posttoday

รู้จัก ‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่พิสูจน์แล้วว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’

20 เมษายน 2565

‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ วิศวกรขุดเจาะหญิงสุดแกร่งของเชฟรอน ฉีกกรอบความคิดสู่ความท้าทายในอาชีพสาขา STEM โอกาสที่ผู้หญิงก็ทำได้

รู้จัก ‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่พิสูจน์แล้วว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’

ในวันที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างเชื่อว่านวัตกรรม เทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นทุกวัน เราเดินหน้าไปสู่ความเท่าเทียม เปิดรับ แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น เราทุกคนมีโอกาสและทางเลือกที่หลากหลายในการใช้ชีวิต แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงโอกาสนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน

จากข้อมูลขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (USAID) แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีบทบาทไม่มากนัก โอกาสในการเลือกอาชีพของพวกเธอมีข้อจำกัดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม โอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าเด็กชาย ขาดการแนะแนวและให้ความรู้ด้านวิชาชีพว่าผู้หญิงก็สามารถยืนหยัดในแวดวงนี้ได้ ขาดผู้หญิงต้นแบบให้ยึดถือและเดินรอยตาม รวมทั้งขาดความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวในระดับภูมิภาค

รู้จัก ‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่พิสูจน์แล้วว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’

ยิ่งหากมองลึกไปที่อาชีพสาขา STEM สายงานที่ต้องใช้องค์ความรู้และจุดเด่นโดยรวมของศาสตร์ 4 สาขาวิชาไม่ว่าจะ Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) และ Mathematics (คณิตศาสตร์) เข้าไว้ด้วยกัน ไม่แปลกเลยหากความซับซ้อน ข้อจำกัดของพละกำลังหรือความคล่องตัว จะชวนให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดและตีกรอบทางความคิดว่า STEM เป็นสาขาอาชีพที่ผู้หญิงเติบโตได้ยาก ทำให้ผู้หญิงในอาชีพสาขานี้มีจำนวนน้อย จากรายงานฉบับหนึ่งของ The World Economic Forum ระบุว่า เมื่อเทียบกับแวดวงสาธารณสุข การศึกษา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือกฎหมาย ผู้หญิงจะได้รับการว่าจ้างงานและมีพื้นที่ในอาชีพมากกว่ากลุ่มอาชีพ STEM อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์ ไอที สายการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน และเหมืองแร่ หรือในกลุ่มวิศวกรรมปิโตรเลียม มีผู้หญิงคิดเป็นเพียงราว 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ปัญหาภาวะความเหลื่อมล้ำทางเพศนี้ ไม่ได้ส่งผลแค่ในเชิงอัตลักษณ์หรือตัวตนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อธุรกิจอย่างมาก เพราะนำไปสู่ระบบเศรษฐศาสตร์ที่ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงชะลอการพัฒนาและเติบโต ในทางตรงกันข้าม ความเท่าเทียมทางเพศนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจโลกได้มากถึง 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เพียงเพิ่มพูนชื่อเสียง แต่ยังแสดงถึงความเป็นผู้นำขององค์กรและเป็นตัวอย่างให้แก่คนรุ่นใหม่ รวมทั้งดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

รู้จัก ‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่พิสูจน์แล้วว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’

เชฟรอน ในฐานะหนึ่งในบริษัทพลังงานระดับโลกที่เชื่อในความสามารถและศักยภาพของผู้หญิง อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้หญิงรับหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรในตำแหน่งสำคัญมาโดยตลอด วันนี้เราจึงจะพาคุณมารู้จัก คุณมูน “เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร” ผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการขุดเจาะหลุม (Wells Manager) ของบริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่ทำการขุดเจาะเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและจัดหาพลังงานให้กับประเทศสำเร็จจำนวนหลายร้อยหลุมในแต่ละปี ทำลายสถิติการจัดการแท่นขุดเจาะที่เร็วที่สุดในโลก และเป็นตัวแทนวิศวกรหญิงในประเทศไทยที่ได้รับเกียรติเข้าร่วมพูดคุยในงาน USAID E4SEA ภายใต้หัวข้อ Girls and STEM for a Sustainable Energy Sector in Southeast Asia ตอกย้ำศักยภาพและความเป็นผู้นำของผู้หญิงในอาชีพสาขา ‘STEM’ ได้อย่างเด่นชัด

เพราะเชื่อว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนของครอบครัว แม้คุณพ่อหรือคุณแม่จะไม่เคยทำงานสาย STEM มาก่อน แต่พวกเขาก็ไม่เคยปิดกั้นหรือมีความเชื่อในค่านิยมแบบเดิมๆ ที่ว่า เด็กผู้ชายมีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากกว่า ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีจุดแข็งด้านการใช้ภาษา ซึ่งค่านิยมเหล่านี้อาจจะส่งผลให้เด็กผู้หญิงให้ความสนใจในการเรียนรู้ด้าน STEM น้อยลงได้

ยิ่งไปกว่านั้น คุณครูมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดันความสนใจในการเรียนรู้ด้าน STEM เธอเล่าว่า “สมัยประถมศึกษาไม่ได้ชอบวิชาคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ แต่พอย้ายมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาได้เจอคุณครูที่ทำให้วิชาเลขเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและเรียบง่าย จึงเกิดเป็นความชื่นชอบในวิชานี้ จากที่ไม่ได้โดดเด่นด้านคณิตศาสตร์ ก็ทำได้ดีขึ้น”

นอกจากคุณครูซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการศึกษา ทั้งในแง่การต่อยอด การสร้างแรงบันดาลใจและความมั่นใจให้กับนักเรียนหญิงแล้ว เธอยังมีพี่สาว ผู้ทำงานในอาชีพสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น Role Model หรือ ต้นแบบที่มีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์จริงและสร้างแรงบันดาลใจ โดยพาคุณมูนไปพบเจอประสบการณ์ที่ดีและน่าตื่นเต้นต่างๆ เช่น การเยี่ยมชมเครื่องจักรในโรงงานกระดาษ

“เรายืนอยู่หน้าเครื่องพวกนั้น แล้วจินตนาการว่าตัวเองสามารถซ่อมเครื่องพวกนี้ แก้ปัญหาให้มันทำงานได้แบบสดๆ ทันเวลาตอนนั้นเลย สำหรับเรามันน่าตื่นเต้นมาก เป็นเรื่องสำคัญที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้มีโอกาสได้เห็นสิ่งต่างๆ และจับต้องความฝันได้แบบเป็นรูปธรรม ทำให้เห็นว่าเรารู้ว่าเราอยากทำอะไรในชีวิต ในอนาคตของเรา” คุณมูนกล่าวในงาน USAID E4SEA

รู้จัก ‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่พิสูจน์แล้วว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’

จนกระทั่งความฝันเป็นจริง เธอได้เข้าทำงานกับทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และเติบโตในสายนี้ จนได้รับการโปรโมทเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ บริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด ซึ่งที่เชฟรอน มีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้คุณค่าด้านความหลากหลายภายในองค์กร (Diversity and Inclusion) พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการทำงานในแวดวงพลังงานให้กับผู้หญิงผ่านระบบขั้นตอนการทำงานและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดความพร้อมและความสบายใจ แม้เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ก็ไม่เป็นปัญหา ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นและทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทำให้งานดำเนินอย่างราบรื่นและเกิดเป็นผลสำเร็จร่วมกัน “ถึงแม้วันนี้เราไม่ได้ทำงานในโรงงาน แต่เราได้ทำงานกับทางเชฟรอน เป็นงานที่เน้นการลงพื้นที่ เรายังเป็นคนเดิมที่มีความสุขกับการทำให้เครื่องจักรทำงาน เราอยากตัดสินใจ ช่วยแก้ปัญหาในหน้างาน และทำให้งานเดินต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้เป็นจริงได้เพราะการสนับสนุนผู้หญิงให้มีโอกาสเข้าถึงงานในสาย STEM นั่นเอง”

เด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เพราะคิดว่าเป็นวิชาที่ยาก การจูงใจให้เด็กทุกคนรวมถึงเด็กผู้หญิงมาสนใจเรียนวิชาที่ก้าวไปสู่วิชาชีพสาขา ‘STEM’ นั้นจึงต้องเริ่มจากห้องเรียนที่สนุก ครูจึงมีบทบาทสำคัญที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ แก้โจทย์ปัญหาที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนและก้าวหน้าในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางด้าน STEM

รู้จัก ‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่พิสูจน์แล้วว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’

โดย ดร. เกศรา อมรวุฒิวร  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO – STEM-ED) ได้กล่าวในงาน USAID E4SEA ถึงโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งร่วมมือกับทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ว่าเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนด้าน STEM โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของครูผู้สอนให้มีทักษะการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (inquiry-based approach) ใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based approach) และส่งเสริมการเรียนรู้ STEM ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนให้กับเยาวชน ผ่านการพัฒนาครูที่เน้นการลงมือปฏิบัติ ผลของโครงการทำให้คุณครูที่เข้าร่วมโครงการ 100% สามารถเชื่อมโยงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้ากับชีวิตประจำวัน โดย 72% ของครูผู้สอนสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ได้ส่งผลให้เด็กนักเรียน 92% ตั้งใจเรียนและทำงานที่ครูมอบหมายให้และยังสะท้อนว่าได้เรียนรู้แนวคิดหลักทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากแผนการสอนที่ครูออกแบบมาอย่างดี นักเรียนถึง 90% ใส่ใจและสนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น และที่สำคัญนักเรียนหญิงที่เข้าร่วมโครงการมีสัดส่วนที่สนใจเรียนต่อในสาขา STEM สูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ นับเป็นอีกความมุ่งมั่นที่พยายามทำเพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสและความมั่นใจมุ่งสู่อนาคตสาย STEM มากขึ้น

รู้จัก ‘เดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร’ ผู้นำทีมการขุดเจาะของไทยที่พิสูจน์แล้วว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’

กิจกรรมในโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต 

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่า ‘ผู้หญิง’ ก็สามารถเข้ามามีบทบาท เติบโต และประสบความสำเร็จในอาชีพสาขา ‘STEM’ ได้ เพียงได้รับการส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เชื่อมั่นในศักยภาพ พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ สั่งสมประสบการณ์ที่ได้รับพร้อมก้าวข้ามขีดจำกัดมุ่งสู่ความท้าทายในความสามารถ และกล้าที่จะแสดงออกอย่างมั่นใจให้โลกรับรู้ว่า ‘ผู้หญิงก็ทำได้’ 

เชฟรอนประเทศไทย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม พัฒนาคน พัฒนาการศึกษาในกลุ่มอาชีพสาขา ‘STEM’ ให้ผู้หญิงทุกคนได้มาพิสูจน์ความสามารถที่มีและเติบโตในอาชีพสาขา ‘STEM’ ไปด้วยกัน