posttoday

‘นักบริหารรุ่นใหม่สนใจไอที’ วฤธ ดุรงค์เดช

06 ตุลาคม 2554

นักบริหารหัวสมัยใหม่ที่นำความรู้และความชอบด้านเทคโนโลยีที่ได้ร่ำเรียนมาปรับใช้กับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดย...วราภรณ์

นักบริหารหัวสมัยใหม่ที่นำความรู้และความชอบด้านเทคโนโลยีที่ได้ร่ำเรียนมาปรับใช้กับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วิน-วฤธ ดุรงค์เดช เจเนอเรชันที่ 2 ของ ฤทธิ์ชัย ดุรงค์เดช นักธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องกรองน้ำแบรนด์มาซูม่า ที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 30 ปีแล้ว ค่าที่วฤธศึกษาจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา และโทด้านวิศวกรรมโยธา สาขาสารสนเทศ จากสหรัฐอเมริกา เมื่อเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจของที่บ้าน โดยรั้งตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) ผลิตจำหน่ายเครื่องกรองน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่น ตู้กรองน้ำ และมาซูม่า เซอร์วิส โดยเขาเน้นหนักดูแลด้านโรงงานผลิตเครื่องน้ำ เขาได้นำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาช่วยทำงานในบริษัทโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ทำให้การทำงานง่ายขึ้น

“ผมศึกษาจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมโยธา สาขาสารสนเทศ ที่เลือกเรียนเพราะผมคิดว่าไอทีสำคัญ ขณะที่เรียนเป็นการเรียนที่นำเอาอินฟอร์เมชัน เทคโนโลยี รวมทั้งซอฟต์แวร์มาใช้ในการปฏิบัติงาน ไอทีจะช่วยเราทำงานเร็วและได้ประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันระบบไอที รวมทั้งระบบซอฟต์แวร์ต่อให้ดีแค่ไหน รวดเร็วแค่ไหน แต่วิธีการทำงานต้องแม่นยำจริงๆ เช่น ระบบการเปิดปิดบิล ถ้าเราไม่รู้จักนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันเครื่องมือไอทีจะกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ หากเราไม่รู้วิธีการทำงานที่ถูกต้อง”

‘นักบริหารรุ่นใหม่สนใจไอที’ วฤธ ดุรงค์เดช

 

เมื่อเข้ามาช่วยบริหารงานที่บริษัท วฤธได้นำความรู้ด้านไอทีมาปรับใช้กับระบบการทำงานให้มีการทำงานได้รวดเร็วและทันสมัยขึ้น

“เริ่มแรกของการทำงาน ผมเป็นนักพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ พอกลับมาทำงานให้คุณพ่อ ผมก็ดูงานด้านระบบคอมพิวเตอร์ ระยะหลังๆ มาช่วยดูแลด้านการผลิต และมาดูด้านการผลิตในโรงงานในที่สุด ในฐานะที่ผมเป็นเจเนอเรชันที่ 2 ก็ตั้งใจนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาองค์กร เพราะผมเป็นคนชอบเทคโนโลยี ก็จะนำมาประยุกต์ปรับให้เข้ากับการทำงาน เช่น ตอนเริ่มเข้ามาช่วยคุณพ่อใหม่ๆ เมื่อก่อนติดต่องานด้วยการใช้แฟกซ์ แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้อีเมล 100% และระบบบัญชีจากเดิมใช้ระบบมือและคน แต่ตอนนี้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์คิดบัญชีทั้งหมด พนักงานทุกคนสามารถเข้าดูข้อมูลออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน เช่น ดูยอดขาย สต๊อกในคลังสินค้า งบบัญชีเป็นอย่างไร อย่างผมก็สามารถเรียกดูได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือระบบบัญชี รวมทั้งสต๊อก เมื่อก่อนจะเช็กทีต้องใช้การโทร.วุ่นวาย เพราะสต๊อกกับหน่วยขายทำงานแยกกัน หรือระบบเก่าระหว่างหน่วยขายกับสต๊อกต้องโทร.เช็ก ต้องส่งแฟกซ์หากันทุกเช้า

แต่พอผมเข้ามา ผมก็นำระบบซอฟต์แวร์มาออนไลน์ระหว่างโรงงานกับหน่วยขาย เมื่อทำเป็นระบบออนไลน์ สามารถดูได้ว่าเราขายสินค้าไปให้ใคร ถึงเวลาที่ต้องไปให้บริการซ่อมบำรุงให้ลูกค้าหรือยัง” ทั้งนี้ วฤธ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงระบบเป็นสิ่งที่ยาก ต้องใช้เวลา เพราะพนักงานต้องปรับตัว ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ แต่ก็นับว่าคุ้มค่า

“ตอนเปลี่ยนระบบใหม่ๆ ผมต้องลงไปอยู่กับพนักงาน อธิบายและทำงานจริงให้พนักงานเข้าใจการใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งทำให้ประหยัดกระดาษ ทุ่นเวลาในการโทรศัพท์หากันระหว่างแผนกต่างๆ”

ไม่เพียงระบบไอทีมาช่วยการทำงานในองค์กรไหลลื่น การให้บริการหลังการขาย ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ ลูกค้าก็ได้ประโยชน์ไปด้วย

“อย่างลูกค้าโทร.มาเรื่องบริการหลังการขาย แค่บอกชื่อของลูกค้า เราก็สามารถเช็กได้ เราจะสามารถเช็กได้ว่า ลูกค้าใช้เครื่องกรองน้ำรุ่นไหนอยู่ ใช้มากี่ปีแล้ว เคยซ่อมบำรุงอะไร ถึงเวลาซ่อมบำรุงหรือยัง ถ้าถึงแล้วเราก็โทร.แจ้ง และนัดไปให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น”

นอกจากชีวิตการทำงานด้วยการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยแล้ว ในชีวิตประจำวัน วฤธยังอินกับเครื่องมือติดต่อสื่อสารอันทันสมัย อาทิ ไอพอด สำหรับการออกกำลังกาย สำหรับการทำงานต้องพกทั้งโทรศัพท์มือถือ แบล็คเบอร์รี่ เคิร์ฟ 8900 ใช้มานาน 3 ปีแล้ว เตรียมตัวจะเปลี่ยนใหม่เร็วๆ นี้ รวมทั้งไอแพดจำเป็นในการติดต่อคุยงานระหว่างต่างประเทศ

“อย่างที่บอกว่าผมติดต่อกับคู่ค้าที่ต่างประเทศบ่อยๆ ผมนิยมใช้ไอแพด คุยแบบเฟซไทม์ ประหยัดที่สุด ทำให้เราเห็นหน้าตา เห็นแค็ตตาล็อก คุยกันสะดวกมาก ทั้งโรงงานเราติดสัญญาณไวไฟทั้งหมด คุยที่ไหนก็ได้ เข้าอินเทอร์เน็ตได้หมด อย่างไอแพดเวลาพักผ่อนผมชอบดูซีรีส์สืบสวนสอบสวน CSI ก็จะโหลดมาดูได้ หรือผมเข้าไปดูในยูทูบก็ได้ ช่วยผ่อนคลายเวลาอยู่ที่บ้าน อย่างนาฬิกาผมก็ชอบสะสม แต่ก็ยังมีไม่เยอะ”