posttoday

จะยั่งยืน มันต้องสมดุลระหว่าง Hard Skills และ Soft Skills ตอนที่ 2

16 สิงหาคม 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่แน่นอน อ่อนไหว และซับซ้อน องค์กรจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะแนวทางการดำเนินงานแบบเดิมๆ ไม่ได้ผล เราจึงลงทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ผลที่ได้กลับต่ำกว่าที่คาดหวังและไม่ยั่งยืน ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง และกำลังเผชิญกับภาวะล่มสลาย หรือ Disruption ท่านคิดว่าเพราะอะไร

จะยั่งยืน มันต้องสมดุลระหว่าง Hard Skills และ Soft Skills ตอนที่ 2

เหตุผลหนึ่ง ก็เพราะเรายังยึดติดอยู่กับการพัฒนา Hard Skills เพียงด้านเดียว นั่นคือ เราให้ความสำคัญแต่เรื่องทักษะการบริหารจัดการเพียงลำพัง ซึ่งว่าไปแล้วมันสำคัญ จำเป็น แต่ไม่พอ การพัฒนาจึงไม่ยั่งยืน เพราะเรามองข้ามคุณสมบัติบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังของทักษะการบริหารจัดการทั้งปวง มันคือ Soft Skills

จากบทความคราวที่แล้ว เราเสนอว่าทางออกของปัญหาด้าน Soft Skills จะแบ่งเป็น 5 หัวข้อ คือ กรอบความคิด การคิดเชิงระบบ ตัวตน อารมณ์ และภาวะผู้นำ และได้นำเสนอไป 2 หัวข้อแรก คราวนี้ขอต่อด้วยหัวข้อที่เหลือ ดังนี้

ประการที่สาม คำสำคัญคือ ตัวตนปัญหาหลักในประเด็นนี้คือ บุคคลขาดความมั่นคงทางอารมณ์ รู้สึกท้อแท้ ขาดแรงบันดาลใจ ไม่สามารถนำตนเองได้ ไม่เล่นเชิงรุก ภายในเปราะบาง อ่อนไหวต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ ขาดภูมิต้านทาน ขาดความทนทาน ขาดความเชื่อมั่น จะรู้สึกดีก็ต่อเมื่อมีคนอื่นมายืนยัน ไม่กล้าแสดงออก กลัวผิด ชอบเปรียบเทียบ รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า รู้สึกว่าตนไม่ได้รับการยอมรับ ชอบคุยข่ม หรือคิดว่าตนเหนือกว่าบางคนติดความสมบูรณ์แบบ เอาตนเป็นศูนย์กลางจักรวาล หรือการใช้ความรุนแรง ตามมาด้วยความซึมเศร้า โดยรวมแล้ว ปัญหาตัวตนมีจุดเริ่มที่ปมที่ไม่เห็นคุณค่าตนเอง แล้วจบลงที่ภาวะซึมเศร้า

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุ เพราะรากของปัญหาคือ คุณค่าตนเองมันพร่องไป มันขาดหายไป คุณค่าที่หายไปนี้ มันเป็นความรู้สึกลึกๆ ถึงความผิดหวัง และความพลาดพลั้งถึงสิ่งที่ทำลงไปในอดีต และไม่ว่าจะเกิดจากอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วมันคือ ปม

ทางออกจึงต้องปรับมุมมองที่มีต่อตนเองเสียใหม่ มองเรื่องที่ผ่านมาในอดีตอย่างเข้าใจ ให้อภัยตนเอง เห็นตนเองมีค่า ให้กำลังใจตนเอง

ประการที่สี่ คำสำคัญคือ อารมณ์ปัญหาหลักในประเด็นนี้คือ บุคลากรขาดศรัทธา ไม่ไว้ใจกัน ไม่เข้าใจกัน ทีมงานจึงขาดความเข้มแข็ง ขาดพลังร่วม ไม่เสริมกัน เล่นไม่เป็นทีม ไม่ไปในแนวเดียวกัน

สาเหตุเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในความแตกต่าง ใจจึงไม่เปิดกว้างรับฟัง นำไปสู่ความไม่เข้าใจกัน ไม่ไว้ใจกัน ขาดความเชื่อมั่นต่อกัน

ทางออกคือ ปรับมุมมองที่มีต่อทีมงานเสียใหม่ เพราะคนเราต่างกัน จึงต้องเห็นคุณค่าในความแตกต่าง เมื่อนั้น ใจจึงเปิดกว้างรับฟังซึ่งกันและกัน ไม่เอาตนคนเป็นศูนย์กลาง

ประการที่ห้า คือ ภาวะผู้นำปัญหาลหลักในประเด็นนี้คือ บุคลาการขาดภาวะผู้นำ (มิใช่ขาดผู้นำโดยตำแหน่ง) เพราะต่างก็ไม่เห็นบุคคลอื่นว่าคือมนุษย์ที่มีชีวิตที่ต้องการคุณค่าและความหมาย จึงขาดการยอมรับซึ่งกันและกัน ตามมาด้วยการขาดภาวะผู้นำ จึงไม่สามารถนำองค์กรไปในแนวทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ

ทางออกจึงต้องปรับมุมมองที่มีต่อเพื่อนร่วมงานว่าคือมนุษย์ที่มีชีวิต ชีวิตคือตัวตน ตัวตนต้องการคุณค่าและความหมาย เมื่อบุคคลได้รับการยอมรับ เขาจึงยอมรับตอบ เมื่อนั้นภาวะผู้นำก็เกิดขึ้น

ปัญหาทั้ง 5 ประเด็นที่เสนอนี้ (กรอบความคิด การคิดเชิงระบบ ตัวตน อารมณ์ และภาวะผู้นำ) เจอทุกบ้าน ทุกองค์กร ทุกช่วงวัย ไม่มียกเว้น ต่างกันที่ช้าเร็วหนักเบา ยังไงก็ต้องเจอในบริบทที่ต่างกัน ประเด็นใต้พรมนี้ เราต่างตระหนักว่ามันมีอยู่จริง มันสำคัญ มันคือตัวตัดสินว่าใครหรือองค์กรใดจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร และไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร มันล้วนสัมพันธ์กันทั้งหมดอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้

วิชาการต่างๆ ที่เรียนมาในสถาบันการศึกษานั้นมันดีมีประโยชน์ แต่มันไม่จบ มันเป็นเพียงแก้ที่ปลายเหตุ มันดีเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น แต่มันต้องมาจัดการที่ต้นเหตุที่รากของปัญหา มันจึงจะยั่งยืน ใช่หรือไม่

Soft Skills มันเกี่ยวข้องกับทุกมิติชีวิต เพราะมันเป็นฐานรากของทุกการกระทำ มันคือรากของความสำเร็จเชิงประจักษ์ มันเป็นตัวเสริมความสามารถด้าน Hard Skills ความสำเร็จอย่างยั่งยืนจึงต้องใช้ทั้งสองส่วนอย่างสมดุล แต่การพัฒนา Sot Skills นี้ มันไม่ง่าย แต่สำคัญ มันมีทางออก มันต้องฝึก อดทน จึงจะได้วิชานี้มา มันมิใช่แค่รู้ว่าหนึ่งบวกเป็นสอง ดังนั้นสองบวกสองต้องเป็นสี่ แต่คนเราส่วนใหญ่ขาดความอดทน อยากได้อะไรเร็วๆ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ต้องการทางลัด เราจึงเห็นบ่อยครั้งว่าเราสะดุด เราไปต่อไม่ได้ เพราะนั่นเรากำลังเดินด้วยขาข้างเดียว มันจึงหกล้ม ไม่ยั่งยืน แล้วเราจะยังมองข้ามอีกหรือ ทำไมไม่หันมาให้เวลากับมันบ้าง

เพราะ Soft Skills มันคือรากของความสำเร็จอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

ท่านในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กร ท่านจะนำความเข้าใจดังกล่าวไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อยกระดับ Soft Skills ให้มาเสริมสร้างศักยภาพด้าน Hard Skills เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้สมดุล เข้มแข็ง มั่นคงยั่งยืนได้อย่างไร