posttoday

แรงบันดาลใจ...ต้องสู้ถึงจะชนะ

09 กันยายน 2555

ขึ้นชื่อว่านักกีฬา หากหวังประสบความสำเร็จ ต้องมีวินัยสูง โดยมีความมุมานะอดทนขยันฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ

โดย...พิธานอนันต์ พูลสมบัติ

ขึ้นชื่อว่านักกีฬา หากหวังประสบความสำเร็จ ต้องมีวินัยสูง โดยมีความมุมานะอดทนขยันฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้เหนือคู่แข่ง

แล้วหากเป็นนักกีฬาคนพิการด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีความเพียร ความอดทน มากกว่านักกีฬาปกติที่มีร่างกายครบ 32 ประการอีกหลายเท่าเลยทีเดียว

ตอนนี้ชาวไทยเรารู้สึกเป็นปลื้มเป็นสุขกับผลงานนักกีฬาไทยในศึก พาราลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กำลังจะรูดม่านปิดฉากในวันนี้ โดยคว้ามา 3 เหรียญทอง จาก รุ่งโรจน์ ไทยนิยม (เทเบิลเทนนิส ประเภทชายเดี่ยว คลาส 6 พิการแขนและขา), ทีมบอกเซียชาย พิการทางสมอง บีซี 1-2 (พัทธยา เทศทอง หัวหน้าทีม, วิษณุ ฮวดประดิษฐ์, มงคล จิตเสงี่ยม, วัชรพล วงษา), สายสุนีย์ จ๊ะนะ (วีลแชร์ฟันดาบบุคคลหญิง เอเป้ ประเภท บี) กับอีก 1 เหรียญเงิน ของ ประวัติ วะโฮรัมย์ (วีลแชร์เรซซิง 1,500 เมตร ที 54) และ 2 เหรียญทองแดง จาก สายชล คนเจน (วีลแชร์เรซซิง 100, 800 เมตร ที 54)

แรงบันดาลใจ...ต้องสู้ถึงจะชนะ

แต่กว่าที่ 3 ฮีโร่เหรียญทองในพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 14 จะมาถึงวันนี้ แต่ละคนต่างผ่านอุปสรรคมามากมาย มีทั้งท้อแท้หดหู่กับชะตาชีวิต จนถึงกับอยากจะลาโลกเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระใครก็มี และคงไม่มีใครพูดถึงพวกเขาหรือเธอเหล่านี้ได้ดีไปกว่าผู้มีส่วนให้กำเนิดอย่างพ่อแม่เป็นแน่

มีลูกพิการ...อย่าอายหรือท้อแท้

“รุ่ง” รุ่งโรจน์ วัย 25 ปี เกิดมาในครอบครัวของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ โดยมีร่างกายพิการแขนขาลีบทั้งสองข้าง แต่ พ.ต.ท.ชยานันท์ ไทยนิยม ผู้เป็นบิดา ก็เอาใจใส่เลี้ยงดูเป็นอย่างดี และมักจะพาลูกชายไปไหนมาไหนด้วยเสมอ

“ถ้าเรามีลูกพิการ ก็อย่าไปรู้สึกท้อแท้หรืออายใคร ต้องคอยให้กำลังใจลูกอยู่ตลอด และที่สำคัญต้องพยายามพาเขาออกสังคมไปพบปะผู้คนบ้าง อย่าเก็บเขาไว้แต่ในบ้าน” พ่อของฮีโร่พาราลิมปิก กล่าว

คงไม่มีใครคาดคิดว่าเด็กกรุงเทพฯ ที่มักถูกเพื่อนล้อและแกล้งอยู่เสมอ จะสามารถกลายเป็นคนประเดิมเหรียญทองแรกให้กับทัพพาราลิมปิกไทยในครั้งนี้

แรงบันดาลใจ...ต้องสู้ถึงจะชนะ

จุดเปลี่ยนชีวิตของ รุ่งโรจน์ เริ่มจากเมื่อ 11 ปีที่แล้ว พ่อของเขาซึ่งเป็นเลขาฯ ชมรมเทเบิลเทนนิสของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พาลูกชายไปให้ สุริยะ พ่วงสมบัติ นักกีฬาเทเบิลเทนนิสของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยสอนการเล่นปิงปองให้ โดยหวังให้ลูกชายที่เหมือนเด็กอมโรค วันๆ ไม่เล่นกีฬาอะไรเลย จะได้มีร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งต่อมาโค้ชคนแรกของ รุ่งโรจน์ ก็ติดยศ ร.ต.อ.สุริยะ แถมตามมาเป็นโค้ชคนปัจจุบันให้ด้วย

“เขา (รุ่ง) เติบโตมาพร้อมกับปิงปอง เพราะผมเป็นผู้จัดการทีมเทเบิลเทนนิสของตำรวจ และมักพามาด้วยเสมอ แต่ไม่คิดมาก่อนเลยว่า เขาจะมาได้ไกลถึงขนาดนี้” พ่อที่ติดตามเชียร์และให้กำลังใจลูกชายมาตลอด กล่าว

ทั้งนี้ รุ่งโรจน์ สามารถพัฒนาฝีมือได้เร็วมาก จนกวาดแชมป์รายการใหญ่และเล็กมาเพียบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ก้าวขึ้นรั้งมือ 3 โลก ก่อนจะมาพลิกล็อกโค่นมือ 1 โลก จากเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศศึกพาราลิมปิกคราวนี้

เดี๋ยวนี้เข้าสู่ยุคออนไลน์แล้ว ซึ่ง รุ่งโรจน์ ก็ไม่ยอมตกเทรนด์เช่นกัน โดยเวลาที่เขาไปแข่งต่างประเทศ ก็จะคุยกับบิดาผ่านทางเฟซบุ๊ก

“ก่อนแข่งผมบอกให้เขาทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อย่าไปกดดันตัวเอง และผมดีใจและภูมิใจมากที่เขาคว้าแชมป์มาได้ เพราะช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติและวงศ์ตระกูล”

แรงบันดาลใจ...ต้องสู้ถึงจะชนะ

ส่วนสำคัญอีกอย่างในความสำเร็จของครอบครัวนี้ก็คือ พ.ต.ท.ชยานันท์ ได้พร่ำบอกกับพี่ชายของ รุ่ง คือ ศิรภพ ที่มีร่างกายปกติอยู่เสมอว่า ต้องพยายามช่วยดูแลน้องให้ดี อย่าให้น้องรู้สึกมีปมด้อยโดยเด็ดขาด รวมทั้งยอดคุณพ่อยังคอยชี้ให้ รุ่ง เห็นถึงข้อดีของตัวเอง ว่ายังมีหลายอย่างที่โชคดีกว่าคนอื่น

รูปหล่อ ชอบคุยสาว...เลิกคิดสั้น

“แดง” พัทธยา วัย 33 ปี รับบทหัวหน้าทีมพารุ่นน้องอีก 3 คน ผงาดคว้าแชมป์บอกเซีย ประเภททีมผสม คลาส บีซี 12 ได้สำเร็จ พร้อมกับซิวเหรียญทองที่ 2 ให้ไทยเรา หลังพิชิตทีมจีนอย่างพลิกความคาดหมาย ทั้งที่เคยคิดจะลาโลกมาแล้วเมื่อในอดีต

พัทธยา ที่เคยคว้าเหรียญทองแดง บอกเซีย บุคคลชาย จาก พาราลิมปิก 2004 ที่เอเธนส์ เป็นชาว อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ โดยมีคุณพ่อสวัสดิ์ และคุณแม่ฉวีวรรณ คอยเลี้ยงดูมาอย่างดี แต่ลูกแดงก็ยังไม่วายคิดอยากตายเมื่อช่วงที่อยู่ในวัย 15-16 ปี เนื่องจากไม่อยากเป็นภาระผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง เพราะตัวโตขึ้นทำให้แม่อุ้มไปไหนมาไหนไม่ไหว

และแล้วหลังจาก พัทธยา ได้วีลแชร์เป็นของตัวเอง ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น แถมยังชอบไปคุยกับสาวๆ อีกด้วย ทำให้ไม่เคยคิดร้ายกับตัวเองอีกเลย

แรงบันดาลใจ...ต้องสู้ถึงจะชนะ

“ลูกชายฉันมันเป็นหน้าต่อหล่อเหลา และชอบคุยกับสาวๆ และพูดจาดีด้วยนะ” แม่ฉวีวรรณ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ด้านพ่อสวัสดิ์ที่เป็นเจ้าของโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ มักจะน้ำตาไหลเสมอเมื่อมีใครพูดถึง พัทธยา เพราะมีลูกชายคนเดียวก็หวังจะให้ปกติเหมือนคนอื่น จะได้ช่วยงานทางบ้านได้อย่างเต็มที่ เพราะลูกอีกคนที่เป็นพี่สาวของ พัทธยา ตอนนี้ลาออกจากพยาบาลมาทำธุรกิจส่วนตัว

ทว่าน้ำตาของผู้เป็นพ่อวัย 58 ในทุกวันนี้ น่าจะเป็นน้ำตาแห่งความปีติมากกว่าความผิดหวังอย่างแน่นอน

ยอดคุณแม่วัย 54 พูดถึงลูกชายอย่างมีความสุขต่อไปอีกว่า ตอนนี้เตรียมที่ดินไว้ 4 ไร่ เพื่อทำสนามกีฬาบอกเซียให้คนอื่นได้มีโอกาสมาเล่นบ้าง

“ทุกวันนี้เขา (พัทธยา) พูดอยู่เสมอว่า โลกมันกว้างใหญ่ไพศาลและน่าอยู่ จึงคิดทำลานกีฬาพร้อมกับค้าขายไปด้วย โดยทำกำแพงล้อมรอบที่ไว้เรียบร้อยแล้ว แถมยังเคยบอกว่ามีต่างชาติมาทาบทามเขาด้วย ฉันคิดว่าเขาวาสนาดี มีเทวดามาช่วย”

แรงบันดาลใจ...ต้องสู้ถึงจะชนะ

ขณะที่ พัทธยา เองก็มีความสุขมาก ที่สามารถทำให้หลายคนหันมาสนใจกีฬาบอกเซีย และต้องการประสบความสำเร็จเหมือนเขา

พ่อแม่แยกทาง...ยังอบอุ่น

“แวว” สายสุนีย์ ดีกรี 1 เหรียญทอง (พาราลิมปิก 2004) และ 1 เหรียญทองแดง (พาราลิมปิก 2008) จากวีลแชร์ฟันดาบบุคคลหญิง เอเป้ ประเภทบี ถือว่าได้ปลดปล่อยอย่างมากที่คว้าเหรียญทองที่ 3 ให้ไทยได้สำเร็จ เพราะเธอรู้สึกกดดันอย่างมากกับการแข่งขันครั้งนี้ จนถึงกับต้องไปอาเจียนในห้องน้ำก่อนลงแข่ง

อย่างไรก็ตาม เธอวางเป้าไปสู้ต่อถึงพาราลิมปิก 2016 ที่กรุงรีโอเดจาเนโร, บราซิล เลยทีเดียว ซึ่งทางคุณพ่อมูลและคุณแม่อุษา ก็เป็นห่วงลูกสาวไม่น้อยเลย แม้จะแยกทางกันแล้วก็ตาม โดยพ่อยังอยู่ที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ส่วนแม่ไปอาศัยอยู่ที่ จ.พะเยา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 ซึ่ง สายสุนีย์ โชคร้ายประสบอุบัติเหตุระหว่างขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน โดยต้องนอนโรงพยาบาลถึง 4 เดือน จนกลายเป็นคนพิการในที่สุด

ฮีโร่สาววัย 38 นั้น เคยคิดจะปีนหน้าต่างกำแพงที่โรงพยาบาลเพื่อกระโดดลงพื้นลาโลกมาแล้ว แต่โชคดีที่มันไม่เกิดขึ้น ทำให้ชาวไทยได้มีโอกาสชื่นชมผลงานของเธอมาจนทุกวันนี้

“แม่เจอกับ แวว ครั้งสุดท้ายเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ตอนที่มาเก็บตัวที่ จ.เชียงใหม่ ทุกวันนี้เขามีบ้านอยู่แถวบางบัวทอง จ.นนทบุรี แต่ก็มีคุยกันตลอด ตอนที่ แวว กลับจากปักกิ่งยังซื้อรถกระบะให้แม่เลย” แม่อุษา วัย 59 ปี กล่าว

แรงบันดาลใจ...ต้องสู้ถึงจะชนะ

ทั้งนี้ มีคนมาชักชวน สายสุนีย์ เล่นฟันดาบได้ 10 กว่าปีแล้ว โดยตอนนี้แฟนของเธอที่คบกันมา 7-8 ปี คือ “เอก” อนุวัฒน์ เยาว์ธานี ซึ่งพิการต้องตัดแขนซ้ายถึงข้อศอกตั้งแต่สมัยยังอยู่ในวัยเรียน เนื่องจากโดนไฟฟ้าชอร์ต ก็ทำหน้าที่ช่วยเป็นผู้ฝึกสอนให้ แวว ด้วย

ด้าน “แอน” ประกายดาว จ๊ะนะ น้องสาวของ สายสุนีย์ ก็รักพี่สาวมาก เพราะไม่เพียงมีกันแค่สองพี่น้อง ยังอยู่กับพ่อมาด้วยกันตลอด ซึ่งตอนนี้พ่ออายุมากถึง 65 ปีแล้ว ทำให้ แอน ต้องขึ้นลง จ.เชียงใหม่ กับนนทบุรี เป็นประจำ

“เวลาพี่แววอยู่ที่บ้าน (นนทบุรี) แอนจะช่วยดูแลเขาด้วย คอยพาไปไหนมาไหน และพี่แววก็มักให้ของขวัญวันเกิดแอนทุกปีเลย กลับจากไปแข่งต่างประเทศมา ก็จะซื้อของมาฝากทุกที บางครั้งให้เงินสดเอาไปฝากธนาคารเก็บไว้ใช้ก็มี” ประกายดาว วัย 29 ปี กล่าว

นอกจากนี้ แอน ยังเป็นห่วงที่พี่สาวบอกว่าอยากจะลงแข่งจนถึงอายุ 50 ปี เนื่องจากเห็นว่าพี่แววอายุเริ่มมากแล้ว อยากให้ได้พักผ่อนสบายๆ บ้าง

แรงบันดาลใจ...ต้องสู้ถึงจะชนะ

ส่วนพิธีต้อนรับยิ่งใหญ่ที่ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมจัดให้นั้น ทั้งพ่อแม่ลูกจะมากันพร้อมหน้าพร้อมตาอย่างแน่นอน

ส่วนพิธีต้อนรับคณะนักกีฬาพาราลิมปิกไทยที่จะเดินทางกลับมาสู่มาตุภูมิ วันที่ 11 ก.ย.นี้ ชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันว่า คณะนักกีฬาคนพิการชุดแรกจะเดินทางมาถึงที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 15.05 น. และชุดที่ 2 จะถึงเวลา 15.20 น. โดยจะมีการจัดพิธีต้อนรับพร้อมมอบช่อดอกไม้และพวงมาลัยแสดงความยินดี ณ บริเวณอาคารผู้โดยสารชั้นที่ 1 ระหว่างประตู 3-4

ต่อจากนั้นจะนำคณะนักกีฬาขึ้นขบวนรถบัสไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และตั้งขบวนเดินทางไปตามถนนราชเทวีพระรามที่ 1 ราชดำริ มุ่งสู่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ซึ่งจะจัดงานเลี้ยงฉลองพร้อมกับมอบเงินรางวัลอัดฉีด โดยมี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานด้วยในเวลา 19.30 น.

ยังไงก็ขอเชิญชาวไทยช่วยกันแสดงความยินดีร่วมกันฉลองความสำเร็จให้กับบรรดานักกีฬาพาราลิมปิกด้วย อย่าให้น้อยหน้านักกีฬาโอลิมปิกก็แล้วกัน และคาดว่าเงินอัดฉีดสำหรับนักกีฬาคนพิการของไทย จะต้องเพิ่มขึ้นอีกเพียบแน่ ถึงไม่เท่านักกีฬาโอลิมปิก แต่ก็คงใกล้เคียง

ไชโย...ไชโย...ไชโย