posttoday

การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงบนฐานของคุณค่ามนุษย์

26 ตุลาคม 2563

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

เพราะโลกไม่เคยหยุดนิ่ง สร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในทุกกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคศตวรรษที่ 21 ที่เป้าหมายขององค์กรคือ ความยั่งยืน และความยั่งยืนจะเป็นจริงได้ บุคลากรต้องเปลี่ยน จึงเกิดคำถามที่สำคัญว่า แล้วสถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความท้าทายอะไร แล้วทำไมต้องเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนอะไร และเราตระหนักดีว่า เราต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ถ้าเช่นนั้นแล้วภาวะผู้นำคืออะไร สำคัญอย่างไร ภาวะนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะสร้างภาวะนี้ขึ้นมาได้อย่างไร เพื่อนำองค์กรสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงบนฐานของคุณค่ามนุษย์

ทำไมต้องเปลี่ยน

ก็เพราะโลกเปลี่ยนไม่แน่นอนซับซ้อนคลุมเครือเพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำสมัยในอัตราเร่งแต่ก็ล้าสมัยชั่วข้ามคืนใครตามไม่ทันต้องถูกทิ้งและล่มสลายและจากความไม่แน่นอนดังกล่าวนำไปสู่ความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่งคือทำอย่างไรองค์กรจึงจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนหนึ่งในคำตอบนั้นคือองค์กรต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง

แล้วภาวะผู้นำคืออะไร สำคัญอย่างไร เราจะพัฒนาภาวะนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

ภาวะผู้นำมิใช่ตำแหน่งผู้นำภาวะผู้นำไม่เกี่ยวกับอายุหรืออายุงานหรือการศึกษาหรือฐานะตำแหน่งผู้นำมันเป็นเรื่องสมมติมันแต่งตั้งกันได้แต่ภาวะผู้นำมันตั้งกันขึ้นมาเองไม่ได้เรียกร้องก็ไม่ได้มันต้องสร้างขึ้นเองเพราะภาวะผู้นำเป็นเรื่องของสถานะของการยอมรับที่ฝ่ายหนึ่งให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง 

แต่การที่ตนจะยอมรับอีกฝ่ายว่ามีภาวะผู้นำนั้น ก็ต่อเมื่อตนต้องได้รับการยอมรับจากผู้นั้นเสียก่อน การยอมรับที่ว่านี้มิใช่การยอมรับในเรื่องความสามารถด้านเทคนิคหรือการบริหารจัดการเท่านั้น เพราะนั่นเป็นเรื่องฉาบฉวย ผิวเผินเกินไป แต่ที่มีความหมายมากกว่าคือ การยอมรับในคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์คือชีวิตที่ต้องการคุณค่าและความหมาย

เมื่อตนได้รับการยอมรับ ตนจึงแสดงการยอมรับตอบ มันคือการยอมรับว่าเขามีภาวะผู้นำ เมื่อผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ดังนั้น เมื่อเขาพูดอะไร เราจะฟังและทำตาม “เพราะใครก็ตามที่เห็นฉันมีค่า ฉันก็เห็นเขามีค่าเช่นกัน” และเนื่องจากมนุษย์เราแตกต่างกัน ดังนั้น ที่ว่าการยอมรับนั้น มันก็คือการยอมรับในความแตกต่างกัน นั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือการเห็นคุณค่าและความหมายในความมีชีวิตของเพื่อนร่วมงาน

การเห็นคุณค่าในความแตกต่างนี้เองตนจึงรู้สึกว่าได้รับการยอมรับเมื่อตนได้รับการยอมรับบุคคลจึงเปิดใจกว้างรับฟังสื่อสารกันอย่างเข้าใจกันเกิดความไว้วางใจเชื่อมั่นและศรัทธาภาวะนี้เท่านั้นที่บุคคลจะสามารถขับศักยภาพและสร้างพลังร่วมได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวภาวะนี้เท่านั้นจึงจะสามารถพัฒนาภาวะผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีส่วนร่วมเกิดความร่วมมือสามารถสร้างทีมงานและเครือข่ายที่เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สามารถนำองค์กรสู่ความยั่งยืนได้จึงต้องตั้งอยู่บนฐานของการเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์เมื่อผู้นำโดยตำแหน่งมีภาวะผู้นำที่สอดคล้องกันก็สามารถนำการเปลี่ยนแปลงและสร้างทีมงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวอย่างมีเอกภาพได้

การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงบนฐานของคุณค่ามนุษย์

โดยสรุป ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำองค์กรสู่ความยั่งยืนได้ต้องตั้งอยู่บนฐานของการเห็นคนเป็นมนุษย์ เพื่อนำไปสู่

  1. การเหนี่ยวนำให้บุคลากรปรับออกจากกรอบความคิดเดิมๆ มีทัศนคติเชิงบวก สามารถระเบิดศักยภาพภายในตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ให้สามารถนำตนเองได้ เพื่อเล่นเชิงรุก มองปัญหาเป็นความท้าทาย มีทางออก
  2. การสร้างองค์กรให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อน และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ ผ่านการคิดเชิงระบบ และการมองภาพเชิงองค์รวม
  3. การส่งเสริมให้บุคลากรเห็นคุณค่าตนเอง มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความเชื่อมั่น มีภูมิต้านทาน มีความเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างยืนหยัด อดทน
  4. การสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง สามารถปลดปล่อยศักยภาพร่วมออกมาเสริมกัน ด้วยใจที่เปิดกว้างบนฐานของความเข้าใจ ความไว้วางใจ และศรัทธา
  5. การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างทีมงานอย่างมีส่วนร่วม เกื้อกูล ยื่นมือช่วยเหลือ เพื่อให้องค์กรดำเนินไปอย่างสอดคล้องไปในแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ 

ท่านในฐานะผู้นำองค์กร ท่านจะนำความเข้าใจดังกล่าวมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มั่นคงยั่งยืนได้อย่างไร