posttoday

ทำไมศักยภาพบุคลากรจึงถดถอย ไม่ยั่งยืน

04 มกราคม 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

โลกเปลี่ยนแปลง อ่อนไหว ซับซ้อน คลุมเครือ เทคโนโลยีก้าวกระโดด การแข่งขันรุนแรง เราต่างทราบดีว่า การปรับตัวคือหัวใจสำคัญเพื่อความอยู่รอดขององค์กร แล้วทำไม บุคลากรจึงไม่สามารถระเบิดศักยภาพภายในออกมาได้อย่างเต็มที่ เหมือนมีอะไรมาฉุดรั้งไว้ ทำให้ทีมงานขาดประสิทธิภาพ องค์กรไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนรวมก็เสียหาย

แล้วนั่นเป็นเพราะอะไร รากของปัญหาช่วงชีวิตคนเรามีความท้าทายต่างๆ มากมายที่ผ่านเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บางอย่างก็รับมือได้อย่างดี สำเร็จดังตั้งใจ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ เรียกว่าพลาดพลั้ง เมื่อความพลาดพลั้งเกิดขึ้น ก็มักเก็บเอามาโทษตัวเอง ตำหนิตนเอง มองตนเองว่าไม่ได้เรื่อง ตรงนี้แหละคือประเด็น เพราะแยกไม่ออกระหว่างงานที่เป็นเรื่องรูปธรรมกับความรู้สึกที่สะท้อนตัวตน งานนั้นอาจไม่สำเร็จ พลาดเป้าหมาย แต่กับความรู้สึกต่อพลาดพลั้งนั้นมันคนละเรื่องกัน

ว่าไปแล้ว ความพลาดพลั้งเป็นเรื่องปกติ แต่บุคคลไปแปลความพลาดพลั้งเป็นความรู้สึกผิด เมื่อเกิดบ่อยๆ ก็เลยรู้สึกว่าตนสู้คนอื่นไม่ได้ ด้อยกว่า เกิดเป็นปมติดลบในใจ เอาเวลาส่วนใหญ่ไปมุ่งเน้นแต่ข้อผิดพลาดตนเอง จับผิดตนเอง เกิดเป็นความรู้สึกผิด ไม่เห็นคุณค่าตนเอง กลายเป็นคนอ่อนไหว เปราะบาง ขาดความเชื่อมั่น เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ สะสมมากเข้า ก็เกิดความอึดอัด ขัดแย้งภายใน กดดัน เครียด วิตกกังวล ทั้งหมดนี้เป็นเพราะมุมมองที่ไม่ถูกต้องของตนเองที่มีต่อความพลาดพลัง เอาความผิดพลาดเชิงประจักษ์นั้นกลับมาทำร้ายความเป็นตัวตนของตนเอง ภาวะถดถอยจึงเป็นเรื่องของ “ความเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิด”

ภาวะความรู้สึกผิดนี้เอง คือสาเหตุสำคัญที่คอยบั่นทอนและฉุดรั้ง มิให้บุคคลขับศักยภาพภายในให้ออกมาได้อย่างเต็มที่และก้าวไปข้างหน้า ประสิทธิภาพการทำงานจึงลดลง และที่สำคัญไประบายออกที่คนอื่น นำไปสู่ความขัดแย้งในทีม ส่งผลเป็นขาดการมีส่วนร่วมในทีม ทำให้ส่วนรวมเสียหาย องค์กรก็ไม่บรรลุเป้าหมาย แล้วบ่อยครั้ง ไปลงที่ครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีปัญหา ขาดความสุข ทุกคนพลอยได้รับผลกระทบและส่งต่อภาวะความรู้สึกผิดนั้นไปเรื่อยๆ เกิดเป็นตัวตนที่ติดลบในคนที่รักและสร้างปัญหาไปอย่างต่อเนื่อง

ทำไมศักยภาพบุคลากรจึงถดถอย ไม่ยั่งยืน

ทางออกของปัญหาจากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความสำเร็จมีสองระดับ คือ ความสำเร็จเชิงประจักษ์และคุณค่าความเป็นตัวตน ความสำเร็จเชิงเชิงประจักษ์เป็นเรื่องความสำเร็จที่เห็นและจับต้องได้ วัดได้ ประเมินได้ แต่คุณค่าความเป็นตัวตนเป็นความสำเร็จในระดับลึกและละเอียดกว่า มันคือความรู้สึกที่สะท้อนถึงคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเอง

การแยกความสำเร็จเชิงประจักษ์และความรู้สึกถึงคุณค่าตนเองเป็นเงื่อนไขสำคัญที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป และในมุมมองของความสำเร็จเชิงประจักษ์แล้ว ไม่ว่าเราจะพยายามให้ถึงที่สุดอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่มีทางที่จะถึงเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ 100% ในโลกแห่งความเป็นจริง มันจึงไม่มีความสำเร็จหรือความล้มเหลวใดๆ อย่างเป็นที่สุด เพราะทุกอย่างวิ่งอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100 และทิ้งช่องว่างไว้ให้เราปรับปรุงเสมอ การบริหารความพลาดพลั้งจึงต้องแยกความสำเร็จเชิงประจักษ์ออกจากคุณค่าความเป็นตัวตน

โดยสรุปเราต้องปรับมุมมองที่มีต่อเป้าหมาย ความคาดหวัง ความสำเร็จ และศักยภาพ เสียใหม่ ดังนี้1. ความสำเร็จเชิงประจักษ์เป็นเรื่องหนึ่ง ภาวะของการเห็นตนเองมีคุณค่านั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วไม่ว่าผลลัพธ์เชิงประจักษ์จะออกมาอย่างไร เราต้องรักษาคุณค่าและความหมายของตนเองไว้เสมอ

2. มองปัญหาเป็นความท้าทาย มันเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีวันหมด บางปัญหาแก้ได้ บางปัญหาแก้ไม่ได้ เราจึงควรเอาเวลาไปรับมือกับปัญหาที่ท้าทายที่พอจะแก้ไขได้ดีกว่า

3. เพราะคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน ศักยภาพไม่เท่ากัน ดังนั้น ต้องเลิกเปรียบเทียบ แต่พยายามพัฒนาและขับศักยภาพภายในตนเองออกมาให้ได้มากที่สุด อย่าหยุด อย่ายอมแพ้ เพื่อพิชิตเป้าหมายอย่างพอใจและมีความสุข

4. การที่จะผ่านมันไปได้นั้น เราต้องปรับเปลี่ยนตนเอง โดยต้องกล้าที่จะก้าวออกจากพื้นที่สบาย (Comfort Zone) เลิกยึดติดกับภาพความสำเร็จเก่าๆ นั่นคือ เราต้องสามารถนำตนเองได้ โดยการเอาชนะตนเอง มันคือการตีทะลุผ่านแนวกั้นภายในตนเอง

5. การจะตีทะลุผ่านตนเองได้ ต้องปรับมุมมองและทัศนคติที่มีต่อตนเองเสียใหม่ เห็นตนเองเชิงบวก เห็นตนเองมีค่า เข้าใจตนเอง ยอมรับและให้อภัยตนเอง

6. เพราะสรรพสิ่งไม่แน่นอน เราจึงต้องปรับตัวอย่างยืดหยุ่น การตั้งเป้าหมายจึงต้องมีทางเลือก เราต้องสร้างหลายๆ ทางเลือก เพราะชีวิตไม่ได้มีคำตอบเดียวที่ดีที่สุด แต่มีหลายคำตอบที่ดีที่สุด

7. ทางเลือกจะเกิดขึ้นได้ เราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างและแปลกใหม่ และนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ เราต้องพัฒนาแนวคิดเชิงระบบ และการมองภาพเชิงองค์รวมที่เห็นความเชื่อมโยงที่แตกต่างขององค์ประกอบที่หลากหลาย