posttoday

ภาวะที่ไม่ปกติ ต้องเล่นแบบไม่ปกติ

26 กรกฎาคม 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ในยามวิกฤตอย่างการระบาดของโควิด 19 ทุกวันนี้ ถ้ารัฐบาลยังบริหารจัดการอยู่ในกรอบเดิมๆ ด้วยแนวทางเดิมๆ ทางออกก็จะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ มันพิสูจน์แล้วว่ามันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะภาวะนี้มันไม่ปกติ

เราจะยังคงเล่นแบบในภาวะปกติ บริหารงานในรูปแบบเดิมๆ มันไม่ได้แล้ว เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ตั้งรับต่อไปไม่ได้แล้ว ในเมื่อมันไม่ปกติ เราต้องเล่นแบบไม่ปกติ คือไม่ปกติใน 3 แนวทาง

  1. การเล่นเชิงรุก
  2. การแก้ปัญหาด้วยแนวคิดระบบเชิงซ้อน
  3. การสร้างความสอดคล้องไปในแนวเดียวกัน

ภาวะที่ไม่ปกติ ต้องเล่นแบบไม่ปกติ

1. การเล่นเชิงรุก

เชื่อว่าทุกวันนี้ รัฐบาลพยายามเล่นเชิงรุก แต่อย่างไรก็ตาม ลองถามว่ามันยังมีอะไรใหม่ได้อีกไหม ทุกฝ่ายจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ ปรับกรอบความคิดใหม่ มองในมุมใหม่ ต้องกล้าปรับกระบวนการแก้ปัญหาเสียใหม่ เพราะนี่มันไม่ปกติ ผู้นำต้องขอใช้อำนาจที่มีอยู่เปลี่ยนกติกาใหม่ ขอความร่วมมือกับทีมผู้บริหาร ในภาวะเช่นนี้ต้องขอใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จชั่วคราว ไม่เช่นนั้น มาตรการต่างๆ ที่ทำมา มันจะละลายหายไปหมด ไม่เกิดผล ตัวเลขติดเชื้อก็ไม่ลด เกินหมื่น คนตายก็ยังอยู่แถวๆ ร้อย บวกลบ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างในหลายประเทศเพื่อนบ้าน การเล่นเชิงรุกจึงต้องขอใช้อำนาจพิเศษในภาวะวิกฤต เพราะมันต้องเด็ดขาด ไปในแนทางเดียวกัน และต้องทันเวลา

2. การแก้ปัญหาด้วยแนวคิดระบบเชิงซ้อน

เพราะระบบคือภาวะที่เกิดจากการเชื่อมโยงขององค์ประกอบ ปัญหาโควิดก็เช่นกัน มันคือระบบ แต่ที่หนักกว่าและยากกว่าคือ ปัญหาโควิด มันไม่ตรงไปตรงมา มันเป็นปัญหาเชิงซ้อน เพราะมีองค์ประกอบมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสลับซับซ้อนในหลายมิติ และทุกมิติเชื่อมโยงกัน ส่งผลถึงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชนิดวัคซีน การตรวจหาเชื้อ แนวทางการรักษา กลุ่มเป้าหมาย ขีดความสามารถด้านสาธารณสุข การจัดหาวัคซีน/งบประมาณ การกระจายวัคซีน/การฉีดวัคซีน การรับมือกับการกลายพันธุ์ของโควิด การล็อกดาวน์/มาตรการเยียวยา การประชาสัมพันธ์สื่อสาร และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกเรื่องล้วนเป็นประเด็นล้วนใหญ่และมีผลกระทบสูงทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในแต่ละประเด็นหลัก มันยังมีตัวแปรย่อยๆ อีกมากมาย ซ้อนอยู่อย่างสลับซับซ้อน ซึ่งทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันทั้งหมด และสร้างความปวดหัวอยู่ทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจับไปที่ใด มันก็สะเทือนประเด็นอื่นๆ ด้วยทั้งหมด การแก้ปัญหาจึงต้องปรับมุมมองเสียใหม่ เห็นความจริงว่ามันเป็นระบบเชิงซ้อน

ปัญหาโควิดจึงท้าทายมาก เพราะมันใหญ่ มันเกี่ยวของกับหลายมิติ แต่ละมิติมันทับซ้อนกันหมด มันจึงเป็นปัญหาซ้อนปัญหา ระบบซ้อนระบบ เราจึงต้องมองปัญหาโควิดแบบระบบเชิงซ้อน มองภาพองค์รวมที่ใหญ่ขึ้น เห็นความเชื่อมโยงของตัวแปรในหลายมิติ หลายระดับ แล้วค่อยๆ แตกปัญหาออกเป็นประเด็นย่อยๆ แกะที่ละประเด็น จัดการไปทีละเรื่อง ด้วยการปรับตัวแปรใหม่ เปลี่ยนการเชื่อมโยงมันเสียใหม่ แล้วจะได้แนวทางใหม่ๆ ที่แตกต่าง ไม่เหมือนเดิม

ภาวะที่ไม่ปกติ ต้องเล่นแบบไม่ปกติ

3. การสร้างความสอดคล้องไปในแนวเดียวกัน

การเล่นเชิงรุกด้วยแนวคิดเชิงระบบนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ต้องตอบสนองอย่างเป็นเอกภาพ ทุกฝ่ายจึงต้องปรับกรอบการทำงานใหม่ ต้องปรับมุมมองต่อปัญหาและกระบวนการแก้ปัญหาเสียใหม่ จะคิดและทำแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ ยังต้องสื่อสารต่อประชาชนให้เข้าใจแนวคิดนี้ เพื่อสร้างการยอมรับเพื่อไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนใครจะเล่นการเมืองในภาวะเช่นนี้ ก็ปล่อยไป เพราะประชาชนจะเลือกข้างเอง แต่ผู้นำต้องเด็ดขาด ในเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ รวบกฎหมายมาอยู่ในมือแล้วต้องกล้าฟันธง ตัดสินใจ ไม่เช่นนั้น ก็ไม่มีใครรอดทั้งนั้น

อีกทั้งต้องกล้ายอมรับต่อประชาชนว่าไม่มีทางทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะมันเป็นปัญหาเชิงซ้อน และทุกมาตรการที่ออกมาล้วนมาจากความตั้งใจเพื่อช่วยประชาชน แต่ย่อมมีคนพอใจบ้างและไม่พอใจบ้าง จะได้ทุกคนเป็นไปไม่ได้ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาช่วย มันก็ไม่ง่าย มันใช้เวลา ขอเวลาคนทำงานคิด เพื่อสร้างความขัดเจนว่าแนวทางปฏิบัติควรเป็นอย่างไร เพราะตอนที่คิด มันก็ไม่รู้หรอกว่าต้องทำอย่างไร มันเป็นแค่นโยบาย เพราะเรื่องนี้มันใหม่ มันไม่เคยเกิดมาก่อน ประชาชนต้องเข้าใจ แค่ประเด็นการชดเชย ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็ไม่ง่ายแล้ว ใครควรได้ ใครไม่ควรได้ ใครอยู่ในระบบประกันสังคมแบบไหน ถ้าไม่อยู่ในระบบเลย ต้องทำอย่างไร แค่เรื่องสมัครเข้าระบบประกันสังคมเพื่อรับค่าชดเชย วันนี้ระบบก็ล่มแล้ว นี่ยังไม่นับเรื่องความซ้ำซ้อนของการชดเชย บางคนไม่ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ก็จะขอค่าชดเชย และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย แต่หากมีอะไรที่พลาด ก็บอกไป ยอมรับ แล้วสื่อออกไปว่าจะปรับแก้ไขอย่างไร ในกำหนดระยะเวลาเท่าไหร่ แล้วสุดท้ายให้ประชาชนจะวัดเอง เพราะนี่มันเป็นภาวะที่ไม่ปกติ

ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ มันไม่ปกติ จึงต้องปรับมุมมองการบริหารจัดการใหม่แบบไม่ปกติ ด้วยการเล่นเชิงรุกผ่านมุมมองใหม่ที่คิดเชิงระบบ และการสร้างความสอดคล้องให้ไปในแนวทางเดียวกันทั้งระบบ