posttoday

Self-resilience การปรับฟื้นคืนสภาพตนเองเชิงรุกทำอย่างไร

21 มิถุนายน 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

เพราะโลกไม่แน่นอน อ่อนไหว ซับซ้อน คลุมเครือ ผลกระทบจากโควิดไม่มีจบ เพราะการกลายพันธุ์ของมันเป็นเรื่องปกติ และมันจะอยู่กับเราตลอดไปเหมือนไข้หวัดทั่วไป วัคซีนจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยชะลอความรุนแรงได้ รวมทั้งลดอาการข้างเคียง

ผลจากวิกฤตโควิด ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามธุรกิจต้องเดินหน้าต่อ อีก 4 เดือนจะเปิดประเทศ การปรับฟื้นคืนสภาพเพื่อกลับมาเล่นเชิงรุกได้ด้วยตนเอง (Self-resilience) จึงเป็นกุญแจสำคัญ โดยมีประเด็นที่อยากเสนอให้พิจารณาดังนี้

Self-resilience การปรับฟื้นคืนสภาพตนเองเชิงรุกทำอย่างไร

1. การพัฒนาความสามารถในการเลือกตอบสนอง

ประเด็นนี้ต้องการทำความเข้าใจว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ล้วนเป็นเรื่องภายนอกที่เราไม่อาจควบคุมได้ แต่ตนมีอิสรภาพในการตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ เพราะเราเลือกได้ ความสามารถของการเลือกตอบสนองได้นี้เองเป็นหลักการสำคัญของการสร้างการนำตนเอง เพื่อพลิกฟื้นตนเองให้กลับมาเล่นเชิงรุกได้

2. มองทางเลือกในขอบเขตศักยภาพที่ตนสามารถทำได้

การจะพลิกฟื้นตนเองได้ต้องปรับมุมมองใหม่ว่า ทุกปัญหาเป็นความท้าทาย ทุกปัญหามีทางออก มองปัญหาเป็นโอกาส มันอยู่ที่เราเอง ดังนั้น ลองถามตนเองว่า เราควรเอาเวลาไปโฟกัสต่อสิ่งที่ตนสามารถทำได้ หรือจมอยู่กับตัวปัญหา หลายคนมักคิดวนอยู่กับตัวปัญหาและบ่นโทษโน่นนี่นั่นว่าเป็นสาเหตุของปัญหา ไม่สามารถก้าวข้ามพ้นกรอบติดลบที่ตนเองนั่นแหละสร้างขึ้นมาเองได้ และเอาเวลาไปคิดหาทางออกในขอบเขตศักยภาพของตนเองที่ตนพอจะทำได้ ไม่ดีกว่าหรือ 

3. หาเป้าหมายชีวิตตนเอง

เป็นการถามตนเองว่า ตนมีภาพเป้าหมายชีวิตอะไร อยู่ไปเพื่ออะไร ทำไม อะไรสำคัญในชีวิต ตนอยากมีอะไร อยากเป็นอย่างไร อยากทิ้งอะไรไว้เบื้องหลัง ภาพเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนนี้เองที่จะสามารถพลิกฟื้นคืนสภาพตนเองให้กลับมานำตนเอง เล่นเชิงรุกได้

4. วาดภาพก่อนลงมือทำทุกครั้ง

เพราะภาพเป้าหมายความสำเร็จจะสร้างแรงบันดาลใจ แต่ที่หลายคนลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่สามารถนำตนเองได้ เพราะภาพของผลลัพธ์ที่ต้องการมันไม่ชัด ดังนั้น ก่อนลงมือทำอะไรต้องวาดภาพเป้าหมายให้ชัด เพราะภาพยิ่งชัด ฝันยิ่งเป็นจริง โอกาสพลิกฟื้นจึงเป็นไปได้

5. พัฒนาแนวคิดเชิงระบบ การมองภาพเชิงองค์รวม

หลายคนเวลาเจอปัญหาแล้วคิดไม่ออก ไม่สามารถคิดอะไรที่แตกต่าง จึงขาดทางเลือก ขาดทางออกที่สร้างสรรค์ จึงแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ นั่นเป็นเพราะขาดปัญญา ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ และที่ขาดองค์ความรู้ก็เพราะขาดแนวคิดเชิงระบบ องค์กรที่สามารถพลิกฟื้นตนเองได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทีมงานต้องพัฒนาแนวคิดเชิงระบบ โดยมองว่าอะไรคือองค์ประกอบหลักที่เกี่ยวข้องกับปัญหา และองค์ประกอบเหล่านั้นมันเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อให้ได้ทางออกใช้แก้ปัญหา อีกทั้งต้องสร้างการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่าง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสินค้าและบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจ

Self-resilience การปรับฟื้นคืนสภาพตนเองเชิงรุกทำอย่างไร

6. มองความพลาดพลั้งคือการเรียนรู้

ไม่ว่าเราจะทำอะไร มันย่อมมีความคลาดเคลื่อน เพราะนี่คือธรรมชาติ แต่หลายคนเข้าใจผิด มองว่ามันคือความผิด ที่สำคัญคือมองว่าตนผิด แล้วเอาความรู้สึกผิดมาทำทำลายศักยภาพตนเองอย่างเข้าใจผิด เราจึงต้องปรับมมุมมองที่มีต่อความพลาดพลังนั้นเสียใหม่ว่า มันคือกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งต่อการเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต เพื่อพลิกฟื้นตนเองให้กลับมาเข้มแข็ง

7. พัฒนามุมมองที่เห็นคุณค่าตนเอง

นอกจากจะมองว่าความพลาดพลั้งคือกระบวนการเรียนรู้แล้ว เรายังต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกว่า ความพลาดพลั้งเป็นประสบการณ์ที่ฝังลงในกรอบความคิด กรอบความคิดคือตัวตน ตัวตนคือชีวิต ชีวิตต้องการคุณค่าและความหมาย ชีวิตที่เห็นตนเองมีค่าเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างความมั่นคงภายใน มีความเข้มแข็ง สามารถก้าวข้ามพ้นข้อจำกัดตนเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น มีภูมิต้านทาน เพื่อพลิกฟื้นตนเองให้สามารถกลับมานำตนเองเชิงรุกได้อีกครั้ง

ปัญหาใดๆ มันไม่เคยมาเดี่ยว มันรุมเข้ามารอบด้านอย่างสลับซับซ้อน ส่งผลให้หลายคน หลายองค์กรหมดสภาพ ถอดใจ ท้อถอย แต่บางคนยังยืนหยัดสู้ต่อ สามารถพลิกฟื้นตนเอง สามารถสร้างการนำตนเอง ให้ลุกขึ้นมารับมือกับปัญหาได้อย่างท้าทาย ท่านในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ท่านคิดว่าแล้วอะไรทำให้คนเราแตกต่างกัน อะไรทำให้องค์กรของท่านสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญเรื่องนี้เป็นจริงทั้งที่บ้านและที่ทำงาน