posttoday

4 มิติการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลายกเครื่ององค์กรอย่างจริงจัง

09 พฤศจิกายน 2563

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ถึงเวลายกเครื่ององค์กรอย่างจริงจังหรือยัง?

เราตระหนักดีว่าโลกไม่เคยหยุดนิ่งและเราก็พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด แต่ท่านสงสัยไหมว่าทำไม ไม่ว่าเราจะพยายามอย่างไร ทั้งเวลาและการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมหาศาล แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ถ้าเช่นนั้น ท่านคิดว่าถึงเวลาที่เราจะต้องก้าวข้ามกระบวนการพัฒนาแบบเดิมๆ หรือยัง แล้วแนวคิดดังกล่าวคืออะไร มีกระบวนการอย่างไร

เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนเดิม ทั้งอ่อนไหว ซับซ้อน คุลมเครือ ไม่แน่นอน อีกทั้งเทคโนโลยี หุ่นยนต์ เอไอ ก็พัฒนาไปไกลอย่างก้าวกระโดด เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ลูกค้ามีความคาดหวังสูง ต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่างและคุ้มค่า การแข่งขันเพิ่มความรุนแรง การดำเนินธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นและเสี่ยงสูง หลายแห่งต้องล่มสลาย ไปต่อไม่ไหว องค์กรที่เหลืออยู่ก็คิดหนัก ต่างเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

4 มิติการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลายกเครื่ององค์กรอย่างจริงจัง

แต่การปรับตัวในปัจจุบันที่ไม่อาจนำไปสู่ความยั่งยืนนั้นเป็นเพราะ

1. องค์กรส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่กับแนวคิดเดิมๆ รูปแบบเก่าๆ ยังคงเน้นแต่การปรับแต่งพฤติกรรมอย่างฉาบฉวย เพราะมันง่าย เห็นผลเร็ว แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ขาดความมุ่งมั่น ซักพักก็กลับไปเหมือนเดิม

2. มุมมองต่อการแก้ปัญหาก็ยังเน้นแต่ผลลัพธ์สุดท้าย แต่ขาดกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง ยังยึดอยู่กับการหาคำตอบเดียวที่ดีที่สุด แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างที่แปลกใหม่ และก็ยังขาดทักษะของการนำความรู้ไปใช้จริงได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงไม่เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

3. ทีมงานขาดความเป็นเอกภาพ ขาดความเข้มแข็ง ไม่สามารถระเบิดศักยภาพออกมาเสริมกันได้อย่างมีพลังร่วม

4. องค์กรขาดผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถเหนี่ยวนำสร้างการมีส่วนร่วมให้ทีมงานเดินไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว องค์กรจึงไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนรวมก็เสียหาย

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุหลักที่การพัฒนาไม่อาจนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง มันจึงเกิดคำถามว่า “เราจะยังคงพัฒนาคนและองค์กรด้วยแนวคิดและกระบวนการแบบเดิมๆ อยู่อีกหรือ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะมาพลิกตำราเพื่อสร้างองค์กรให้มั่นคงยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” ถ้าเช่นนั้น เราต้องปรับอะไร ปรับอย่างไรจึงจะยั่งยืน แล้วอะไรคือคำตอบ

4 มิติการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลายกเครื่ององค์กรอย่างจริงจัง

จากการศึกษาวิจัยเชิงลึกด้านการพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืนมากว่า 20 ปี เราพบว่าทางออกของความท้าทายดังกล่าวคือ เราต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างถอนรากถอนโคนด้วย กระบวนการพัฒนาเชิงองค์รวม (Holistic Development Approach) ที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตอย่างเชื่อมโยงให้เป็นหนึ่งเดียวอันประกอบไปด้วยจิตใจ ปัญญา อารมณ์ และภาวะผู้นำ กล่าวคือ

1. มิติด้านจิตใจเมื่อพูดถึงจิตใจ

นั่นคือเรากำลังพูดถึงกรอบความคิด (Mindset) อันเป็นฐานรากชีวิต ปัญหาหลักในประเด็นนี้คือ บุคคลมักติดกรอบเดิมๆ ส่งผลให้บุคคลไม่เปลี่ยน มีทัศนติติดลบ ขาดแรงบันดาลใจ ไม่สามารถนำตนเองได้ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนใดๆ จึงต้องเริ่มที่การปรับที่กรอบความคิดนี้ เพื่อปรับทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อ รวมทั้งแรงขับเคลื่อนภายใน ความมุ่งมั่น เพื่อระเบิดศักยภาพภายในที่แท้จริงออกมาได้อย่างเต็มที่ด้วยตนเอง อีกทั้งการปรับการมองภาพเป้าหมายเดียวกัน เพื่อสร้างทีมงานให้มีความสอดคล้องไปในแนวเดียวกัน

ดังนั้น การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เราจึงต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนตนเอง แต่ต้องปรับออกจากแนวคิดการพัฒนาแบบเดิมๆ ที่เน้นแค่การปรับแต่งพฤติกรรมอย่างผิวเผิน มาเป็นแนวคิดใหม่ของการปรับที่ฐานรากชีวิต นั่นคือ กรอบความคิดตนเอง เพื่อระเบิดศักยภาพจากภายใน สร้างแรงขับเคลื่อนภายในอย่างมุ่งมั่น เพื่อสร้างการนำตนเอง เพื่อเล่นเชิงรุกเป็นทีมให้สอดคล้องกันอย่างเป็นเอกภาพ

2. มิติด้านปัญญาเมื่อพูดถึงปัญญา

ความท้าทายในประเด็นนี้คือ เมื่อมีปัญหาเข้ามา เราแก้ปัญหาไม่ตก เพราะองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่มีอยู่นั้น ไม่พอที่จะรับมือกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงมักข้ามขั้นตอนและหาทางลัดเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบสุดท้าย นั่นเป็นเพราะเราขาดมุมมองเชิงระบบ จึงไม่สามารถจับประเด็นสำคัญได้ และก็ไม่สามารถเชื่อมโยงประเด็นเหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ จึงไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง จึงไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อนได้ อีกทั้งขาดการมองภาพเชิงองค์รวม จึงไม่อาจสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แตกต่างและทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้ทำให้กระบวนการแก้ปัญหาคับแคบ ตีบตัน แก้ปัญหาไม่ตก ไม่มีอะไรใหม่ องค์กรจึงไม่ยั่งยืน

ดังนั้น ในโลกปัจจุบันแห่งความไม่แน่นอน ซับซ้อน คุลมเครือ องค์กรจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน เราต้องแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมที่แตกต่าง และมันจะเป็นจริงได้ เราจำเป็นต้องก้าวข้ามจากการพัฒนาด้วยมุมมองเชิงเดี่ยวแบบเดิมๆ มาเป็นการพัฒนาด้วยแนวคิดใหม่ นั่นคือ แนวคิดเชิงระบบ และการมองภาพเชิงองค์รวม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงซ้อน ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ

3. มิติด้านอารมณ์เมื่อพูดถึงอารมณ์

ความท้าทายในประเด็นนี้ เมื่อพิจารณาในระดับบุคคลคือ บุคลากรขาดความมั่นคงทางอารมณ์ ขาดความเชื่อมั่น หวั่นไหว ขาดความอดทน ขาดความมุ่งมั่น ไม่ยืนหยัด ขาดภูมิต้านทาน จึงไม่สามารถปรับฟื้นคืนสภาพตนเองให้กลับมาขับศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ก็เพราะตนไม่เห็นคุณค่าตนเอง ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง

เมื่อพิจารณาในระดับองค์กร เราพบว่าความท้าทายคือ ทีมงานขาดศรัทธา จึงไม่เข้าใจกัน ไม่ไว้ใจกัน การสื่อสารจึงไม่เปิดใจกว้างรับฟัง เอาความคิดตนเองเป็นใหญ่ ไม่เห็นคุณค่าในความแตกต่าง แต่มักเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง การทำงานจึงไม่เป็นทีม ต่างคนต่างไป คนละทิศคนละทาง จึงไม่สามารถระเบิดศักยภาพออกมาเสริมกันได้อย่างมีพลังร่วม

ประเด็นทั้งการขาดความมั่นคงทางอารมณ์และขาดศรัทธา ทำให้ศักยภาพตนเองและทีมงานลดลงบุคลากรขาดการมีส่วนร่วม ทีมงานจึงขาดความเข้มแข็งและไม่สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน ไม่เป็นหนึ่งเดียวองค์กรจึงไม่บรรลุเป้าหมาย ส่วนรวมก็ถดถอย ไม่ยั่งยืน

ประเด็นด้านอารมณ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างทีมงานให้แข็งแกร่ง ดังนั้น แนวคิดใหม่ของการสร้างทีมงานให้เข้มแข็ง จึงต้องให้ความสำคัญต่อความหมายของตัวตน โดยการเห็นคุณค่าทั้งต่อตนเองและเห็นคุณค่าในความแตกต่าง

4. มิติด้านภาวะผู้นำเมื่อพูดถึงภาวะผู้นำ

ความท้าทายในประเด็นนี้คือ องค์กรขาดผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถสร้างทีมงานให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพราะผู้นำมักเน้นแต่ในด้านการพัฒนาความสามารถด้านเทคนิค ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของประสิทธิภาพของผลสัมฤทธิ์อย่างตกขอบซึ่งว่าไปแล้วมันสำคัญ แต่ไม่พอ เพราะละเลยความสำคัญต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ดังนั้น การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจึงต้องปรับกรอบแนวคิดใหม่ จากการให้น้ำหนักแต่เฉพาะความสามารถด้านการบริหารจัดการ มาเป็นการให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ที่ต้องการคุณค่าและความหมายด้วย ด้วยเหตุนี้ การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจึงต้องตั้งอยู่บนความสมดุลของทั้งความสามารถด้านการจัดการและการเห็นคนเป็นมนุษย์ จึงจะสามารถนำองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลงให้ไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างยั่งยืน

เพราะโลกเปลี่ยนอย่างเป็นพลวัต องค์กรไม่อาจอยู่นิ่งได้ แต่ต้องปรับตาม แต่มิใช่แค่ให้ทัน แต่ต้องก้าวข้ามและล้ำหน้าด้วยแนวคิดเชิงรุก แต่นั่นจะเป็นจริงไม่ได้เลย หากเรายังยึดติดอยู่กับกรอบแนวคิดการพัฒนาแบบเดิมๆ ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องพลิกตำรามาเป็นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม (Holistic Development Approach) ที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิต เพื่อความมั่นคงยั่งยืน