posttoday

กวีแห่งมนุษยธรรม

29 ธันวาคม 2564

โดย : ประสาร มฤคพิทักษ์

“พันแสงรุ้ง”  ทอสี  สุกสว่าง   

“มุกน้ำค้าง” พร่างพราว  เวหาหน

สาดรังสี ศานติธรรม  ทั่วมณฑล 

“ภักดิ์  รตนผล”  นิพนธ์กวี

กวีแห่งมนุษยธรรม

เมื่อเดือนพฤศจิกายน  2510  ขณะที่ผู้เขียนเข้าเป็นน้องใหม่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งนับเป็นค่ายรุ่นแรก ปีแรกของคณะ

เกือบ 60 ชีวิตชาวรัฐศาสตร์ เดินทางไปที่บ้านหัน ต.โนนหัน  อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น  ซึ่งจำได้ว่าเป็นชนบทอันไกลโพ้นในยุคนั้น  พวกเราไปขุดบ่อน้ำและเจาะบ่อบาดาลเพื่อเป็นน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน

ค่ายโนนหันครั้งนั้น มีพี่ภักดี ริมมากุลทรัพย์ (ภักดิ์ รตนผล) เป็นผู้อำนวยการค่าย เป็นผู้นำพาให้ภารกิจของค่ายเป็นผลสำเร็จตามมุ่งหมาย

กิจกรรมตอนเย็นของค่าย คือมีเด็กๆ ในหมู่บ้านมาเล่นกีฬา มาร้องเพลงสนุกสนานร่วมกัน หนึ่งในจำนวนเด็กเป็นเด็กหญิงนุ่งผ้าถุง ร่างผอมผิวคล้ำ ชื่อ ด.ญ. คำแพง  อายุราว 7 ขวบ พวกเราเห็นแล้วก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พี่ภักดิ์มีสัมผัสพิเศษ เห็นความซื่อใสของคำแพง จึงเรียบเรียงเป็นกลอนเปล่าบทหนึ่ง ความธรรมดาของคำแพง กลายเป็นความรู้สึกไม่ธรรมดา เราชาวค่ายหลายคนหลงรัก ด.ญ. คำแพง คล้อยตามพี่ภักดิ์ไปด้วยเพราะกลอนเปล่าบทนั้น  ซึ่งเขียนเนื้อความไว้ว่าอย่างไรก็ลืมไปแล้ว

นี่คืออานุภาพของบทกวี ซึ่งสามารถสร้างแรงสะเทือนใจต่อคนอื่น

กวีแห่งมนุษยธรรม

เมื่อพี่ภักดิ์ รตนผล ส่งหนังสือกวีนิพนธ์  “มุกน้ำค้าง” มาให้ถึงบ้านจึงดีใจที่ได้เสพทิพย์กวีอันเลอค่า  ความจริงก็ได้อ่านผลงานของพี่ภักดิ์ ใน FB ชื่อ “พันแสงรุ้ง” และในกลุ่มไลน์มาแล้ว แต่ไหนเลยจะมีค่าเท่า “มุกน้ำค้าง”  ที่รวบยอดผลงานไว้อย่างวิจิตรประณีต

พอคเก็ตบุ๊คมุกน้ำค้างเล่มนี้ขนาดกะทัดรัด ออกแบบปกและเนื้อในทั้งภาพและตัวอักษรสวยคลาสสิค หนังสือหนา 240 หน้า

ภักดิ์  รตนผล จบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  เรียนต่อปริญญาโท 2 ใบ ที่สหรัฐอเมริกา จากชีวิตนายอำเภอ เป็น ผอ.กองการต่างประเทศ  ก.มหาดไทย ไปเป็นรอง ผวจ.กระบี่  เชียงใหม่  ลำพูน  ลำปาง  เป็นผู้ตรวจราชการ ก.มหาดไทย  เป็น กกต. จ.เชียงใหม่ และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ชีวิตราชการที่ผูกพันกับชนบท ทำให้สัมผัสความแร้นแค้นทุกข์ยากของผู้คน เรียนรู้เรื่องความไม่สงบใน จชต. ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้เรียนรู้ ผู้คนที่อดอยากหิวโหยที่กลายเป็นผู้อพยพ ไร้ถิ่นที่อยู่ จึงมีหลากหลายมิติสัมผัสที่สามารถนำมาเรียงร้อยเป็นกวีนิพนธ์แบบกลอนเปล่า ดังตัวอย่าง

ชายผู้ถือแผนที่  สะพายกล้องและมีเหงื่อเม็ดโตปลายจมูก

กล่าวเสียงกังวาน

เธอจักได้ทุกสิ่งที่ขอ  แต่ต้องรับสัญญา

ห้ามผู้ใหญ่ในหมู่บ้านตัดต้นไม้  ทำลายต้นน้ำ

ปล่อยให้ฝูงนก ผึ้ง ผีเสื้อ สายลม แสงแดด สายฝน ปลูกป่ากันเอง

แล้วเธอจะได้ผืนป่า บึงใหญ่ ลำธาร และฝนตกต้องตามฤดูกาล

อุดมด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหาร

กลุ่มเด็กฉงนว่าชายผู้นี้คือเทวดาหรือไฉน

จึงบันดาลได้ทุกสิ่ง

เปล่าดอก  เราเคยอยู่ในเหรียญบาทนี่

แต่บัดนี้  เราอยู่บนท้องฟ้าแล้ว

                                                 (นิทานพระราชา  หน้า 153)

เด็กหญิงขมีขมันหุงข้าวด้วยปล้องไม้ไผ่

เด็กชายยกยอได้ปลาซิวปลาสร้อย

ย่าง รมควันด้วยกาบมะพร้าว

ส่งกลิ่นฟุ้งกระจายไปทั่วยั่วน้ำลายสอ

น้ำพริกมะขามกับดอกสลิดขจร ช่อสะเลียม ช่อมะกอก

ทอดไข่ใส่ไข่มดแดง ด้วยกระทงใบตองสามชั้น

เด็กชายสาวเบ็ดได้กุ้งสีครามตัวเขื่อง

เป็นของขวัญจากแม่น้ำสุพรรณ

เด็ก เด็ก เรียนรู้วิถีดำรงริมน้ำ และราวป่า

ด้วยความนบนอบประหนึ่งเป็นโรงเรียนแม่น้ำ

                                                 (โรงเรียนแม่น้ำ  หน้า 183 - 184)

ขอค่ำคืนแห่งรอมฎอนปีหน้า

ใต้แสงจันทร์แจ่มกระจ่างเหนือมัสยิด

ได้ประทานดอกไม้และดวงดาว

ให้พี่น้องแทนระเบิดและกระสุนปืน

เพื่อแนวรบด้านชายแดนใต้

เหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลง

                            (แนวรบชายแดนใต้  เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง  หน้า 200)

กวีแห่งมนุษยธรรม

กลอนเปล่าดูเหมือนจะเขียนได้ไม่ยาก เพราะไม่มีฉันทลักษณ์บังคับเหมือนกาพย์ กลอน โคลง ที่จะต้องมีสัมผัสนอกสัมผัสใน ทั้งสัมผัสอักษร สระ วรรณยุกต์  ทั้งยังมีการบังคับว่าต้องเป็นวรรณยุกต์อะไรด้วย ความเป็นจริงนั้น ใช่ว่าจะเขียนได้ง่ายเหมือนอยากเขียนอะไรก็เขียนไป  ผู้เขียนกลอนเปล่าต้องมีความสามารถในการรวบยอดความหมายมากมายมหาศาลอยู่ในวรรคหรือประโยคนั้นๆ ทั้งจะต้องวางจังหวะจะโคนให้มีลีลาลงตัว

คนเขียนกวีนิพนธ์แบบกลอนเปล่าได้ดีมีน้อยมาก เราอาจเอ่ยชื่อ ราช รังรอง สุรชัย จันทิมาธร และ ภักดิ์ รตนผล นี่ถือเป็นยอดฝีมือกลอนเปล่าที่ยกย่องได้

ภักดิ์ รัตนผล  มีลักษณะพิเศษ

1. ใช้ความรู้สึก (Feeling) นำการเขียน ซึ่งบางคนอาจคิดว่าการใช้ความรู้สึก แปลว่าไม่ต้องใช้ความรู้ ความจริงศิลปินทุกคนล้วนแล้วแต่เอาความรู้สึกเป็นเครื่องนำทาง “เห็นอะไร รู้สึกอย่างไร” นี่เป็นเคล็ดของกวีที่สำคัญ ความรู้สึกจะสร้างแรงสะเทือนใจนำไปสู่เนื้อหา 

2. จากความรู้สึก กลั่นมาเป็นความสามารถทางวรรณศิลป์ คือการเลือกใช้ถ้อยคำที่เห็นภาพ และทรงพลัง “ชายผู้เรืองแสง  ประดับมุกน้ำค้างบนนาสิก  แวววาวพราวแสงรุ้งยามต้องแสงรวี”

3. เนื้อหาที่ภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว สาระที่มีคารวะธรรมต่อธรรมชาติ  ดิน น้ำ ป่า ลม ขุนเขา

ผู้คน พืชพรรณ และสรรพสัตว์ จิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ โดยมีความรักและศานติธรรม เป็นเจ้าเรือน

ทำให้เห็นได้ว่าผู้เขียนมีหัวใจแห่งเมตตาธรรม ที่ปรารถนาจะให้โลกนี้เคลื่อนไปด้วยความรัก ที่มนุษย์พึงมีต่อกันและกัน

มุกน้ำค้าง  ไม่ใช่หนังสือที่ถึงขั้นสั่นสะเทือนสังคม  แต่สำหรับคนที่ได้อ่านแล้วย่อมรู้สึก สั่นไหว และมีอารมณ์ร่วมในทุกมิติสัมผัสที่ภักดิ์ รตนผล ได้เขียนไว้อย่างหมดจด