posttoday

ทักษะอนาคตเพื่อพลิกโฉมองค์กรภาครัฐเชิงรุก

25 มกราคม 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

เพราะโลกผันผวน ไม่แน่นอน ส่งผลกระทบในทุกด้าน และเราต่างตระหนักดีว่า การปรับตัวเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ เพราะมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อทิศทางการพัฒนาประเทศและความมั่นคงโดยรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เพราะหน่วยงานรัฐสามารถสร้างผลกระทบสูงด้วยภาคบังคับ อีกทั้ง โลกเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ความจริงแรงงานมิได้ขาดแคลน แต่ที่ขาดคือแรงงานที่มีคุณภาพ มีศักยภาพต่างหาก อีกทั้งเทคโนโลยีก้าวล้ำสมัย เอไอ หุ่นยนต์กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานคน องค์กรภาครัฐจึงต้องพัฒนาและเปลี่ยนตนเองอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อความยั่งยืนของประเทศ

ทักษะอนาคตเพื่อพลิกโฉมองค์กรภาครัฐเชิงรุก

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลง มันมีคำถามพื้นฐานที่สำคัญคือ

  1. เปลี่ยนเพื่ออะไร
  2. เปลี่ยนที่ใคร
  3. เปลี่ยนอะไรและเปลี่ยนอย่างไร

เมื่อถามว่าหน่วยงานรัฐเปลี่ยนไปเพื่ออะไร เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่า เป้าหมายสุงสุดขององค์กรภาครัฐคือ การสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับประเทศชาติ และความยั่งยืนจะเป็นจริงได้ องค์กรต้องสามารถตอบสนอต่อความต้องการของประชาชน นั่นคือ ความอยู่ดีมีสุขและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง มีงานทำ สุขภาพอนามัย ปราศจากโรคภัย มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีสิ่งอำนายความสะดวกพอประมาณ หากหน่วยงานรัฐสามารถทำได้ นั่นย่อมสะท้อนถึงคุณค่าขององค์กร องค์กรมีคุณค่าจึงสามารถตั้งอยู่ได้ และหากทำได้เรื่อยๆ องค์กรภาครัฐก็มั่นคง ชาติก็ยั่งยืน ประชาชนเป็นสุข

เมื่อถามว่าเปลี่ยนที่ใคร ใครบ้างที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ความมั่นคงยั่งยืนจะเป็นจริงได้ องค์กรภาครัฐต้องปรับตัว การปรับตัวดังกล่าวต้องมีแกนนำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่สามารถมาจากทุกคน แต่ต้องสร้างทีมนำ กลุ่มเล็กๆ เราจึงหาผู้สืบทอด (Successors) ให้เจอ และควรเป็นคนหนุ่ม รุ่นใหม่ ไฟแรง มีศักยภาพสูง เป็นอนาคตองค์กร มีทัศนคติเชิงบวก กล้านำ กล้าเปลี่ยน ใฝ่เรียนรู้ เชื่อมั่น มีภาวะผู้นำสูง

คำถามถัดมาคือเปลี่ยนอะไร ด้วยทักษะอะไร ทักษะดังกล่าวเชื่อมโยงกันอย่างไร จึงจะนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืน คำตอบคือ หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องคิดออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ ที่เป็นเส้นตรงเชิงเดี่ยว มิติเดียว แยกส่วน มาเป็นการทำงานในลักษณะบูรณาการเชิงองค์รวมที่ครอบคลุม 4 มิติ คือ กรอบความคิด ปัญญา อารมณ์ และภาวะผู้นำ

ทักษะอนาคตเพื่อพลิกโฉมองค์กรภาครัฐเชิงรุก

1 เมื่อพูดถึงกรอบความคิด สิ่งแรกที่วิ่งเข้ามาในสมองคือ กรอบความคิด กรอบความคิดคือภาพในใจ กรอบความคิดเป็นรากฐานของศักยภาพภายใน กรอบความคิดเป็นของตนเอง ดังนั้น บุคลากรภาครัฐจึงต้องเปลี่ยนมุมมองต่อวิธีการทำงานเสียใหม่ เพื่อระเบิดศักยภาพจากภายในด้วยตนเอง สร้างแรงขับเคลื่อนภายใน เพื่อสร้างการนำตนเองให้ได้ หากนำตนเองได้ ก็เล่นเชิงรุกได้ หากเล่นเชิงรุกได้ ความท้าทายใดๆ ที่ผ่านเข้ามา เราก็พอจะรับมือกับมันได้ บุคลากรภาครัฐจึงต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ อีกทั้งต้องมองปัญหาอย่างท้าทาย ตั้งภาพเป้าหมายให้ชัดเจน เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน และสร้างภาพเป้าหมายนั้นกับทีมงานให้ในแนวทางเดียวกัน สอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพ กรอบความคิดจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของความสำเร็จอย่างยั่งยืน

2 เมื่อพูดถึงปัญญา เป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างองค์กรภาครัฐให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้ มันจะเป็นจริงได้ จำเป็นต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน นั่นคือ การคิดเชิงระบบ การคิดเชิงระบบจะช่วยให้เข้าใจปัญหา มีแนวคิดเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ รู้ว่าอะไรสำคัญ จับประเด็นได้ และเชื่อมโยงได้ถูก เพื่อนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้และสามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แนวคิดเชิงระบบยังช่วยพัฒนามุมมองเชิงองค์รวม เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ บุคลากรภาครัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาแนวคิดเชิงระบบและการมองภาพเชิงองค์รวม

3 เมื่อพูดถึงอารมณ์ เพราะที่มาของอารม์ณคือ ตัวตน ตัวตนต้องการคุณค่าและความหมาย การมองตัวตนเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ การมองตนเองและการมองผู้อื่น การมองตนเองอย่างมีคุณค่าเป็นที่มาของความมั่นคงทางอารมณ์ เข้มแข็ง มีภูมิต้านทาน อดทน ยืนหยัด และรู้ว่าจะตอบสนองอย่างไรให้เหมาะสมเมื่อเผชิญปัญหายากๆ ประการถัดมาคือ การมองผู้อื่น โดยความหมายคือ การมองเห็นคนอื่นมีค่า นั่นคือการเห็นคุณค่าในความแตกต่าง คุณสมบัตินี้จะช่วยให้เราเปิดใจกว้างรับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา เวลาสนทนา เอาผู้อื่นเป็นศูนย์กลาง จะนำไปสู่ความเข้าใจกัน ไว้วางใจกัน และนี่เองเป็นที่มาของความเข้มแข้งขององค์กรที่บุคลากรสามารถเล่นเป็นทีม สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ อารมณ์จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของการสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง ดังนั้น บุคลากรภาครัฐจึงจำเป็นต้องเห็นตนเองเชิงบวก และเห็นคุณค่าในความแตกต่างของเพื่อนร่วมงาน

4. เมื่อพูดถึงภาวะผู้นำ คำๆ นี้เป็นคุณสมบัติที่จับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ได้ว่าใครมีหรือไม่มี คนเรารับรู้ได้อย่างไร ก็เพราะมันเป็นความรู้สึกในใจเรา ความรู้สึกที่ว่า มันคือความรู้สึกถึงการมีคุณค่าหรือไม่ ในขณะที่เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น นั่นคือ ใครก็ตามทำให้ฉันมีค่า เธอก็มีค่าเช่นกัน จึงเกิดการยอมรับขึ้น การยอมรับนี่เองคือ ภาวะผู้นำได้เกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงในองค์กรจำเป็นต้องการผู้นำที่มีภาวะผู้นำ และจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในบุคคลที่เราสัมพันธ์ด้วยเท่านั้น เพราะคนคือมนุษย์ มนุษย์มีชีวิตที่ต้องการคุณค่าและความหมาย

ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันอย่างไร จะเห็นได้ว่าปัจจุบันโลกผันผวน การปรับองค์กรภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรและประเทศสู่ความมั่นคงยั่งยืน โดยต้องเริ่มที่ตนเองก่อน ด้วยการระเบิดศักยภาพภายในออกมาเพื่อเล่นเชิงรุก ด้วยมุมมองเชิงบวก อีกทั้งมุมมองที่ว่านี้ต้องเป็นแนวคิดเชิงระบบและการมองภาพเชิงองค์รวม เพื่อสามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อนและสร้างนวัตกกรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มันจะเป็นจริงได้ ตนเองต้องหนักแน่น เชื่อมั่น และเปิดใจกว้างรับฟัง เพื่อสร้างทีมงานให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาครัฐให้เป็นจริง และสอดคล้องไปในแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ