทรทัศน์มีอะไรให้เราเรียนรู้เยอะมาก เราเลยก้าวเข้ามาเป็นผู้จัดละคร”

อารีย์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาเป็นผู้จัดละครโทรทัศน์ต่ออีกว่า พอเธอทำมาแล้วหลายอย่าง เล่นละครมาแล้วหลายเรื่อง เมื่ออายุมากขึ้นก็เลยรู้สึกว่าควรจะหยุดการเป็นนางเอก“เพราะเรารู้ว่าเราควรจะหยุดเมื่อไร และควรเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้เมื่อไร ซึ่งช่อง 4 บางขุนพรหมเป็นเหมือนสำนักตักสิลา (มหาวิทยาลัยและศูนย์กลางของศิลปวิชาการของอินเดียในอดีต) เลยนะ ที่มีอะไรให้เราเรียนรู้และลองทำได้อีกหลายอย่าง”

จากวันนั้นถึงวันนี้ เธอคือ‘ราชินีละคร’

 

อารีย์พูดถึงความได้เปรียบของเธอว่า นอกจากได้ดูละครเวทีมาเยอะ เธอยังอ่านหนังสือ อ่านนวนิยาย และอ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาเยอะเช่นเดียวกัน ทำให้เธอทำละครออกมาได้สมจริง“ต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นหลังๆ ไม่ค่อยอ่านหนังสือในระดับที่ลึก แต่เราก็ไปว่าเขาไม่ได้ แต่สำหรับเราการทำละครเรื่องหนึ่งต้องอ่านแล้วอ่านอีก ตีความให้ได้ ถ้าตีความไม่ได้ก็ต้องถามผู้ที่รู้ดีกว่า ผู้ที่เคยเห็นมาก่อน หรือผู้ที่เคยกำกับมาก่อน”

อารีย์ เล่าให้ผมฟังว่า นี่คงเป็นความพิถีพิถันที่ติดตัวมาตั้งแต่ยังเป็นนักแสดง“ตอนเล่นละคร ค่อนข้างเลือกบท บทไหนไม่เหมาะกับตัวเองก็ไม่เล่น เขียนบทไม่ดีก็ไม่เล่น ค่อนข้างพิถีพิถันในการเลือกงาน นักแสดงบางคนใครให้เล่นก็เล่น ให้ทำอะไรก็ทำ แต่เราไม่ใช่ เราเป็นคนที่ชอบสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง (หัวเราะ)”

นอกจากนี้ อารีย์ยังได้เผยเคล็ดลับของการเป็นผู้จัดละคร ที่เมื่อผมได้ฟังแล้วถึงกลับมีความคิดว่านี่คือ ไม้เด็ดที่ผู้จัดละครสมัยนี้สามารถนำไปใช้ได้ไม่มีวันสิ้นสุด

“ตอนเป็นนักแสดงเรารับผิดชอบงานของเรา ท่องบทมาให้ดี ดูแลเนื้อตัวเสื้อผ้าหน้าผมให้ดี เชื่อฟังผู้กำกับ ดูแลรักษาเวลา อย่าให้คนอื่นคอยนาน แต่พอมาเป็นผู้จัด (และผู้กำกับในคนเดียวกัน) เราต้องดูแลคนทั้งกองถ่าย ต้องวางแผน เลือกตัวละคร จ้างคนทำบท บอกบท ดูความเหมาะสม อีกทั้งต้องรู้ว่านักแสดงคนไหนชอบกินอะไรไม่ชอบกินอะไร อย่างนักแสดงท่านหนึ่งรับประทานข้าวหอมมะลิไม่ได้ เขาจุก เขาต้องกินข้าวธรรมดา หรือคนนี้เป็นอิสลาม ไม่กินหมู ผู้จัดต้องรู้ทุกอย่าง หรือเป็นผู้กำกับก็ต้องพร้อมเสมอในการทำให้นักแสดงเข้าถึงบทบาทให้ได้ ให้ดี และต้องดูแลการจัดฉาก ที่บ้านเลยเต็มไปด้วยฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก (หัวเราะ)”

อารีย์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า ความสมจริงตามยุคสมัย หรือสิ่งที่คนปฏิบัติกันก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ

“อยากให้ผู้จัดสมัยนี้ละเอียดลออกับเรื่องของยุคสมัย หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรมองข้าม หากผู้จัดทำให้เป็นไปตามยุคสมัยนั้นๆ หรือทำให้คนดูเห็นถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่คนสมัยนั้นทำกันจริงๆ คนดูสมัยนี้จะได้ความรู้และคล้อยตามได้โดยไม่มีข้อกังขา แต่ถ้าทำให้คนดูคล้อยตามไม่ได้ละครก็ไม่เกิด”

อารีย์ เล่าให้ผมฟังต่อว่า คนไทยสมัยก่อนไม่สวมรองเท้าเดินในบ้าน ปัจจุบันเห็นนางเอกใส่รองเท้าสามนิ้วสี่นิ้วในบ้าน มันไม่ใช่วิถีชีวิตของคนไทย“ต่อให้ลูกเศรษฐี หรือลูกเจ้าขุนมูลนาย เขาก็ไม่ใส่ เพราะคนไทยถือ พอถึงบ้านก็ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน หรือต้องแขวนหมวกไว้ ถึงจะเดินเข้าบ้านได้ นี่คือมารยาท”

จากวันนั้นถึงวันนี้ เธอคือ‘ราชินีละคร’

 

“ในส่วนของการตบตีก็เหมือนกัน สมัยก่อนไม่เห็นจะต้องตบตีกันทุกเรื่อง ไม่เห็นจะต้องยกเอาเรื่องตบตีมาทำให้เรตติ้งของละครดี ความพอเหมาะ พอดี และพอควรต่างหากที่สำคัญ ตัวละครไม่เห็นจำเป็นต้องพูดจาหยาบคาย หรือตบตีแบบถึงพริกถึงขิง ถ้าคนเขียนบทดี ผู้กำกับดี นักแสดงมีฝีมือ อีกทั้งผู้จัดดี มีพาวเวอร์มากพอที่จะคุมหรือเบรกผู้กำกับที่ต้องการตบตีเยอะๆ ได้ จะทำให้ละครออกมาอย่างที่เราอยากให้เป็น”

อารีย์ กล่าวเสริมว่า ปัญหาของผู้จัดและผู้กำกับที่มองไปคนละทิศละทาง มักทำให้การทำงานยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า“เราเลยเป็นทั้งผู้จัดและผู้กำกับในคนเดียวกันให้รู้แล้วรู้รอด (หัวเราะ)”

ท้ายสุด ผมขอให้ผู้หญิงเก่งท่านนี้ได้ฝากอะไรถึงผู้จัดหรือผู้กำกับหญิงรุ่นต่อๆ มา เธอกล่าวปิดท้ายว่า

“ขอให้ผู้จัดรุ่นใหม่ๆ พยายามรักษาแนวเรื่องของบทประพันธ์ เคารพบทประพันธ์ อย่าได้ไปแก้บทของเขาให้เสียไคลแมกซ์ของเรื่อง เพราะเขาทำมาดีแล้ว เพียงแค่เราหาคนเขียนบทละครดีๆ และทำให้เรื่องราวออกมาให้ดีเท่านี้ก็เพียงพอ ที่สำคัญที่สุดอยากให้ผู้จัดรุ่นใหม่ได้ทำละครประวัติศาสตร์กันคนละเรื่อง หรือปีละเรื่อง เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทย เราต้องส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้และไม่ลืมเลือน”

นอกจากความสวย ความสามารถ และความมุ่งมั่นตั้งใจ“ความรักในละครและความอยากทำให้คนดูมีความสุข”น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอเหล่านี้ยังยืนหยัดอยู่ในวงการบันเทิงมาจนถึงปัจจุบัน และมันอาจเป็นคำตอบของทั้งหมด!