posttoday

นามธรรมในนามไร้รูป

03 สิงหาคม 2554

ทุกชิ้นของผลงานที่จัดแสดงล้วนแต่เป็นนามธรรมทั้งสิ้น มันเป็นนามธรรมในรูปแบบประติมากรรมอันโดดเด่น

ทุกชิ้นของผลงานที่จัดแสดงล้วนแต่เป็นนามธรรมทั้งสิ้น มันเป็นนามธรรมในรูปแบบประติมากรรมอันโดดเด่น

โดย...วิชช์ญะ ยุติ

ทุกชิ้นของผลงานที่จัดแสดงล้วนแต่เป็นนามธรรมทั้งสิ้น มันเป็นนามธรรมในรูปแบบประติมากรรมอันโดดเด่น โดยฝีมือ 4 ศิลปินรุ่นตะไคร่น้ำ 4 ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการศิลปะ ที่ยังคงเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ

“อ.ชำเรือง วิเชียรเขตต์” (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านประติมากรรม ปี 2539) ปรมาจารย์ท่านนี้ปรากฏตัวด้วยทีท่าสุขุม แม้จะย่างเข้าสู่เลข 8 แต่ก็ดูแข็งแรงดี คุยอย่างออกรส ผลงานของอาจารย์ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติผสมกับรูปทรงมนุษย์ สะท้อนความงดงาม ความอ่อนหวานและอ่อนช้อย จนได้ฟอร์มที่สด อิ่มและสมบรูณ์ ตลอดทั้งได้ความลงตัวในเรื่องปริมาตรที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของประติมากรรม

นามธรรมในนามไร้รูป

“เรื่องปั้นเป็นเรื่องของปริมาตร อ้วนไป ผอมไป สูงไป ยาวไป คนปั้นต้องพยายามค้นหาส่วนที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้ได้ความลงตัวที่สุด เพราะงานนามธรรม คือการนำความคิดจากสิ่งที่เราเห็นและมีอยู่มาสร้างเป็นงานชิ้นใหม่ๆ และสิ่งที่สดใหม่”

“อ.อินสนธิ์ วงศ์สาม” (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านประติมากรรม ปี 2542) ผลงาน 7 ชิ้นที่นำมาจัดแสดง สะดุดตากว่าชิ้นไหน ต้องยกให้ ชิ้นที่ชื่อ “เตียงโยก” เพราะความพิเศษของมันอยู่ที่สามารถถอดประกอบได้ กลายเป็นประติมากรรมที่มีลูกเล่นแพรวพราว ซึ่งสะท้อนพัฒนาการการทำงานประติมากรรมของศิลปินชั้นครูผู้นี้ได้ดีเยี่ยม จากผลงานไม้ท่อนสู่ผลงานเน้นรูปทรงแผ่ระนาบ

นามธรรมในนามไร้รูป

“งานของผมจะมีความเป็นพื้นบ้านผสมอยู่ในตัวชิ้นงานด้วย เพราะพื้นฐานของผมมาจากช่างพื้นบ้าน ความเป็นพื้นบ้านเลยทิ้งไปไม่ได้ อย่างชิ้นนี้ก็ดัดแปลงมาจากตอไม้เหลือใช้ ตอไม้หนึ่งตอก็ได้งานหนึ่งชิ้น เชื่อมโยงถึงชีวิต ผู้คน และชุมชน”

“อ.เข็มรัตน์ กองสุข” (ศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรม ปี 2538) ผลงานของศิลปินท่านนี้ มีจุดน่าสนใจคือใช้เทคนิคการสลักไม้กับหิน ซึ่งสามารถควบคุมรูปทรงของ 2 วัสดุได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ยิ่งเฉพาะผลงาน “อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำ” สะท้อนความเป็นนามธรรมเชิงพุทธศาสนาที่มีกลิ่นอายของศิลปะแบบไทยสอดแทรกไว้ด้วย

นามธรรมในนามไร้รูป

“บางชิ้นผมได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อ ความศรัทธา ที่เกี่ยวโยงและเชื่อมโยงถึงศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งมีความเป็นนามธรรมซ่อนอยู่ ถามว่าดูยากมั้ย ผมว่าดูแล้วก็จะเห็น ถ้าจะให้คิดตามศิลปินคงจะยาก แต่แค่รู้สึกถึงพลังหรือมองเห็นความงดงาม มันก็เข้าถึงแล้วละ”

“อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน” (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านประติมากรรม ปี 2549) ลูกศิษย์ผู้เจริญตามรอยครู จนเจิดจรัสเป็นดาวเด่นในวงการและขยับสู่การเป็นประติมากรชั้นแนวหน้า โดยใช้ความหลงใหลส่วนตัวในเรื่องความเจริญเติบโต ความเอิบอิ่ม ความสมบูรณ์ของธรรมชาติกับสรีระสตรีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ก่อเกิดผลงานนามธรรมที่คำนึงถึงเส้น รูปทรง ปริมาตร ตลอดทั้งมวลและพื้นผิว

นามธรรมในนามไร้รูป

“เค้าโครงของตัวงานนี่ผมเริ่มจากรูปคนก่อน แล้วค่อยพัฒนามาสู่งานที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์และงอกงาม โดยไม่เหลือเค้าความเป็นคนละ จะเรียกว่าเป็นความรู้สึกล้วนๆ ก็ได้ ซึ่งงานชุดหลังๆ ของผมจะให้ความรู้สึกเป็นเป้าหมายของการทำงานมากกว่า ก็เลยได้เห็นความงาม ความอุดมสมบูรณ์ ความเติบโต อยู่ในชิ้นงาน”

ร่วมสัมผัสความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจของ 4 ศิลปินประติมากรรมของไทยได้ ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยนิทรรศการ “นาม (ไร้รูป)” จะจัดแสดงให้ชมยาวๆ จนถึงวันที่ 18 ก.ย.นี้ โทร. 02-214-6630 www.bacc.or.th