posttoday

การพัฒนาศักยภาพเชิงรุกเพื่อการแก้ปัญหาเชิงซ้อน

22 กุมภาพันธ์ 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

การพัฒนาศักยภาพเชิงรุกเพื่อการแก้ปัญหาเชิงซ้อน Self-directed Development for Complex Problem Solving

เพราะโลกเปลี่ยนแปลง อ่อนไหว ซับซ้อน และคลุมเครือ โลกเอไอ ยุคดิจิทัลพัฒนาอย่างไปไกลอย่างก้าวกระโดด องค์กรธุรกิจ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนจึงต้องเร่งปรับตัว แต่ด้วยโครงสร้างธุรกิจและกระบวนการหาความรู้ในปัจจุบันมีความแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น มีขอบเขตและกระบวนการทำงานที่สร้างข้อจำกัดปิดกั้นตัวมันเอง องค์กรจึงไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน

องค์กรธุรกิจยุคใหม่จึงต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่ เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนทั้งองค์กรให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว โดยเน้นที่ผลลัพธ์เป้าหมายความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างคุณค่า สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสีย แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ องค์กรจำเป็นต้องสร้างทุนมนุษย์ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจโดย

1. การพัฒนาศักยภาพทีมงานเชิงรุก

2. การพัฒนาแนวคิดเชิงระบบเชิงซ้อน

3. การเรียนรู้ตลอดชีวิต

การพัฒนาศักยภาพทีมงานเชิงรุก โดยมีเป้าหมายคือ

  1. การพัฒนาทีมงานให้มีศักยภาพในการนำตนเองเชิงรุก มีความคล่องตัว ว่องไว รวดเร็ว สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น ไม่เคร่งในระเบียบวิธีมากเกินไป หรือรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้มานาน ทั้งนี้ บุคลากรต้องกล้าที่จะเปลี่ยน ด้วยการคิดนอกกรอบ มีมุมมองและแนวคิดใหม่ๆ เพื่อมาปรับแนวคิด ทัศนคติ และวัฒนธรรมในองค์กรให้เข้าสู่ระบบสากล และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
  2. เน้นการทำงานเป็นทีม โดยมีทีมงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหลากหลายสายงาน มีความรู้หลากหลาย เน้นการระดมสมอง การแลกเปลี่ยน และการลงมือปฏิบัติ ทั้งนี้ ต้องเห็นว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญมากกว่ากระบวนการและเครื่องมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องสร้างภาพผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ชัดแจนและสื่อไปยังทีมงานทุกคนให้เข้าใจตรงกัน
  3. ต้องมีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเกิดการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วในการที่จะตอบโจทย์การให้บริการในภารกิจหลักที่สำคัญ
  4. การตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นผลลัพธ์รูปธรรมเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ต้องผ่านการร่วมมือกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจให้ไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันและเพิ่มคุณค่าให้แก่ลูกค้าและผู้รับบริการ

การพัฒนาแนวคิดระบบเชิงซ้อน นอกจากการพัฒนาศักยภาพเชิงรุกแล้ว ในการรับมือกับปัญหาจำเป็นต้องใช้แนวคิดเชิงระบบและการมองภาพเชิงองค์รวมที่เห็นความจริงว่า ทุกปัญหาเป็นระบบซ้อนระบบ เป็นปัญหาทับซ้อนปัญหาอย่างเป็นลำดับชั้น ดังนั้น ในการแก้ปัญหาหรือการบริหารโครงการใดๆ จำเป็นต้องแตกโครงการดังกล่าวเป็นขั้นตอนย่อยๆ ว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นลำดับชั้น และด้วยการเชื่อมโยงที่แตกต่างและหลากหลายขององค์ประกอบในแต่ละระดับชั้น เพื่อให้ออกมาเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานที่แตกต่าง เพื่อสร้างทางเลือกที่มีคุณค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ เพื่อบริหารโครงการให้สำเร็จหรือแก้ปัญหาให้ลุล่วง

การพัฒนาศักยภาพเชิงรุกเพื่อการแก้ปัญหาเชิงซ้อน

การเรียนรู้ตลอดชีวิตสิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพทีมงานเชิงรุกบนฐานแนวคิดเชิงระบบคือ กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องผ่านการสื่อสารด้วยใจที่เปิดกว้าง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อมูลย้อนกลับ มีการติดตามผล ประเมินผล เพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอนย่อยๆ เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกขั้นตอน แล้วนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มคุณค่าอย่างต่อเนื่องในขั้นตอนถัดไป โดยไม่จำเป็นต้องรอให้จบกระบวนการทั้งหมด และทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำซ้ำๆ จนเกิดความชำนาญ เพื่อสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน การพัฒนาไม่เคยหยุดนิ่ง องค์กรธุรกิจจึงต้องปรับตัว ยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เพื่อสร้างคุณค่าและความพึงพอใจให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อความอยู่รอดขององค์กรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ มันจะเป็นจริงได้ องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาทุนมนุษย์ ด้วยการพัฒนาศักยภาพทีมงานเชิงรุก มีความคล่องตัว มีอำนาจในการตัดสินใจ สามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นผ่านการเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ อีกทั้ง ต้องพัฒนามุมมองเชิงระบบและการมองภาพเชิงองค์รวมที่เห็นความจริงว่า ทุกปัญหามีความสลับซับลซ้อนกันอย่างเป็นลำดับชั้น ดังนั้น ในการจัดการกับความท้าทายใดๆ จำเป็นต้องแตกโครงการดังกล่าวเป็นขั้นตอนย่อยๆ ว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร อย่างเป็นลำดับชั้น ตรงนี้เองที่องค์ความรู้ได้เกิดขึ้น และที่สำคัญคือ ต้องนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาสร้างให้เกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กันในทีมงานด้วยการสื่อสารด้วยใจที่เปิดกว้าง